xs
xsm
sm
md
lg

แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรไม่ให้วิกฤติ

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปรายก่อนปิดประชุมรัฐสภา ในการพิจารณาผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อช่วงดึกวันที่ 17 กันยายน 2552 กล่าวถึงกระบวนการดำเนินการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เฉพาะ 6 ประเด็นเร่งด่วนที่คณะกรรมการฯ เสนอมานั้น ฟังความได้ว่า นำเสนอ 2 ทางเลือก ได้แก่

(1) ให้มี ส.ส.ร. โดยมีสัดส่วนประกอบด้วย ร้อยละ 25 มาจาก ส.ส., อีกร้อยละ 25 มาจาก ส.ว., อีกร้อยละ 25 มาจาก ส.ส.ร. 2540 และอีกร้อยละ 25 มาจาก ส.ส.ร. 2550

หรือถ้าเห็นว่า สัดส่วนของรัฐสภามากไป (ส.ส.กับ ส.ว. รวมกันถึงร้อยละ 50) ก็อาจจะให้มีสัดส่วนของรัฐสภา คือ ส.ส.และส.ว. รวมกันเป็นร้อยละ 25 ก็ได้ แล้วไปเพิ่มสัดส่วนของนักวิชาการเข้ามาแทนร้อยละ 25 ที่เหลือ จากนั้น ก็เข้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

(2) ให้ทุกพรรคการเมืองเสนอขอแก้รัฐธรรมนูญร่วมกัน เฉพาะ 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ โดยไม่เพิ่มประเด็นอื่นใด เพื่อพิจารณาในรัฐสภา แต่มีเงื่อนไข คือ ให้ประชาชนลงประชามติ รับหรือไม่รับ โดยประชาชนได้ลงมติเป็นรายประเด็น

ประเด็นใดผ่าน ก็ผ่านเฉพาะประเด็นนั้น

ประเด็นใดตก ก็ตกเฉพาะประเด็นนั้น

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน เมื่อรัฐบาลจะดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ขอคิดด้วยคนว่า “แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรไม่ให้วิกฤติ”

1) รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพิ่งใช้มา 2 ปี ผ่านการบังคับใช้เลือกตั้งแค่ครั้งเดียว ประชาชนยังไม่ได้รับประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งมีหน้าที่ติดตาม ประมวลผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น ก็ยังไม่ได้นำเสนอประเด็นที่เห็นว่าจำเป็นจะต้องแก้ไขด้วยซ้ำ

ที่ผ่านมา มีกรณีนักการเมืองใช้อำนาจโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายกรณี บางกรณีมีคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม สะท้อนว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ตรงกับสภาพปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน เพราะมุ่งบังคับให้นักการเมืองต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง เช่น พฤติกรรมซื้อเสียง พฤติกรรมลุแก่อำนาจ มีผลประโยชน์ส่วนบุคคลขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ นักการเมืองที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงต้องถูกลงโทษตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

จึงเห็นว่า ยังไม่สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีผลศึกษาตามรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ และยังไม่มีเหตุจำเป็นอันเร่งด่วน ที่จะกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมแต่ประการใด ตรงกันข้าม คงมีเฉพาะนักการเมืองที่ไม่ยอมพัฒนาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง ที่อยากจะเร่งแก้รัฐธรรมนูญ

2) ประเด็นเรื่อง “กระบวนการ” หรือ “ขั้นตอนดำเนินการ” แก้ไขรัฐธรรมนูญ

เห็นว่า ข้อเสนอของนายกฯ ข้อ (1) หากจะตั้ง ส.ส.ร.เฉพาะกิจ เพื่อพิจารณาประเด็นเร่งด่วน 6 เรื่องที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอมานั้น สัดส่วนของ ส.ส.และ ส.ว. รวมกัน ไม่ควรเกิน 1 ใน 8 (ร้อยละ 12.5) เพราะหากให้มี ส.ส.และ ส.ว.มากเกินไป ย่อมจะถูกครหา และไม่พ้นจะถูกต่อต้าน ว่าเป็นการที่ ส.ส.และ ส.ว. นักการเมืองสุมหัวกันแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง

ควรจะเปิดให้ภาคส่วนที่อยู่นอกสภา ได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมพิจารณาด้วยตั้งแต่ต้น ทั้งภาควิชาการ และภาคประชาชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะ ส.ส.ร.ชุดใหม่นี้ทำประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ยังควรจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่น้อยไปกว่าตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และควรจะต้องให้มีการลงประชามติด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ

นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนที่กว้างขวางและเป็นระบบ ในทุกประเด็น


ส่วนข้อเสนอทางเลือกที่สอง เห็นว่า มีข้อด้อยอยู่มาก เพราะการอ้างว่า ส.ส.และ ส.ว.เป็นตัวแทนประชาชนแม้จะอ้างได้ แต่ความชอบธรรมจะสูญสิ้นไปทันที เมื่อเข้าไปทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตราที่เกี่ยวข้องกับ ส.ส. ส.ว. หรือรัฐบาลเอง เพราะเป็นการขัดกันแห่งประโยชน์ จะถูกสังคมครหา ตราหน้า และต่อต้านอย่างหนัก

นอกจากนี้ เมื่อจะนำไปลงประชามติ ก็น่าเป็นห่วงว่า สังคมจะถูกชี้นำ ครอบงำ โดยเครือข่ายของ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พวก ส.ส.และส.ว.ทำกันขึ้นมาเองโดยฝ่ายเดียว เพราะจะไม่มีเสียงข้างน้อย หรือการให้ข้อมูลความเห็นที่แตกต่าง ทำหน้าที่เสนอข้อมูล ความคิดเห็น หรือแง่มุมอีกด้านหนึ่งแก่ประชาชน

พูดง่ายๆ ว่า จะมีแต่ฝ่ายสนับสนุนที่ใช้งบประมาณ ทรัพยากรของรัฐ ไปชักนำให้ประชาชนลงประชามติเห็นด้วยกับการแก้ไข แต่จะไม่มีใครเป็นเจ้าภาพในฝ่ายคัดค้าน หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในประเด็นนั้นๆ เพราะไม่ได้รับสนุนงบประมาณ โอกาส ทรัพยากร หรือให้อำนาจหน้าที่ดังกล่าว

กล่าวโดยสรุป คือ ถ้าจะแก้ ก็เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.ที่ให้มีภาคส่วนอื่นๆ ที่อยู่นอกสภาเข้าร่วมด้วย และต้องผ่านประชามติ

3) ประเด็นเรื่อง “เนื้อหาสาระของการแก้ไข”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อส่วนรวม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม คดีความที่อยู่ในศาล หรือขัดต่อหลักนิติรัฐ และต้องไม่ใช่การแก้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ใด ของนักการเมือง หรือพรรคการเมือง ตลอดจนนายทุนพรรคการเมือง

ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้แก่

(1) มาตรา 237 การยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ทุจริตเลือกตั้ง

(2) มาตรา 93-98 ที่มาของส.ส.

(3) มาตรา 111-121 ที่มาของส.ว.

(4) มาตรา 190 การทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

(5) มาตรา 265 การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.


และ (6) มาตรา 266 การแทรกแซงข้าราชการประจำ

พิจารณาประเด็นเหล่านี้ จะเห็นว่า เกือบทั้งหมด เป็นเรื่องของนักการเมือง พรรคการเมือง และของรัฐบาลเองทั้งสิ้น

ไม่มีประเด็นใด เป็นผลประโญชน์ของประชาชนโดยตรงเลยแม้แต่เรื่องเดียว !

มิหนำซ้ำ การแก้ไขบางประเด็นยังมีทิศทางที่มุ่งจะลดทอนผลประโยชน์ส่วนรวม หรือตัดตอนอำนาจแห่งรัฐในการที่จะกำกับ ควบคุม ป้องกัน ดูแลการใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมืองลงไปอีก เช่น

การยกเลิกมาตรา 237 วรรคสอง จะยิ่งทำให้การซื้อเสียงรุนแรงขึ้น โดยที่พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคไม่มีความยำเกรง หรือจะต้องสอดส่องดูแลแก้ไข เพราะไม่มีบทลงโทษเด็ดขาด
จึงเป็นการจะแก้ไขที่นักการเมืองได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว

การยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 265-266 จะเปิดโอกาสให้มีการทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะคู่สมรสและบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถเป็นหุ้นส่วนหรือถือครองหุ้นบริษัทธุรกิจต่อไปได้ อาจนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตัว เปิดช่องให้นักการเมืองเข้าไปดำรงตำแหน่งหรือแทรกแซงสั่งการหน่วยงานของรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นการแก้ไขที่นักการเมืองได้ประโยชน์

การเปลี่ยนแปลงวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. หากกลับไปใช้วิธีเลือกตั้งตามเดิม โดยไม่มีข้อห้ามในเรื่องการเป็นบุพการี คู่สมรส บุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือ ส.ส. และห้ามเป็นสมาชิกพรรคหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรค หรือเป็นหรือเคยเป็น ส.ส.แล้วพ้นจากตำแหน่งมา 5 ปี จะทำให้วุฒิสภากลับไปมีสภาพเป็นสภาทาส สภาหมอนข้าง หรือสภาผัวเมียเหมือนเดิม จึงเป็นการแก้ไขที่นักการเมืองได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. ก็เป้นเพียงการเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งของนักการเมืองกันเอง ซึ่งจะอย่างไร ก็หนีไม่พ้นการเจรจาตกลงกันเพื่อประโยชน์ในการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง ย่อมเป็นการแก้ไขเพื่อนักเลือกตั้งอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ การแก้ไขมาตรา 190 ที่บัญญัติให้การทำสนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง และต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ยังมีข้อถกเถียงว่ามีเหตุผลจำเป็นเพียงพอที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าว มิได้บังคับว่าทุกเรื่องจะต้องขออนุมัติจากรัฐสภา แต่ให้มีการออกกฎหมายลูก เพื่อกำหนด จำแนก แยกแยะ ให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลและรัฐสภาสามารถจะร่วมกันดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

น่าสงสัยว่า การขอแก้ไขมาตรานี้ อาจจะเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้า เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆ ต่อไปอีก

ยิ่งกว่านั้น มาตรา 190 ยังเกี่ยวพันถึงคดีของนักการเมืองที่กำลังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ในกรณีที่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยฝ่ายเดียว โดยไม่ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

น่าสังเกตว่า รัฐมนตรีที่เคยร่วมรัฐบาลของนายสมัครชุดนั้น มีถึง 6 คน ที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันได้แก่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ร.ต.หญิงระนองรักษ์ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ และนายสุวิทย์ คุณกิตติ น่าจะถือว่ามีส่วนได้เสียโดยตรงกับรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ยิ่งจะทำให้สังคมไม่เชื่อถือ ไม่ไว้ใจการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

สุดท้าย.... ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขียนหนังสือที่น่าสนใจมากๆ เล่มหนึ่ง ชื่อว่า “เขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรไม่ให้ถูกฉีก” บางตอนบอกว่า

“…หนทางก้าวต่อไปข้างหน้าของประชาธิปไตยไทยต้องตั้งคำถามให้ถูก ปัญหารัฐธรรมนูญถูกฉีกเป็นปัญหาปลายเหตุ การรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา (19 ก.ย.2549) เกิดขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติยืดเยื้อเป็นแรมปี หลายฝ่ายมองว่าเจตนารมณ์และสาระของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแทบไม่เหลืออยู่ก่อนคืนวันที่ 19 กันยายนแล้ว ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว(2540)บางท่าน ถึงกับประกาศว่า รัฐธรรมนูญตายแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะถูกฉีก...”

“...ตราบใดที่กฎหมายยังไม่ศักดิ์สิทธิ์ เราไม่ได้ปกครองโดยหลักนิติธรรม จะเขียนรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไรก็ไม่มีผลที่จะทำให้สามารถปฏิรูปทางการเมืองได้ ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากวิกฤติการเมืองได้”

เชื่อว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ คงตระหนักว่า รัฐบาลชุดก่อนเคยถูกต่อต้านรุนแรง กลายเป็นวิกฤติซ้ำซ้อน ก็เพราะอยากจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของพรรคพวกตัวเอง

แต่จะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรไม่ให้วิกฤติ ?

นายกฯ อภิสิทธิ์ คงไม่ต้องเขียนหนังสือเล่มใหม่ แต่จะต้องทำให้เห็นจริง

กำลังโหลดความคิดเห็น