xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยคม” พล่านโต้ข่าว “ชินคอร์ป” ขายทิ้ง “สามารถ” โดดฮุบถือหุ้นใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร “ไทยคม” โต้ข่าว ยักษ์ใหญ่ไอทีค่าย “สามารถ” เหมาซื้อธุรกิจดาวเทียม ยืนยัน ไม่เคยมีการเจรจาทั้งผ่านบริษัท หรือผ่านกลุ่ม “ชินคอร์ป” ดับฝันแผนดึง “ทีโอที” เข้าร่วมวงต่อยอดธุรกิจ ยันเป็นไปไม่ได้ แม้ผู้ถือหุ้นใหญ่บอกขายถ้าได้ราคาดี ลั่นปมขัดแย้ง “ไอซีที” ยังไม่จบง่ายๆ แน่

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ปรเธานเจ้าหน้าที่คณะผู้บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า กลุ่ม บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทาบทามซื้อกิจการดาวเทียมของไทยคม และกิจการของบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ กิจการในกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย เทมาเส็ก โฮลดิ้ง กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยยืนยันว่า ไม่ได้เคยได้รับการติตต่อจากผู้บริหาร SAMART ในการเข้าซื้อหุ้นบริษัท ทั้งการติดต่อผ่านบริษัทโดยตรง หรือผ่านทางกลุ่มชินคอร์ป ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท

ทั้งนี้ หาก SAMART ต้องการเข้ามาซื้อกิจการ THCOM ในรูแบบเทกโอเวอร์จะต้องใช้เงินเกือบ 1 หมื่นล้านบาท จากการประเมินมูลค่าตามราคาตลาด

“ก่อนหน้านี้ SAMART เคยเป็นข่าวว่าจะเข้าซื้อกิจการของเรามาแล้วรอบหนึ่ง แต่ตลอด 3-5 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการพูดคุยหรือเจรจาโดยครงกับผู้บริหาร เพราะโดยส่วนตัวผมก็เป็นผู้บริหารใน SHIN ด้วย และไม่เห็นประโยชน์ว่า SAMART จะนำธุรกิจด้านดาวเทียมไปสานต่ออย่างไร เพราะธุรกิจดาวเทียมกว่าจะเห็นกำไรใช้เวลานาน แต่หากซื้อผ่านเทมาเส็ก ผมไม่สามารถตอบคำถามแทนได้ หากมองโดยหลักการเป็นเรื่องยาก เพราะเทมาเส็กไม่ได้ถือหุ้นเราโดยตรง”

นายอารักษ์ กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมา บริษัทใช้เงินลงทุนมหาศาลในการทำธุรกิจดาวเทียม จึงมีผู้สนใจร่วมลงทุนในหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเข้ามาในรูปแบบเป็นพันธมิตรที่บริษัทเข้าไปลงทุน ตัวอย่างเช่น iPSTAR บริษัทต้องมีพันธมิตรในแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรรัฐ และต้องใช้เวลาในการเจรจาและทำการตลาด ซึ่งปัจจุบันบริษีทสามารถเจรจาลุล่วงแล้ว 14 ประเทศ

ล่าสุด บริษัทอยู่ระหว่างติดตั้ง Gateway ในอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะแล้วภายในเดือนตุลาคม 2552 นี้ และจะเริ่มรับรู้รายได้บางส่วนในปีนี้ เช่นเดียวกับของจีน ได้ลงนามสัญญาร่วมกับไชน่า เทเลคอม เชื่อว่า รายได้จากจีนจะเข้ามาในปีนี้เช่นเดียวกัน

ขณะที่กระแสข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เช้าวันนี้ ระบุว่า แหล่งข่าวใกล้ชิดกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งของกลุ่มชินคอร์ป เปิดเผยว่า หากได้ราคาดีก็พร้อมที่จะขาย

ก่อนหน้านี้ นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SAMART เคยยอมรับกับสื่อมวลชน ว่า กลุ่มตนเองให้ความสนใจซื้อไทยคม แต่ต้องขึ้นอยู่กับการศึกษา ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ จะนำมาทำกำไรให้คุ้มค่าได้หรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษาอย่างน้อย 3-6 เดือน เพราะเป็นการลงทุนที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจมา คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท

นอกจากนี้ คงต้องพิจารณาในเรื่องของข้อกฎหมาย ซึ่งต้องดูว่า เป็นการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) หรือไม่ เพราะบริษัทมีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติ คือ เทเลคอม มาเลเซีย สัดส่วน 18.9% ดังนั้น เรื่องดังกล่าว คงต้องใช้เวลาในการศึกษาให้รอบคอบมากที่สุด เราคงไม่เป็นพระเอกในเรื่องนี้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ หากกลุ่ม SAMART บรรลุข้อตกลงได้เข้าครอบครองหุ้นใหญ่ของไทยคม ก็จะถือว่าเป็นการรุกทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของ กลุ่มสามารถ เนื่องจากดาวเทียม 5 ดวงของไทยคม สามารถต่อยอดธุรกิจสื่อสารของกลุ่มสามารถ ได้อีกมาก โดยปัจจุบันประกอบด้วยธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือไอ-โมบาย (i Mobile) จำหน่ายจานดาวเทียม และงานประมูลไอซีทีภาครัฐเป็นฐานธุรกิจหลัก

สำหรับผลประกอบการปี 2551 ของไทยคม มีรายได้รวม 7,148.16 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 713.19 ล้านบาท ก่อนผลประกอบการพลิกกลับมาเป็นกำไรในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิ 198.74 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 281.90 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการ 6 เดือนแรก ขาดทุนสุทธิ 21.55 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันกับปี 2551 ขาดทุนสุทธิ 1.14 ล้านบาท

ขณะที่กระแสข่าว เทมาเส็ก โฮลดิ้ง กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ เตรียมจะขายทิ้งไทยคม ก็มีสะพัดออกมาตลอด นับตั้งแต่ หลังปิดดีลชินคอร์ป มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท ระหว่างกองทุนเทมาเส็ก กับครอบครัวชินวัตรในปี 2549 เนื่องจากถูกกระแสกดดันจากกระแสสังคมอย่างหนัก

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่หลายฝ่ายได้ตั้งประเด็นเรื่องความมั่นคง หากกิจการดาวเทียมอยู่ในความรับผิดชอบของต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตเลขาธิการ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เคยออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยที่ธุรกิจดาวเทียมอยู่ในมือต่างชาติ

ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็เคยออกมาสนับสนุน และเสนอให้จัดตั้งกองทุนกู้สมบัติชาติ

สำหรับประวัติของไทยคม ก่อตั้งในปี 2534 รับสัมปทานดาวเทียมจากกระทรวงคมนาคม ยาวนานถึง 30 ปี (ปี 2534-2564) ก่อนโอนไปอยู่กับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นับจากรับสัมปทานส่งดาวเทียมขึ้นฟ้าแล้ว 5 ดวง ได้แก่ ไทยคม 1A ไทยคม 2 ไทยคม 3 (ปลดระวางในปี 2549) ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และ ไทยคม 5

ล่าสุด ไทยคม มีข้อขัดแย้งกับ กระทรวงไอซีที กรณีแนวทางหลัง ดาวไทยคม 2 ปลดระวางในปี 2553 ฝ่ายกระทรวงไอซีทีต้องการให้สร้างดาวเทียมไทยคม 6 ขึ้นมาทดแทน แต่ทางไทยคม ยืนยันที่จะเช่าช่องสัญญาณให้บริการแทน ซึ่งถึงขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่มีข้อยุติ

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของไทยคม อันดับหนึ่ง ได้แก่ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 450,870,934 หุ้น สัดส่วน 41.14% อันดับที่สอง ได้แก่ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำนวน 30,782,126 หุ้น คิดเป็น 2.81% โดยมีอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายดำรง เกษมเศรษฐ์ ถือหุ้นอันดับ 7 จำนวน 9,199,586 หุ้น หรือ 0.84% โดยมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2551 เป็นมูลค่า 28,421.26 ล้านบาท รายได้รวม 7,148.16 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 713.19 ล้านบาท

ด้านราคาหุ้น THCOM ดีดบวกสวนตลาด 3.80% มาอยู่ที่ 8.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท โดยเมื่อเวลา 10.23 น.เปิดตลาดที่ราคา 7.95 บาท ขึ้นสูงสุดที่ 8.20 บาท และลงต่ำสุดที่ 7.95 บาท มูลค่าการซื้อขาย 150.82 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น