xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” สอน “หางแดง” ชุมนุมเคลื่อนไหวต้องถอยห่าง “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ ฉายแสง
“จาตุรนต์” เปิดตัวหนังสือ “ความจริง วิกฤตประชาธิปไตย 27 ประเด็นที่สังคมไทยต้องการคำตอบ” แนะ “หางแดง” อยากเคลื่อนเพื่อประชาธิปไตยต้องถอยห่างจาก “ทักษิณ” ปล่อยเป็นหน้าที่กระบวนการยุติธรรม เชื่อกองทัพ-พันธมิตรฯ สัมพันธ์ยังดี หากยังสู้เพื่อลดทอนอำนาจประชาธิปไตย ชี้ทางออกวิกฤตการเมือง ตุลาการต้องได้รับการตรวจสอบได้

วันนี้ (11 พ.ค.) ที่โรงแรมอิมพีเรียลธารา กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 14.00น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “ความจริง วิกฤตประชาธิปไตย 27 ประเด็นที่สังคมไทยต้องการคำตอบ” ซึ่งมีผู้ร่วมงานเป็นบรรดานักการเมือง และคนคุ้ยเคยกัน เช่น นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายเกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ อดีตที่ปรึกษาส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย นายนิกร จำนง อดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย นายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน นายชยุต ภุมมะกาญจนะ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคกิจสังคม โดยมี ม.ล.ณัฐกรณ์ เทวกุล เป็นพิธีกรบนเวที

ทั้งนี้ สำหรับเนื้อหาสาระในหนังสือดังกล่าวจะกล่าวถึง 27 ประเด็นทางการเมืองที่พัฒนาทำให้เกิดการชุมนุม ถึงจุดที่การชุมนุมต้องยุติลง รวมถึงบทวิเคราะห์ปัญหาวิกฤตที่ยังคงอยู่ในสังคมไทย ซึ่งนายจาตุรนต์ระบุในหนังสือประการหนึ่งถึงประเด็นที่เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เดินทางไปปิดล้อมการประชุมนุมอาเซียนซัมมิต ที่พัทยาว่า มองในแง่ดีแล้วยังต้องเรียกว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้กำชับกันให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ต้องไม่ให้เลยเถิดจนถึงขั้นล้มการประชุม ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็บกพร่องด้วยกัน คือที่ไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ที่เข้าร่วมประชุม รัฐบาลทั้งปล่อย หรือจัดให้มีกลุ่มคนเสื้อน้ำเงินจำนวนมากไปทำร้ายในลักษณะยั่วยุกลุ่มคนเสื้อแดง แต่กลับไม่มีเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ไว้รายล้อม เพื่อป้องกันสถานที่ประชุมอย่างเพียงพอ

นายจาตุรนต์กล่าวว่า เราสับสนเรื่องการเมืองมานาน คนรู้สึกว่ายิ่งนานวันยิ่งวิกฤต และเชื่อว่าในวิกฤตสังคมยังอีกนาน เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่มีการมองว่าเป็นการซื้อเวลา ลดกระแสความไม่พอใจรัฐบาล และเราไม่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 จะสำเร็จหรือไม่ การที่ตนบอกว่าการเมืองจะวิกฤตมากขึ้นก็วิกฤตจริงๆ หลังสงกรานต์ยังมีคำถามในการสลายการชุมนุม นายกฯ ได้พูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ต้นเหตุอยู่ที่รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย หากประเทศไทยจะพ้นวิกฤตทางการเมืองได้ ทุกคนต้องรู้หน้าที่ของตนเอง ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตย แต่จะหวังให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวไม่ได้ นั้นเป็นไปไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะเกิดความเห็นที่แตกต่างกันและจะเกิดการชุมนุมขึ้นมาอีก

นายจาตุรนต์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นผลมาจากการยึดอำนาจ มีเนื้อหาที่จะกำหนดว่าอำนาจจะอยู่ที่องค์กร บุคคลที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจหักล้างประชาชน ล้มนายกฯ ได้ โดยเน้นเนื้อหาในการหักล้างอำนาจประชาชน ตัดสิทธิ์ยังไม่พอ ยังให้นายกฯพ้นจากตำแหน่ง เช่นการออกรายการทำอาหารที่ต้องถึงขั้นยุบพรรค มีรัฐธรรมนูญมา 17-18 ฉบับ แต่ฉีกกันได้เป็นว่าเล่น สังคมต้องทำความเข้าใจว่าเราต้องปกครองโดยมีกฎหมายอยู่เหนือคน ไม่ใช่ให้ใครมาอยู่เหนือกฎหมาย

“ใน 3 ที่ผ่านมา เรื่องนิติรัฐไม่ได้ยึดหลักนิติธรรมเลย หรือที่เรียกว่า 2 มาตรฐาน เรื่องของนิติรัฐปรากฎในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องยึดถือหลักนิติรัฐ การที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่การเป็นอารยประเทศ การเป็นประชาธิปไตย ต้องหยุดตุลาการภิวัตร ให้ตุลาการภิวัตรถอยไปสู่ระบบตุลาการแท้ๆ แล้วค่อยมาพูดกันว่าตุลาการสามารถคานอำนาจได้มากแค่ไหน และถ้าจะให้ตุลาการได้รับการเชื่อถือว่า จะต้องได้รับการตรวจสอบจากประชาชนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ วิกฤตการเมืองจะลดลงได้ต้องมีการตรวจาสอบจากประชาชน”

ม.ล.ณัฐกรณ์ ถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง และพ.ต.ท.ทักษิณ ขณะนี้ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชน จะทำให้การเคลื่อนไหวยากมาขึ้นหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่ยาก อาจจะเป็นเรื่องยากหรือง่ายกว่าเดิม พ.ต.ท.ทักษิณจำเป็นต้องมีบทบาทน้อยลง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องแยกออกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ การที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นเรื่องของท่าน ท่านกับคนที่รักท่านก็ต้องต่อสู้กันทางการเมืองอีกต่อไป เนื่องจากท่านเป็นนายกฯ ที่ถูกยึดอำนาจที่ได้รับความเสียหาย ทั้งเรื่องการถูกตัดสิทธิทางการเมือง การถูกดำเนินคดี การต่อสู้จากนี้เพื่อทักษิณก็ต้องแยกแยะกับการเรียกร้องประชาธิปไตย และแม้ว่าจะให้จับอาวุธขึ้นสู้ก็เอาด้วยไม่ได้ ฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่ร่วมด้วย ต้องทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรมทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรมจริงๆ ต้องว่ากันเป็นเรื่องๆ

“สำหรับคนที่รักทักษิณ สู้เพื่อทักษิณ อย่าทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าสู้เพื่อคนคนเดียว ไม่อย่างนั้นประชาธิปไตยก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ คนที่สู้เพื่อทักษิณต้องมาร่วมกันคิดว่าทำอย่างไรให้เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เพื่อแค่คนคนเดียว การสู้เพื่อทักษิณต้องลดลง ที่ผ่านมาถูกทำว่าเป็นการต่อสู้เพื่อทักษิณ ทั้งที่จริงแล้วมันเกินจริง เหตุการณ์ที่พัทยา การปิดถนน อะไรที่รุนแรงหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องที่เสื้อแดงต้องรับผิดชอบทางการเมือง ถึงแม้จะเป็นการจัดฉากจากเสื้อน้ำเงินก็ตาม หลังสงกรานต์คนเสื้อแดงกลายเป็นผู้ร้าย ผู้ที่ปราบปรามกลายเป็นพระเอก คนเสื้อแดงจะมีคนรักมากแค่ไหนประเมินไม่ถูก แต่จะเป็นพลังที่เข้มแข็งพอสมควร การที่คนจะยอมรับคนเสื้อแดงหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ว่า เขาเสนออะไร ความเป็นนิติรัฐ ความกว้างหน้า หรือประชาธิปไตย เสื้อแดงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ต้องให้เสื้อทุกสีต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยถึงจะสำเร็จได้” นายจาตุรนต์ กล่าว

ม.ล.ณัฐกรณ์ ถามว่า ดูเหมือนพันธมิตรฯ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้พันธมิตรฯ จะบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ เรื่องของการเมืองใหม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า เป็นเรื่องของแกนนำพันธมิตรฯ กับผู้นำกองทัพบางคน โดยระบบทิศทางยังไปร่วมกันได้ เพราะต่างก็สนับสุนุนการปกครองที่ประชาชนไม่มีอำนาจได้จริง กองทัพเพื่อไม่พอใจก็ยึดอำนาจ และให้ลูกน้องของตัวเองมาร่างรัฐธรรมนูญ แม้ไม่ถูกกันบ้าง แต่ก็ยังเคลื่อนไหวกันได้อยู่ ถ้ามีวิกฤตมากขึ้นก็ยังร่วมกันได้ เชื่อได้ว่ายังสามารถอยู่ในเส้นทางเดียวกันได้

นายจาตุรนต์ยังได้กล่าวว่า เรื่องของสถาบันองคมนตรีไม่ได้มีการปัญหา แต่มีปัญหาเรื่องของตัวบุคคล ซึ่งบทบาทขององคมนตรีในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์องคมนตรีได้ แต่ต้องอยู่ในหลักในเกณฑ์ หรือติเพื่อก่อ แต่ถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงตนก็ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมองว่าการวิพากษ์วิจารณ์องคมนตรีเป็นการจาบจ้วงสถาบัน การประชุม 7 คนที่บ้านนายปีย์ มาลากุล โดยมีองคมนตรีและตุลาการร่วมประชุม คุยเรื่องการยึดอำนาจและการทำให้ทักษิณหายไป เรื่องนี้ทำไมไม่ฟ้องฐานหมิ่นประมาทกับ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีต ผอ.กอ.รมน.ที่นำมาเปิดเผย ไม่แจ้งความ ปล่อยให้คนสงสัย จะได้มีการตรวจสอบให้ชัดกันไปเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ประชาชนก็ได้แค่สงสัย

นายจาตุรนต์ยังได้กล่าวตอนท้ายว่า สังคมไทยยังวิกฤตอีกนาน และจะวิกฤตมากกว่าที่เราคิด ต้องรีบทำความเข้าใจ ถ้าเข้าใจในประชาธิปไตย เชื่อในประชาธิปไตย นิติรัฐ นิติธรรม และพยายามทำให้เกิดขึ้นก็จะเป็นภูมิต้านทานวิกฤตในอนาคต เพราะเราไม่รู้เราต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงมากแค่ไหน ซึ่งเราน่าจะมีทางออกที่ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ถ้าปล่อยให้แย่เหมือนปัจจุบัน ก็จะแย่กันทุกฝ่าย ซึ่งทางออกต้องช่วยกันผลักดัน

จากนั้น นายจาตุรนต์ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดตัวหนังสือความจริงวิกฤตประชาธิปไตยฯ ถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า ความจริงแล้วตนไม่ได้อยู่ในจุดแกนนำกลุ่มดังกล่าว แต่ได้บอกไปว่าการเคลื่อนไหวจากนี้ไป ใครทำอะไรได้แค่ไหนในกรอบของประชาธิปไตยก็ทำไป แม้จะพยายามทำยาก เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาได้เพลี้ยงพล้ำในเหตุการณ์ช่วงสงกรานต์ไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่รักประชาธิปไตยยังต้องการสู้ต่อไป ส่วนตัวคิดว่าบทบาทของกองทัพในสถานการณ์ขณะนี้ แม้จะมีอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวในบางพื้นที่ แต่ไม่ถึงกับเข้ามาล้างสมองเพราะถ้าทำเช่นนั้นกองทัพจะเสียหายเอง อย่างไรก็ตามในระยะยาวประเทศไทยจะต้องทำให้กองทัพ ต้องทำให้กองทัพอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือนให้ได้ ไม่ควรจะปล่อยให้คนอย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ทำตามใจตนเอง ไม่อยากจะทำตามคำสั่ง หรืออยากจะทำตามคำสั่งของรัฐบาลก็ได้ โดยไม่มีกรอบ ที่สำคัญยังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาทั้งที่บทบาท ต้องวางตัวเป็นกลาง แต่ที่ผ่านมากลับเป็นเพียงการอ้างว่าเป็นกลางทั้งที่ฟังไม่ขึ้น ดังนั้น ความน่าเชื่อถือในความกลางจึงไม่มีอีกแล้ว

นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ประเด็นใหญ่ทางการเมืองที่ทุฝ่ายจะต้องช่วยกัน คือ การก้าวผ่านวิกฤตทางการเมือง โดยรัฐบาลควรหยุดดิสเครดิตฝ่ายตรงกันข้าม หรือปั้นเรื่องเพื่อใส่ร้าย เช่น การล้มสถาบัน ซึ่งไม่เป็นประโยชนต่อการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และยังเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศให้รุนแรง ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลนำข้อเสนอของตนเรื่องการเลือก ส.ส.ร.โดยไม่ให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง จากนั้นจัดให้ทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะทำให้ปัญหาคลี่คลายลงเพราะตนไม่อยากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทำลอยตัวเหนือปัญหา ทั้งที่หลายเรื่องรับปากจะดำเนินการ ส่วนเรื่องคณะกรรมการสมานฉันท์ฯนั้น ตนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่น่าเสียดายที่นายกฯ และพรรคประชาธิปัตย์มีท่าทีที่อ่อนลงต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพยายามสร้างเรื่องเพื่อทำลายล้างทางการเมืองแสดงถึงความไม่จริงใจ ถ้ารัฐบาลปรับท่าทีตรงนี้ได้ ทุกฝ่ายก็พร้อมให้ความร่วมมือ
กำลังโหลดความคิดเห็น