xs
xsm
sm
md
lg

“ดิเรก”ไม่ทันไรหางโผล่ หนุนแก้ ม.237-แบไต๋ให้นิรโทษกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิเรก ถึงฝั่ง
ส.ว.สาย “เพื่อแม้ว”สวมหมวก ประธาน กก.สมานฉันท์ฯ ไม่กี่วัน ออกลาย ตั้งธงแก้ ม.237 อ้างทำให้การเมืองอ่อนแอ ส่วนนิรโทษกรรมเสนอให้แยกประเด็น แต่ไม่วายหางโผล่ บอกถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้องก็ต้องแก้ และออกเป็นกฎหมายต่างหาก

นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่ว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง เมื่อกรรมการบริหารพรรคกระทำผิด เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับนักการเมืองคนอื่นที่มิได้กระทำความผิด อีกทั้งยังเห็นว่าการยุบพรรคการเมืองทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ เพราะพรรคการเมืองถือเป็นแม่บทสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากถูกสลายได้โดยง่ายและไม่เข้มเข็ง โอกาสที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตย คงเป็นไปได้ยาก

ส่วนประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมนั้น นายดิเรกกล่าวว่า เห็นว่าควรแยกประเด็นกัน เพราะหากจะนำเรื่องการนิรโทษกรรมไปรวมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก อีกทั้งจะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเรื่องน่ากลัว แต่หากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีการนิรโทษกรรม ก็ควรไปออกกฎหมายต่างหาก

ส่วนกรอบระยะเวลาในการทำงานนั้น ส.ว.ที่มีเสียงครหาว่าใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เบื้องต้นตนเองได้ตั้งเป้าไว้ว่าน่าจะอยู่ประมาณ 45 วัน

ทั้งนี้ การแก้ไขมาตรา 237 เคยมีความพยายามในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่พรรคพลังประชาชนเข้าข่ายจะถูกยุบ กรณีนายยงยุงทธ ติยะไพรัช กรรมการบริหารพรรคถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตัดสินให้มีความผิดฐานซื้อเสียงเลือกตั้งที่ จ.เชียงราย ซึ่ง ส.ส.พรรคพลังประชาชนได้เตรียมเข้าชื่อกันยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีจุดประสงค์ซ่อนเร้นไม่ให้พรรคพลังประชาชนถูกยุบ จนกระทั่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องออกมาชุมนุมต่อต้าน กลายเป็นการชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ยาวนานถึง 193 วัน

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของ ส.ว. เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะได้มีการประชุมร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งจะมีการวางกรอบการทำงาน หลังจากนั้นจะมีการลงพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนจากทุกภาคส่วน โดยระยะเวลารวบรวมข้อเสนอเชื่อว่าจะเสร็จสิ้นประมาณเดือนมิถุนายน

ส่วนที่มีความกังวลกันว่าหากฝ่ายการเมืองเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราแล้วตกลงกันไม่ได้จะทำให้เกิดปัญหาการทำงานร่วมกันนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ ย้ำว่า ไม่น่าห่วง เพราะการทำงานจะต้องใช้มติของคณะกรรมการ หากเสียงส่วนมากเห็นด้วยก็ควรยอมรับ

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า การลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชน จะนำมาสู่การเสนอให้มีการทำประชามติเพื่อขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ แต่หากประชาชนเห็นดี ก็คงจะนำความเห็นเสนอที่ประชุมสภาเพื่อให้ร่วมกันชี้ขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น