xs
xsm
sm
md
lg

ชัยเล็งยืด"กก.สมานฉันท์"เหนาะโวยรับงานนช.แม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ชัย" เสียงอ่อย แบะท่าขยายกรอบเวลาการทำงานของกรรมการสมานฉันท์ฯ ระบุ 45 วันอาจได้แค่ข้อสรุปแนวทางในการปฏิรูปหรือตั้งอนุ กก.ไปศึกษาปัญหาต่อ โฆษกส่วนตัว นช.แม้วพูดเอาแต่ได้ ระบุนิรโทษกรรมให้คนถูกตัดสิทธิทางการเมืองอย่างเดียวไม่ช่วยอะไร เป็นแค่คนส่วนน้อย แต่ควรนิรโทษให้กับทุกคดีที่เกิดขึ้นหลังปฏิวัติทั้งคดีอาญาและการเมือง "เสนาะ" ร่วมก๊วนก๊อฟชิงถ้วยนักโทษแท้ๆ ยังโวยถูกใส่ร้ายรับงานแม้ว อ้างน้ำขุ่นๆ ทำเพื่อบ้านเมือง กต.เสนอตั้งศาลเฉพาะกิจการเลือกตั้ง

นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาข้อเท็จจริงของสมัชชารัฐสภาอาเซียนว่าด้วยการปราบปรามภัยคุกคามจากยาเสพติด (AIFOCOM) ที่จังหวัดเชียงราย ถึงความคืบหน้าการทำงาน ของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวหวังว่าภายใน 45 วันจะเห็นความชัดเจนในการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง เสริมสร้างความสมานฉันท์ แต่ยอมรับว่าระยะเวลาดังกล่าว คงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ทั้งหมด ซึ่งผลที่ออกมาอาจได้ข้อสรุปเพียงแนวทาง ในการปฏิรูปหรือตั้งอนุกรรมการให้ไปศึกษาปัญหาต่อ ดังนั้น กรอบเวลา 45 วันที่ได้กำหนดไว้สามารถขยายเวลาได้ อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือแต่ละภูมิภาคช่วยสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ให้คณะกรรมการฯ ด้วย
นายชัยยังฝากถึงชาวจังหวัดเชียงรายด้วยว่า ไม่ต้องการให้มีสีเสื้อ แต่ต้องการ ให้มีเพียงสีขาวที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ และเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และคาดหวังให้สีดังกล่าวช่วยทำนุบำรุงจิตใจ ไม่ให้คนไทยแตกความสามัคคี

เด็กแม้วดันนิรโทษทั้งการเมือง-อาญา
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และโฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กล่าวก่อนแข่งขันกอล์ฟรายการ สังสรรค์สามัคคี 111+37=เพื่อไทย ชิงถ้วยรางวัล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีที่ดินรัชดา สนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งมี เครือญาติ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.สส. นายพายัพ ชินวัตร ประธานคณะกรรมการประสานงานภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ร่วมแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เข้าร่วมก็วนกอล์ฟครั้งนี้ด้วย ว่า การแข่งขันกีฬาระหว่างคนที่เคยร่วมทำงานกัน ไม่มีอะไรพิเศษ และคงไม่การหารือเรื่องการเมือง เพราะการแก้ไขปัญหาของประเทศคงจะพูดกันที่อื่น และคงไม่คุยกันที่นี่
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์และปฏิรูปการเมืองฯ และมีหลายฝ่ายเสนอให้นิรโทษกรรมนักการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่บ้างฝ่ายเช่นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคัดค้าน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดปัญหา จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้อำนาจอธิปไตยกลับไปสู่ประชาชน รัฐบาลต้องวางหมากให้มีเหตุผล หากจะนิรโทษกรรมเพื่อให้อดีตนักการเมือง บ้านเลขที่ 111 และ 109 นั้นไม่มีประโยชน์ เพราะคนที่รับผลกระทบนั้นเป็นส่วนน้อย แต่การนิรโทษกรรมควรกระทำให้คนส่วนมากในสังคมเกิดความสงบสุข
ผู้สื่อข่าวถามว่านิรโทษกรรมให้คนส่วนมาก หมายความว่าอย่างไร นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนในสังคมมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างและเกิดการชุมนุมรวมตัวกัน และคนส่วนมากก็โดนกล่าวหาว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย และโดนตั้งข้อหาในคดีอาญาจำนวนมาก ฉะนั้นสังคมควรกลับมาเริ่มต้นกันใหม่เพราะประเทศเกิดการติดขัด
เมื่อถามต่อว่าแสดงว่าการนิรโทษกรรมนั้นจะโยงไปยังคดีของคนเสื้อเหลือง และคนเสื้อแดง นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ต้องไปดูว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกันบ้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายกลับมาเล่นกันใหม่โดยไม่มีคดีติดตัว หากจะนิรโทษกรรมให้อดีตนักการเมืองนั้นตนไม่เห็นด้วย

อ้างกระบวนการยุติธรรมไม่ปกติ
ส่วนการนิรโทษกรรมจะเกี่ยวกับคดีอาญาด้วยหรือไม่นั้น นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ตามปกติแล้วการนิรโทษกรรมนั้นจะกระทำในคดีอาญาอยู่แล้ว โดยเห็นได้จากกรณี 14 ตุลา 16 , พฤษภาทมิฬ ก็มีการนิรโทษกรรมกัน เมื่อถามว่า การนิรโทษกรรมจะรวมคดีที่ดินรัชดาภิเษกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยหรือไม่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า สังคมไทยคงดูได้ว่ากระบวนการยุติธรรมหลังการยึดอำนาจแตกต่างกับกระบวนการ ยุติธรรมในช่วงปกติอย่างไร และควรจัดการเช่นใด สังคมยอมให้มันเกิดขึ้นหรือไม่ หรือต้องรื้อคดีขึ้นมาทำใหม่ เรื่องนี้ตนไม่ได้คุยกับอดีตนายกฯ เพราะตนกำลังยุ่งกับการเตรียมชี้แจงคดีหวยบนดิน
ผู้สื่อข่าวต่อไปว่าหากคดีอาญาได้รับการนิรโทษกรรม แต่คดีทางการเมืองยังคงอยู่นั้น จะรับได้หรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า ต้องดูว่าจะนิรโทษกรรมให้ใครบ้าง และดูความเหมาะสม แต่มันต้องเป็นไปโดยเสมอภาค ส่วนกรณีที่พันธมิตรฯกังวลว่าจะนิรโทษกรรมคดีอาญานั้น การนิรโทษกรรมตามปกติมันคือการนิรโทษกรรม ในคดีอาญาอยู่แล้ว เพราะคดีที่หนักหนาและเกิดผลร้ายกับประเทศ เช่น ปิดสนามบิน และยึดทำเนียบฯ แต่คดีที่ดินชัดาภิเษกมีโทษจำคุกเพียงสองปี
ส่วนหลายฝ่ายวิจารณ์ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซื้อเวลา โดยอ้างเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ นายพงศ์เทพกล่าวว่า ผู้สื่อข่าวใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีกว่าตนและน่าจะรู้ดีกว่าตน
นายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมกาบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ไม่ค่อย ให้ความสำคัญกับการนิรโทษกรรม เพราะไม่เคยยอมรับกฎกติกา ที่ร่างขึ้นโดย เผด็จการอยู่แล้ว ส่วนจะช่วยผ่อนคลายงวิกฤตความขัดแย้งให้บ้านเมืองหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าคำว่าสมานฉันท์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากรัฐบาลยังไล่จับแกนนำคนเสื้อแดง อยู่ทุกวัน ซึ่งล่าสุดตนทราบว่าในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้รัฐบาลจะออกหมายจับแกนนำคนเสื้อแดงกว่า 100 คน
นายเสนาะ เทียนทอง ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่วมตีกอล์ฟชิงถ้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยกล่าวว่า ตนไม่อยากคุยเรื่องการเมือง เพราะวันนี้จะไม่มีบ้านเมืองให้เล่นการเมืองกันแล้ว จะเล่นอะไรก็แล้วแต่แม้กระทั่งสื่อมวลชน เวลาจะทำอะไรก็ให้คิดถึงบ้านเมือง หลักการ คุณธรรมและความจริง เพื่อให้คนในชาติได้เข้าไปอยู่ในทิศทางที่ถูกที่ควร ใครพูดอะไรแล้วไปเป็นข่าวขยายความกันไปในทางเสื่อมเสียมันก็ไม่ดี จึงไม่อยากจะพูดอะไรแล้ว เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่าที่มาของความขัดแย้งนั้นมาจากไหน แต่พอจะพูดความจริง ก็หาว่าเราเอียงนั่นเอียงนี่ ก็เลยไม่รู้จะว่าอย่างไร
ส่วนการนิรโทษกรรมให้นักการเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการยึดอำนาจ วันที่19 กันยายน 2549 นั้นนายเสนาะ กล่าวว่า ถามว่าที่ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็ต้องมาคุยกัน ไม่ใช่เอาชนะคะคานกัน ไม่ใช่ไปถกเถียงกัน เพราะถ้าคณะกรรมการฯยังปรองดองกันไม่ได้แล้วจะมาปรองดองกันทำไม เช่นพรรคนั้น พรรคนี้ส่งข้อมูลเข้าไป แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่แค่ 2 พรรค ขั้วหนึ่งเป็นพรรคไทยรักไทยเดิม ย้ายมาพรรคพลังประชาชนแล้วมาเป็นพรรคเพื่อไทย อีกขั้วก็พรรคประชาธิปัตย์ก็สู้กันมาตลอด เพื่อให้ได้มา ซึ่งอำนาจ แล้วถามว่าอย่างนี้ประเทศจะได้อะไร เพราะเกิดแต่ความแตกแยกที่มีคน 2-3 ฝ่ายไปสร้างความแตกแยกร้าวลึกให้กับประชาชน ซึ่งตนไม่เคยเห็น
นายเสนาะ กล่าวว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ จะทำงานสำเร็จหรือไม่ ต้องหันหน้ามาคุยกัน เพราะถ้าส่งคนเข้ามาแล้วมีปัญหาก็ไม่ต้องส่งเข้ามา เพราะชื่อคณะกรรมการก็บอกอยู่แล้วว่าให้ปรองดอง ซึ่งต้องผ่อนหนักผ่อนเบา แล้วเรามาเริ่มต้นกันใหม่ให้ประเทศมั่นคง แต่อย่าไปปรองดองระหว่างนักการเมือง ต้องปรองดอง เพื่อยุติการสร้าวความแตกแยกให้กับประชาชน ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะถือว่าเป็นจุดอ่อนของประเทศ ที่เอาสีโน้น สีนี้มาอ้าง เพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากยังละลายพฤติกรรมของคณะกรรมการฯ ไม่ได้ เกรงว่า การทำงานอาจจะล่ม นายเสนาะ กล่าวว่า คงไม่ล่ม แต่เราจะต้องทำให้คนรู้ว่า คนไหนเห็นแก่ตัว

เหนาะโวยถูกกล่าวหารับงานทักษิณ
เมื่อถามว่า ฝ่ายหนึ่งบอกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย นายเสนาะ กล่าวว่า อย่าไปยึดติดกับคนๆ เดียว จะเอากันไปถึงไหน เวลาจับหนูได้เราก็ไม่รู้จะทำอะไร แต่กลับไปทำเรื่องไร้สาระ กล่าวหาเขาเยอะแยะ พอเวลาเราพูดบ้างก็ไปหาว่ารับงาน พ.ต.ท.ทักษิณ มา ผมก็พูดในที่ประชุมกรรมการฯ ว่าไปกล่าวหาเขาเรื่องใหญ่เรื่องโต ไปยึดทรัพย์เขาก็แปดหมื่นล้าน แสนล้าน แต่ไม่เห็นตัดสินอะไร กลับมาตัดสินเรื่องเมียเขาซื้อที่ เมียรอดแต่ผัวกลับติดคุก ชาวบ้านเขาไม่รู้ ดังนั้นถ้าจะตัดสินเขาอย่างนี้ก็ต้องชี้แจงให้ชัด ให้ชาวบ้านรู้ว่า ทำไม ซื้อโดยถูกต้อง ชอบธรรมหรือไม่ สามีไปเซ็นชื่อรับรองให้ภรรยาทำนิติกรรม กลับติดคุก มันมีที่ไหนวะ อันนี้พูดตรงๆ เรื่องใหญ่ๆ กลับไม่ไปตัดสินเขา ถ้าจะกล่าวหาเขาก็บอกว่าเฮ้ย! นายกฯใช้อิทธิพลมาซื้อที่ซื้อทางไม่ได้ ที่ก็ต้องไม่ได้ไป ซื้อโดยไม่ชอบ ที่ผมพูดไม่ได้ไปพูดเข้าข้างทักษิณ แต่ชาวบ้านเขางง ไปกล่าวหาเขา ไว้เยอะ ชาวบ้านก็คิดว่าไปกลั่นแกล้ง เพราะคนที่รักเขาก็มีเยอะ
ผู้สื่อข่าวถามว่าสังคมจะเปิดใจยอมรับได้หรือไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมไม่เกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ นายเสนาะ กล่าวว่าการแก้ไขเพื่อให้บ้านเมือง สังคมและความถูกต้องตามจารีตประเพณี แต่อย่ามาหาว่าที่พูดอย่างนี้จะเข้าข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ หรือใครคนใดคนหนึ่ง เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นปัญหาก็ไม่จบ ฉะนั้นต้องดูที่มาว่าจะแก้เพราะอะไร พื้นฐานของความแตกแยกมาจากไหน ถ้ายังไม่รู้จุด เหล่านี้ก็อย่าเพิ่งไปแก้ และที่สำคัญคือทุกฝ่ายต้องพูดความจริง ว่าที่ทะเลาะกันทุกวันนี้ทะเลาะกันเรื่องอะไร ผู้ใหญ่ถึงจะลงไปไกล่เกลี่ยว่าต่อไปนี้ให้เลิกกันได้แล้ว
ส่วนที่หลายฝ่ายอยากให้ทำประชามติสอบถามประชาชน นายเสนาะ กล่าวว่า จะเอาอะไรไปถามประชาชนในเมื่อยังไม่มีหลักจะไปถาม ในคณะกรรมการฯต้องตกลงกันก่อน ถึงจะไปถามประชาชน เพราะประชาชนไม่รู้ว่ามีกี่ฝ่ายในขณะนี้
หากยังไม่อะลุ่มอะล่วย เถียงกันว่าสีโน้นสีนี้ ทำให้บ้านเมืองวายวอด ไม่รู้ว่า ที่ไปนั่งเป็นกรรมการฯ อยู่นั้นจะรู้บ้างหรือไม่ หากกรรมการฯ ที่มาจากต่างพรรคไม่อะลุ้มอะล่วย ยังเถียงกันเรื่องสีนั้นสีนี้ จนมีส่วนทำให้บ้านเมืองบรรลัยวายวอด รู้สำนึกกันบ้างไหม ถ้ารู้สำนึกก็บอกว่าต่อไปนี้จะไม่ทำกันแล้วไม่ใช่อะไรก็ไม่ได้ ไม่ยอมรับผลการกระทำของตัวเองก็พัง
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐธรรมานูญ มาตรา 237 ที่ระบุถึงการยุบพรรคและการนิรโทษกรรม มีข้อถกเถียงในสังคมมากมายว่าควรเเก้ไขหรือไม่ เรื่องนี้ ควรมีการทำประชามติหรือไม่ นายเสนาะ กล่าวว่าจะทำอย่างไรก็ได้ ขอให้บ้านเมือง อยู่รอด เรื่องนี้ตนพูดตลอดเวลา ที่ไม่กล้าพูดถึงมาตรานี้เพราะกลัวว่าจะมีคู่แข่งเกิดขึ้นใช่หรือไม่ ในเมื่อถามว่าปัญหาที่ขัดแย้งมีมาตราอะไรบ้าง เพราะตัวเองไม่โดนก็เลยบอกว่าทำไม่ได้ ถามว่านักการเมืองที่โดนลงโทษ เป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ก็ต้องหาทางออก ส่วนรัฐบาลจะจริงใจในการดำเนินการหรือไม่นั้น ตนไม่อยากให้ไปพูดอย่างนั้น แต่อะไรที่จะคลี่คลายไปในทางที่ถูกและดีก็ต้องทำ ถ้าหากว่ามีใจต่อกันจริง

กกต.เสนอตั้งศาลเฉพาะกิจการเลือกตั้ง
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวในฐานะผู้ปฏิบัติเห็นว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายหลายฉบับ เมื่อนำมาบังคับใช้ผู้เกี่ยวข้องและผู้ปฏิบัติจะทราบได้ว่าสมควรแก้ไข เพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และหากทุกฝ่ายเห็นพ้องกันก็สามารถดำเนินการแก้ไขได้ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญปี 50 ยังเปิดช่องให้แก้ไขได้ ไม่ถือว่าผิดปกติ สำหรับกกต.เองมีหน้าที่หลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีการรับคัดค้านการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งกกต.เองวินิจฉัยในส่วนที่มีผู้ร้องคัดค้านก่อนการประกาศผลเลือกตั้ง แต่หากประกาศผลเลือกตั้งแล้ว ผู้ร้องจะต้องร้องต่อศาลฎีกาการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ข้อขัดแย้งที่ควรได้รับการแก้ไขอยู่ที่กฎหมายการพิจารณา ให้ใบเหลือง ใบแดง เป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน แต่ฐานการพิจารณาในชั้นศาลเป็นดุลยพินิจคนละฐานกับ กกต. ดังนั้นหากเป็นไปได้ ควรมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีเลือกตั้ง เพื่อคุ้มครองพยาน การเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ เพราะขณะนี้ไม่มีการคุ้มครองพยานการเลือกตั้งทั้งในคดีเลือกตั้งและคดีอาญา
ทั้งกกต.และศาลจะใช้กฎหมายตัวเดียวกันในการพิจารณาให้ใบเหลืองใบแดง แต่ระบบวิธีพิจารณาของศาลและกกต.จะแตกต่างกัน เช่น กรณีที่ กกต.วินิจฉัยเห็นควร ให้ใบแดงกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต่อเมื่อถึงชั้นศาล ศาลอาจวินิจฉัยเห็นว่า ไม่กระทบต่อการเลือกตั้ง หากสั่งให้เลือกตั้งใหม่จะกระทบต่องบประมาณการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความเห็นที่ขัดแย้งกัน จะเห็นได้ว่าเป็นการตีความในข้อกฎหมายฉบับเดียวกันแตกต่างกัน ดังนั้น ควรมีองค์กรเพียงองค์กรเดียวสำหรับวินิจฉัยการกระทำผิด กฎหมายเลือกตั้ง เช่น การตั้งศาลเฉพาะกิจการเลือกตั้งขึ้นมาเฉพาะช่วงที่มีการเลือกตั้ง โดยกำหนดระยะเวลาทำงานของศาลเฉพาะกิจดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมามีจำนวนมากกว่า 60% ที่กกต.ให้ใบเหลือง แต่เมื่อเรื่องเข้าสู่การวินิจฉัยของศาล พบว่า ศาลยกคำร้อง” เลขาธิการฯ กกต. กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น