xs
xsm
sm
md
lg

วิป3ฝ่ายตั้งกมธ.แก้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - วิป 3 ฝ่ายตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 2 ชุด "สอบสลายม็อบ-แก้ รธน." แต่สุดท้ายเหลือชุดเดียว หลัง “ชัย” อาศัยข้อบังคับข้อ8 (5) ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการเมือง เพื่อความปรองดองสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขีดเส้นภายใน 15 วัน ส่วน กมธ.สอบสลายม็อบ สื่อมวลชนเสนอเหตุการณ์อย่างชัดเจนและรัฐสภาก็ได้พูดคุยแล้ว

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (27 เม.ย.) ได้มีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธาน วิปรัฐบาล นายวิทยา บุรณศิริ ประธาน วิปฝ่ายค้าน นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี รองประธาน วิปวุฒิสภา ตามที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้กลไกของรัฐสภาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ นายชินวรณ์แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย.2552 โดยมีอำนาจศึกษา สอบสวน ข้อมูลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้กรรมาธิการฯ ดำเนินการเรียกบุคคล เอกสาร หลักฐาน เพื่อมาตรวจสอบ โดยมีจำนวนกรรมาธิการทั้งสิ้น 40 คน เป็นสมาชิกรัฐสภา 30 คน แบ่งเป็น ส.ส. 23 คน ส.ว.7 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ จากองค์กรอิสระที่มีความเป็นกลาง 10 คน โดยใช้เงื่อนไขดำเนินการ 45 วัน
ส่วนอีกชุดเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญรัฐสภาเพื่อศึกษา แนวทางแก้ไขปัญหาทางการเมือง และกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาสืบสวน สอบสวน เรียกเอกสารหลักฐาน ให้มีหน้าที่ศึกษารวบรวมประเด็นแก้ไขปัญหาทางการเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ พิจารณาดำเนินการในการสอบสวน หรือเรียกเอกสารหลักฐานจากบุคคลอื่น ตลอดจนกระบวนการหาแนวความคิดร่วม ของบุคคลต่างๆ ทุกภาคส่วนในสังคม อำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับ

**ล้มตั้ง กมธ.สอบสลายม็อบ
ต่อมาเมื่อเวลา 16.30 น. ได้มีการแประชุมร่วมกันระหว่างวิป 3 ฝ่าย โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาเป็นประธาน นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย กรณีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 2 ชุด โดยเห็นว่า ในส่วนของคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่8-15 เม.ย.นั้นไม่จำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการฯ เนื่องจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศได้เสนอเหตุการณ์อย่างชัดเจนแล้วและในการประชุมร่วมรัฐสภาก็มีการพูดคุยอย่างชัดเจนเช่นกัน จึงเห็นว่าหากมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาอาจไม่นำสู่ข้อยุติที่แท้จริงและจะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์การชดเชยได้ อีกทั้งยังมีคณะทำงานชุดต่างๆที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ความเป็นธรรม ทั้งของรัฐบาล ของรัฐสภา และองค์กรสิทธิมนุษยชน ประชาชนสามารถร้องเรียนขอความเป็นธรรมได้อยู่แล้ว
อีกทั้งฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ยืนยันในข้อกฎหมายว่า การตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 135-137 แต่ได้หยิบยกคำสั่งตั้งกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยที่ตั้งโดยนายมารุต บุนนาค สมัยเป็นประธานรัฐสภา ขึ้นมายืนยันประธานรัฐสภาจึงได้ใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมข้อ 8 (5) ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ในชื่อ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดอง และสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทำนห้าที่รวบรวมข้อมูล ความเห็นต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาทางสังคม โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยผลการศึกษาสามารถนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ได้ โดยใช้เวลาทำงาน 15 วัน จากนั้นเสนอผลสรุปต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย บุคคล 40 คน โดยสัดส่วนส.ส. 23 คน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 9 คน พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน ภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคกิจสังคม พรรคประชาราช พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 1 คน จากส.ว. 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน โดย ส.ส. เสนอเข้ามา 8 คน และส.ว. 2 คน โดยจะมีการเสนอรายชื่อบุคคลทั้ง 40 คนภายในวันนี้ (28 เม.ย.).
กำลังโหลดความคิดเห็น