ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ข้องใจสัดส่วนกรรมการแก้ปัญหาทางการเมือง ระบุ มีสัดส่วนภาคประชาชนน้อยกว่าฝ่ายการเมือง หวั่นเป็นที่ครหา มีแต่ตัวแทนนักการเมือง แต่หนุนแนวทาง เชื่อจะช่วยแก้ปัญหาได้ เผย ได้ตัวแทนในส่วนของพรรค 8 คน พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว เตรียมส่งรายชื่อต่อ “ชัย ชิดชอบ”
วันนี้ (28 เม.ย.) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมของพรรคได้มีการหารือถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยได้มีการพูดคุยใน 2 ประเด็น คือ 1.องค์ประกอบของคณะกรรมการ และ 2.ขอบข่ายอำนาจหน้าที่ โดยที่ประชุมไม่ติดใจในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว แต่ติดใจเรื่องขององค์ประกอบของคณะกรรมการที่ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน ที่ส่วนใหญ่มาจากภาคการเมือง แต่มีภาคประชาชนน้อยมาก รวมถึงภาคของผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคการเมือง จึงอาจไม่มีความเป็นอิสระจากการเมือง ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีตัวแทนจากภาคประชาชนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวของ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภา เพราะกรรมการชุดดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1.รวบรวมประเด็นปัญหาทางการเมือง เพื่อนำมาศึกษาแก้ไข 2.รวบรวมประเด็นปัญหาความขัดแย้งของรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข 3.ให้ทุกภาคส่วนร่วมมือนำไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดองของคนในชาติ
นพ.วรงค์ กล่าวว่า ในส่วนโควตาคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 8 คนนั้น ยังเร็วเกินไปที่จะส่งรายชื่อในเย็นวันนี้ อีกทั้งขณะที่มีการประชุมพรรค ทางวิป ส.ว.ได้ประสานมายัง นายชินวรณ์ ว่า ยังไม่สามารถส่งรายชื่อได้เช่นกัน ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทางพรรคได้มอบหมายให้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงได้มอบหมายให้ นายบัญญัติ เป็นผู้รวบรวมรายชื่อบุคคลที่จะเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยให้ผู้ที่สนใจเสนอรายชื่อต่อ นายบัญญัติ เพื่อพิจารณาคัดเลือก ก่อนส่งรายชื่อให้ นายชินวรณ์ เสนอต่อ นายชัย ต่อไป ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิสองคนในสัดส่วนของพรรคนั้น นายชินวรณ์ จะนำไปหารือร่วมกับทางวิปรัฐบาลเพื่อพิจารณาคุณสมบัติว่าใครบ้างที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
นพ.วรงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพูดถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ได้มีข้อยุติ โดยเห็นว่า ควรรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวก่อน แต่ประเด็นการนิรโทษกรรมในประเด็นการเมืองนั้น ที่ประชุมเห็นว่าให้เป็นอำนาจของทางประธานสภา
ขณะที่ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า การตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องคำนึงถึง 2 หลักการ คือ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างหลากหลาย โดยมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง และต้องมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหาเชิงระบบ ไม่ได้ดูถึงปัญหาตัวบุคคล เพื่อนำไปสู่ความสมานฉันท์ ซึ่งภารกิจดังกล่าวจะต้องมีการดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ 1.การเสริมสร้างและการรักษาความสงบในการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ 2.รับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน 3.พิจารณาระบบกฎหมายทั้งหมด โดยต้องเชื่อมโยงถึงความถูกต้องคงความเป็นนิติรัฐ รักษานิติธรรม และ 4.พิจารณาสาระการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในระหว่างการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ สภาจะต้องชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ ที่พรรคเพื่อไทย นำเสนอ เพื่อให้คณะกรรมการได้ศึกษาภาพใหญ่ของสังคมได้
ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตัวบุคคลจำนวน 8 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นผู้คัดเลือกจากผู้เสนอตัว ประกอบไปด้วย นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.กทม.นายนิพนธ์ วิศิษฎ์ยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช นางผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และ นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอีกสองคน คือ นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ อธิการบดีสถาบันนิด้า และ นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสภาบันพระปกเกล้า