xs
xsm
sm
md
lg

111 ซาก ทรท. ดัน กม.ฟื้นสิทธิ 40 ส.ว. โดดขวางชี้ชัดขัด ม.122

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แก๊ง 111 ซาก ทรท. รุกเพื่อตัวเองบ้าง เตรียมล่า 1 หมื่นชื่อ ดัน กม.นิรโทษกรรมตัวเองเพื่อกลับเข้าสู่การเมืองอีกครั้ง ด้าน 40 ส.ว. ค้านออก กม.ช่วยแม้ว-ฟื้น 111 ซาก ชี้หาก ส.ส.ให้ความร่วมมือ อาจขัด รธน. มาตรา 122 "อภิสิทธิ์" จี้รัฐบาลถึงเวลาเลือกข้างว่าจะทำงานให้ประชาชนหรือทำให้แม้ว ด้านสมชายยันแก้ รธน.เป็นเรื่องของสภา แถมโยนภาระการแก้วิกฤตขัดแย้งให้ "ป๋า" ช่วยจัดการ

จากกรณีที่รัฐบาลพยายามเดินหน้าผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อตั้งส.ส.ร.3 มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ รวมทั้งการที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน จะเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากการถูกพิพากษาให้จำคุก 2 ปี จากคดีที่ดินรัชดา ล้วนเป็นการดิ้นรนเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และพวกพ้องทั้งสิ้น โดยไม่ได้สนใจถึงการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน และยังเป็นการสร้างเงื่อนไข ให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากยึ่งขึ้น

ล่าสุดกลุ่มอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองยังพยายามที่จะล่ารายชื่อประชาชน เพื่อเสนอกฎหมาย ยกเลิกประกาศคปค.ฉบับที่ 27 เพื่อกลับเข้ามาสู่การเมืองอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นการทำเพื่อกลุ่มของตนเองอีกเช่นกัน

โดยเมื่อวานนี้ (6 พ.ย.) นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูก ตัดสิทธิทางการเมือง ได้ไปแถลงข่าวที่รัฐสภาว่าขณะนี้ได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 เรื่องการแก้ไขประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 โดยสาระให้บุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งโดยอาศัยอำนาจตามประกาศดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยถูกถอนสิทธิเลือกตั้ง

น.พ.ทศพร กล่าวว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ เป็นคนละประเด็นกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรค ซึ่งกฎหมายนี้ตนเป็นคนร่างขึ้นมาด้วยตัวเอง โดยมีอดีตกรรมการบริหารพรรค 111 คน หลายคน อาทิ นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ นายทองหล่อ พลโคตร และ ส.ส.พรรคพลังประชาชน อาทิ นายพีรพันธ์ พาลุสุข และนายสุนัย จุลพงศธร เป็นคนให้คำปรึกษา ซึ่งขณะนี้มี ส.ส.ในพรรค 20 คนเห็นด้วย แต่ยังไม่ตอบรับว่าจะสนับสนุน แต่ตนจะใช้วิธีรวบรวบรายชื่อประชาชน 1 หมื่นรายชื่อมาสนับสนุนร่างดังกล่าว

"นับตั้งแต่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งออกมา พวกผมไม่ได้ทำอะไร แต่หลังจากนี้พวกผมจะไม่นั่งงอเมืองดเท้าอีกต่อไป เพราะการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งคืน ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน " นพ.ทศพร กล่าว และว่าในวันที่ 19 พ.ย. นี้ ทางมูลนิธิ 111 ได้จัดสัมนากฎหมายสู่มาตรฐานสากล โดยนำเรื่องให้ 111 คนหารือด้วย

"เราจำเป็นต้องล้มล้างซากเดนของเผด็จการให้หมดไป และไม่คิดว่าประเด็นนี้ จะไม่เป็นประเด็นราดน้ำมันในกองไฟซ้ำสอง เพราะเป็นคนละประเด็น ไม่เหมือนกับนิรโทษกรรม เพราะเป็นเรื่องการเรียกร้องสิทธิให้กลับมาเท่านั้น ส่วนอนาคตจะยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับ 30 เพื่อช่วยคดีพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่เกี่ยวกัน แต่ไม่ทราบในอนาคตจะเป็นอย่างไร" นพ.ทศพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลักการออกกฎหมายต้องบังคับใช้บุคคลทั่วไป ไม่ใช่ออกมาเพื่อคนเฉพาะกลุ่ม นพ.ทศพร กล่าวว่า เรื่องนี้ย้อนกลับไปว่า การออกประกาศ คปค. 27 เป็นการออกกฎหมายจากทหารเพียงกลุ่มเดียว เพื่อมาบังคับใช้กับกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีความชอบธรรมหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่แปลกถ้าเราจะออกกฎหมาย มายกเลิกบ้าง

"ต้องขอบอกว่า อดีตกรรมการบริหารไทยรักไทย ทำประโยชน์แก่ชาติ และประชาชน ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า 111 คนไม่ได้บริหารประเทศแล้วประเทศจะบริหารไม่ได้ แต่หากไม่มีพวกผม อาจจะบริหารประเทศได้ดีด้วยซ้ำ แต่สาเหตุที่ทำ เป็นการเรียกสิทธิ์ของพวกผมเท่านั้นเอง" นพ.ทศพรกล่าว

40 ส.ว.ค้านออก กม.ช่วยแม้ว-111 ซาก

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม40 ส.ว.กล่าวถึงกรณี ส.ส.พรรคพลังประชาชน เตรียมดำเนินการช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยการขอพระราชทานอภัยโทษ และเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ว่า พรรคพลังประชาชน ควรจะตระหนักในการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทย ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา122 บัญญัติถึงการทำหน้าที่ของผู้แทนปวงชน ว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ใต้อาณัติผู้ใด และไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ฉะนั้นขอเตือน ส.ส.ที่จะดำเนินการ ให้ระวังการกระทำดังกล่าว ที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ การจะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม หรือการจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หลายภาคส่วนได้ทักท้วงไปแล้ว กลุ่ม40 ส.ว. เห็นว่าเมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีอีกหลายคดีรอพิจารณาในชั้นศาลยิ่งเป็นเรื่องไม่สมควรที่จะไปดำเนินการดังกล่าว ไม่เช่นนั้นอาจจะมีผลเข้าไปแทรกแซงกระบวนการศาล ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง

แนะออก กม.คืนสิทธิรายตัว

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่มีการ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคปค.ฉบับที่ 27 เพื่อคืนสิทธิทางการเมืองให้ 111ซากว่า แม้จะสามารถออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังได้ แต่ก็จะเกิดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เพราะสามารถมองได้ 2 แบบ

1. ผลของการใช้ประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ถือว่าได้มีผลไปแล้ว นับตั้งแต่ตุลาการรัฐธรรมนูญ ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ดังนั้นแม้จะยกเลิกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ก็จะไม่กระทบต่อการตัดสิทธิทางการเมือง

2. เมื่อตัวกฎหมายที่ให้อำนาจถูกยกเลิกไปแล้ว เท่ากับคนที่ถูกตัดสิทธิ ย่อมได้สิทธินั้นกลับมาโดยปริยาย

"เรื่องดังกล่าวจึงต้องถูกนำไปตีความอีกครั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญ จะเข้ามาตีความได้ก็ต่อเมื่อ เกิดข้อขัดแย้ง เช่น กรณีที่อดีตกรรมการบริหารเหล่านั้น ไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล หรือหากไปสมัครส.ส. ก็จะนำไปสู่การตีความโดยศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งว่าบุคคลดังกล่าวมีสิทธิหรือไม่"

นอกจากนี้ ฎหมายเพื่อนิรโทษกรรม ก็จะมีปัญหาเช่นกันว่า สามารถทำได้หรือไม่ เพราะตามปกติการนิรโทษกรรมจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวได้รับโทษทางอาญาเท่านั้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 โทษทางอาญาหมายถึง ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ริบทรัพย์ และปรับเงิน การตัดสิทธิทางการเมือง จึงอาจไม่เข้าข่ายเป็นโทษทางอาญา

นอกจากนี้ ในคำตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย ก็ยังระบุว่า โทษตัดสิทธิทางการเมือง ไม่ใช่โทษทางอาญา การออกฎหมายดังนั้น จึงอาจเกิดการตีความอีกครั้งในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทางออกที่นุ่มนวลที่สุด คือการออกพ.ร.บ.ว่า ด้วยการคืนสิทธิทางการเมืองของคนที่ถูกตัดสิทธิในคดียุบพรรค โดยให้แต่ละคนมาพิสูจน์ต่อศาลว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำผิดในคดียุบพรรคหรือไม่ หากไม่ผิด ก็ให้คืนสิทธิบุคคลนั้นไป จะเป็นธรรมมากกว่า การตัดสิทธิแบบยกเข่ง

"สถานการณ์การเมืองขณะนี้ การเสนอกฎหมายดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ ก็อาจเป็นชนวนที่ไปเพิ่มวิกฤติ และความขัดแย้งมากขึ้น ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลควรจะชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน" นายปริญญากล่าว

"สมชาย"โยนภาระ "ป๋า" แก้วิกฤติ

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวิธีการยื่นเรื่องเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่า เรื่องนี้ตอบคำถามกันเยอะแล้ว พูดกันน้อยๆหน่อย เมื่อถามว่าหลายฝ่ายยังคัดค้านว่า ช่วงเวลาการนำเสนอไม่เหมาะสม นายสมชาย กล่าวว่า ไม่เป็นไร ตนบอกว่าหาช่วงเวลาที่เหมาะสมก็แล้วกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐสภา รัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งที่แถลงนโยบายว่า สนับสนุนแนวทางส.ส.ร. 3 เพราะเห็นว่ามาจากความมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งประเทศ เราสนับสนุน แต่ทางสภาจะเรียกประชุมเมื่อไร อย่างไร ต้องเอาความเหมาะสม ตนไม่เคยพูดว่าต้องเอาวันนั้น วันนี้

เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นปมให้เกิดปัญหาเกิดความไม่สงบ รัฐบาลจะทำความเข้าใจกับกลุ่มต่างๆ ที่ต่อต้านอย่างไรนายสมชาย กล่าวว่า รัฐบาลคนเดียวทำไม่ได้หรอก ต้องมีทุกฝ่าย ทุกส่วน ปมมันเกิดจากอะไร ทำไมไม่เห็นด้วยกับการที่ประชาชนทั่วประเทศมามีส่วนร่วมในการดูแลรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับการเมืองของเขา

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านมองว่า เป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีการพูดคุยกันอย่างไร นายสมชาย กล่าวว่า คงไม่พูดคุยกันอย่างไร ให้ประชาชนดูว่าการแก้อย่างนี้ ทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณได้หรือไม่ ประชาชนทั้งประเทศจะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง จะแก้เพื่อคนๆเดียวได้หรือ ช่วยกันคิด ช่วยกันให้เหตุผลหน่อย ตนไม่เคยคัดค้านใครว่าอย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี แต่ว่าเหตุผลและความเป็นไปได้ ความที่เราคิดว่าสิ่งนั้นทำเพื่อประโยชน์ประชาชน หรือส่วนบุคคล ตนคิดว่าทุกคนคิดเป็นคิดได้

เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดวิกฤติเป็นจริงหรือไม่ นายสมชาย ปฏิเสธไม่ตอบคำถาม เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามอีกว่า การที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี มาเป็นคนกลาง ในการแก้ไขวิกฤติ นายสมชาย กล่าวว่า คงแก้ปัญหาได้ เมื่อถามอีกว่าจะพบกับพล.อ.เปรม เมื่อไร นายสมชาย ไม่ตอบคำถาม พร้อมกับเดินออกไปทันที

จวกรัฐบาลห่วงแต่เรื่องของ "แม้ว"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลชัดเจนว่า จะเดินหน้าผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะในขณะที่ประชาชนอยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ปัญหาทางการเมืองสงบ แต่รัฐบาลก็ยังยืนยันที่จะสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง ซึ่งตนอยากให้รัฐบาลไปทำเรื่องอื่นที่เป็นปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน แทนที่จะมาคิดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรื่องนิรโทษกรรม เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ตนยังหวังว่าเวลาอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า รัฐบาลคงจะคิดได้ เพราะความคิดที่ว่า ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างผ่านไปแล้วจะดีขึ้นเอง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

"วันนี้จะต้องเลือกเอาว่า จะทำงานให้ประชาชน หรือทำงานให้พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งการทำเช่นนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณไม่เดือดร้อน แต่ประชาชนคนไทยจะเดือดร้อนทั้งประเทศ"

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่าที่เคยขอเวลา 15 วันในการหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 7 ต.ค. คงไม่ทันแล้วนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่เคยเห็นเรื่องไหนที่นายกฯ พูดแล้วเป็นจริง เพราะตอนนี้นายกฯก็พูดไปเรื่อย อยู่ไปเรื่อย และไม่ทราบว่าทำอะไร ซึ่งสิ่งสำคัญคือแนวทางต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจน หรือมีความหวังอะไรให้กับใคร

"สังคมต้องช่วยกันบอกกับรัฐบาลดังๆว่าจะปล่อยบ้านเมืองไปอย่างนี้อีกนานเท่าไร ผมเข้าใจว่า คุณสมชายไม่เดือดร้อน แต่คนอื่นเขาเดือดร้อน ประชาชนเดือดร้อน ถ้าปล่อยไปอย่างนี้"

จะให้สงบต้องหยุดสร้างเงื่อนไข

ส่วนทางกลุ่มสานเสวนา จะมีส่วนช่วยคลี่คลายอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องเป็นไปแบบที่เสนอคือ ถ้าจะเดินหน้ากระบวนการนี้ จะต้องช่วยหยุดเงื่อนไข ความขัดแย้งก่อน หากรัฐบาลยังเดินหน้าเรื่อง ส.ส.ร.3 เดินหน้าเรื่องอื่นๆ ตนก็นึกไม่ออกว่าจะสานเสวนาอย่างไร แต่ถ้าหากรัฐบาลถอยมาหน่อย และบอกว่าพักเรื่องนี้ก่อน และจะสานเสวนา ทางกลุ่มสานเสวนา อาจจะคุยกับกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าที่ยืนยันว่าจะต้องให้นายกฯ ลาออกอย่างเดียวมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าถอยมาอย่างนี้แล้วมาพูดคุยกัน ก็ยังมีโอกาส

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนคือ ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลดอำนาจองค์กรอิสระ ลดเงื่อนไขการตรวจสอบนักการเมืองขี้โกง และเป็นเรื่องของการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ แน่นอน แต่รัฐบาลก็คงจะรู้ว่า ขณะนี้สังคมเริ่มมีความรู้สึกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤติ และหลายคนกังวลว่า จะมีความรุนแรงตามมา โดยจะเห็นได้ว่าเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวของหลายองค์กร ที่ไม่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ดังนั้นเข้าใจว่ารัฐบาลคงต้องหลบกระแสชั่วคราว แต่ก็เชื่อว่า ปัญหายังไม่ยุติ ตราบใดที่รัฐบาลยังสร้างความหวาดระแวงทางการเมืองให้กับองค์กรที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาล

ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือรัฐบาลต้องมีความชัดเจนใน 2 เรื่อง คือ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะวางไว้อย่างไร ซึ่งต้องไม่เป็นการหลบกระแส และรอจังหวัด เพราะเท่าที่ฟังการให้สัมภาษณ์ของวิปรัฐบาล ดูเหมือนว่าต่อไปนี้ไม่ต้องกลับมาพิจารณาแล้ว ยื่นเมื่อไรก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้เชื่อว่า ถ้ายื่นเมื่อไร ก็จะมีการชุมนุมใหญ่ทันที

2. เรื่องการแสดงความรับผิดชอบเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. แต่ดูเหมือนขณะนี้นายกฯ จะลืมไปแล้ว ทั้งที่เคยประกาศไว้ว่า จะทราบผลใน15วัน

หาก 2 เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน ความหวาดระแวงยังดำรงอยู่ในสังคมไทย และยิ่งหากมีความเคลื่อนไหวซ้ำเติมด้วยการจะไปยื่นนิรโทษกรรมให้พ.ต.ท.ทักษิณ บ้าง ไปปิดล้อมตรงนั้น ตรงนี้บ้าง บ้านเมืองก็จะไม่สงบ

ใน พปช.มีเสียงค้านแก้ รธน.-นิรโทษ

พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่า เห็นว่าควรจะเลื่อนออกไปก่อน และเห็นด้วยกับการสานเสวนา คือ ต้องมาคุยกันก่อน ต้องทำให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับ เพราะประชาธิปัตย์ก็อยู่ในสภาด้วยกัน จึงต้องหารือร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เช่น การบอยคอตการเลือกตั้ง ซึ่งตนก็ไม่ได้ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าอะไรที่จะเป็นข้อขัดแย้ง ทำอะไรก็ต้องไตร่ตรองให้ดี ก่อนจะก้าวไปสู่จุดที่ทำให้เกิดปัญหา

นอกจากนี้ การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น เท่าที่ทราบมีหลายคนไม่เห็นด้วย การออกกฎหมายฉบับนั้นสามารถทำได้ และมีผลย้อนหลัง แต่ไม่สมควรมาใช้ในช่วงนี้ เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหา รัฐบาลควรจะเข้าไปแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนก่อน ทั้งนี้การก้าวเดินในภาวะที่มีมรสุมต้องดูจังหวะที่เหมาะสม และต้องประคับประคองให้ดี

ผบ.ทร.ปิดปากเงียบเรื่อง "แม้ว"

พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. กล่าวถึง การที่รัฐบาลพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ว่า ขณะนี้มีความเห็นหลายฝ่าย แต่ตนเห็นว่า แนวความคิดที่จะมีการเจรจากัน เป็นนิมิตหมายที่ดี และหากตกลงกันได้ ก็จะนำพาประเทศไปสู่สันติสุข ซึ่งหวังว่าจะประสบความสำเร็จ

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงหรือไม่นั้น เป็นปัญหาด้านกฎหมายซึ่งมีหน่วยงานและรัฐสภาดูแลอยู่ต้องไปถามผู้ที่รับผิดชอบ หากตนให้ความเห็นคงไม่ดี
 
เมื่อถามว่า ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น ตท. 10 ของพ.ต.ท.ทักษิณจะบอกให้ท่านหยุดเคลื่อนไหวหรือไม่ พล.ร.อ.กำธร หัวเราะพร้อมกล่าวว่า "ผมไม่เคยเจอท่านมาหลายปีแล้ว" เมื่อถามว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขอพึ่งพระบารมี เพื่อกลับประเทศถือว่าไม่เหมาะสมหรือไม่ พล.ร.อ.กำธร กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็น

เมื่อถามว่า สถานการณ์การเมืองจะดีขึ้นหรือไม่หาก พ.ต.ท.ทักษิณ หยุดเคลื่อนไหว พล.ร.อ.กำธร กล่าวว่า "ผมมีความรู้สึกในใจ แต่ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะจะไปขัดกับอีกหลายคน ซึ่งจะทำให้สับสน"
กำลังโหลดความคิดเห็น