xs
xsm
sm
md
lg

สมชายลั่นแก้รธน.แน่นัดพรรคร่วมถกวันนี้-“เติ้ง”แนะโล๊ะเท่าที่จำเป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์วานนี้ (4 พ.ย.) ถึงกรณีที่ กลุ่มสานเสวนาเพื่อสันติ เสนอให้ยกเลิกการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) เพราะการตั้ง ส.ส.ร. ก็ไม่ได้ส่งผลในทางที่ดี จึงไม่อยากให้มีการเดินหน้า ในเรื่องนี้ ว่า ไม่เป็นไร ทุกคนมีความคิดเห็นได้ เรื่องของการหารือกันก็ยังไม่ได้มีการสรุป จึงไม่ทราบอะไรทั้งนั้น
ส่วนการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ จะมีการหารือเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.3 ด้วยหรือไม่นั้น นายสมชายกล่าวว่าคงไม่ใช่เป็นการทบทวน มาเจอกันก็จะมาคุยกันว่า เป็นอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อมาถึงเวลานี้ทางรัฐบาลจะเดินหน้าต่อหรือจะชะลอ ส.ส.ร.3 ไว้ก่อน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับตนเดินหน้าอยู่แล้ว ใครมีความคิดเห็น เป็นอย่างอื่นๆ ก็มาคุยกัน
ส่วนถ้าพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้ชะลอไว้ก่อนทางพรรคพลังประชาชนจะมีความคิดเห็นไปในทิศทางใดนั้น นายสมชาย กล่าวว่าก็ต้องฟังพรรคร่วมก่อน ว่า เสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่
ต่อข้อถามว่าดูเหมือนว่า ฝ่ายค้านต้องการให้รัฐบาลยกเลิก ส.ส.ร. 3 ไปก่อน นายสมชาย กล่าวว่า ฟังไปก่อน แต่สำหรับตนแล้วเห็นว่ามันดี แต่ใครเห็นอย่างไร ไม่ใช่ใครว่าจะผิดหรือถูก ทุกคนพูดมาเราก็ฟังและเคารพความคิดเห็นของทุกคน
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่ารัฐบาลพร้อมจะนำความคิดเห็นของทุกฝ่ายมาร่วม พิจารณา นายสมชาย กล่าวว่า มาฟังๆ ดูจริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรืองของรัฐบาล ตนต้อง เท้าความก่อน เช่นนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ก็เป็นคนนัดมาดำเนินการ พรรคร่วมรัฐบาล และ พรรคพลังประชาชนก็เห็นด้วยสนับสนุน จึงมีการเชิญทุกท่านมาเป็นเจ้าภาพ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลที่จะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เรา ให้ความร่วมมือกับท่านประธานสภา ที่เขานัดไว้ ถูกต้องๆ เพราะท่านเป็นคนนัดไว้

พปช.มีมติหนุนแก้ม.291ตั้งส.ส.ร.3
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รักษาการรองโฆษกพรรคพลังประชาชน แถลงภายหลังประชุม ส.ส.พรรคว่า ที่ประชุมมีมติสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เปิดทางให้มี ส.ส.ร.3 โดยมีจำนวน 120 คน มาจาก 3 กลุ่ม คือตัวแทนประชาชนแต่ละจังหวัด76 คน ด้วยการเลือกกันเองทางอ้อม มอบให้ กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง จากผู้ทรงคุณวุฒิ 24คน แบ่งเป็นด้านนิติศาสตร์ 8 คน ด้านรัฐศาสตร์ 8 คน และด้านการเมือง การปกครอง 8 คน จากตัวแทนสาขาอาชีพ 20 คน เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จะสรรหา ส.ส.ร.ภายใน เวลา 60 วันและ ยกร่างรัฐธรรมนูญ อีก180 วัน หลังยกร่างเสร็จจะส่งร่างให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ถ้าเห็นชอบก็ประกาศใช้ แต่ถ้าไม่เห็นชอบก็ส่งให้ประชาชนลงประชามติต่อไป
อย่างไรก็ตามส.ส.ได้มีการแสดงความห่วงว่า หากเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้ามา อาจทำให้พันธมิตรฯและ ส.ว.บางส่วนที่ไม่เห็นด้วย มีการเคลื่อนไหวต่อต้าน เพราะมีการพูดไม่ตรงกับเจตนาของรัฐบาลว่าเป็นการเสนอแก้เพื่อหนีคดียุบพรรค หรือเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111คน เพราะหลายเรื่องอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ดังนั้น พรรคจึงเห็นว่า ให้ส.ส.ของพรรคไปทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการแก้ไขดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาของชาติ พร้อมเห็นให้ตั้งทีมประชาสัมพันธ์ของพรรคเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป

ยังไม่กำหนดจะนำเข้าสภาเมื่อใด
อย่างไรก็ตามเมื่อพรรคมีมติดังกล่าวแล้ว ทางนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคฯ คงจะนำไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ส่วนจะยื่นเข้าสู่รัฐสภาเมื่อใด ยังไม่กำหนด ขณะนี้จะรอช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อหารือทกุฝ่ายให้รอบคอบก่อน จึงไม่จำเป็นจะต้องยื่นให้ทันในสมัยประชุมนี้ที่จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 28พ.ย.นี้ หรือ หากพร้อม อาจยื่นขอเปิดสมัยวิสามัญพิจารณาก็ได้ ไม่เสียหายอะไร แล้วแต่ต้องดูความเหมาะสม

เติ้งแนะแก้บางมาตราที่จำเป็น
นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรจะแก้เพียงบางมาตรา อย่าไปแก้มากเดี๋ยวจะเป็นปัญหา ผู้คนจะเกิดความหวาดระแวงกัน แก้มาตราที่สำคัญๆ เช่น มาตรา 190 เกี่ยวกับบทบัญญัติที่ว่าหากจะไปเจรจาความกับต่างประเทศต้องนำเข้ารัฐสภา ส่วนมาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรค ไม่จำเป็นต้องแก้ไขก็ได้เพราะไม่เป็นปัญหา ในฐานะเป็นพรรคร่วมยังสนับสนุน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีบางอย่างที่เป็นปัญหา หากยุบสภาแล้วก็จะมีปัญหาในเลือกตั้ง เช่นวิธีการเลือกตั้งก็ใช้ไม่ได้ ส.ส.แบบสัดส่วนก็ใช้ไม่ได้ คิดว่าใช้ระบบปาร์ตี้ลิสต์อย่างเดิมจะดีกว่า
ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรฯระบุว่าหากมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมาล้อมสภา เหมือนวันที่ 7 ต.ค.นั้น นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่เป็นไร ตอนนี้มันมีเสื้อแดงมาแล้วนี้ มันก็ตอบไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ของตน ก็ไปเจรจากันเองก็แล้วกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีม็อบเสื้อแดงเริ่มจะมาชุมนุมด้วย นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่ห่วง อะไรจะเกิดก็ให้ไปเกิดไปเถอะ ทำอะไรไม่ได้ บางคนพูดก็ไม่ฟัง เมื่อถามว่า บ้านเมืองเลยจุดปรองดองแล้ว ต้องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะใช่หรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า มันจะเป็นทำนองนั้นหรือไม่ก็ตอบไม่ได้ เพราะต่างคนต่างไม่ยอม บางคนบอก เจรจาแต่ก็มีเงื่อนไข มันก็จบ แต่ถ้าละเงื่อนไขแล้วตั้งหน้าเจรจากันเสีย อะไรยอมได้ ก็ยอม มันก็สามารถคุยกันได้ บ้านเมืองก็เป็นอย่างนี้ แต่ละคนก็ล้วนไม่ได้จบ ป.4 แต่ระดับมหาวิทยาลัย ปริญญาทั้งนั้นที่ทะเลาะกัน ไม่ใช่ชาวบ้านทะเลาะกัน

ไม่สนพันธมิตรฯปิดล้อมรัฐสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่าหนักใจหรือไม่หากยื่นญัตติเข้าสภาแล้วพันธมิตรจะมาปิดล้อม นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่หนักใจ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เมื่อถามว่ามีการมองว่า หากยื่นญัตติในสัปดาห์หน้าจะทำให้พันธมิตรปิดล้อมได้ยาก นายบรรหาร กล่าวว่า อย่าคิดให้มันลึกไปเลย ตอนนี้การเมืองมันอยู่ในทะเลแล้ว อยู่ใต้ทะเลลึกอยู่ใต้ ทะเลลึกต้องหานักประดาน้ำไปงม แต่จะไม่เป็นกัปตัน แต่จะหนีไปบวชแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าควรจะชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน รอให้มีการสานเสวนา ก่อนหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่น่าเกี่ยวข้องอะไรกันเลย เป็นข้ออ้างกันมากกว่า
ผมคิดว่าแก้เพื่อให้งานเดินหน้าแล้วมันจะมีปัญหาอะไร ผมไม่เข้าใจ เขากลัวว่า แก้แล้วจะไปแก้เลยเถิดไปแก้อย่างอื่นเข้า ตรงนี้จะต้องรับรองให้เขาด้วย อย่าไปแก้ ให้มาก เอาเท่าที่ต้องการ เช่นไปแก้ช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อย่างนี้ ทำไม่ได้ หรือจะแก้ให้กับอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองมันก็ไม่ได้ ผมคิดอย่างนี้ แต่คนอื่นคิดอย่างไรเราทายใจไม่ได้

พผ.บอกอะไรที่ผู้คนกังวลก็ไม่ควรแก้
นายมั่น พัธโนทัย รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าในวันที่5พ.ย.จะมีการประชุมพรรคร่วมรัฐบาล แล้วคงจะได้คุยกัน เพราะพรรคเราอยู่ร่วมรัฐบาล ก็ต้องทำร่วมกัน แต่อะไรที่ไปเกี่ยวกับความกังวลใจของประชาชนหรือสิ่งที่ประชาชนไม่ชอบก็จะไม่ทำ และจะทำเกี่ยวกับความสมานฉันท์ จะแก้ไขในสิ่งที่ประชาชนต้องการ โดยจะไม่แก้ไขเพื่อใครหรือเหตุผลอื่น หากทำแบบนี้จะไปได
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจะดำเนินการในช่วงนี้จะเหมาะสมหรือไม่ นายมั่นกล่าวว่า จังหวะอาจประชิดบ้าง แต่พรรคใหญ่คือพรรคพลังประชาชนน่าจะคิดแล้วพราะมีคนช่วยคิดเยอะ พรรคเพื่อแผ่นดินก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุน หากมันเป็นทางออกที่ดี หากมันยังไม่ดี วันที่5พ.ย.แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต้องคุยกัน
มาตราใดที่โดนโจมตีมาตลอดนั้น ก็ขอว่าอย่าไปทำตอนนี้ ขอให้ทำใน แนวทางใหม่ที่ให้มันดีขึ้นเพราะบุคคลที่จะเข้ามาเป็น ส.ส.ร.3นั้นต้องมาจาก หลายส่วนที่ไปถึงคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เอาเฉพาะมาจาก ส.ส.

ส.ว.ยันได้ชื่อหนุนแล้ว50คน
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี แกนนำการรวบรวมรายชื่อส.ว.สนับสนุนญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เปิดเผยว่า ขณะนี้รวบรวมรายชื่อส.ว.ได้ประมาณ 50 คน และสามารถยื่นสนับสนุนญัตติดังกล่าวพร้อมกับส.ส.ได้ทันที ส่วนบาง มาตราที่ส.ว.ที่สนับสนุนญัตติยังเห็นต่างได้แก่ จะกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกเป็นส.ส.ร. ห้ามสังกัดพรรคการเมืองมาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่ และในขั้นสุดท้ายให้ทำประชามติเลยไม่ต้องผ่านรัฐสภาหรือไม่นั้น เรื่องนี้สามารถพูดคุยและแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการ จึงไม่เป็นปัญหา
ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีการปรับเนื้อหาบางมาตรากำหนดว่า ห้ามยุบสภา ช่วงที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ตนคิดว่า เป็นไปไม่ได้ และคงไม่มีการแก้ไข ในชั้นกรรมาธิการ เพราะหากระบุแบบนั้นเท่ากับเป็นการมัดตัวเอง และสาเหตุของการ ยุบสภามีได้จากหลายสาเหตุ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน จึงไม่น่าจะมีการแก้ไขให้เป็นแบบนั้น
ส่วนที่ยังมีคนคัดค้าน และอาจมีการมาประท้วงหน้าสภา ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่คิดว่า ส.ส.ร.3 ไม่เกี่ยวอะไรเลย และน่าจะดีกับทุกฝ่ายด้วยซ้ำ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่กว่าจะใช้ได้ก็ปลายปี 52 หรือต้นปี 53 หรือมีการเลือกตั้งใหม่แล้ว ซึ่งจะทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หากมาปิดล้อมสภา ถามว่า ต่อไปจะมีสภาไว้ทำไม เพราะสภาจะทำอะไรก็มาปิด มันก็ทำอะไรไม่ได้ ประเทศก็เดินไม่ได้

กลุ่ม40ส.ว.ชี้แก้ช่วงนี้ไม่เหมาะสม
ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ส.ว.สรรหา แถลงภายหลังการประชุม กลุ่ม 40 ส.ว.ว่า การบรรจุวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291ในช่วงใกล้งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะสุ่มเสี่ยงก่อความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น รัฐบาลไม่ควรฉวยโอกาสดังกล่าวเพราะอาจเห็นว่า จะไม่มีคนมาประท้วง ทั้งนี้ก่อนใกล้งานพระราชพิธี คนไทยควรร่วมกันถวายอาลัย แสดงความจงรักภักดี ไม่ใช่สร้างปัญหาทางการเมือง จึงขอให้รัฐบาลพิจารณา เลื่อนการบรรจุวาระดังกล่าวออกไปก่อน ส่วนจะบรรจุเมื่อไหร่นั้น ให้พิจารณาภายหลัง ทั้งนี้กลุ่ม 40 ส.ว. ยังมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการตั้งส.ส.ร.3 เพราะจะทำให้เกิดกลียุค

อภิสิทธิ์เตือนถ้าอยากสงบไม่ควรแก้
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าถ้ารัฐบาลต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยก็ไม่ควรผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ถ้าแก้ไขก็จะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นมาอีกจึงอยากให้ทบทวน เพราะถ้าหากมีการปิดล้อมสภาเกิดขึ้นอีกครั้ง ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลจึงอยาก ให้รัฐบาลไปสดับตรับฟังให้ดี
ผมยังหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์อะไร และคิดว่าคุณสมชายต้องจำได้ว่า ตอนที่มีการประชุมสี่ฝ่ายมีการพูดกันชัดเจนว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดนักตั้งแต่แรก แต่อย่างน้อยก็เป็นความพยายามที่จะเอาทุกฝ่ายมาพูดคุยกัน แต่พูดตรงกันทุกฝ่ายเช่นเดียวกันว่า ถ้าความเห็นพ้องในการทำเรื่องนี้ไม่มีก็ไม่น่าทำ ไม่ควรทำ ท่านนายกฯเองวันนั้นยังบอกเลยว่าทุกพรรคต้องเซ็นต์ไม่งั้นก็ไม่น่าทำ ทำไมวันนี้ ถึงได้เปลี่ยนแปลงไปจากหลักการนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลเองควรชะลอหรือพักเรื่องนี้ไว้ ซึ่งในส่วนของกลุ่มสานเสวนาก็พยายามสร้างกระบวนการในการพูดคุยกัน ก็ต้องปลด เงื่อนไขพวกนี้ออกไปก่อน ถ้าหากพักเรื่องนี้ได้ ผมคิดว่าการพูดคุยกันก็ยังมีช่องทาง ที่จะหาทางออกให้กับประเทศ แต่ถ้าจะเดินหน้าโดยที่ไม่สามารถตอบได้ว่า ความจำเป็นเร่งด่วนคืออะไร มีแต่จะสร้างความขัดแย้ง รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะตามมา

ยังดึงดันประชาธิปัตย์คัดค้านแน่
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงบทบาทของพรรคร่วมรัฐบาลต่อกรณีดังกล่าวด้วยว่า ทุกคนเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเหมือนกัน ต้องตั้งคำถามว่าเหตุผลอะไรที่จะต้องเร่งรัดในสภาวะที่มีความขัดแย้งอย่างนี้ ที่จริงควรเอารายงานของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของสภามาดูก่อนก็ได้ ว่าความจำเป็นเร่งด่วนมีหรือไม่ อย่างไร ซึ่งตนยืนยันว่า หากยังมีการผลักดันเรื่องนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย แต่ยังไม่ได้พูดถึงขนาดว่าจะไม่เข้าร่วมประชุม เพียงแต่ไม่อยากให้รัฐบาลเอาเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง ของสังคม อยากให้รัฐบาลเดินหน้าในการแสดงความรับผิดชอบ หรือหาทางออกให้กับเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งขณะนี้ล่วงเลยเวลาที่นายกฯเคยกำหนดกรอบเวลา ให้กรรมการสอบภายใน 15 วันไปแล้ว และยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ประชาชนรอความช่วยเหลืออีกมากมาย ทำไมจึงมาเพิ่มความขัดแย้งในช่วงนี้

เชื่อแก้รธน.จุดชนวนวิกฤต
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าที่ประชุมได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ โดยรวมของประเทศว่า หลังงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพี่นางเธอฯ จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น จนเป็นที่น่าวิตก วิปฝ่ายค้านประเมินกันว่า เป้าหมายสูงสุดของรัฐบาลและพรรคพลังประชาชน รวมทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯยังคงดำรงเป้าหมาย 3อย่างคือ1.ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ และช่วยพ.ต.ท.ทักษิณ 2.ต้องการดำรงอยู่ในอำนาจรัฐต่อไป และ3.ต้องการยึดกุมมวลชนที่สนับสนุนตัวเอง โดยใช้หลากหลายวิธีการ
นายสาทิตย์ กล่าวว่า การที่วิปรัฐบาลระบุจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าสู่ที่ประชุมสภาในสัปดาห์หน้า วิปฝ่ายค้านยังเชื่อว่าจะเป็นชนวนทำให้เกิด วิกฤต ซึ่งจะเกิดการชุมนุมของผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะจากคำให้สัมภาษณ์ ของ ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเป้าหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะหยุดวิกฤตได้หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะดำเนินการต่อไป ทั้งๆที่มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยและที่มาของส.ส.ร. ที่ยึดรูปแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่ามีการบล็อกโหวตของส.ส.ร.และในสภาพปัจจุบันที่มีความขัดแย้ง ยิ่งจะทำให้ได้ง่ายขึ้น
ที่น่ากังวลคือ รัฐบาลมีธงชัดเจนคือเชื่อว่าจะมีการลดอำนาจองค์กรอิสระลง ลดเงื่อนไขการตรวจสอบนักการเมืองที่ทุจริต เพราะที่ผ่านมาถูกคัดค้านโดยพรรคพลังประชาชนและพรรคชาติไทยมาตลอดและจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางอย่างที่จะมีผลดีต่อการสู้คดีของพ.ต.ท.ทักษิณ

ชี้มีสัญญาณรุนแรงหลังานพระราชพิธี
นายสาทิตย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้วิเคราะห์ถึงการเคลื่อนไหวของ มวลชนเมื่อวันที่ 1 พ.ย.โดยเห็นว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเคลื่อนไหว เพื่อให้ได้รับการตอบรับมากขึ้นเท่านั้น แต่ที่น่าวิตกคือมีใช้โทรทัศน์ของรัฐเป็นกระบอกเสียงที่ชัดเจนถือเป็นความเสียหายของทรัพย์สินประชาชน ซึ่งฝ่ายค้านเชื่อว่าจะมีการขยายผลเหตุการณ์วันที่ 1 พ.ย.มากขึ้นอีก โดยผ่านทางเคเบิ้ลทีวี ซึ่งทาง พรรคประชาธิปัตย์ได้รวบรวมหลักฐานเอาไว้แล้ว เพราะมีการพาดพิงบุคคลสำคัญ ของพรรคด้วย
ส่วนการที่มีม็อบเสื้อแดงไปล้อมสถานีไทยพีบีเอสที่จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นการ กดดันการทำงานของสื่ออย่างรุนแรง ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้เป็นสัญญาณนำสู่ ความรุนแรงหลังงานพระราชพิธี
การสานเสวนาที่หลายฝ่ายเห็นด้วย แต่คงสำเร็จได้ยาก เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นปัญหา ประเด็นสำคัญคือต้องตั้งคำถามว่าใครคือรัฐบาลที่แท้จริง เป็น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือไม่ แต่วิปฝ่ายค้านเห็นว่านายสมชายไม่มีสถานะเป็นนายกฯ เป็นผู้นำที่แท้จริง เพราะการขับเคลื่อนในรัฐบาลและพรรคพลังประชาชน ถูกกำหนดโดยคนนอกรัฐบาล นายสมชายเป็นเพียงนายกฯในนามและถูกกระทำพิธีกรรมในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสินใจหรือชี้นำใดๆ ทั้งสิ้น ดูได้จากเหตุการณ์วันที่ 1 พ.ย.ที่ทุกฝ่ายตั้งรับมือกับเหตุการณ์ แต่นายสมชายกลับไปนอนบ้านภรรยาที่เชียงใหม่แบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว
กำลังโหลดความคิดเห็น