ส.ว.ประสานเสียง หนุน “ดิเรก” นั่งประธานกรรมการสมานฉันท์ เชื่อเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ยันแก้รัฐธรรมนูญต้องฟังเสียงประชาชนทุกฝ่ายรวมกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย ด้าน “สาย” แนะพันธมิตรฯ อย่ารีบออกตัวค้านแต่หัววัน เชื่อพบกันครึ่งทางได้ วอนให้ดูท่าทีก่อนเคลื่อนไหว ยันต้องรับฟังความเห็นคนอื่นบ้าง
วันนี้ (4 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย ค้านนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนเห็นว่าการแต่งตั้งให้นายดิเรกเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์ฯ มีความเหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาในการปฏิบัติงานนายดิเรกมีความเป็นกลาง เป็นผู้ใหญ่ และไม่เคยแสดงตัวว่าเข้าข้างฝ่ายใด ซึ่งตนเห็นว่าควรให้โอกาสนายดิเรกได้ทำหน้าที่ อีกทั้งคณะกรรมการชุดนี้เป็นเพียงคณะกรรมการเพื่อรวบรวมแนวทางในการพิจารณาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองเท่านั้นเพราะยังเหลือขั้นตอนสุดท้ายที่สมาชิกรัฐสภาจะเป็นผู้พิจาณาและฟังเสียงของประชาชนอย่างกว้างขวางว่าเห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนัดชุมใหญ่ในวันที่ 24-25 พฤษภาคม เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า จากการติดตามเห็นว่าไม่ใช่การคัดค้านแต่เป็นการระดมความเห็นของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งตนคิดว่าหากยืนกระต่ายขาเดียวไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นปัญหา เพราะหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและนำไปสู่ความสันติก็น่าจะยอมรับ อีกทั้งขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วและรัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มให้มีการพิจาณาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรจะรับพิจารณา
นายสิริวัฒน์กล่าวอีกว่า ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ส.ว.ส่วนใหญ่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตรา โดยเฉพาะมาตราไหนที่ไม่เป็นธรรมต่อกระบวนการประชาธิปไตยก็ควรได้รับการแก้ไข
ด้าน นายสาย กังกะเวคิน ส.ว.ระยอง 1 ในกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า นายดิเรกมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในการเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ เพราะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่เลือกข้างไม่เลือกสีมีความเป็นกลาง อีกทั้งยังเป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นบุคคลที่วุฒิสภาเห็นชอบให้เป็นตัวแทนของวุฒิสภา จึงไม่มีเหตุที่พรรคเพื่อไทยต้องคัดค้าน
นายสายยังกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ยังไม่ถึงเวลาในการชุมนุมเนื่องจากต้องรอพิจารณาก่อนว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่และหากแก้จะแก้ไขมาตราใดบ้าง อีกทั้งรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ หากแก้ไขแล้วไม่เป็นประโยชน์เพื่อบุคคลใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อีกทั้งหากมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญจริงทางรัฐสภาก็ต้องสอบถามความคิดเห็นของประชาชนไม่ใช่ว่าจะแก้ไขได้ทันทีเพียงคนไม่กี่คน ต้องมีการทำประชามติถามประชาชนทั่วประเทศ
“ผมเห็นว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ควรออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่หัววัน ควรรอดูก่อนว่าจะมีการเสนอแก้ไขมาตราใดบ้าง ควรอยู่นิ่งๆก่อนหากเคลื่อนไหวเวลานี้ เพราะเกรงว่าจะเสียความนิยม อีกทั้งหากนัดชุมนุมจริงก็ไม่ควรชุมนุมปิดทางตัน ควรพบกันครึ่งทาง เพราะบางข้อก็เห็นว่าควรมีการแก้ไข เช่นมาตรา 237 ที่ระบุว่าหากพบความผิดให้ยุบพรรคการเมืองอาจเปลี่ยนใช้คำว่า ให้กรรมการบริหารพรรคและผู้กระทำผิดลาออกและเพิกถอนสิทธิ์แทนการยุบพรรคก็เป็นได้เนื่องจากเห็นว่าไม่ยุติธรรมกับสมาชิกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าจะรับฟังกันได้ เพราะส่วนใหญ่ขณะนี้เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา” นายสาย กล่าว
นายสายกล่าวอีกว่า อยากเรียกร้องให้ทุกกลุ่มมีสติรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้ในประเทศต้องมีการฟังเขาฟังเราไม่ใช่ปิดกั้นความเห็นผู้อื่นหรือปิดประตูตายไม่รับฟังใครๆ อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยหาทางออกไม่ได้จริงๆตนขอเสนอแนะให้ทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนว่าควรแก้ไขมาตราใดบ้างแล้วให้ทั้ง 3 ฝ่ายดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามประชามติซึ่งอาจใช้เวลามากแต่เป็นอีกทางตามระบอบประชาธิปไตย