xs
xsm
sm
md
lg

สสร.3ทำวุฒิสภาแตกยับ ผุดกลุ่ม24ตุลาชน40ส.ว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 24 ต.ค.) ในการประชุมวุฒิสภา มีสมาชิกขอหารือปัญหาการประชุม 4 ฝ่าย ของประธานวุฒิสภา โดยนายประสงค์ นุรักษ์ ส.ว.สรรหาได้ขอหารือว่า ช่วงที่ผ่านมาได้มีข่าวที่กระทบเกียรติศักดิ์ ชื่อเสียงของวุฒิสภา โดยเฉพาะกรณีที่ประธานวุฒิสภาได้มอบหมายให้นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ให้เข้าประชุมร่วม 4 ฝ่าย จนนำไปสู่การจัดตั้ง ส.ส.ร.3 ซึ่งสร้างความสับสนกับประชาชน และเห็นว่าวุฒิสภา ต้องเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่การเมือง จึงอยากสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าได้ขออนุญาตประธานวุฒิสภาว่า จะงดทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา เพราะรู้ว่าจะต้องถูกพาดพิงแน่ ซึ่งมีสมาชิกหลายคนตั้งข้อสงสัยถึงความเหมาะสม กรณีที่ตนเข้าไปเป็นกรรมยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 รู้สึกผิดหวังนิดหน่อย ที่ประธานวุฒิสภา ควรจะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมในขณะนี้ เพราะสิ่งที่ตนไปดำเนินการ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 โดยเป็นไปตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ยืนยันว่า สิ่งที่ดำเนินการทั้งหมดเป็นการกระทำในนามของประธานวุฒิสภา ซึ่งท่านได้มอบหมายหน้าที่ให้ตนไว้ก่อนที่จะเดินทางไปประชุมไอพียู ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งตนพยายามสดับตรับฟังการแสดงความเห็นจากทุกฝ่ายมาตลอด ทั้งการเสนอการเมืองใหม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคการเมือง ซึ่งตนกล้าพูดได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นต้นเหตุของปัญหามาถึงทุกวันนี้ ดังนั้นแนวของส.ส.ร.3 จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนนอก โดยเฉพาะประชาชน และนักวิชาการ เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนมองเห็นแสงถึงแม้ว่าจะเท่ารูเข็ม
"ผมมาทำหน้าที่นี้สองครั้ง ก็ได้ผลออกมาอย่างนั้น แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ทำใจไม่ได้ เพราะนึกว่าจะหมดหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. เพราะประธานวุฒิสภา ก็กลับมาแล้ว และผมก็ขอว่าจะไม่เข้าประชุมแล้ว เพราะเกรงจะเป็นประเด็นการเมือง แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นคราวเคราะห์หรือไม่ ไม่ทราบ เพราะต้องนำ นางทิพวัลย์ สมุทรักษ์ ส.ว.สรรหา และนพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะได้รับเลื่อนอันดับเป็นส.ส. เข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็เห็นประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภา และนายกฯ สวมกอดกันอยู่ นึกว่าจะเกี้ยเซี๊ยะ ตกลงจะประชุมร่วมกันเรียบร้อยแล้ว จึงเรียนไปว่า ผมหมดหน้าที่แล้วจึงเดินออกมา แต่ประธานสภาฯได้ให้เจ้าหน้าที่วิ่งมาตามผม ให้ไปรายงานต่อที่ประชุม ถึงโมเดลที่เสนอ ก็นึกว่าประธานวุฒิสภา จะเข้าร่วมประชุม อยู่ๆ ท่านก็ไม่เข้า มีสื่อมาถามว่า ทำไมท่านไม่เข้า ยังบอกไปว่า ท่านเพิ่งกลับมาจากเมืองนอก ท่านอายุมากแล้ว อาจจะเหนื่อย อาจจะมอบให้ผมมาทำหน้าที่แทน แต่ผมนึกไม่ถึงว่าจะมีการแถลงข่าวว่า ที่ผมเข้าไปร่วมไม่ได้มอบหมายด้วยวาจา แต่ทำหน้าที่เป็นการส่วนตัว" นายนิคม กล่าว
นายนิคม กล่าวว่า คนที่ผ่านประสบการณ์ เป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับเล็ก จนระดับสูง เป็นถึงรองปลัด กทม. รู้ธรรมเนียม รู้มารยาท รู้ว่าจะทำอะไร เวลาใด และไม่เคยทำให้องค์กรผิดหวัง การบอกว่า มีแค่ 2 ฝ่าย กับ 1 บุคคล เป็นการหยามกันเกินไป ผมถึงบอกว่านี่แหละศักดิ์ศรี ฆ่าได้หยามไม่ได้ ยืนยันว่าทำไปตามหน้าที่ เข้าไปทำในนามของประธานวุฒิสภา แต่อะไรที่ทำให้เหตุการณ์เป็นอย่างนั้น วันนี้จำเป็นต้องลงมาชี้แจงข้างล่าง เพื่อให้เข้าใจ และต้องเข้าใจความรู้สึกของตนด้วย พยายามทำหน้าที่ ส.ว.อย่างดีที่สุด โดยเสนอโมเดลที่เป็นกลาง สามารถแก้ไขปัญหา และให้เป็นเวทีของทุกฝ่ายได้หันหน้าเข้าหากัน ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคาดการณ์ว่า จะนำไปสู่วิกฤติการณ์ ทุกวันนี้ไม่มีใครเสนอทางออก มีแต่คนปิดประตูกันทางออกกันหมด ยืนยันว่า ทำหน้าที่อย่างถูกต้องและสมกับเป็นวุฒิสภา ต้องทำหน้าที่อย่างทรงเกียรติ มีคุณธรรม จริยธรรม ตอนอยู่บนบัลลังก์ ก็ไม่เคยเอนเอียง เลือกเขาเลือกเรา
นายนิคม กล่าวว่า ก็ต้องขอบคุณในไมตรี เมื่อเหตุการณ์ในวันที่ 7 ต.ค. ที่ท่านพยายามให้พวกเราออกจากวงล้อมพันธมิตรฯ แต่ตนไม่สามารถออกไปได้ ตราบใดที่ข้าราชการยังอยู่ในอาการหวาดกลัว ยิ่งใกล้ค่ำ ความปลอดภัยจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ตนไม่ปีนรั้ว จนทุกคนออกได้หมดจึงได้กลับ ตนไม่ปีนรั้ว พร้อมจะฟันฝ่า นี่คือความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบเกิดจากตัวเอง ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบังคับ วุฒิภาวะก็ไม่ต้องให้ใครมาบังคับ หน้าที่ ส.ว.เป็นอย่างไรรู้กันอยู่ พยายามจะฟันฝ่า วันนี้ถือว่าทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว คนที่กล่าวหา ขอให้ความเป็นธรรมแก่ตนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากให้ประธานฯมาฟัง จะได้รู้ว่าบทบาทความเป็นผู้นำนั้น ควรจะต้องทำอย่างไร
จากนั้น ส.ว.หลายคนได้ลุกขึ้นอภิปรายแสดงความเห็น โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. ได้กล่าวคัดค้านการเข้าร่วมประชุม 4 ฝ่าย ของประธานวุฒิสภา และนายนิคม ขณะที่ ส.ว.บางส่วนเห็นด้วยที่วุฒิสภาจะเข้าไปร่วมแก้วิกฤตประเทศ โดยการตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การอภิปรายของ ส.ว.ทั้ง 2 ฝ่าย เป็นไปอย่างเคร่งเครียด มีการลุกขึ้นโต้ตอบกันด้วยถ้อยคำรุนแรง ในที่สุดนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี เสนอให้ปิดประชุม และเลื่อนการประชุมในเรื่องนี้ออกไปในครั้งหน้า แต่ถูกคัดค้านจากกลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. โดยนายวรินทร์ ได้เสนอญัตติให้มีการประชุมต่อไป ขณะที่นายไพบูลย์ กล่าวว่า มีสมาชิกหลายคนพูดพาดพิงประธานวุฒิสภา โดยใช้คำว่า ประธานวุฒิสภาหยามกันมากเกินไป ทำให้นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า อยากให้ประธานวุฒิสภาแสดงความเป็นผู้นำว่า ทำไมต้องทำอย่างนั้น และประธาน ควรอยู่ในที่ประชุมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ส.ว.ทั้งสองฝ่ายลุกขึ้นโต้เถียงกันไม่หยุด ในที่สุด น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานชี้แจงว่าขณะนี้ประธานวุฒิสภา ติดภารกิจอยู่นอกสภาจะกลับมาอีกครั้งในตอนเย็นวันเดียวกัน จากนั้นสั่งพักการประชุม 10 นาที และเมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง นายเกชา ยังยืนยันให้นับองค์ประชุม ขณะที่สมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว.ขอให้นายเกชา ถอนญัตตินับองค์ประชุมออกไป แต่นายเกชา ยังยืนกรานเช่นนั้น ทำให้น.ส.ทัศนา สั่งปิดประชุมเพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เมื่อเวลา 16.40 น.

**นิคมตั้งกลุ่ม24 ตุลา 51ขวาง40ส.ว.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการปิดประชุมวุฒิสภา ส.ว.ทั้งสองฝ่ายได้พากันไปต่อคิวแถลงข่าวตอบโต้กันและกัน โดยในกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้ง และส.ว.สรรหา ประมาณ 10 คน นำโดยนายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ นายกริช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี นางรสสุคนธ์ ภูริเดช ส.ว.สรรหา
นางนฤมล กล่าวว่า การแถลงข่าวของกลุ่มตนในครั้งนี้ ขอใช้ชื่อกลุ่มว่า กลุ่มส.ว. 24 ตุลา 51 ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า มีปัญหาความขัดแย้งของส.ว. ทางกลุ่มเห็นมาตลอด ยืนยันว่าเราจะไม่ออฟไซต์ หรือไม่ทำตัวล้าหลัง ส่วนจุดยืนของเราคือ เป็นอิสระจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้ได้มีส.ว.เข้าร่วมลงชื่อแล้วจำนวน 64 คน เพื่อแสดงความเป็นกลาง ยังไม่มีความเห็นว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เพราะต้องรอฟังการอภิปรายจากหลายฝ่ายก่อน รวมทั้งต้องรอดูท่าทีที่ชัดเจนจาก นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ด้วยว่าจะแสดงจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบรายชื่อ 64 ส.ว. พบว่า มีชื่อของนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยประกาศว่า จะล่าชื่อส.ว.ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่า อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายประสพสุข และกลุ่ม 40 ส.ว. นอกจากนี้ยังมีชื่อ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช

** ชี้ชัดส.ส.ร.3 มีวาระซ่อนเร้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังการแถลงข่าว กลุ่ม ส.ว. 24 ตุลา 51 ได้เดินออกจากห้องแถลงข่าว กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม ก็เข้ามาร่วมกันแถลงข่าว โดยนายไพบูลย์ กล่าวว่า การที่นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ได้อภิปรายชี้แจงสาเหตุที่เข้าประชุม 4 ฝ่าย และอ้างว่าเป็นตัวแทนวุฒิสภาโดยอ้างว่านายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาบอกว่า ในวันที่ 20 ต.ค. ไม่สามารถติดต่อนายประสพสุขได้ ความจริงน่าจะติดต่อไปยัง นายประสพสุข ก่อน และนายนิคม น่าจะทราบจากข่าวว่า นายประสพสุข ไม่ยอมรับ ส.ส.ร.3 แต่การกระทำครั้งนี้ของนายนิคม กลับทำให้การบริหารงานในวุฒิสภามีปัญหา เพราะนายนิคม ไม่ให้ความเคารพประธานวุฒิ อย่างไรก็ตาม การล่ารายชื่อ ส.ว.ให้สนับสนุน ส.ส.ร. 3 การกระทำดังกล่าวของนายนิคม ดูเหมือนว่า ไปสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่
"ต้องดูว่า การกระทำของท่านขัดต่อคุณสมบัติของส.ว.มาตรา 115 ที่ห้ามไม่ให้สมาชิกไปเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่นายนิคม กลับไปเป็นผู้ยกร่างเสียเอง คิดว่าการตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมา น่าจะมีวาระซ่อนเร้น การเล่นเกมในสภาครั้งนี้ ที่มีสมาชิกให้นับองค์ประชุม เหมือนเล่นเกมกันใยสภาของ ส.ส. เพราะนับองค์ประชุม ทำให้ล่ม" นายไพบูลย์กล่าว
ด้านนายคำนูณ กล่าวว่า เหตุการณ์การประชุมในวันนี้ เป็นเรื่องเดิมๆ วันนี้จะบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เป็นครั้งแรกที่สมาชิกวุฒิสภาปี 51 กลับไปทำพฤติกรรมเหมือนวุฒิสภาปี 43 ที่ใช้เสียงส่วนมากล้มประชุมสภา กลายเป็นว่าเสียงของ40 ส.ว.เป็นเสียงข้างน้อยในสภา ปรากฎการณ์เช่นนี้ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร
น.ส.รสนา กล่าวว่า การะประชุมครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า แต่ละคนกำลังแสดงจุดยื่นของตัวเองในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้รัฐบาล สามารถทำได้ แต่ก็จะไม่มีความชอบธรรม ดังนั้นจึงลงมาดึงวุฒิสภาไปร่วม เพื่อให้ความชอบธรรมเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตนเห็นว่าตนพยายามที่จะอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้ ส.ว.ที่ยังมียังเป็นกลางได้รับทราบข้อเท็จจริงว่า ในเวลานี้ยังไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขเป็นเพียงการปลดล็อกคดียุบพรรค และนิรโทษกรรม 111 คน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลไม่ได้เคารพรัฐธรรมนูญอย่างที่เคยปฏิญาณเอาไว้ และไม่รักษาประโยชน์ของประเทศ และพยายามใช้กลไกรัฐสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอาศัย ส.ว.เป็นจุดพรางตัว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง
น.ส.รสนา กล่าวว่า น่าเสียใจที่มีส.ว.กลุ่มหนึ่ง ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เกมการเมืองเหมือนการกระทำของ ส.ส. ที่มีพรรคการเมืองสังกัด เช่น การนับองค์ประชุม ซึ่งเป็นการกระทำที่ไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี และขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่ระบุว่า ทั้งส.ส.และส.ว. ต้องทำหน้าที่ฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่ทำประโยชน์เพื่อพรรคการเมือง
"ส่วนที่รัฐบาลกำหนดกรอบเวลาการร่างรัฐธรรมนูญไว้ที่ 180 วันนั้น ดิฉันมองว่า 30 วันก็น่าจะเสร็จแล้ว เพราะรัฐบาลจะใช้เกมแบบเดิมๆ ใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเร่งแก้ไข เพื่อให้รัฐธรรมนูญเสร็จก่อนที่จะมีการพิจารณาคดียุบพรรค" น.ส.รสนากล่าว

**ปธ.วุฒิฯยันไม่มีใบสั่งการเมือง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ว่านายนิคม เข้าร่วมประชุม ในนามของประธานวุฒิสภา ตามที่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เชิญไปประชุมแทน เพื่อรับทราบ และท่านก็สามารถไปร่วมประชุมได้ เพราะได้รับเชิญ ตนจะไม่ให้เข้าร่วม ก็ไม่ได้ แต่ขณะนี้ ตนเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา ตนจึงไม่เข้าร่วมประชุม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าที่ของประธานวุฒิฯ ที่เปลี่ยนไป เป็นเพราะมีใบสั่งทางการเมืองหรือไม่นายประสพสุข กล่าวว่า ใบสั่งทางการเมืองหรือ ถ้าตนเป็นประธานวุฒิแล้วไม่สามารถดำเนินการด้วยความเป็นกลางด้วยตัวของตัวเองได้ มีคนโน้น คนนี้มาสั่ง ไม่มีศักดิ์ศรีที่จะอยู่ต่อไปหรอก

**ชมรมส.ส.ร.ขวางตั้งส.ส.ร.3
เมื่อเวลา 12.30 น.วานนี้ (24 ต.ค.) นายมานิจ สุขสมจิตร นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี50 และนายสมเกียรติ รอดเจริญ อดีต ส.ส.ร. ได้ร่วมกันแถลงข่าวไม่เห็นด้วยต่อการตั้งส.ส.ร. 3 โดยนายมานิจ กล่าวว่า ชมรม ส.ส.ร.50 เห็นว่าการที่รัฐบาลพยายามที่จะดึงดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มีเหตุผลเพื่อลบล้างการกระทำผิดของพรรคพวกตัวเอง เช่น กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ทุจริตการเลือกตั้ง และช่วยคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ปัญหาการบังคับใช้ และจะเพิ่มความแตกแยกรุนแรงมากขึ้น
ดังนั้นจึงเห็นว่าหากจะมีการตั้งส.ส.ร. 3 ควรจะยึดข้อเสนอของอธิการบดี 24 สถาบัน ที่ให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมืองการปกครอง ทำการศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย และผลกระทบจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ เพราะแม้ทางสภาผู้แทนราษฎร จะเคยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่คณะกรรมาธิการที่ไม่เป็นอิสระ
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ส.ส.3 ตามรูปแบบที่คณะกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้เสนอให้มีตัวแทนจาก 76 จังหวัดนั้น ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงเกรงว่าจะมีการซื้อเสียงกันได้ นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อห้ามว่า ไม่ให้นักการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองเข้ามาสมัครได้หรือไม่ ถ้าไม่กำหนดให้ชัดเจน ก็เกรงว่าจะมีนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเป็น ส.ส.ร.3 เพื่อร่างกติกาให้ตัวเองเล่นและจะทำให้สภาผู้แทนฯ กลับเป็นสภาผัวเมียเหมือนเดิม
นพ.ชูชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญมาตลอด นับแต่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาฯ ที่โดนใบแดง ซึ่งจะนำไปสู่การยุบพรรค ก็มีการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 และดูจากพฤติกรรมยังเป็นการชี้ชัดได้ว่า ต้องการช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวกพ้นผิด แต่การดึงดันของรัฐบาลในการแก้รัฐธรรมนูญ จะเป็นสาเหตุนำไปสู่ความรุนแรง และมีการฆ่ากันตายอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น