xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คปัดเจรจาแม้วยุติศึก พธม.ชี้นิรโทษคนผิดยิ่งขัดแย้งหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีภาคอุตสาหกรรมเสนอให้เจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในบ้านเมืองว่า ตนไม่ทราบสิ่งที่เสนอให้เจรจาว่าเป็นอย่างไร แต่หลักการที่ตนพูดไปชัดแล้ว คือ ในแง่การลบล้างคดีนั้น ไม่สามารถทำได้ และไม่ควรทำ การที่จะให้นิรโทษกรรมในแง่ความผิดทางการเมือง เป็นเรื่องที่อยู่ในกรอบสามารถเสนอมาได้ เพื่อที่จะมาดูความเหมาะสม รูปแบบวิธีการ เหตุและผล แต่ในเรื่องคดีอาญา คงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการตกผลึก เพียงแต่เมื่อตนเริ่มต้นกระบวนการนี้ ก็ต้องเปิดกว้างพอสมควร หากไปขีดเส้นไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย คิดว่าคงพูดกันยาก ดังนั้นต้องนำมาดูว่า ความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน อย่างไร
เมื่อถามว่าแสดงว่ายอมรับที่จะเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่ และ ยังไม่ทราบว่าจะไปเจรจาเรื่องอะไร เพราะรู้สึกว่า ในส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีปัญหาเป็นเรื่องของคดีอาญา ทั้งนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป้าหมายที่จะให้รัฐสภาคุยกัน คืออะไร เพราะดูแล้วจะทะเลาะกัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมพรรคในวันนี้ จะขอ ส.ส.พรรคว่า ให้หลีกเลี่ยงที่จะให้เวทีนี้ เป็นเวทีที่จะเกิดความขัดแย้งมากขึ้น แต่ความตั้งใจของตนคือ ความคลางแคลงใจต่อเหตุการณ์ หรือการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งสมาชิกสามารถที่จะนำเสนอเพื่อการตรวจสอบ ซึ่งรัฐบาลจะได้ชี้แจง ขณะเดียวกันจะเดินไปข้างหน้า เพื่อให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันเพื่อหาทางออก เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ส่วนลึกลงไปจะเป็นการเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการบังคับใช้กฎหมาย ถือเป็นสิทธิของสมาชิก อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามาประชุมในกรอบ เพื่อหาทางออกมากกว่าที่จะมาทะเลาะกัน
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทย ไปไกลถึงขนาดว่าหากจะนิรโทรกรรม ขอให้คืนพรรคไทยรักไทยกลับมาด้วยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเรียนแล้วว่าขณะนี้ใครจะเสนออะไร ก็เสนอมา เราจะได้ทราบความต้องการจริงๆของแต่ละฝ่าย คืออะไร ทั้งนี้ในส่วนของพรรคร่วม ได้ขอให้ทุกพรรคไปบอกลูกพรรคว่า ทำอย่างไรให้เวทีนี้ไม่เติมความขัดแย้ง แต่เป็นการลดความขัดแย้ง
เมื่อถามว่า ขอทราบความหมายของคำว่า นิรโทษกรรม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม เรากำลังพูดถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปทางการเมือง หากตรงนี้มีใครติดใจเกี่ยวกับเรื่องความผิดทางการเมืองที่ผ่านมา ก็สามารถที่จะเสนอมาได้ แต่ตนขีดเส้นเอาไว้ว่า ความผิดทางอาญาไม่สามารถมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ส่วนที่ว่าความผิดทางการเมืองจะมีประเด็นอะไรบ้าง ใครคิดอย่างไร เสนอมา จะมาพิจารณากัน
"กรอบต้องเอาตัวระบบเป็นหลักก่อน ถ้ามาแก้ไขเพียงเพื่อที่จะแก้ปัญหาให้กับกลุ่มบุคคล แต่ไม่ได้ทำให้ระบบดีขึ้น คงไม่ทำหรอกครับ ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่า ระบบมันดีขึ้นอย่างไร" นายอภิสิทธิ์ กล่าว และว่า ในประเด็นที่มีความเห็นที่แตกต่างกันสูง ก็อาจจะใช้กระบวนการสอบถามประชาชน
เมื่อถามว่า จะต้องใช้เวลาเท่าไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคการเมืองต่างๆ 2 สัปดาห์จะต้องพร้อม หลังจากนั้นก็มาดูว่า ประเด็นซับซ้อนมากน้อยแค่ไหน กระบวนการควรจะเป็นอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตามในส่วนของสถาบันพระปกเกล้ายังไม่ตัดทิ้ง ซึ่งเมื่อเช้าที่ผ่านมาได้คุยกับเลขาฯ สถาบันพระปกเกล้า ตรงนี้ยังไม่ได้ตัดทิ้ง เพียงแต่ตอนนี้เร่งให้ทุกพรรคการเมืองชัดเจนมากขึ้นว่าจะเอาอย่างไร
เมื่อถามว่า เมื่อดำเนินการต่างๆแล้วเสร็จ จะยุบสภาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อันนั้นไปอีกขั้นหนึ่ง ตอนนี้ต้องดูกระบวนการกันก่อนว่า จะแก้ไขอย่างไร ตอบล่วงหน้าไม่ได้
เมื่อถามว่านายพีระพันธ์ พาลุสุข ระบุให้ยกเลิกทั้งหมด เพราะหลังรัฐประหาร เป็นกระบวนการทางการเมืองทั้งสิ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่ใช่ จะสรุปอย่างนั้นไม่ได้
เมื่อถามว่า ในส่วนของนายกฯ หลังผ่านเหตุการณ์มาทั้งหมด ตอนนี้จำเป็นต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ในส่วนของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เรายังอยู่ในช่วงที่บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉะนั้นตอนนี้ยังเดินหน้าคลี่คลายตรงนี้ให้เรียบร้อยก่อน เมื่อเสร็จเรียบร้อยจะมาทบทวนกันทั้งหมดอีกทีหนึ่ง
เมื่อถามว่า จำเป็นหรือไม่ต้องปรับ ครม.โดยเฉพาะในส่วนของความมั่นคง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่สรุปอย่างนั้น ขอให้บริหารตรงนี้ให้เรียบร้อย แล้วมาทบทวนด้วยกันว่า ที่ผ่านมามีข้อบกพร่องจุดอ่อน ตรงไหนอย่างไร รอให้ยกเลิกสถานการณ์ตรงนี้ให้ได้ก่อน แล้วค่อยมานั่งคุยกัน ตนให้เกียรติคนทำงานทุกคน และทุกคนสามารถมาบอกได้ว่า ปัญหาอุปสรรคต่างๆ คืออะไร อย่างไร

**"เพื่อแม้ว"เรียกร้องใช้รธน.40
วานนี้ (20 เม.ย.) ที่พรรคเพื่อไทย คณะกรรมาการบริหารพรรค และแกนนำพรรค นำโดย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค นายพีระพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร ในฐานะประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ และ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าว โดยระบุว่า พรรคได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เกี่ยวกับท่าทีของพรรค ต่อกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. โดยมีเนื้อหาดังนี้
1.พรรคเพื่อไทยขอแสดงความเสียต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย ผู้บาดเจ็บ และผู้ได้รับความเสียหายจากากรสลายการชุมนุมของรัฐบาล และทหาร 2. พรรคไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทางการเมือง และโดยเฉพาะอย่างย่างต่อการสลายการชุมนุม ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น การใช้กำลังทหาร และอาวุธสงคราม กับประชาชนผู้ชุมนุมมือเปล่า
3. พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องจากบุคคลที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ให้มีการไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง จากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างเป็นธรรม และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ให้การเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมอย่างเป็นธรรม และทั่วถึง โดยไม่มีทางเลือกปฎิบัติ
4. พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การแก้วิกฤตการเมืองที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน จะต้องแก้ไขที่รากเหง้าของปัญหา คือ การที่ประเทศไทยขาดไร้ซึ่งประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม
5. พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้เกิดกระบวนการสร้างความปรองดองแห่งชาติอย่างแท้จริง และมีความเห็นว่าความปรองดองแห่งชาติ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยสามารถ สถาปณาระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และใช้หลักนิติธรรม ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยพรรคเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2540 มาบังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ที่เกิดขึ้นจากากรรัฐประหารยึดอำนาจโดยทหารในปี พ.ศ.2549

นายพีระพันธ์ กล่าวว่า พรรคขอเรียกร้องให้รัฐบาลนำรัฐธรรมนูญปี 40 ที่มาจากประชาชน และ ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดกลับมาใช้ จากนั้นให้คืนอำนาจให้กับประชาชน โดยการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคจะเสนอที่ประชุมสภา ในวันพุธ 22-23 เม.ย.นี้ ให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในแถลงการณ์ที่พรรค ระบุว่าไม่เห็นด้วยในการใช้ความรุนแรง แต่ปรากฏว่า มี ส.ส.ของพรรคขึ้นไปปลุกระดมมวลชนอยู่เป็นระยะ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องกลับไปดูบรรยากาศ และสถานการณ์ เพราะไปขึ้นเวทีชุมนุม ก็ต้องมีลักษณะการพูดคล้ายการปราศรัย
**หากยังออกหมายจับ ปรองดองยาก
นายวรวัจน์ กล่าวว่า หากรัฐบาลจะพูดถึงความปรองดองในขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามไล่ล่า ออกหมายจับผู้ชุมนุมเสื้อแดงเช่นนี้ ก็อาจยิ่งสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนที่ยังเกิดความสงสัยเบื้องหลังเหตุการณ์อยู่ และความตั้งใจที่จะให้ปรองดอง ก็คงเป็นไปไม่ได้
ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลเตรียมแจกซีดีรวบรวมเหตุการณ์สลายการชุมนุมจำนวน 1 ล้านแผ่นนั้น พรรคเห็นว่าเป็นการสื่อสารทางเดียว และก่อนหน้านี้รัฐบาลได้บิดเบือนข้อมูลและแทรกแซงสื่อ โดยการปิดสถานนี้โทรทัศน์ ปิดสื่อ และพูดฝ่ายหน่วยงานความมั่นคงเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการบิดเบือนข่าวสาร ข้อมูลที่ประชาชนจะได้รับ ซึ่งตรงนี้คงทำให้เกิดปรองดองไม่ได้ ถ้ารัฐบาลยังใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานอยู่ แต่ที่ตนเป็นห่วงมากกว่านั้น คือ การใช้กฎหมายอย่างไม่มีมาตรฐาน ดังนั้น รัฐบาลควรจะพูดความจริงออกมาได้แล้ว
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยมีหลักฐานยืนยันหรือไม่ว่า การก่อจลาจล เป็นฝีมือของมือที่ 3 รวมทั้งข้อมูลผู้ชุมนุม นปช.ที่เสียชีวิต ในการนำมาค้านกับข้อมูลของรัฐบาล นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ยืนยันว่า พรรคมีรายละเอียดและหลักฐาน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ล่าสุดเมื่อวันนี้ 20 เม.ย. นี้ พรรคได้นำข้อมูลไปยื่นให้ ดีเอสไอ รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ให้พรรคการเมืองทุกพรรค สรุปประเด็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ ว่า มีประเด็นใดบ้างเพื่อนำมาพิจารณาขอฉันทามติจากสังคม ก่อนที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปว่า พรรคเพื่อไทย จะเสนอต่อรัฐบาลให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 40 กลับมาใช้ แต่จะนำมาทั้งฉบับหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเจรจาของพรรคการเมืองทั้งหมด โดยพรรคเพื่อไทยยังยืนยันที่จะให้มีการแก้ไขประเด็นทางการเมือง เช่น มาตรา 237 ที่ระบุโทษให้ยุบพรรคการเมือง มาตรา 190 ว่า ด้วยการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ ที่ทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ เรื่องอำนาจขององค์กรอิสระที่วันนี้กลายเป็นองค์กรพิเศษ มีอำนาจในการล้มล้างรัฐบาลได้ รวมไปถึงระบบ การเลือกตั้งด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอให้มีการแก้ไข มาตรา 309 ด้วยหรือไม่ นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า จะต้องมีการยกเลิก มาตรา 309 ที่รับรองการกระทำตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2549 แต่ที่ นิรโทษกรรมแล้ว ก็ให้นิรโทษกรรมไป แม้จะยกเลิกมาตราดังกล่าว ก็จะไม่มีผลลงโทษย้อนหลัง
นายพีรพันธุ์ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณการนิรโทษกรรม ว่า เชื่อว่าจะสามารถผ่อนคลายความตึงเครียดของบ้านเมืองลงได้ เพราะต้นตอปัญหามาจากเรื่องของการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยหลังจากการยึดอำนาจมีการตั้งองค์กร เพื่อแก้ไขกฎหมายเอาผิดกับบุคคลกลุ่มตรงข้าม ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวพูดคุยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปในคราวเดียวกัน

** กกต.โยนพรรคการมืองแก้รธน.
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องฟังเสียงประชาชน และแก้เท่าที่จำเป็น อย่างแก้ไขเพื่อช่วยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สิ่งที่ต้องปรับปรุงมีมากมาย แต่ต้องให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่ง กกต.พร้อมมีส่วนร่วมในการแก้ไข ส่วนเรื่องการแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ถูกตัดสิทธิ ขอให้เป็นเรื่องที่สภาฯ จะตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะสามารถทำให้เกิดความสงบได้หรือไม่ ขึ้นกับประชาชน เพราะปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความวุ่นวายส่วนหนึ่งมาจากประชาชนถูกยุยง ปลุกปั่น ให้เข้าไปร่วม ดังนั้นถ้าประชาชนมีจิตสำนึก และรู้ว่าอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความวุ่นวาย มีการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ก็จะสามารถแยกแยะได้
เมื่อถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะประชาชนยังไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ นายอภิชาต กล่าวว่า บ้านเมืองเราที่มีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อยู่ในจิตใจ ซึ่งมีการปกครองกันมายาวนาน ดังนั้นที่มีการระบุว่าจะมีการโค่นล้มระบอบอมาตยธิปไตยขณะนี้โดยหมายถึงข้าราชการของพระมหากษัตริย์ ก็คงจะไม่ใช่ และถ้าเราไม่ใช้ระบบการเลือกตั้งอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน เราจะไปใช้การเลือกตั้งระบบประธานาธิบดี หรืออย่างไร เราต้องไม่ลืมว่า สังคมไทยปัจจุบันมีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ เป็นที่สุด
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศขณะนี้ ไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งทางความคิด รวมทั้งการแก้ไขปลดล็อก ให้กับคนบ้านเลขที่ 111 ซึ่งก็อยู่ที่พรรคการเมืองว่า เห็นเป็นปัญหาหรือไม่ ทาง กกต. คงไม่เข้าไปยุ่ง อย่างไรก็ตาม เห็นว่าหากเรายึดขั้นตอนทางกฎหมาย ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย อย่าใช้วิธีการนอกสภา แต่ต้องทำให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้
ส่วนการจะแก้ไข มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับการยุบพรรค นายประพันธ์ กล่าวว่า ถ้านักการเมืองเห็นว่าเป็นปัญหา ก็ปรับปรุงกันไป แต่มาตราดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง เข้าไปรู้เห็นเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง

**"ชวรัตน์-บุญจง"ไปคนละทาง
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม ให้กับกรรมการบริหารพรรค ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งนี้ เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของการนิรโทษกรรม จะทำให้สถานการณ์เบาลง เพราะเป็นทางที่นำไปสู่ความสมานฉันท์ ความสันติสุข และความสามัคคี อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าในการแก้กฎหมาย ควรแยกเรื่องความผิดทางคดีอาญา กับเรื่องทางการเมือง ออกจากกัน
อย่างไรก็ตาม นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วย หากจะเสนอให้มีการนิรโทษกรรมนักการเมือง และพรรคการเมืองต่างๆ หลังการปฏิวัติ 19 ก.ย. 49 เนื่องจากทางพรรคได้ประกาศจุดยืนตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาลแล้วว่า จะไม่สนับสนุนการออกกฎหมาย ที่ใช้กับคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

**ชี้นิรโทษยิ่งขัดแย้งหนัก
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า แนวคิดของนายกฯ ที่พร้อมให้มีการแก้ไข รธน. โดยอาจนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในคดีการเมือง หรือคืนสิทธิ ทางการเมืองให้กับกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งและแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ ว่า แนวคิดนี้ นอกจากจะไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์แล้ว ยังจะเพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมือง เพราะความขัดแย้งในขณะนี้ ไปไกลกว่าประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประการสำคัญปฏิรูปการเมือง ด้วยการตั้งธงนิรโทษกรรม ผู้ที่มีคดีการเมืองนั้น จะทำให้ประชาชนหวาดระแวง และรู้สึกว่ากระบวนการปฏิรูปการเมืองมีวาระซ่อนเร้น หรือเป็นการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ในหมู่นักการมืองเท่านั้น
โดยเฉพาะวิธีการที่ให้แต่ละพรรคการเมือง ไปทำประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาภายใน 2 สัปดาห์นั้นเป็นกระบวนการที่กลับหัวกลับหาง อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมและการลงประชามติของประชาชน ถ้ากระบวนการปฏิรูปการเมืองไม่ได้เริ่มต้นจากประชาชน และสังคม ไม่มีทางประสบความสำเร็จ เพราะนักเลือกตั้งไม่มีวันเห็นด้วยกับการถูกปฏิรูป ตนเป็นห่วงว่า วิธีการแบบนี้กำลังจะผลักประชาชน และสังคมออกจากกระบวนการปฏิรูป ในที่สุด
"แม้ผมจะเชื่อในเจตนาดีของท่านนายกฯ ที่ตั้งใจให้มีการปฏิรูปการเมือง แต่วิธีการแบบนี้น่าจะเกิดจากการถูกบีบ และถูกกดดันจากพรรคร่วมมากกว่า"
ส่วนแนวคิดนิรโทษกรรม เฉพาะคดีการเมืองไม่เกี่ยวกับคดีอาญานั้น ไม่ทราบว่าใช้หลักการอะไรมากำหนด เพราะไม่ว่าคดีการเมือง หรือคดีอาญาต่างก็สร้างผลเสียหายต่อประเทศทั้งนั้น และคดีการเมืองคือการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และในกลุ่มบ้านเลขที่ 111 ส่วนใหญ่ในช่วงมีอำนาจหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็สมรู้ร่วมคิดก่อคดีอาญามาทั้งนั้น เรื่องนี้จะส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศอย่างแน่นอน
"ผมเชื่อว่า หากบรรดาบ้านเลขที่ 111 และกลุ่ม 109 คน ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว จะรุกคืบนิรโทษกรรมในคดีอาญา อย่างแน่นอน เพราะหลายคนมีความผิดทั้งคดีการเมือง และคดีอาญา เรื่องนี้แกนนำพันธมิตรฯ คงจะต้องหารือกัน เพื่อกำหนดท่าทีอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

**นิรโทษให้แม้วปัญหาไม่จบแน่
แหล่งข่าวนายทหารระดับสูง กล่าวถึงกรณีที่ นายกรัฐมนตรี เสนอแนวความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในคดีการเมืองว่า เรื่องนี้นายกฯอาจมองว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะสามารถช่วยคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองที่มีความขัดแย้งกันได้ โดยเฉพาเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันของพรรคการเมือง นายกรัฐมนตรีต้องการหาจุดนี้ เพื่อมาเป็นแนวร่วมพาไปหาจุดอื่น เพราะพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังมีปัญหาคาราคาซังที่ ส.ส.ของพรรค ถูกตัดสินทางการเมือง
"กองทัพคงไม่เสนออะไร เพราะการตัดสินใจขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง โดยเฉพาะกองทัพ ต้องดำเนินการตามนโยบายอยู่แล้ว แต่อยากให้รัฐบาลคิดให้ดี ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องผลได้ผลเสียของบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง หรือ อะไรเป็นปัญหาอาชญากรรม ดังนั้นรัฐสภาจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ เพราะเท่าที่ดู มันแยกกันยากมาก ว่า เรื่องไหนเป็นประเด็นทางการเมือง หรือไม่เป็นการเมือง ซึ่งความคิดอาจจะมีการซ้อนกันอยู่”แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการนิรโทษกรรมจริง จำเป็นต้องแยกคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากกรณีการยุบพรรค หรือ ส.ส.พรรคไทยรักไทย 111 คน ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองถึง 5 ปีเต็ม เพราะหากนำมารวมกัน จะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมาอีก เพราะแก้ไขแล้วก็จะมีเรื่องใหม่ตามมาอีก และภาระก็จะต้องอยู่ที่รัฐบาล ที่จะต้องแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ไม่รู้จักจบ
หากนิรโทษกรรมให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนเป็นการชุบชีวิตให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ฟื้นคืนชีพกลับมาสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อถึงเวลานั้นหาก พ.ต.ท.ทักษิณ มามีอำนาจอีกครั้ง ก็จะคอยตามล้างแค้นไม่รู้จักจบสิ้น ตอนนี้มีพรรคการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลพยายามเดิมเกมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ รอดพ้นจากบ่วงกรรมที่ผ่านมา ดังนั้น เรื่องการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือว่าไกลเกินไปที่จะนิรโทษกรรม เพราะที่ผ่านมาพ.ต.ท.ทักษิณ คือตัวปัญหาที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย
กำลังโหลดความคิดเห็น