xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งกก.สอบสลายม็อบสมใจพท.แลกร่วมสังฆกรรมสมานฉันฑ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. วานนี้ (30 เม.ย.) นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้เรียกประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วยวิปวุฒิสภา วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน หลังฝ่ายค้านตั้งเงื่อนไขให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมแลกกับการส่งรายชื่อเข้าเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปัญหาการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันฑ์และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายชัย แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติว่าให้ตั้งคณะกรรมขึ้นมา 2 ชุด คือคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์การเมืองระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย.และคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการแต่ละชุดประกอบด้วยคณะกรรมการ 40 คน เท่าเดิม แบ่งเป็น ส.ส.23 คน ส.ว.7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน
โดยในส่วนคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นแนวคิดของวิปวุฒิ ที่เสนอโดยให้เพิ่มคำว่าการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบเดิม ส่วนระยะเวลาการทำงานของทั้ง 2 ชุด ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะใช้เวลา 15 วัน แต่ใช้คำว่าให้เสร็จโดยเร็ว และหลังจากนี้ไปจะมีการประชุมวิปทั้ง 3 ฝ่ายในวันที่ 1 พ.ค. โดยวิปทั้ง 3 ฝ่ายจะส่งรายชื่อมาให้
ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานวิปวุฒิสภา กล่าวว่า จะนำผลหารือแจ้งให้ประธานวุฒิสภาทราบ เพื่อแจ้งให้สมาชิกทุกคนรับทราบต่อไปว่าจะต้องสรรหาตัวแทน ในส่วนของ ส.ว.และผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุการณ์การเมือง ซึ่งวุฒิสภาจะส่งรายชื่อคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดให้ประธานรัฐสภา ได้ภายในเวลา 15 .00 น.ของวันที่ 1 พ.ค.
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปพรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลได้รวบรวมรายชื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองและคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว
โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลมี 13 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากพรรคประชาธิปัตย์ 8 คน คือ 1.นายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.กระบี่ 2.พล.อ.พิชาญเมธ ม่วงมณี ส.ส.สัดส่วน 3.นายสกลธี ภัททิยกุล ส.ส.กรุงเทพฯ 4.นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา 5.นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ส.ส.กรุงเทพฯ 6.นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา 7.นายบรรจบ รุ่งโรจน์ ส.ส.ชลบุรี และ8.นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย 2 คนได้แก่ 1.นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และ2.นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์ ตัวผู้แทนจากพรรคเพื่อแผ่นดิน คือ นายเฉลิมชัย อุฬารกุล ส.ส.สกลนคร ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา คือ นายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ ส.ส.นครสวรรค์ ตัวแทนจากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาและพรรคกิจสังคม คือ นายชยุต ภุมมะกาญจนะ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคกิจสังคม
นอกจากนี้ยังผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ได้แก่ 1.นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 2.นายอัชพร จารุจินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 3.นายสมศักดิ์ บุญทอง 4.พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผช.ผบ.ตร. และ5.นายทวี สุระบาล
สำหรับคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 13 คน ประกอบด้วย ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ 8 คน ได้แก่ 1.นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.กรุงเทพฯ 2.นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ 3.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน 4.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช 5.นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก 6.นางผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วน 7.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และ8.นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย 2 คน คือ 1.นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม และ 2.นายประกิจ พลเดช กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ตัวแทนจากพรรคเพื่อแผ่นดิน คือ นายสุเทพ เจตนาการณ์กุล อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา คือ นายอรรคพล สรสุชาติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาและพรรคกิจสังคม คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน ได้แก่ 1.นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) 2.นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 3.นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4.นายศักดิ์ เตชาชาญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ 5.นายนพนิธิ สุริยะ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายชินวรณ์ กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด มีแนวทางดังนี้ คือ 1.ศึกษารวบรวบประเด็นและข้อมูลต่างๆ 2.ดำเนินการในการเชิญบุคคล หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล 3.ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาเพิ่มเติมในกรณีใด กรณีหนึ่งให้เกิดความชัดเจน 4.สรุปประมงลผลจากการศึกษทั้งหมดแล้วเสนอต่อประธานรัฐสภา และ5.ปฏิบัติภารกิจอื่นๆที่ประธานรัฐสภามอบหมาย
ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์การชุมนุมฯนั้นมีอำนาจหน้าที่เฉพาะคือต้องสรุปข้อยุติจากข้อเท็จจริงโดยเร็วและเสนอแนวทางต่อรัฐสภา ขณะที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองฯ มีอำนาจหน้าที่ในการ ศึกษา รวบรวม และประมวลประเด็นตามความต้องการต่างๆ รวมถึงจะต้องหาแนวทาง ในการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ และประมวลประเด็นที่จะใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่าแล้วเรื่องนิรโทษกรรมจะดำเนินการอย่างไร นายชินวรณ์กล่าวว่า ถ้าเป็นความผิดทางการเมืองก็สามารถเจรจาได้ แต่ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับคดีอาญา หรือเป็นความผิดเกี่ยวกับคดีคอร์รัปชั่นก็ไม่สามารถนำมารวมได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะตอบสาธารณะชนอย่างไรว่าคนที่ทำผิดไม่ได้รับโทษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยที่เข้าร่วมในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองและคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีดังนี้ ในส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง มีจำนวน 8 คน คือ 1.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล ส.ส.แพร่ 2.นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ 3.พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา 4.นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ 5.นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ 6.นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.หนองคาย 7.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน 8.นายขจิต ชัยนิคม ส.ส.มหาสารคาม ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน คือ 1.พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก 2.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ 3.นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และ 4.นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย
ส่วนคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองฯ 7 คน ได้แก่ 1.นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา 2.นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.สัดส่วน 3.นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น 4.นายเจริญ จรรโกมล ส.ส.ชัยภูมิ 5.นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร 6.นายไพจิตร ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม และ 7.นายประเกียรติ์ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน
ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน คือ 1.นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร.ปี 2540 2.นายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) 3.นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ 4.นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น