xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีทีใจอ่อนยอมไทยคมเช่าดาวเทียมตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานเจ้าหน้าที่คณะผู้บริหาร บริษัท ไทยคม
ไอซีทีอ่อนข้อยอมให้ไทยคมเช่าดาวเทียมต่างประเทศ ส่วนรายละเอียดการแก้สัญญาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการยิงดาวเทียมดวงใหม่ หรือยืดอายุสัมปทาน รอสรุปผลสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ส่วนเรื่องสามารถทาบซื้อไทยคม ‘อารักษ์’ ยันยังไม่ได้ยิน ด้าน ‘วัฒน์ชัย’ ปฏิเสธเสียงหลง

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานเจ้าหน้าที่คณะผู้บริหาร บริษัท ไทยคม กล่าวว่า ไทยคมยังอยู่ระหว่างเจรจาเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เนื่องจากตัวสัญญาไม่ได้ระบุเรื่องการเช่าโดยแนวทางหลักๆที่ต้องคุยในรายละเอียดอย่างเช่น การเช่าดาวเทียมจากต่างประเทศเพื่อให้บริการลูกค้าในช่วงดาวเทียมไทยคม 2 จะหมดอายุในไตรมาสแรกปีหน้าหรือการจัดหาดาวเทียมดวงใหม่ รวมทั้งการต่ออายุสัมปทาน เนื่องจากดาวเทียมแต่ละดวงมีอายุเฉลี่ย 15 ปี แต่สัมปทานเหลืออายุเพียง 12 ปี

"ถ้าให้เราเช่าดาวเทียมต่างประเทศ รัฐก็ไม่ได้ขาดส่วนแบ่งรายได้หรือผลประโยชน์แต่อย่างใด ตรงกันข้ามหากไม่ให้เช่าเพื่อให้บริการลูกค้า รายได้ก็ไม่เกิด รัฐก็เสียประโยชน์ ไทยคมเองไม่ได้กำไรหวือหวามากนัก และผมยืนยันว่าไม่มีโครงการดาวเทียมที่ไหนในโลกที่จ่ายส่วนแบ่ง 17.5% ให้รัฐมากเท่าไทยคม"

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ากลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่นทาบซื้อไทยคมนั้น นายอารักษ์กล่าวว่า "ผมไม่เคยคุยกับกลุ่มสามารถเกี่ยวกับเรื่องนี้ในฐานะผู้บริหารไทยคมตั้งแต่รับหน้าที่บริหาร 4 เดือนกว่า เพราะถ้าเป็นการซื้อขายหุ้นบิ๊กล็อตต้องมีการเข้ามาดูหรือขอข้อมูล ซึ่งเท่าที่รู้ตอนนี้ยังไม่มี ส่วนในชินคอร์ปที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของไทยคมก็ไม่น่าจะใช่ เพราะผมเป็นกรรมการบริหารในชินคอร์ปด้วยก็ยังไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเป็นกรณีเทมาเส็กคุยกับกลุ่มสามารถ ผมก็ไม่ทราบ ส่วนการจะตัดขายเฉพาะไทยคมก็น่าจะทำได้ยาก เพราะเทมาเส็กไม่ได้ถือหุ้นไทยคมโดยตรง ซึ่งหากใครจะซื้อไทยคมตอนนี้ถ้าคิดตามมาร์เกตแคปก็ต้องมีอย่างน้อย 1 หมื่นล้าน"

ด้านนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวสั้นๆ เมื่อถูกถามทางโทรศัพท์ว่าจะซื้อไทยคมจริงหรือว่า ‘เปล่า ยังไม่มี’ พร้อมทั้งวางโทรศัพท์เพราะติดประชุม

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของไทยคม อันดับหนึ่ง คือบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำนวน 450,870,934 หุ้น สัดส่วน 41.14% อันดับ 2 คือบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ฯ จำนวน 30,782,126 หุ้นหรือ 2.81% โดยมีทรัพย์สินรวมสิ้นปี 2551 เป็นมูลค่า 28,421.26 ล้านบาท รายได้รวม 7,148.16 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 713.19 ล้านบาท

ทั้งนี้ข่าวการซื้อไทยคมของกลุ่มสามารถเกิดขึ้น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดในช่วงการเปลี่ยนโครงสร้างเจ้าของครั้งใหญ่จากตระกูลชินวัตรมาเป็นเทมาเส็ก และครั้งที่ 2 ที่ถือว่าใกล้เคียงและเกือบเป็นจริงมากที่สุดเกิดขึ้นในยุครัฐบาลคมช.

ส่วนในขณะนี้แหล่งข่าวในวงการสื่อสารดาวเทียมให้ความเห็นว่ากลุ่มสามารถมีการลดขนาดธุรกิจหรือดาวน์ไซส์ธุรกิจที่เกี่ยวกับดาวเทียมไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับวีแสท หรือจานดาวเทียมสีน้ำเงินของบริษัท สามารถ ดีทีเอช หากไม่ได้แรงสนับสนุนที่ดีจากบางหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงอย่างทหารที่มาพร้อมเงินทุนและความต้องการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมจำนวนมากรองรับไว้ล่วงหน้า โดยไม่มีบิซิเนสโมเดลที่ชัดเจนอาศัยเพียงคอนเนกชันทหารและการเมือง โอกาสที่จะเกิดดีลนี้คงเป็นไปได้ยากในช่วงนี้

ไอซีทียอมให้เช่า

ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที กล่าวว่า สัญญาไทยคมที่ทำไว้กับไอซีทีมีอายุกว่า 12 ปีแล้ว คงไม่มีการแก้ไข แต่หากเป็นการเพิ่มเติมหรือแนบท้ายสัญญาก็อาจจะทำได้แต่ต้องมีการพิจารณาอีกครั้งซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้นายนิมิตร ดำรงรัตน์ ที่ปรึกษา รมว.ไอซีที ไปดำเนินการและคาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายในปลายเดือน ก.ย.นี้ โดยเบื้องต้นไอซีทีเห็นว่าผู้รับสัมปทานควรสร้างดาวเทียมดวงใหม่ เพราะดาวเทียมไทยคมมีลูกค้าประจำใช้บริการเป็นทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

นายนิมิตร กล่าวว่า เบื้องต้นอาจจะต้องให้ไทยคมเช่าดาวเทียมต่างประเทศไปก่อน แต่ไทยคมจะต้องเร่งสร้างดาวเทียมขึ้นมาทดแทนดวงเก่าอย่างน้อย 2 ดวงตามสัญญาคือดาวเทียมหลัก และดาวเทียมสำรอง ทั้งนี้การเช่าใช้ดาวเทียมอาจจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้เนื่องจากผู้รับสัมปทานอาจจะไม่นำจ่ายรายได้ตามจริง

Company Related Links :
MICT
กำลังโหลดความคิดเห็น