xs
xsm
sm
md
lg

ใครจะเป็นใครจะตาย จึงอยากกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ขณะนี้ พุทธศักราช 2552 นายเสนาะ เทียนทองและพวก เห็นสอดคล้องกับทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการให้ประเทศไทยกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

หากพิจารณาบนพื้นฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้ จะมองเห็นความจริงว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้บังคับแทน ดังนี้

1) การควบรวมพรรคการเมือง หรือการซื้อตัว ส.ส.ยกเข่ง ยกพรรค จะสามารถเกิดขึ้นได้ภายหลังการเลือกตั้ง เหมือนที่พรรคไทยรักไทยเคยฮุบพรรคเสรีธรรม พรรคกิจสังคม พรรคชาติพัฒนา และพรรคความหวังใหม่ เข้ามาอยู่ในพรรคตนเอง ในระหว่างใช้บังคับรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งๆ ที่ ประชาชนเลือกลงคะแนนเลือกตั้งให้พรรคเหล่านั้น แต่พรรคไทยรักไทยกลับบิดผันฉันทามติของประชาชนมาเป็นของตนเอง ดำเนินการเพื่อผูกขาดอำนาจรัฐ ยึดครองเสียงข้างมากอย่างผิดปกติในสภา ใช้อำนาจเงินและอำนาจรัฐ เทคโอเวอร์พรรคการเมือง เพื่อให้พรรคของตนมีจำนวน ส.ส.ในสังกัดเพิ่มมากขึ้นกว่าจำนวนที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา

รัฐธรรมนูญ 2550 (ฉบับปัจจุบัน) ได้ปรับปรุงแก้ไขช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยบัญญัติห้ามการกระทำในลักษณะนี้เอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว

2) ฝ่ายนิติบัญญัติจะสามารถตรวจสอบ ดุลและคานอำนาจฝ่ายบริหารได้น้อยลง

สภาผู้แทนราษฎรจะตรวจสอบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ยากขึ้น

การเปิดอภิปรายนายกฯ จะต้องใช้ ส.ส. ถึง 2 ใน 5 เปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีสามารถลอยตัวอยู่เหนือความรับผิดชอบต่อฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเลย เหมือนที่ทักษิณ ชินวัตร เคยกระทำ ระหว่างที่รัฐธรรมนูญ 2540 ใช้บังคับอยู่นั่นเอง

การเปิดอภิปรายรัฐมนตรี จะต้องใช้ ส.ส. 1 ใน 5 แถมนักการเมืองยังอาจใช้วิธีสลับเก้าอี้ ปรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อหลบหนีการอภิปราย เหมือนที่รัฐบาลทักษิณเคยกระทำระหว่างใช้รัฐธรรมนูญ 2540 อีกด้วย

รัฐธรรมนูญ 2550 (ฉบับปัจจุบัน) ได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไว้หมดแล้ว โดยการอภิปรายนายกฯ สามารถใช้จำนวนเสียง ส.ส. เพียง 1 ใน 5 ส่วนการเปิดอภิปรายรัฐมนตรี ก็ใช้ ส.ส. เพียง 1 ใน 6 โดยปิดช่องการย้ายตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อหลบหนีการอภิปราย และในกรณีจำนวนเสียงไมถึง รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ยังเปิดช่องทางไว้ให้ โดยเมื่อครบ 2 ปี ส.ส.ครึ่งหนึ่งของฝ่ายค้านก็สามารถเปดอภิปรายได้

3) คู่สมรสและบุตรของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะสามารถเปนหุนสวนหรือถือครองหุนบริษัทธุรกิจได้ และสามารถหลบเลี่ยง โดยไม่แจ้งทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ในชื่อผู้อื่น เปิดโอกาสให้นักธุรกิจการเมืองสามารถมีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาจนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจและผลประโยชน์ส่วนตัว ที่เรียกว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย” เหมือนที่ยุคทักษิณเคยกระทำภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540
นอกจากนี้ ส.ส.และ ส.ว. ก็จะสามารถหลบเลี่ยง ไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินที่อยูในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น และไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้เกิดการปกปิดหรือแจ้งเท็จได้ง่าย

ทำให้ ส.ส. หรือ ส.ว. โกงได้ง่ายขึ้น ซุกซ่อนทรัพย์สินได้ง่ายขึ้น แอบรวยเงียบๆ แบบไม่ให้ประชาชนได้รู้ หรือถูกจับตามองว่า ร่ำรวยขึ้นมาย่างผิดปกติได้อย่างไร

ปัญหาเหล่านี้ ถูกป้องกันแก้ไขโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) แล้ว เพราะอย่างนี้หรือไม่ นักการเมืองที่ชอบซุกทรัพย์สิน จึงไม่ชอบรัฐธรรมนูญ 2550

4) ปัญหาจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ จะไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีบทบัญญัติป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยตรง


แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) ที่มีการบัญญัติหมวดคุณธรรมและจริยธรรมของผูดํารงตําแหนงทางการเมืองและเจาหนาที่ของรัฐเอาไว้ชัดเจน กำหนดให้มีประมวลจริยธรรมภายใน 1 ปี และหากนักการเมืองกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็สามารถยื่นให้วุฒิสภาถอดถอนออกจากตำแหน่งได้โดยเด็ดขาด

เพราะเหตุนี้หรือไม่ นักการเมืองสายพันธุ์สามานย์ ประเภทที่ไม่รู้จักละอายต่อความชั่วหรือเกรงกลัวต่อบาป จึงไม่ชอบรัฐธรรมนูญ 2550

5) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะกลับไปเป็น “สภาหมอนข้าง” หรือ “สภาผัวเมีย” หรือแม้แต่ “สภาทาส” เหมือนที่เคยถูกสื่อมวลชนวิพากวิจารณ์ในยุคทักษิณ ซึ่งใช้รัฐธรรมนูญ 2540

ลูกเมียหรือสามีของ ส.ส. หรือรัฐมนตรี จะสามารถเข้าไปเป็น ส.ว.ได้ โดยอาศัยฐานเสียงเลือกตั้งเดียวกันกับ ส.ส. ในขณะที่นักการเมืองที่พ้นจากพรรคการเมืองยังไม่ถึง 5 ปี ก็เข้าไปเป็น ส.ว.ได้ นักการเมืองและพรรคการเมืองจึงสามารถครอบงำแทรกแซงวุฒิสภาดังเดิม ทำให้ ส.ว. ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง ไม่เป็นอิสระจากพรรคการเมืองและนักการเมือง ระบบตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญย่อมถูกบิดเบือนไปด้วย

กลายเป็น ส.ว.ที่ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบแทนประชาชน แต่ปกป้องคุ้มครองดูแลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเป็นพรรคพวกเดียวกัน หรือครอบครัวเดียวกัน

รัฐธรรมนูญฉับบปัจจุบัน (2550) ได้พยายามปรับปรุงป้องกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยยกเครื่อง ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติและที่มาของ ส.ว. เพื่อให้สอดรับกับอำนาจหน้าที่อันแท้จริงของ ส.ว.มากขึ้น ไม่ซ้ำซ้อนกับผู้แทนประชาชนอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น ส.ส. สท. อบต. อบจ. เป็นต้น โดยที่ ส.ว.ต้องปลอดจากอิทธิพลของพรรคการเมือง จึงกําหนดให้มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 76 คน และมาจากการสรรหาจากตัวแทนของภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่น จำนวน 74 คน เพื่อให้ได้ตัวแทนของกลุ่มคนที่หลากหลาย เช่น เกษตรกร คนพิการ ฯลฯ รวมเป็น 150 คน พร้อมกําหนดคุณสมบัติของผูที่จะดํารงตําแหนง ส.ว.ใหสูงขึ้น เพื่อใหไดมาซึ่งบุคคลที่มีความเหมาะสมกับการปฏิบัติหนาที่ในฐานะ ส.ว.อยางแทจริง อาทิ ต้องไม่เป็นบุพการี สามี ภรรยา หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องพ้นจากพรรคการเมืองหรือพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.อย่างน้อย 5 ปี ต้องไม่อยู่ในอาณัติของพรรคการเมือง เป็นต้น

6) หากกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540 การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น กรรมการการเลือกตั้ง(ก.ก.ต.) กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ก็จะถูกครอบงำแทรกแซงได้เหมือนยุคทักษิณ

จะทำให้ได้คนอย่าง “3 หนา 5 ห่วง” เข้ามาเป็น กกต. หรือได้คนประเภทที่ “ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง” เข้ามาเป็น ป.ป.ช. เหมือนที่เกิดขึ้นในยุคทักษิณ

เกิดการแทรกแซงครอบงำองค์กรอิสระผ่านกระบวนการสรรหา เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 เปิดช่องทางให้พรรคการเมืองส่งตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการสรรหา สามารถครอบงำแทรกแซงในขั้นตอนกระบวนการสรรหา โดยใช้เสียงตัวแทนพรรคการเมือง “บล็อคโหวต” จนทำให้บุคคลที่เป็นอิสระจากพรรคการเมืองไม่สามารถผ่านการสรรหา และได้บุคคลที่พรรคการเมืองต้องการ หรือตกอยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายการเมือง เข้ามาอยู่ในองค์กรอิสระต่างๆ กระทั่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ

อย่าลืมว่า การที่องค์กรอิสระถูกครอบงำแทรกแซงจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ปัญหาสำคัญของชาติบ้านเมืองไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นที่ยุติและเป็นธรรม ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “วิกฤติที่สุดในโลก”

ปัญหาเหล่านี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(2550) ได้ยกเครื่อง ปรับเปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งองค์กรอิสระ เพื่อให้มีความเป็นอิสระจากพรรคการเมืองอย่างแท้จริง โดยเพิ่มบทบาทของอำนาจฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง เข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหาองค์กรอิสระและวุฒิสภาส่วนหนึ่ง เพื่อตัดวงจรกินรวบของพรรคการเมืองและนักการเมือง

7) อำนาจของประชาชนลดลง ประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงยากขึ้น

หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) การเขาชื่อเสนอรางกฎหมาย จาก 10,000 ชื่อ จะต้องใช้ 50,000 ชื่อ ยิ่งกว่านั้น ประชาชนยังถูกตัดสิทธิ ไม่สามารถมีตัวแทนเป็นกรรมาธิการและชี้แจงในรัฐสภา

การเข้าชื่อถอดถอนผูดํารงตําแหนงทางการเมือง จะยากขึ้น จาก 20,000 ชื่อ จะต้องใช้ 50,000 ชื่อ

นอกจากนี้ ประชาชนยังจะถูกตัดสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปโดยสิ้นเชิง

ยิ่งกว่านั้น “กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง” และ “สภาพัฒนาการเมือง” ที่รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติให้มีขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน ก็จะถูกตัดตอนไปอีกด้วย

8) หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 การดําเนินโครงการขนาดใหญ่ ก็จะไม่ต้องประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเสียก่อน จะเหลือเพียงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประชาชนและชุมชนที่ถูกทำลายสุขภาพจากโครงการขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะไม่ได้รับการดูแลต่อไป เหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ตลอดเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540

คงมีแต่นักการเมืองที่อิงแอบกับโรงงานหรือธุรกิจที่ไร้สำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์

ชุมชนใด จะรอคิว เผชิญกับชะตากรรมเหมือนชาวมาบตาพุดต่อไป

9) การคุ้มครองผู้บริโภคก็จะไร้ประสิทธิภาพต่อไป เหมือนเช่นที่เป็นมาในช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคไปอยู่ใต้อาณัติของนายทุนนักการเมือง อยู่ใต้สำนักนายกรัฐมนตรี แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) ที่ให้เป็นอิสระจากอำนาจภาคธุรกิจและนักการเมือง และให้รัฐสนับสนุนเงินทุนในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

10) รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่บัญญัติให้มี “สภาเกษตรกร”

แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) มีบทบัญญัติรับรองเรื่อง “สภาเกษตรกร” เพื่อเป็นองค์กรปรึกษาหารือ และมีนโยบาย มาตรการ ส่งเสริมการรวมตัวของเกษตร เพื่อแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรด้วยกัน

11) การทำสัญญาข้อตกลงสำคัญกับต่างชาติ เช่น เอฟทีเอ เป็นต้น รัฐบาลจะดำเนินการโดยไม่โปร่งใส เหมือนที่รัฐบาลทักษิณเคยเอาผลประโยชน์ของเกษตรกรในประเทศไทยไปแลกกับผลประโยชน์ดาวเทียมของเอกชน ไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

รัฐธรรมนูญ 2540 เปิดช่องโหว่ให้มีการทำสัญญาระหว่างประเทศที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และไม่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ หรือการเยียวยาจากผลกระทบ

แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) มีบทบัญญัติป้องกันเอาไว้ เพื่อตรวจสอบผลประโยชน์ส่วนรวม และป้องกันการเจรจาที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการเอาผลประโยชน์ของประเทศไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัว และให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการลงนามหนังสือสัญญาได้รับการคุ้มครอง แกไขเยียวยา อย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเปนธรรม

12) หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (2550) จะเปิดโอกาสให้เอกชนบางรายสามารถเป็นเจ้าของผูกขาดกิจการสาธารณูปโภค ยิ่งกว่านั้น โครงข่ายสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เป็นสาธารณสมบัติ อาทิ โครงข่ายสายไฟฟ้า โครงข่ายโทรทัพท์ โทรคมนาคม ดาวเทียม โครงข่ายประปา ท่อก๊าซธรรมชาติ ถนนหนทาง ฯลฯ ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง เหมือนที่รัฐบาลทักษิณเคยขายโครงข่ายท่อก๊าซไปให้เอกชน และพยายามขายโครงข่ายไฟฟ้าไปให้เอกชน กระทั่งถูกศาลปกครองพิพากษาว่าไม่ถูกต้อง

แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ป้องกันเอาไว้ โดยบังคับไว้ว่า รัฐต้องเป็นเจ้าของโครงข่ายสาธารณูปโภคเหล่านี้ (ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 51%) เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับประชาชน

13) นักการเมืองสามารถเป็นเจาของกิจการหรือเปนผูถือหุนในกิจการสื่อมวลชน จึงสามารถครอบงำ แทรกแซง บิดเบือนการทำหน้าที่ของสื่อ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพื่อใชสื่อสารมวลชนตอบสนองผลประโยชนส่วนตัว อีกทั้ง ยังเปิดโอกาสให้มีการครองสิทธิข้ามสื่อ หรือผูกขาดเป็นเจ้าของสื่อหลายๆ แขนง ทำให้มีอิทธิพลอำนาจเหนือระบบข้อมูลข่าวสารของประเทศ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุคทักษิณ ที่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ป้องกันไว้

14) การทำงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จะยากลำบากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้กำหนดให้มี ป.ป.ช.ในระดับจังหวัด เพื่อช่วยแบ่งเบาภารกิจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะทำให้งานล้นมือ ป.ป.ช. มีเรื่องทุจริตตกค้าง รอให้ตรวจสอบอยู่ในกระบวนการจำนวนมาก
คนโกงจะระริกระรี้ ได้ประวิงเวลา ได้ลอยนวลต่อไป

ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) ที่เปิดโอกาสให้มี ป.ป.ช.จังหวัด ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

15) รัฐธรรมนูญ 2540 ประชาชนจะถูกปิดช่องทางในการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และไม่สามารถฟ้องตรงต่อศาลฎีกา เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระแทน ป.ป.ช.

16) ถ้าใช้รัฐธรรมนูญ 2540 นักการเมืองจะซื้อเสียงกันแบบตัวใครตัวมัน พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคไม่ต้องรับผิดชอบ สอดส่องดูแลป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง

พรรคการเมืองจะเป็นเหมือนรถเมล์ ที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของผู้โดยสารรถเมล์ ซึ่งก็คือกรรมการบริหารพรรค ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค เพียงแค่รับเงิน แล้วก็ดำเนินกิจการแสวงหาผลกำไรไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมีอุดมการณ์ใดๆ

ยิ่งกว่านั้น หากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็จะเป็นการนิรโทษกรรมแก่อดีตกรรมการบริหารพรรคที่เคยต้องคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณียุบพรรค ทุจริตเลือกตั้ง ไปโดยปริยาย เพราะเป็นการลบล้างเนื้อหาสาระย้อนหลังให้เป็นคุณแก่นักการเมืองเหล่านั้น อาจทำให้ระบบนิติธรรมเสื่อมเสีย ความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรมสั่นคลอน ล่วงละเมิดและทำลายอำนาจตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญ เกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบและกระบวนการยุติธรรมของประเทศอย่างรุนแรง เพราะคนผิดสามารถร่วมมือหรือใช้ให้พรรคพวกของตนแก้กฎหมายสูงสุดของประเทศเพื่อเป็นประโยชน์ตนเองได้

17) คตส. และการดำเนินงานของ คตส. ที่มีการตรวจสอบกรณีทุจริตของระบอบทักษิณหลายกรณี เช่น กรณีร่ำรวยผิดปกติ ยึดทรัพย์ 76,0000 ล้าน ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีทุจริตหวยบนดิน กรณีทุจริตกล้ายาง กรณีทุจริตเงินกู้เอ็กซิมแบงก์ ฯลฯ ก็จะถูกล้มล้างตามไปด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีบทบัญญัติรับรองการทำหน้าที่ของ คตส. เอาไว้

นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยาของนายเสนาะ เทียนทอง ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย จึงไม่แปลกใจที่นายเสนาะ เทียนทอง จะหันมาเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งๆ ที่ เคยวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เหมือนจับเอาผู้แทนของประชาชนไปขังคุกเป็นทาสของทักษิณ

และก็คงไม่แปลกใจว่า ทำไมตระกูลศิลปอาชา จึงเห็นดีเห็นงามไปด้วย

ทั้งหมดนี้ คือ ข้อเท็จจริงจริงที่ควรทราบ และควรคิดให้ดี ก่อนจะล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยอ้างว่า เปลี่ยนไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540 !

เราจะถอยหลัง ตัดตอนทำลายผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ เพียงเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองไม่กี่คน ละหรือ

กำลังโหลดความคิดเห็น