xs
xsm
sm
md
lg

พปช.จ้องโดดหนีเรือผุ ยื้อศาล รธน.ชี้ยุบพรรค รื้อคดี “ยุทธ” สู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กก.บห.พปช.ฮึดสู้คดียุบพรรค เตะถ่วงทยอยยื่นคำชี้แจงส่วนตัว หวังยื้อศาล รธน.ชี้คดียุบพรรค พลิกตำรางัดคดี “ยุทธ ตู้เย็น” ถูกเพิกถอนสิทธิสู้ใหม่ เชื่อไม่กระทบสมาชิกพรรคคนอื่น อ้างไม่ใช่คู่ความในคดี

วันนี้ (19 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พร้อมด้วยนายยืนหยัด ใจสมุทร คณะทำงานคดียุบพรรคพลังประชาชน ร่วมกันแถลงภายหลังการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดียุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายนิสิต กล่าวว่า การยื่นคำชี้แจงครั้งนี้ได้แยกตาม 2 ข้อหาคือ กรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ให้ยุบพรรคพลังประชาชน และการเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค ทั้ง 37 คน ซึ่งทางพรรคมีมติให้นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รมต.ประจำสำนักนายฯ และนายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกฯ และนายยืนหยัด ใจสมุทร ผู้รับมอบอำนาจ จากพรรคพลังประชาชน ต่อสู้คดียุบพรรค เป็นคณะทำงานด้านกฎหมายต่อสู้คดียุบพรรค ทั้งนี้ ตนและนายทรงศักดิ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ ในฐานะรักษาการกรรมการบริหารพรรค ซึ่งถือว่าเป็นคู่กรณีโดยตรง ได้ยื่นคำชี้แจงในนามส่วนตัวต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอเป็นคู่กรณีฝ่ายที่ 3 ในการต่อสู้คดียุบพรรคในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลือจะทยอยยื่นคำชี้แจงส่วนตัวเช่นกันจนครบต่อไป

นายยืนหยัด กล่าวว่า ได้ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาของพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยมีทั้งหมด 89 หน้า มีข้อต่อสู้หลักๆ ดังนี้ คือ ยืนยันว่าคำสั่งของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง กรณีมีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีนั้น ทางฝ่ายกฎหมายของพรรคเห็นว่าคำสั่งของศาลฎีกาฯ ไม่มีผลผูกพันกับพรรค กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคคนอื่น เพราะพรรค กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกคนอื่นมิใช่คู่ความในคดีดังกล่าว และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งของศาลฎีกาฯ มีผลผูกพันกับศาลรัฐธรรมนูญ พรรคและกรรมการบริหารพรรค จึงชอบที่จะต่อสู้คดีในทุกประเด็น แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยไว้แล้วก็ตาม

นายยืนหยัด กล่าวว่า คณะทำงานด้านกฎหมายจะยกข้อต่อสู้ที่นายยงยุทธต่อสู้ไว้มาต่อสู้ ใหม่ของพรรค ทั้งกรณีที่นายยงยุทธยืนยันว่าไม่ได้ให้ทรัพย์ต่อคดีดังกล่าว แต่เป็นการจัดฉากจากเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งเป็นแผนการสกัดกั้นพรรคพลังประชาชนที่มีการออกเป็นเอกสารลับที่กระทำโดยกระบวนการของ คมช. ขณะเดียวกัน ทางพรรคมั่นใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับฟัง ข้อต่อสู้ทางกฎหมายที่หยิบยกขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรคแรก และวรรคสอง ซึ่งจะชี้ให้เห็นชัดเจนว่า นายยงยุทธไม่ได้กระทำผิด ในขณะที่เป็นผู้สมัครของพรรค เพราะกรณีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2550 ขณะที่มีการเปิดรับสมัคร ผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วนเกิดขึ้นในวันที่ 7 พ.ย.2550 จึงถือว่าข้อหาการกระทำผิดดังกล่าวล่วงระยะเวลามาก่อนแล้ว หากทางพรรคล่วงรู้มาก่อนว่า นายยงยุทธได้ถูกข้อกล่าวหานี้มาก่อน ทางพรรคคงไม่ส่งนายยงยุทธลงสมัครรับเลือกตั้ง

นายยืนหยัด กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญยังยืนคำวินิจฉัยของศาลฎีกาต่อการตัดสิทธิ นายยงยุทธ แต่ไม่สามารถเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่เหลือได้ เพราะเราสามารถพิสูจน์ ได้ว่าไม่มีคณะกรรมการบริหารคนไหนมีส่วนรู้เห็น เพราะเลยขั้นตอนที่พรรคจะรับรู้ หรือรู้แล้วไม่ห้ามปราม นอกจากนี้ ทางพรรคจะยกมติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีมติ 4 ต่อ 1 ซึ่งนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการ กกต.งดออกเสียง ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ เพราะเห็นว่าเป็นมติไม่ชอบธรรม ขณะเดียวกันจะชี้ให้เห็นว่าการตัดสินยุบพรรคง่ายๆ ถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน ตั้งพรรคการเมือง ทั้งนี้ การพิจารณายุบพรรคไทยรักไทย กับพรรคพลังประชาชน มีความแตกต่างกัน โดยการสั่งการยุบพรรคไทยรักไทย เป็นไปตามประกาศของ คปค.ฉบับที่ 27 ขณะที่การยุบพรรคพลังประชาชน ทางอัยการสูงสุดได้ เปิดช่องไว้ว่าให้เพิกถอนสิทธิ กรรมการรพรรคเป็นบางคนได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการบริหาร และส.ส.ของพรรค จะต้องยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญครบทุกคนหรือไม่ นายยืนหยัด กล่าวว่า ขณะนี้มีกรรมการบริหารพรรคยืนไปแล้ว 28 คน ส.ส.6 คน และผู้สมัครส.ส.สัดส่วนอีก 1 คน ตรงนี้ไม่ใช่มติพรรค หรือคณะทำงานด้านกฎหมาย แต่ถือเป็นสิทธิของทุกคนที่เกรงว่าจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองที่สามารถทำได้ รวมถึงสมาชิกพรรคทุกคนด้วย

เมื่อถามย้ำว่า หมายความว่าสมาชิกพรรคกว่า 10 ล้านคนก็สามารถยื่นได้ นายยืนหยัด กล่าวว่า ตามหลักกฎหมายก็ควรเป็นอย่างนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่การยืดเวลาให้การพิจารณาคดีล่าช้า แต่เป็นสิทธิของทุกคนแต่โดยข้อเท็จจริงคงไม่ยื่นกันทุกคน หากยื่นมาทั้งหมดจริง ขั้นตอนการพิจารณาคงไม่ใช้เวลานาน เพราะทางศาลรัฐธรรมนูญคงรวบรวมพิจารณาในคราวเดียวกัน

เมื่อถามว่า มั่นใจในตัวบุคคลที่เป็นองค์คณะในศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร นายยืนหยัด กล่าวว่า ตุลาการทุกคนล้วนมีต้นทุนส่วนตัวสูง ฉะนั้น การทำวินิจฉัยส่วนตัวต้องมีความขัดเจนในข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงเพื่ออธิบายให้สารธารณชนสามารถเข้าใจได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารคำชี้แจงข้อกล่าวหา คดียุบพรรคของพรรคพลังประชาชน พอสรุปประเด็นได้ดังนี้คือ คำสั่งของศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ไม่มีผลผูกพันกับพรรคและกรรมการบริหารพรรค มูลเหตุที่นายยงยุทธถูกกล่าวหาจนนำมาสู่การร้องขอให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรค เป็นผลมาจากแผนสกัดกั้นของ คมช.ที่มีแผนทำลายพรรคไทยรักไทย ตามแผนบันได 4 ขั้นของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ซึ่งมีเอกสารลับสกัดกั้นพรรคและผู้สมัครของพรรค โดยหนึ่งในแผนนั้นคือการวางแผนสร้างสถานการณ์ว่านายยงยุทธกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งที่นายยงยุทธไม่มีส่วนรู้เห็น และการกระทำผิด นายยงยุทธยังไม่มีสถานะเป็นผู้รับสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรค คนอื่นมีส่วนรู้เห็น

ขณะเดียวกัน ทางพรรคได้กำหนดข้อห้ามที่ให้ผู้สมัคร กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเด็ดขาด โดยมีการทำเป็น คู่มือ ซีดีแจกผู้สมัคร และติดประกาศให้ทราบบริเวณทั่วที่ทำการพรรค และยังมีการจัดสัมมนาผู้สมัคร โดยจะเชิญ กกต.ทั้ง 5 คน มาชี้แจง และให้คำแนะนำถึง กฎเกณฑ์ ต่างๆ การกระทำจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด แต่พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นเกิดจากการสร้างสถานการณ์ปรุงแต่งของเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจนำมาเป็นพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนของรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงการยุบพรรคการเมืองโดยง่าย นอกจากไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย แล้วยังเป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น