คกก.สมานฉันท์ ถกนัดแรกเถียงอุตลุด กรอบเวลา-รับฟังความเห็น ปชช.สุดท้ายได้แค่กรอบเบื้องต้น ยังไม่มีรายละเอียดเนื้อหา “ดิเรก” ระบุ เบื้องต้นใช้เวลา 45 วัน ประชุมสัปดาห์ละ 3 วัน พร้อมรับฟังความเห็นประชาชนระหว่างพิจารณา ด้าน “ป๋าเหนาะ” แนะยึด รธน.40 เขียนนิรโทษในบทเฉพาะกาล
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.45 น.มีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานในการประชุม โดยก่อนที่จะเข้าสู่วาระการประชุมนั้น นายดิเรก ได้ปรึกษาคณะกรรมการ ว่า จะอนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมฟังการประชุมด้วยได้หรือไม่ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ระบุว่า การประชุมของคณะกรรมการเป็นไปโดยเปิดเผยอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหา หากสื่อมวลชนจะเข้าฟังการประชุมด้วย แต่การประชุมครั้งต่อไปจะให้สื่อมวลชนรับฟังอยู่อีกห้องหนึ่งที่มีการถ่ายทอดเสียง เช่นเดียวกับรูปแบบของการประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณ
จากนั้นที่ประชุมได้มีการหารือ ว่า ต้องมีการตั้งโฆษกคณะกรรมการหรือไม่ หลังจากถกเถียงกันอย่างกว้างก็ได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้นจะยังไม่มีการตั้งโฆษกคณะกรรการ แต่จะให้ประธานและรองประธานร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมทุกครั้ง ต่อมาได้มีการหารือถึงระยะเวลาที่จะใช้ในการพิจารณา ซึ่งมีข้อเสนอจากคณะกรรมการมากมาย โดยส่วนใหญ่เห็นว่า น่าจะใช้เวลา 45 วัน โดย นายดิเรก ได้สรุปว่า คณะกรรมการจะวางกรอบพิจารณาไว้เบื้องต้น 45 วัน และในทุก 15 วันจะให้เลขานุการสรุปการทำงาน ชี้แจงต่อสื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งการประชุมจากนี้ไปจะประชุม 3 วันต่อสัปดาห์ คือ ทุกวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี โดย 2 สัปดาห์แรกซึ่งสภายังไม่ปิดสมัยประชุมนั้น จะเริ่มการประชุมตั้งแต่เวลา 09.00 น.และเมื่อปิดสมัยประชุมสภาไปแล้ว จะเริ่มประชุมในเวลา 13.00 น.ดังนั้น การประชุมนัดต่อไป จะเริ่มวันอังคารที่ 12 พ.ค.เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างหนักหน่วงในประเด็นเรื่องกรอบเวลาที่จะใช้พิจารณา โดยคณะกรรมการหลายคนมองว่าขณะนี้ยังไม่รู้เนื้อหาในการพิจารณาว่ามีขอบข่ายอะไรบ้าง โดยเฉพาะกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนนั้น จะมีหรือไม่และถ้ามีรูปแบบจะเป็นอย่างไร เพราะจุดนี้อาจต้องใช้เวลาพอสมควร ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เสนอว่า ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการควรทำประชามติควบคู่ไปด้วยในคราวเดียว ซึ่ง นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แย้งว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นอำนาจของ ครม.แต่ นายสมศักดิ์ ยังระบุอีกว่า รัฐบาลเป็นคนมอบหมายให้ประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ดังนั้น เมื่อเราเสนอไปรัฐบาลก็คงไม่ขัดข้องในเรื่องของการทำประชามติ อย่างไรก็ตาม เมื่อ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ชี้แจงว่า กฎหมายประชามติขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสองสภา ทำให้นายสมศักดิ์ได้ขอถอนข้อเสนอดังกล่าวออกไป
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ที่ประชุมยังมีความเห็นแตกออกเป็นสองฝั่งในเรื่องการรับฟังความเห็นของประชาชนว่า ในชั้นของคณะกรรมการจะมีการรับฟังความเห็นของประชาชนด้วยหรือไม่ ซึ่งเบอื้งต้นนายดิเรกได้เสนอให้มีการคุยกันในคณะกรรมการทั้ง 40 คน พร้อมทั้งกำหนดประเด็นที่จะมีการไปถามความเห็นจากประชาชนในภายหลังว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นจึงส่งให้กับประธานรัฐสภาไปดำเนินการ สอดคล้องกับความเห็นของนายเสนาะเ ทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ที่มองว่า การรับฟังความเห็นของประชาชนนั้นทำได้ลำบาก โดยอาจจะพบกับความคิดเห็นปลอมที่ไม่ใช่ความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้ ซึ่งจะยิ่งสร้างปัญหาต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ และจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้นมา ขณะเดียวกัน นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้ระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่คณะรับฟังความเห็นของประชาชน จึงอยากให้รวบรวมข้อเสนอที่ทุกพรรคการเมืองส่งมาให้บ้างแล้วนำมาพิจารณาเลย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะไม่ต้องใช้เวลามาก อย่างไรก็ตาม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้คัดค้านโดยอ้างอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ว่า จะต้องมีการรับฟังและรวบรวมความเห็นของประชาชนด้วย เช่นเดียวกับ นายอรรคพล สรสุชาติ สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เห็นควรให้มีการสอบถามความเห็นของประชาชนเป็นระยะ ขณะที่ นายประยุทธ ศิริพานิช คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ระบุเช่นเดียวกันว่า ให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน เพราะมีวิธีการที่ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เช่น การเปิดเว็บไซด์ให้แสดงความคิดเห็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมนัดแรกนานกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมจึงได้ข้อสรุปเพียงกรอบเบื้องต้น แต่ยังไม่มีการพูดคุยถึงเนื้อหารายละเอียดแต่อย่างใด ซึ่งนายดิเรกได้ฝากให้คณะกรรมการทุกคนไปวางกรอบแนวคิดของตัวเองตามแนวทางที่ประธานรัฐสภามอบอำนาจให้ จากนั้นให้นำข้อมูลมาวางบนโต๊ะเพื่อหารือกันในการประชุมครั้งหน้า ขณะเดียวกัน นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ได้ขอให้ประธานรวบรวมความเห็นประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของทุกพรรคการเมือง ซึ่งเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองมีประเด็นเหล่านี้อยู่แล้ว ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ระบุด้วยว่า ระหว่างการประชุมของคณะกรรมการในบางครั้งนั้น อยากให้เชิญนายกรัฐมนตรีมาร่วมฟังการประชุมด้วย ในช่วงท้ายของการประชุมนั้น นายดิเรก ได้เปิดโอกาสให้ นายเสนาะ แสดงความคิดเห็น โดยนายเสนาะได้กล่าวช่วงหนึ่งว่า ต้องไม่ใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน เอารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวตั้ง ถ้าปัญหาที่ผ่านมาอภัยกันได้ นิรโทษกรรมกันได้ก็จบ เราก็ทำบทเฉพาะกาลขึ้นมา เคลียร์กันได้ทุกอย่างก็จบ
ต่อมาเวลา 17.00 น.นายดิเรก แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะใช้กรอบการพิจารณา 45 วัน โดยประชุมสัปดาห์ละ 3 วัน สำหรับเนื้องานนั้นที่ประชุมได้เก็บข้อมูลจากคณะกรรมการหลายท่านที่ได้อภิปรายไป ยืนยันว่า คณะกรรมการชุดนี้จะทำงานให้เร็วที่สุด ส่วนเวลาการประชุมในแต่ละวันนั้นสามารถยืดหยุ่นและขยายได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการไม่ขัดข้องที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งคณะกรรมการจะสอบถามเป็นประเด็นๆไป แต่จะมีรูปแบบอย่างไรนั้น คณะกรรมการจะกำหนดในภายหลัง ทั้งนี้ การประชุมจะเป็นไปโดยเปิดเผย สื่อมวลชนสามารถเข้าฟังได้ ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุให้พรรคการเมืองส่งเอกสารประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาด้วยนั้น ขณะนี้ส่งมาถึงคณะกรรมการแล้ว 2 พรรค คือ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา
นายดิเรก ให้สัมภาษณ์ภายหลังแถลงข่าวว่า แม้ผลการประชุมวันนี้จะได้ข้อสรุปเพียงแค่กรอบการทำงานเท่านั้น แต่ทำให้คณะกรรมการชุดนี้เห็นแนวทางที่จะทำให้คนในชาติเกิดความสมานฉันท์ได้ การประชุมครั้งต่อไปคณะกรรมการอาจจะต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการพิจารณาใน 3 เรื่องใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาแนวทางสมานฉันท์ การปฏิรูปการเมือง การศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เพราะถ้าหากคณะอนุกรรมการชุดใดต้องการให้มีการทำประชาพิจารณ์จะได้ดำเนินการได้เลย สำหรับคณะอนุกรรมการที่จะมีการตั้งขึ้นนั้น เบื้องต้นวางแนวทางไว้ว่าจะตั้งคณะละ 18 คน แบ่งเป็นคนนอก 6 คน กรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 12 คน