xs
xsm
sm
md
lg

ถกสมานฉันฑ์เถียงอุตลุด-เด็กพท.ดันเลือกสสร.-นิรโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.45 น. วานนี้ (7 พ.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นัดแรก ซึ่งมีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานในการประชุม
ก่อนที่จะเข้าสู่วาระการประชุม นายดิเรกได้ปรึกษาคณะกรรมการว่า จะอนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมฟังการประชุมด้วยได้หรือไม่ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ระบุว่า การประชุมของคณะกรรมการเป็นไปโดยเปิดเผยอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาหากสื่อมวลชนจะเข้าฟังการประชุมด้วย แต่การประชุมครั้งต่อไปจะให้สื่อมวลชนรับฟังอยู่อีกห้องหนึ่ง ที่มีการถ่ายทอดเสียง จากนั้นมีการหารือว่าจะตั้งโฆษกคณะกรรมาธิการฯหรือไม่ ที่ประชุมมีข้อสรุปว่ายงไม่ต้องตั้งโฆษกฯ แต่ให้ประธานและรองประธานฯร่วมกันแถลงหลังการประชุมทุกครั้ง
สำหรับการหารือถึงระยะเวลาในการพิจารณานั้น คณะกรรมมการฯ มีข้อเสนอมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่า น่าจะใช้เวลา 45 วัน ที่สุดนายดิเรกได้สรุปว่า คณะกรรมการจะวางกรอบพิจารณาไว้เบื้องต้น 45 วัน และในทุก 15 วันจะให้เลขานุการสรุปการทำงาน ชี้แจงต่อสื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งการประชุมจากนี้ไปจะประชุม 3 วันต่อสัปดาห์ คือทุกวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี โดย 2 สัปดาห์แรกซึ่งสภายังไม่ปิดสมัยประชุมนั้น จะเริ่มการประชุมตั้งแต่เวลา 09.00 น. และเมื่อปิดสมัยประชุมสภาไปแล้ว จะเริ่มประชุมในเวลา 13.00 น. ดังนั้น การประชุมนัดต่อไป จะเริ่มวันอังคารที่ 12 พ.ค.เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างหนักหน่วงในประเด็นเรื่องกรอบเวลาที่จะใช้พิจารณา โดยคณะกรรมการหลายคนมองว่าขณะนี้ยังไม่รู้เนื้อหาในการพิจารณาว่ามีขอบข่ายอะไรบ้าง โดยเฉพาะกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนนั้น จะมีหรือไม่และถ้ามีรูปแบบจะเป็นอย่างไร เพราะจุดนี้อาจต้องใช้เวลาพอสมควร

ประชามติส่อแท้งกม.ยังไม่คลอด
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เสนอว่า ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการควรทำประชามติควบคู่ไปด้วยในคราวเดียว ซึ่งนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แย้งว่า ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นอำนาจของ ครม. แต่นายสมศักดิ์ยังระบุอีกว่า รัฐบาลเป็นคนมอบหมายให้ประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ดังนั้นเมื่อเราเสนอไปรัฐบาลก็คงไม่ขัดข้อง อย่างไรก็ตาม เมื่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ชี้แจงว่า กฎหมายประชามติขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสองสภา ทำให้นายสมศักดิ์ได้ขอถอนข้อเสนอดังกล่าวออกไป
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ที่ประชุมยังมีความเห็นแตกออกเป็นสองฝั่งในเรื่องการรับฟังความเห็นของประชาชนว่า ในชั้นของคณะกรรมการจะมีการรับฟังความเห็น หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นนายดิเรกได้เสนอให้มีการคุยกันในคณะกรรมการทั้ง 40 คน พร้อมทั้งกำหนดประเด็นที่จะมีการไปถามความเห็นจากประชาชนในภายหลังว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นจึงส่งให้กับประธานรัฐสภาไปดำเนินการ สอดคล้องกับความเห็นของ นายเสนาะเ ทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ที่มองว่า การรับฟังความเห็นของประชาชนนั้นทำได้ลำบาก โดยอาจจะพบกับความคิดเห็นปลอมที่ไม่ใช่ความคิดเห็นของ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้ ซึ่งจะยิ่งสร้างปัญหาต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ และจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้นมา
ขณะเดียวกันนายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้ระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่คณะรับฟังความเห็นของประชาชน จึงอยากให้รวบรวม ข้อเสนอที่ทุกพรรคการเมืองส่งมาให้บ้างแล้วนำมาพิจารณาเลย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะไม่ต้องใช้เวลามาก
อย่างไรก็ตาม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้คัดค้านโดยอ้างอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการว่า จะต้องมีการรับฟังและรวบรวมความเห็นของประชาชนด้วย เช่นเดียวกับนายอรรคพล สรสุชาติ สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เห็นควรให้มีการ สอบถามความเห็นของประชาชนเป็นระยะ ขณะที่นายประยุทธ ศิริพานิช คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ระบุเช่นเดียวกันว่า ให้มีการรับฟังความเห็น ของประชาชน เพราะมีวิธีการที่ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เช่น การเปิดเวปไซด์ ให้แสดงความคิดเห็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมนัดแรกนานกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมจึงได้ข้อสรุปเพียงกรอบเบื้องต้น แต่ยังไม่มีการพูดคุยถึงเนื้อหารายละเอียดแต่อย่างใด ซึ่งนายดิเรกได้ฝากให้คณะกรรมการทุกคนไปวางกรอบแนวคิดของตัวเองตามแนวทางที่ประธานรัฐสภามอบอำนาจให้ จากนั้นให้นำข้อมูลมาวางบนโต๊ะเพื่อหารือกันในการประชุมครั้งหน้า

เสนาะชูนิรโทษฯใช้รธน.40เป็นตัวตั้ง
นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ได้ขอให้ประธานรวบรวม ความเห็นประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของทุกพรรคการเมือง ซึ่งเชื่อว่า ทุกพรรคการเมืองมีประเด็นเหล่านี้อยู่แล้ว ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุด้วยว่า ระหว่างการประชุมของคณะกรรมการในบางครั้งนั้น อยากให้เชิญนายกรัฐมนตรีมาร่วมฟังการประชุมด้วย
ในช่วงท้ายของการประชุมนั้น นายดิเรกได้เปิดโอกาสให้นายเสนาะแสดงความคิดเห็น โดยนายเสนาะได้กล่าวช่วงหนึ่งว่า ต้องไม่ใช้กฎหมาย หลายมาตรฐาน เอารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวตั้ง ถ้าปัญหาที่ผ่านมาอภัยกันได้ นิรโทษกรรมกันได้ก็จบ เราก็ทำบทเฉพาะกาลขึ้นมา เคลียร์กันได้ทุกอย่างก็จบ

กก.สมานฉันฑ์ใช้เวลาดำเนินการ45วัน
นายดิเรก แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะใช้กรอบการพิจารณา 45 วัน โดยประชุมสัปดาห์ละ 3 วัน สำหรับเนื้องานนั้นที่ประชุมได้เก็บข้อมูลจากคณะกรรมการหลายท่านที่ได้อภิปรายไป ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้จะทำงานให้เร็วที่สุด ส่วนเวลาการประชุมในแต่ละวันนั้นสามารถยืดหยุ่นและขยายได้
ทั้งนี้คณะกรรมการไม่ขัดข้องที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการ แสดงความคิดเห็น ซึ่งคณะกรรมการจะสอบถามเป็นประเด็นๆไป แต่จะมีรูปแบบอย่างไรนั้น คณะกรรมการจะกำหนดในภายหลัง
ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุให้พรรคการเมือง ส่งเอกสารประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาด้วยนั้น ขณะนี้ส่งมาถึงคณะกรรมการแล้ว 2 พรรคคือ พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา

เตรียมตั้งอนุกก.พิจารณา3เรื่องใหญ่
นายดิเรก ให้สัมภาษณ์ภายหลังแถลงข่าวว่า แม้ผลการประชุมวันนี้จะได้ข้อสรุป เพียงแค่กรอบการทำงานเท่านั้น แต่ทำให้คณะกรรมการชุดนี้เห็นแนวทางที่จะทำให้คนในชาติเกิดความสมานฉันท์ได้ การประชุมครั้งต่อไปคณะกรรมการอาจจะต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการพิจารณาใน 3 เรื่องใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาแนวทางสมานฉันท์ การปฏิรูปการเมือง การศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เพราะถ้าหากคณะอนุกรรมการชุดใด ต้องการให้มีการทำประชาพิจารณ์จะได้ดำเนินการได้เลย สำหรับคณะอนุกรรมการที่จะมีการตั้งขึ้นนั้น เบื้องต้นวางแนวทางไว้ว่าจะตั้งคณะละ 18 คน แบ่งเป็นคนนอก 6 คน กรรมการสมานฉันทฯ 12 คน

ชัยไม่ขยายกรอบเวลาจาก15วัน
นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เรียกร้องให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาจาก 15 วันออกไปอีก ว่า ไม่ต้องขยาย เพราะในคำสั่งตั้งคณะกรรมการนั้นระบุให้เร็วขึ้น แต่จะเร็วขึ้นได้เมื่อไหร่ อย่างไรนั้นคงต้องแล้วแต่ผู้ปฏิบัติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระยะเวลา 15 วันนั้นมองว่าเพียงพอหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า แล้วแต่เหตุการณ์ ถ้าไม่มีการเล่นแง่เล่นงอนหรือเล่นมุกต่างๆ ตั้งใจทำงานจริงๆ ก็คงไม่ถึง 15 วัน อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูการประชุมในวันนี้ก่อนว่าราบรื่นแค่ไหน
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าคณะกรรมการทั้ง 2 คณะจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า อยู่ที่ความพร้อมของแต่ละคณะว่ามีความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์กันแค่ไหน และหยิบยกประเด็นอะไรมาพูดกันบ้าง ทั้งนี้ทราบว่า นายกรัฐมนตรีก็เปิดไฟเขียวให้เต็มที่แล้ว โดยรัฐบาลจะไม่ปิดบังอะไรทั้งสิ้น
ส่วนที่คณะกรรมการสมานฉันฑ์ฯยังมีความเห็นแตกต่างกันมากนั้น นายชัย กล่าวว่า ต้องฟังเสียงข้างมากว่าส่วนใหญ่เอาอย่างไร การที่จะให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันหมดนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะสถานที่ไม่เพียงพอ ยิ่งมากคนก็มากเรื่อง แต่ถ้ามีความ เที่ยงธรรม สุจริต รักบ้านเมืองจริงๆ แม้คนส่วนน้อยก็สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้

อนุสรณ์แนะเลือกสสร.เข้ามาร่างรธน.
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการสมานฉันท์ฯ สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาซึ่งมีแนวโน้มยังไม่ยุติในอนาคตอันใกล้ เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน เกี่ยวข้องทั้งความขัดแย้งระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคล ทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม สังคม มีลักษณะความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างที่ต้องปฏิรูปในระดับโครงสร้าง ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 50 ที่เป็นผลผลิตของการรัฐประหาร มีจุดดีคือ การควบคุมนักการเมืองเข้มแข็งขึ้น การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น แต่ก็มีหลายมาตราที่ทำให้การเมืองระบบเลือกตั้งอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพ ระบบพรรคอ่อนแอ เป็นผลร้ายต่อประชาธิปไตย
ดังนั้น เมื่อปัญหาซับซ้อนจึงต้องปฏิรูปอย่างรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สื่อมวลชน การศึกษา กระบวนการยุติธรรม วัฒนธรรม และส่งเสริมสถาบันของชาติให้เข้มแข็งมีบทบาทอันเหมาะสมสำหรับประเทศในศตวรรษที่ 21
การปฏิรูประดับโครงสร้าง ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ จึงควรจัดให้มีการเลือกตั้งสภาปฏิรูปประเทศไทย และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจาก การเลือกตั้งของประชาชน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับใหม่ โดยอาจกำหนด ให้แล้วเสร็จภายใน 6-12 เดือน ซึ่งสภาปฏิรูปประเทศไทย จะศึกษาการปฏิรูประเทศอย่างรอบด้าน รวมถึงประเด็นการคืนความเป็นธรรม หรือนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษ และนำเสนอรัฐสภาตัดสินใจเพื่อความสงบของสังคมและรักษาความถูกต้อง ตามหลักนิติรัฐให้เกิดขึ้นพร้อมกัน

สุวัจน์หนุนทไประชามติ-นิรโทษ
นายสุวัจน์ ลิปตภัลลพ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี การนิรโทษกรรมต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ว่าต้องทำอย่างไร หรือควรให้นิรโทษกรรม หรือไม่ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัวเห็นว่าควรทำประชามติสอบถามประชาชนเสียงส่วนใหญ่ก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการประชามติ หากจะแก้ไขก็ควรทำประชามติเช่นกัน เพื่อทำให้การแก้ไขมีความชอบธรรม และทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้
คณะกรรมการสมานฉันท์ฯควรเป็นผู้หยิบประเด็นที่เป็นหัวใจขึ้นมา แล้วตั้งเป็นประเด็น และสรุปประเด็นเพื่อนำไปถามประชาชน วันนี้เราต้องนำ 3 เรื่องมาประกอบคือ 1. คิดในเชิงนิติศาสตร์คือยึดหลักกฎหมาย 2. คิดในเชิงรัฐศาสตร์ คือการแก้ไขปัญหาการเมือง 3. คิดในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่กำลังรุมเร้าประเทศอยู่ ถ้ายึด 3 กรอบนี้มาประกอบก็เชื่อว่าจะลดปัญหาขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้าได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าสมาชิกบ้านเลขที่ 111 มีความเห็นเรื่องการนิรโทษกรรม อย่างไร นายสุวัจน์ กล่าวว่า ตนเฉยๆ กับการนิรโทษกรรม แต่ที่ได้คุยกัน บางคนก็จะกลับมาเล่นการเมือง บางคนก็ไม่เล่น บางคนขออยู่ข้างนอกก่อน แต่ทุกคนมีความรู้สึก เดียวกันว่า ไม่ได้ทำอะไรผิด ฉะนั้นคนที่ทำผิดก็ไม่ควรนิรโทษกรรม ส่วนผู้ที่ไม่ผิดก็ต้องมาพิจารณาว่าความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น