xs
xsm
sm
md
lg

แก้รธน.-นิรโทษส่อวุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วยวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา มีมติเห็นชอบร่วมกันในการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพื่อความปรองดองและสมานฉันฑ์และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อบังคับการประชุมที่ 8 (5) โดยให้มีคณะกรรมการ 40 คน ประกอบด้วย สัดส่วน ส.ส. 23 คน ส.ว.7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน โดย ส.ส.เสนอมา 8 คน ส.ว.2 คน
ปรากฎว่าล่าสุดได้เกิดปัญหาขึ้นกับในส่วนของวุฒิสภา มีการมัดมือชก เสนอรายชื่อโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา ส่อให้เห็นว่ากำลังจะมีการล็อคคนของตัวเองเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางพวกกันแล้ว
โดยมีรายงานว่า ในส่วนของวุฒิสภาที่ต้องส่งชื่อ ส.ส. 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนไปเป็นไปเป็นคณะกรรมการฯนั้น หลังจากได้ข้อสรุปในการตั้งคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ตัวแทนวิปวุฒิสภาก็ได้ร่วมประชุมกันและได้รวบรัดเสนอชื่อตัวแทน 7 คน ประกอบด้วย นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะประธานวิปวุฒิ นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา พล.ต.ท. มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ ส.ว.สรรหา รองประธานวิปวุฒิ นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม เลขานุการวิปวุฒิ นาย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา โฆษกวิปวุฒิ เข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการฯ
แต่นายไพบูลย์ ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. และเป็นตัวแทนวิปวุฒิสภาที่ไปประชุมร่วม 3 ฝ่ายด้วย ได้ประกาศถอนตัวระหว่างการประชุมร่วม โดยให้เหตุผลต่อที่ประชุมว่า กระบวนการเสนอชื่อในส่วนวุฒิสภา ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ตัวแทนของ ส.ว.ทั้งหมด ซึ่งเดิมมีการหารือว่า จะต้องได้รับการเห็นชอบจาก วุฒิสภาก่อน นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการชุดนี้ เพราะตั้งธงแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะ หากดูจากการกำหนดเวลาศึกษา เพียง 15 วัน เป็นการรีบเร่ง ขาดการมีส่วนร่วม ทำให้ตัวแทนวิปวุฒิ นำนายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา เข้ามาแทนนายไพบูลย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อมีข่าวออกมา ทำให้ตลอดทั้งวัน ส.ว.ได้สอบถามไปยังนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ถึงการเร่งรีบเสนอชื่อบุคคลเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการฯโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา ทำให้นายประสพสุข ต้องสั่งให้เลขาธิการวุฒิสภา ส่งข้อความไปยัง ส.ว.ทุกคนนัดประชุมร่วมกับวิปวุฒิสภา ในวันที่ 29 เม.ย.เวลา 13.00 น. เพื่อเสนอชื่อบุคคลเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการฯ ส่วนราชื่อเดิมทั้ง 7 คนให้เป็นโมฆะ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวทำให้ ส.ว.อีกกลุ่มที่กำลังจะหยิบชิ้นปลามันไปเป็นคณะกรรมาธิการฯแสดงความไม่พอใจโดยอ้างว่า เป็นการทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่
อย่างไรก็ตาม จากกรณี่ที่วิป 3 ฝ่ายมีมติให้แต่ละพรรคการเมืองและ ส.ว.ส่งชื่อคณะกรรมการฯ ตามสัดส่วนของตัวเองมาให้นายชัย ชิดชอบ ในฐานะประธานรัฐสภา ภายในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 28 เม.ย. แต่ปรากฎว่าไม่มีใครส่งรายชื่อมาจึงต้องเลื่อนให้ส่งในวันที่ 29 เม.ย.แทน
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมกรรมการบริหาร และ ส.ส.พรรค เพื่อพิจารณาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานการประชุม
โดยก่อนการประชุมนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคิรีขันธ์ ได้ชี้แจงว่าขณะนี้มี ส.ส. 20-30 คน ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งจะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเรื่องนี้ศาลได้พิพากษา จนคดีสิ้นสุดแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่สมควรที่เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะพรรคเคยคัดค้านมาโดยตลอด
ขณะที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ได้ขึ้นกล่าว เปิดใจนานกว่า 40 นาที โดยเห็นว่าที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด เมื่อมาเป็นรัฐบาลกลับเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะอธิบายกับสังคมได้อย่างไร และไม่เห็นด้วยกับแนวทางการตั้งคณะกรรมการสร้างความสมานฉันฑ์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่วิป 3 ฝ่ายได้หารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา
นายบัญญัติ กล่าวว่าคณะกรรมการทั้ง 40 คน ถือเป็นองค์ประกอบที่พิกลพิการ เพราะมาจากฝ่ายการเมืองล้วนๆ มีผู้ทรงคุณวุฒิแค่ 10 คน และยังมาจากการเสนอโดย พรรคการเมองอีก แนวทางนี้จึงไม่ใช่ทสางออกของชาติ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาของนักการเมือง
นายบัญญัติ กล่าวว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การนิรโทษกรรมนักการเมืองจริง สุดท้ายจะเปิดช่องให้บุคคลที่เป็นเครือข่ายระบอบทักษิณกลับมา และสุดท้ายคนเหล่านี้ก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัติ ไปโดยปริยาย
เราจะปล่อยให้พวกเขา เข้ามานิรโทษกรรมกันเองได้ง่ายๆ อย่างนั้นหรือ เพราะสุดท้ายปัญหาก็ไม่จบ และจะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย และจะกลายเป็นปัญหาที่หนักกว่าวิกฤติทางการเมืองของทุกครั้ง และเมื่อพรรคการเมืองปรองดองกันได้ แต่ประชาชนข้างนอกไม่สามารถที่ปรองดองกันได้ ประชาชนที่รู้เท่าทันนักการเมืองเขาจะต้องออกมาเคลื่อนไหวและปฏิเสธ และนำไปสู่การคัดค้านรัฐบาลประชาธิปัตย์ในที่สุด ยอมรับว่าแม้เราไม่มีทางเลือก เราก็ต้องหาทางออกให้กับสังคมได้ นายบัญญัติ กล่าวต่อที่ประชุม
นายบัญญัติ ยังได้วิเคราะห์สาเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า หากมีการแก้ไขโดยเฉพาะการนิรโทษกรรนักการเมืองจริงจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เล็กลงและจะถูกโดดเดี่ยว เพราะเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้อดีตนักเมืองกลับเข้ามาทำงานทางการเมือง พร้อมกับยอมรับว่าการต่อสู้ทางการเมืองพรรค ที่มีเงินน้อยย่อมสู้พรรคการเมืองที่มีเงินมากไม่ได้ และจะกลายเป็นปัญหาสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปในอนาคต ซึ่งเท่ากับว่าจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์อ่อนแอลง
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในการเปิดใจของนายบัญญัติ ยังได้ประเมินการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่าพรรคกาเมืองต่างๆ ต้องการให้มีการแก้ไขในส่วนการเลือกตั้งแบบพวงใหญ่มาเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์สู้อำนาจเงินไม่ได้ จึงเห็นสมควรที่จะมีการเลือกแบบพวงใหญ่จังหวัดเดียวสามเบอร์ เพื่อลดการซื้อเสียง ลดการเผชิญหน้า แก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ และที่สำคัญทำให้ประชาชนได้มีทางเลือกมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายบัญญัติ ได้แสดงดจุดยืนโดยไม่ขอรับเป็นหนึ่งใน 40 คณะกรรมการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมติวิป 3 ฝ่าย โดยระบุว่า ให้หาคนอื่นมาแทน แต่ตนพร้อมที่จะเป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมในตัวแทนของพรรคต่อไป ทั้งนี้ ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนุญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเดิมในการประชุมพรรคครั้งนี้ พรรคเตรียมที่จะมีการ เสนอชื่อคณะกรรมการในสัดส่วนของพรรค แต่หลังจากที่ประชุมได้ฟังจุดยืนของนายบัญญัติ และนายเฉลิมชัย แล้วไม่มีใครอยากเป็นคณะกรรมการร่วมด้วย ทีประชุมจึงได้มอบหมายให้นายบัญญัติ ร่วมกับ นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธานวิปรัฐบาลเป็นผู้ไปเฟ้นหาบุคคลที่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ไม่ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมแต่อย่างใด และได้เดินทางกลับก่อนที่จะการประชุมจะจบลง
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ยังมีการพูดถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ได้มีข้อยุติ โดยเห็นว่า ควรรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวก่อน แต่ประเด็นการนิรโทษกรรม ในประเด็นการเมืองนั้น ที่ประชุมเห็นว่าให้เป็นอำนาจของทางประธานสภา
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ตัวบุคคลจำนวน 8 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นผู้คัดเลือกจากผู้เสนอตัวประกอบไปด้วย นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.กทม.นายนิพนธ์ วิศิษฎ์ยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช นางผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอีกสองคน นายสมบัติ ธำรงธัญญะวงศ์ อธิการบดีสถาบันนิด้า และ นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสภาบันพระปกเกล้า
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยว่าที่ร.ต.พงศ์พันธ์ สุนทรชัย ส.ส.หนองคาย ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่า
ที่ประชุมมีมติให้เสนอสภาเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบการสลาย การชุมนุมของรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 เม.ย. และมีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อยื่นตรวจสอบ การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 เม.ย. โดยมีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นประธานคณะทำงานเพื่อดำเนินการ เพื่อยื่นเรื่องต่อ องค์การสหประชาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ป.ป.ช.นอกจากนี้ จะมีการรวบรวมหลักฐานการกระทำของกลุ่มคนเสื้อสีน้ำเงินเพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวินด้วย
นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาฯนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ และถ้าหากไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าวขึ้น พรรคเพื่อไทยก็จะไม่ร่วมดำเนินการในทุกเรื่องกับรัฐบาล ทั้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญหรือการตรวจสอบการทำงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นนั้น จะประกอบด้วยบุคคลที่หลากหลาย และอาจจะมีคนนอกที่เป็นกลางเข้ามาร่วมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น