กลุ่ม ส.ว.ออกแถลงการณ์แนะ ปธ.สภาเลื่อนการประชุมสภาและย้ายสถานที่ โดยต้องไม่บรรจุวาระซ่อนเร้นสอดไส้แก้ รธน. แต่เปิดโอกาสให้จัดประชุมร่วมพิจารณากรอบความร่วมมืออาเซียน
วันนี้ (24 พ.ย.) ที่อาคารสุขประพฤติ ถ.ประชาชื่น ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของสมาชิกวุฒิสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 และส.ว.จำนวนหนึ่ง ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ขณะนี้ว่า ตามที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา มีคำสั่งงดการประชุมร่วมกันและสั่งให้เลื่อนการประชุมออกไป กลุ่ม ส.ว.มีความเห็นร่วมกันว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำประเทศอาเซียน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 15-18 ธ.ค. ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือการพิจารณาข้อตกลงสนธิสัญญา ความร่วมมือในกรอบอาเซียนหลายฉบับ ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศ ส.ว.จึงเห็นด้วยกับคำสั่งของประธานรัฐสภาให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน และเห็นด้วยให้มีการย้ายสถานที่ประชุมรัฐสภาไปยังสถานที่ วันและเวลา ตามที่ประธานรัฐสภากำหนด เพื่อให้มีการประชุมรัฐสภาในการพิจารณาข้อตกลงสนธิสัญญาความร่วมมือในกรอบอาเซียนโดยไม่มีการบรรจุวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ส.ว.ที่ร่วมออกแถลงการณ์ด้วยมีรายชื่อ เช่น นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ ส.ว.สรรหา พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์ ส.ว.สรรหา นายวรวุฒิ โรจนพานิช ส.ว.สรรหา ในขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว.ได้เดินทางไปยังอาคารสุขประพฤติเพื่อหารือถึงสถานการณ์การเมืองตั้งแต่ช่วงเช้า
ต่อมาเวลา 14.30 น. กลุ่ม 40 ส.ว. ได้ร่วมกันแถลงแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น โดยน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.นายประสาน มฤคพิทักษ์ นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายไพบูลย์นิติตะวัน ส.ว.สรรหา โดยน.ส.รสนา กล่าวว่า ทางกลุ่ม 40 ส.ว. เห็นว่าการที่ประธานรัฐสภาดึงดันบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ คปพร. เข้าเป็นวาระเร่งด่วนที่ 1 ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจโดยทั่วไป เพราะรัฐบาลใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2551 ทั้งที่ขณะนี้ยังไม่มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนมารองรับ นับเป็นการกระทำที่ขัดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานรัฐสภาต้องรับผิดชอบแก้ไขด้วยตนเอง รัฐบาลในฐานะผู้รับผิดชอบกลไกการบริหารประเทศ ยังนิ่งเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ที่คนร้ายยิงอาวุธสงครามเข้าใส่ที่ชุมนุมกลางเมือง โดยรัฐบาลมิได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ
น.ส.รสนากล่าวต่อว่า รัฐบาลมีความกังวลต่อกรอบข้อตกลงทางการค้าของอาเซียน มากกว่าปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่อาจนำไปสู่การนองเลือดของประชาชนไทย ด้วยข้ออ้างที่ว่ากรอบข้อตกลงนั้นเป็นหน้าตาและศักดิ์ศรีของประเทศ ที่ต้องให้รัฐสภารับรอง ความจริงกรอบข้อตกลงดังกล่าว เป็นข้ออ้างที่ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ทั้งที่หลายวาระไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และยังเป็นการเสนอเข้ามาอย่างเร่งรัด ยัดเยียดในเวลาจำกัดที่ไม่สามารถใช้เวลาศึกษาล่วงหน้าได้ ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ใช่การรับรองกรอบข้อตกลงดังกล่าว แต่รัฐบาลและรัฐสภาควรพิจารณาปัญหาโดยยึดถือความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก เพื่อฟื้นคืนความสงบเรียบร้อยมาสู่สังคมต่อไป