xs
xsm
sm
md
lg

"สสร.50"ค้านแก้ไขรธน. ชี้ชัดทำเพื่อนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (14 ก.ย.) อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.50) จำนวน 10 คน นำโดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธาน ส.ส.ร.50 ได้ประชุมหารือถึงการเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ(รธน.) โดยที่ประชุมได้หารือถึงผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรธน. รวมถึงญัตติเสนอแก้ไขรธน.ของส.ส.- ส.ว.โดยทั้งหมดมีความเห็นตรงกันว่า ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะแก้ไขรธน. ตอนนี้ โดยเฉพาะเนื้อหาที่เสนอแก้ไขเอื้อประโยชน์เฉพาะฝ่ายการเมือง อาทิ การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว การต่ออายุให้ ส.ว.สรรหา จาก 3 ปี เป็น 6 ปี การเข้าไปแทรกแซงข้าราชการประจำ โดยการสั่งการแต่อ้างว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมถึงประเด็นให้ ส.ส. สามารถเข้าไปเป็นเลขารัฐมนตรีได้
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตส.ส.ร. กล่าวว่า เคยได้รับเลือกจากวุฒิสภาให้ไปร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์ฯ แต่เมื่อเข้าร่วมประชุมแล้ว เห็นว่าเหมือนมีข้อสรุปแล้วว่า จะทำเพื่อฝ่ายการเมือง พรรคการเมือง ทั้งที่รธน.ฉบับนี้เพิ่งใช้มา 2 ปี ผ่านการบังคับใช้เลือกตั้งแค่ครั้งเดียว ยังไม่เห็นจำเป็นต้องแก้ไข และตามมาตรา 244 (3) กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ติดตาม ประมวลผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรธน. และข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น ซึ่งยังไม่ทราบว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีการศึกษาประมวลผลหรือยัง ส่วนตัวยังเห็นว่ารธน.50 ไม่มีข้อบกพร่อง มีแต่นักการเมืองที่ปฏิบัติตามไม่ได้ เลยเสนอแก้ไขเพื่อตัวเอง ดังนั้นต้องติดตามว่าทำเพื่ออะไร หากพิสูจน์ได้ว่าการเคลื่อนไหวที่ทำกันอยู่นี้ เป็นการทำเพื่อตัวเอง ก็เข้าข่ายขัดรธน. มาตรา 122 ต้องถูกถอดถอน แต่ ส.ว.ที่ร่วมลงชื่ออาจนึกว่าตัวเองคือ ผู้มีอำนาจถอดถอน แต่คงลืมนึกไปว่า ยังมีช่องอื่นที่ยื่นได้อีกคือ ตามรธน.มาตรา 275 เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนำมาประกอบการพิจารณาร่วมกับมาตรา 122 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพื่อยื่นต่อป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนได้
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เอง ก็อ้างมาตรา 190 ซึ่งฟังไม่ขึ้น เพราะจะแก้ปัญหานี้ ก็แค่ออกกฎหมายลูกเท่านั้นก็พอ ดังนั้นจะเห็นว่าไม่ว่า พรรคใดล้วนแต่ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง

**เตือนส.ส.-ส.ว.เจอป.ป.ช.เชือด
ด้านนายเสรี กล่าวว่ามองดูเนื้อหาที่เสนอแก้ไขแล้วไม่มีประเด็นไหนเลยที่ควรจะแก้ เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม มีแต่นักการเมืองได้ประโยชน์ หากใช้รธน.แล้วพบว่ามีปัญหา ก็ควรเจาะจงไปเฉพาะ องค์กรอิสระ หน่วยงาน สถาบันตามรัฐธรรมนูญ ว่าการทำหน้าที่มีการถ่วงดุลคานอำนาจอย่างแท้จริง หรือไม่ ขณะที่ผลสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และญัตติที่เสนอแก้ไขรธน. ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย ซ้ำร้ายยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น
สำหรับ ส.ส.-ส.ว. ที่ร่วมลงชื่อหากกระทำเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 122 แล้ว หากมีการยื่นตามช่องทางของป.ป.ช. และป.ป.ช. ชี้มูลความผิดส.ว. ที่ถูกชี้มูล จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที ไม่สามารถโหวตลงมติช่วยตัวเองได้
ดังนั้นที่เข้าใจว่า จำนวนเสียงที่จะลงมติถอดถอน คือ 3 ใน 5 ของจำนวนส.ว.ที่เหลืออยู่นั้น คือเหลือแต่ส.ว.ที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อเท่านั้น หากส.ว.ที่ร่วมลงชื่อตระหนักถึงตรงจุดนี้ คงต้องหยุดคิดเหมือนกัน

**ชี้ชัดๆแก้เพื่อนักการเมือง
จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติให้ทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเร่งรัดขอทราบความชัดเจน ภายใน 15 วัน ขณะเดียวกันได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมในนาม ชมรมส.ส.ร.50 เรื่องชะลอการแก้ไขรธน. เร่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า
1. การแก้ไขเพิ่มเติมรธน.สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ก่อความเสียหายร้ายแรงต่อส่วนรวม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม คดีความที่อยู่ในศาล หลักนิติรัฐ เชื่อว่าหาก รธน.50 ใช้บังคับไประยะหนึ่ง อย่างน้อยก็น่าจะเท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งเต็มของส.ส.หรือ ส.ว. สังคมจึงจะประเมินได้ถึงผลดี ผลเสียอย่างชัดเจน ขณะนี้รธน.เพิ่งจะใช้บังคับมาเพียง 2 ปี กำลังทำงานอย่างเต็มที่ แต่ผลประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับยังไม่บรรลุผลสมบูรณ์ หลายมาตรายังไม่ถูกนำมาสู่การปฏิบัติ จึงไม่เป็นเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงรธน.โดยเร็ว
2. การยกเลิกมาตรา 237 วรรคสอง จะยิ่งทำให้การซื้อเสียงรุนแรงขึ้น โดยที่พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค ไม่มีความยำเกรง
3. การยกเลิกหรือแก้ไข มาตรา 265-266 จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติ เข้าไปแทรกแซงข้าราชการประจำ ในการบริหารราชการแผ่นดิน เปิดโอกาสทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะคู่สมรส และบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถเป็นหุ้นส่วน หรือถือครองหุ้นบริษัทธุรกิจต่อไปได้ อาจนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตัว เปิดช่องให้นักการเมืองเข้าไปดำรงตำแหน่ง หรือแทรกแซง สั่งการหน่วยงานของรัฐ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
4. การเปลี่ยนแปลงวิธีได้มาซึ่ง ส.ว.โดยกลับไปใช้วิธีเลือกตั้งตามเดิม จะทำให้วุฒิสภากลับไปมีสภาพเป็นสภาทาส หรือสภาผัวเมีย เหมือนเดิม
5) การแก้ไขมาตรา 190 ยังมีข้อถกเถียงว่า มีเหตุผลจำเป็นเพียงพอหรือไม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าว มิได้บังคับว่าทุกเรื่องจะต้องขออนุมัติจากรัฐสภา แต่ให้ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนด จำแนก แยกแยะ ให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาล และรัฐสภาสามารถร่วมกันดำเนินการได้ โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขรธน. จึงมีประเด็นน่าเคลือบแคลงสงสัยว่าเป็นเพียงข้อที่ใช้บังหน้า เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรธน.ในมาตราอื่นอีก
6. การเสนอแก้มาตรา 237 เป็นการล้มล้างอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ผู้ต้องคำพิพากษา สามารถอุทธรณ์คดีต่อไปได้อีก หรือข้อเสนอให้นำรธน.ปี40 กลับมาใช้แทนทั้งฉบับ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบยุติธรรมของประเทศอย่างรุนแรง อาจมีผลล้มล้างเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาล ตัดตอนคดีทุจริตโกงกินของนักการเมือง ล้มล้างการทำหน้าที่ของ คตส. ป.ป.ช. กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมือง และพวกพ้องที่มีคดีทุจริตโกงกินอยู่ ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งชมรม ส.ส.ร.50 พิจารณาแล้วเห็นว่ามิได้สะท้อนถึงการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ไม่สมประโยชน์สาธารณะ แต่ตอกย้ำถึงเจตนาที่จะแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง และพรรคพวก ส.ส.หรือ ส.ว.ที่เข้าร่วม อาจถูกดำเนินการถอดถอนจากตำแหน่ง
"สถานการณ์บ้านเมือง ยังคงมีความขัดแย้งรุนแรง ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ยังต้องการเสถียรภาพในประเทศ เพื่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัว ชมรม ส.ส.ร.50 เห็นว่า ควรชะลอการแก้ไขรธน.ไว้ก่อน เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม มีโอกาสแก้ไขปัญหาอันกระทบกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยไม่ติดขัด หรือชะงักงันด้วยวิกฤตความขัดแย้งรอบใหม่"

**วิปรัฐบาลเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร. 3
ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล แถลงข่าวภายหลังการประชุมวิป ว่า การประชุมร่วมรัฐสภาตามที่ครม.ขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวันที่16-17 ก.ย. นี้ พรรคร่วมรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การอภิปราย 2 เรื่อง คือ จะเน้นการเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็น เพื่อไปดำเนินการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ให้การสร้างความสมานฉันท์เป็นจริง
ส่วนในการแก้ไขรธน.นั้น หากมีประเด็นที่เห็นพ้องต้อง กันและมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไข ก็ให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลเสนอขอแก้ไขรธน.ตามมาตรา 291 ต่อไป
ส่วนประเด็นที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกันและความเห็นขัดแย้งกันของรัฐสภา ในเรื่องสถานะของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งจะต้องเป็นผู้ขอเสนอแก้ไขรธน. ตามมาตรา 122 ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า ควรจะมีการตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมา โดยจะเอาส่วนดีและส่วนด้อย ของรธน.ปี 40และปี 50 มาดำเนินการปรับปรุงเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ต่อไป
"การแก้ไขรธน.ครั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากข้อครหาที่ว่า เป็นกัปดัก คมช.อย่างที่กล่าวกัน และเพื่อช่วยข้ามพ้นกติกาไม่ชอบธรรมจากคมช. โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด โดยการเข้าชื่อตั้ง ส.ส.ร.3" นายชินวรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น