xs
xsm
sm
md
lg

ชวน-บัญญัติžปัดค้านแก้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ได้ให้พรรคร่วมรัฐบาลหรือทุกพรรคการเมืองส่งแนวคิดเกี่ยวกับการแก้ไขมาภายใน 2 สัปดาห์
ส่วนที่มีข่าวว่าผู้ใหญ่ภายในพรรคประชาธิปัตย์เช่นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน คณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แน่นอน ประเด็นนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและคนไม่เห็น ตนจึงบอกว่า ทุกอย่างก็เอามาวางไว้ ยังมีอะไรที่เป็นปมความขัดแย้งอยู่และมาดูวิธีการ ในการคลี่คลายคืออะไร แต่เราปฏิสธไม่ได้ว่ามันเป็นประเด็นหนึ่ง ซึ่งมีข้อเรียกร้องมา และสะท้อนมาหลายฝ่าย เราก็ต้องเอามาดู เพียงแต่บางเรื่องที่ตนขีดเส้นไว้ว่า ไม่น่าทำคือเรื่องของคดีอาญาเท่านั้นเอง
ส่วนที่มองกันว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจโดนยุบพรรคในวันข้างหน้า จึงไม่คัดค้านเรื่องนิรโทษกรรม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีเรื่องนั้นเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสรุปประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงเวลาจะต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างไร และที่ถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคร่วมเสนอความเห็นได้หรือไม่นั้น เห็นว่าแต่ละคนมีความเห็นได้
ส่วนการการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เร็วๆ ใกล้ที่จะอยู่ในฐานะที่จะยกเลิก พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเวลานี้ฟังรอบด้านอยู่และเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการทุกอย่างให้เรียบร้อย
นายชวน หลีกภัย กล่าวปฏิเสธข่าวที่ว่าตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพรรคยังไม่เคยพูดกันเรื่องนี้ ซึ่งก็ยังแปลกใจกับข่าวที่ออกมา เพราะในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ตนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล พึ่งออกมาหลังจากเปิดประชุมร่วมรัฐสภา จึงยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ ได้พูดกับหัวหน้าพรรคเรื่องเดียวคือ ให้กำลังใจในการทำหน้าที่ และร่วมประชุม ทั้งนี้ พรรคเห็นว่า ประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสามารถแก้ไขได้ หลักในการแก้ไขไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ส่วนจะแก้ประเด็นอะไร ในพรรคยังไม่เคยพูดกัน จึงยังไม่มีความขัดแย้งอะไรเกิดขึ้น และตนก็ไม่เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยกับแนวทางของนายกรัฐมนตรี ที่ให้แต่ละพรรค ไปศึกษาแต่ละประเด็นก่อนนำไปสู่การแก้ไขหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ยังไม่เคยได้พูดกับนายกรัฐมนตรีเลย จึงต้องรอดูว่ามติพรรคเป็นอย่างไร จึงจะปฏิบัติตามนั้น ขณะนี้ประเด็นต่างๆ ที่เตรียมจะเสนอก็พรรคยังไม่มีการพูดคุยกัน
ส่วนการนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง จะเป็นการสร้าง ความปรองดองให้เกิดขึ้นหรือไม่นั้น นายชวน กล่าวว่า ในพรรคยังไม่เคยพูดคุยกัน และรับบาลก็ยังไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้อย่างชัดเจน จึงต้องรอดูแนวความคิด ของนายกฯ กับเรื่องนี้ว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อได้แนวแล้วก็คงต้องเอาเข้าสู่ที่ประชุมพรรค
ผมเชื่อว่านายกฯ จะใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม จึงวางใจว่าจะคิดจะทำอะไร ท่านได้ไตร่ตรองอย่างเหมาะสมแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาจากแรงบีบของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะอะไรที่ส่วนรวมเห็นว่ามีประโยชน์ เป็นการรักษาหลักการของบ้านเมือง ผมคิดว่า นายกฯ คงจะชี้นำให้พรรคร่วมได้เข้าใจได้ ความจริงเรื่องนี้นายกฯ เป็นคนเสนอให้ พรรคร่วมไปพิจารณาประเด็น ดังนั้น ทุกพรรคย่อมมีสิทธิเสนอความเห็นได้ แต่ทั้งหมดต้องยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย
นายชวน กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีแนวคิดสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหนีคดียุบพรรคเรื่อง เงินบริจาค เพราะคดียุบพรรคก็ว่าไปตามกระบวนการ พรรคเคารพและสนับสนุนกติกาของบ้านเมือง ขณะนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะนำบ้านเมืองไปสู่การปกครองที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้จริง นายกฯไม่ใช่คน 2 มาตรฐาน ดังนั้น แนวทางปฏิบัติใครจะถูกใครจะผิด เชื่อว่าในยุคนี้มีโอกาสจะทำได้อย่างจริงจัง
ด้านนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กล่าวว่า ในพรรคไม่มีความขัดแย้งเพราะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีการพูดคุยกันด้วยซ้ำ ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าทั้ง นายชวนและตน เป็นนักประชาธิปไตย การที่จะผูกขาดความคิดของตัวเองเพียง ฝ่ายเดียว โดยไม่ฟังบุคคลอื่นคงไม่ใช่ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการหารือกันในพรรค เมื่อพรรคตัดสินใจอย่างไร ตนในฐานะที่เป็นนักประชาธิปไตย คงไม่มีทาง เลือกเป็นอย่างอื่น และเชื่อว่านายกฯ ได้ตั้งกรอบไว้ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องให้คำตอบแก่สังคมได้ เพราะการเมืองวันนี้เดินมาถึงจุดที่นักการเมืองจะตัดสินใจกันเองโดยลำพังไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของนักการเมือง ซึ่งจะเป็นปัญหาแน่ ดังนั้น จึงต้องมีความจำเป็นที่จะรับฟังเสียง ของสังคมประกอบด้วย และไม่ควรมองข้ามและนักการเมืองควรมีคำตอบให้สังคมด้วย
ในเรื่องการนิรโทษกรรมนักการเมือง วันนี้เป็นเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมากกว่า และหลังจากนั้นกระบวนการทำงานของพรรค จะได้นำมาวิเคราะห์และหาคำตอบอีกครั้ง แต่ขอให้เข้าใจว่าผมและนายชวน ไม่เคยผูกขาดความคิดว่าจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ จึงตองรอฟังเหตุผลจากทุกภาคส่วน ที่สำคัญต้องตอบคำถามสังคมได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธการนิรโทษกรรมมาโดยตลอด แต่นายกฯ กลับโยนให้พรรคร่วมรัฐบาล เป็นผู้เสนอประเด็นเข้ามาประกอบการพิจารณา จะทำให้พรรคเสียจุดยืนหรือไม่ นายบัญญัติกล่าวว่า ความมุ่งหมาย ของนายกฯ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าที่เห็นว่าวันนี้บ้านเมืองมาถึงจุดความขัดแย้ง และรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เปิดโอกาสให้มีการพูดจากันอย่างกว้างขวาง และต้องยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นดาบ 2 คม ในบางแง่จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แต่อีกแง่หากไม่สามารถให้คำตอบกับสังคมได้ ก็จะเป็นการสร้างปมปัญหาใหม่ของความขัดแย้งขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้น ต้องระมัดระวัง
การแก้รัฐธรรมนูญต้องดูว่าสังคมรับได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นหลักประกันที่ชัดเจนนักการเมืองไม่ควรที่จะตกลงและแก้กันเอง ควรจะมีจากทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข หากทำได้เชื่อว่าจะลดความขัดแย้งในสังคมลงได้ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่านักการเมืองสมคบกันเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง ที่สำคัญหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีการจัดทำประชามติด้วยหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบันก็ผ่านการทำประชามติมาแล้ว ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นหลัก แต่อย่างน้อยที่สุดควรจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากสังคม ไม่ควรน้อยไปกว่าในยุคที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่าแรงบีบจากพรรคร่วมรัฐบาลจะมีผลต่อการตัดสินใจของนายกฯ หรือไม่ นายบัญญัติกล่าวว่า ไม่อยากให้คิดว่าเป็นแรงบีบ ขอให้เป็นเรื่องของความเห็น ดีกว่า เพราะประเด็นนี้ต้องยอมรับว่ามีการพูดมายาวนาน แต่ที่หนักใจในขณะนี้คือ ความเรียกร้องของแต่ละพรรค แต่ละส่วนแตกต่างกันมากเหลือเกินจึงไม่แน่ใจว่า ท้ายที่สุดแล้วจะมีทางร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น จึงต้องกลับมาดูอีกครั้งว่า หลังการแสดงความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนจะเป็นอย่างไร ซึ่งฝ่ายการเมืองจำเป็นต้องรับฟัง เพราะสังคมก็ยังไม่ไว้ใจนักการเมือง ดังนั้น นักการเมืองก็ไม่ควรทำโดยลำพัง เมื่อสังคมพอใจ ทุกอย่างก็ไม่มีปัญหา
นายบัญญัติ กล่าวว่าแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์หนียุบพรรค เพราะประเด็นเรื่องเงินบริจาคไกลเกินกว่าที่จะนำไปสู่การยุบพรรคได้
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคภูมิใจไทยมีแนวคิดที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ฉะนั้น เมื่อ ขณะนี้กำลังมีความเคลื่อนไหวพรรคภูมิใจไทยก็พร้อมที่จะสนับสนุน โดยพรรคได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส.ในพรรคว่า รัฐธรรมนูญมีประเด็นใดที่จะต้องแก้ไขบ้าง ซึ่งขณะนี้กรรมการชุดดังกล่าวกำลังดำเนินการอยู่ โดยในวันอังคารที่ 28 เมษายน 2552 เวลา 14.00 น. จะมีการประชุมว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยนั้นเห็นว่าจะต้องแก้รัฐธรรนูญในประเด็นใดบ้าง
ส่วนประเด็นการนิรโทษกรรมนั้น นายบุญจง กล่าวว่า พรรคยังไม่ได้นำเข้าสู่ ที่ประชุม แต่ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยที่จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะกฎหมายดังกล่าวจะต้องออกเพื่อประชาชนทั้งประเทศไม่ใช่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ส่วนกรณีการจับมือกันระหว่างนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรค ชาติไทย กับนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เพื่อสนับสนุน กฎหมายนิรโทษกรรมนั้น นายบุญจง กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเท็จ ไม่จริง ส่วนแสดงว่าพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อว่ากฎหมายนิรโทษกรรมจะสร้างความสมานฉันท์ได้ใช่หรือไม่ นายบุญจง กล่าวว่า เชื่อว่าคงไม่ได้ เพราะไม่ได้ใช้กับทุกคน
นาย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วมของวิป 3 ฝ่าย ว่า เป็นการประเมินผลการ อภิปรายที่ผ่านมา 1 วัน และกำหนดกรอบแนวทางเสนอทางออกต่อรัฐสภา ซึ่งเดิม มีข้อเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันเพื่อพิจารณาประมวลสถานการณ์ ฉุกเฉินที่ผ่านมา และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อดำเนินการในกระบวนการแก้ไข กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งส่วนนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในการประชุมร่วมกันของ 2 สภาในครั้งนี้ไม่มีสามารถตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของ 2 สภา เพื่อศึกษาปัญหาดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงขอมติในที่ประชุมสภาร่วมหากเห็นด้วยว่า จะดำเนินการอย่างไรก็จะได้ใช้ข้อบังคับการตั้งคณะกรรมาธิการในวาระอื่นๆได้ โดยเสนอเป็นญัตติเข้ามา
ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่าจะสามารถนำเข้าสู่กาประชุมรัฐสภา ได้เมื่อไหร่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า หากดูตามกรอบเวลาแล้ว เป็นไปได้ที่ประธานรัฐสภาจะนัดประชุมสมาชิกได้ในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป
นายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว ว่า การที่รัฐบาลเดินหน้ามุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้คงไม่ใช่ทางออก เพราะตนยังไม่ทราบว่าจะแก้อะไร เพราะตอนนี้เป็นเรื่องของคู่กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจะได้กลับมาประเทศโดยไม่ต้องรับโทษ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรรัฐมนตรีก็ไม่เห็นด้วย หากแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ จริงก็คงไม่มีใครยอมได้
ส่วนที่รัฐบาลเสนอแนวคิดให้พรรคการเมืองไปหาประเด็นปัญหาของรัฐธรรมนูญนั้น นายสุจิต เห็นว่าหากให้นักการเมืองแก้ไขนักการเมืองก็จะได้ประโยชน์เอง แต่ความขัดแย้งที่เกิดในหมู่ประชาชนไม่อาจหายได้ ซึ่งตนยังหาทางออก ขณะนี้ไม่ได้ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณก็ยังไม่ยอมประนีประนอมด้วย หากยอมทำตาม เงื่อนไขของพ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ใช่การประนีประนอม อีกทั้ง การนิรโทษกรรม คดีการเมืองด้วยการให้คืนสิทธิเลือกตั้งแก่นักการเมืองไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่ต้องดูเป็นเรื่องๆไปว่าการจะยกเลิกเรื่องความผิดที่ทำให้พรรคถูกยุบนั้น แล้วจะมีมาตรการใดที่จะมาทดแทนการยุบพรรคที่บังคับใช้อยู่ขณะนี้
ดังนั้นต้องคิดให้รอบคอบว่าการจะยกเลิกมาตรา 237 แล้วกลับไปเป็นแบบเดิม แล้วทำอย่างไรไม่ให้มีการทุจริตเลือกตั้ง
ปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ไม่ใช่มาจากรัฐธรรมนูญ แต่ความขัดแย้ง มาจากการบัญชาการของคนที่อยู่นอกประเทศ เพราะกลุ่มเสื้อแดงที่ชุมนุมกันเพราะชื่นชม พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าจะสั่งการอะไรก็พร้อมยอมทำตาม พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้ กลับมาโดยไม่ต้องรับโทษ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยนั้น ผมไม่ทราบว่าระบอบดังกล่าวคืออะไร และที่เรียกร้องให้องคมนตรีลาออกนั้นก็ไม่ทราบ หากมีแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าวจะเลิกมาตราเกี่ยวกับองคมนตรีหรือไม่ ดังนั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือปฏิรูปการเมือง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสภาที่จะดำเนินการและคิดให้รอบคอบก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น