xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหากกต.ขาดหนึ่งคน เสี่ยงใช้อำนาจไม่โปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถึงจะยังมีข้อกังขา ในปัญหาข้อกฎหมายว่า ตกลงแล้วที่มาของกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คนใหม่ ซึ่งจะมาแทนนายสุเมธ อุปนิสากร อดีตกกต. ที่หมดวาระลงเมื่อวันที่ 8 มี.ค.เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ จะมาด้วยกรรมาวิธีใด?

และเหมือนสำนักเลขาธิการวุฒิสภาจะ "ฟันธง”แล้วว่า ต้องเลือกโดยคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) จึงมีการเชิญผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการประชุมนัดแรกในวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา

** แต่แว่วๆว่า งานนี้ไม่น่าจะจบลงง่าย ๆ
เพราะพวกจ้องเล่นเกมยาว ชะเง้อคอรออยู่ในวุฒิสภาเรียบร้อย กะว่าคณะกรรมการสรรหาฯเสนอชื่อผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งมาให้ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบเมื่อไร มีได้อภิปรายชี้ช่องว่าง ช่องโหว่ ของกฎหมาย ให้เห็นว่าเมื่อ กกต.ชุดนี้มาจากคำสั่งแต่งตั้งของคมช. อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 50 ก็ไม่มีบทบัญญัติรองรับว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรหากมีการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการก่อนครบวาระ การสรรหาใช้หลักใดมาพิจารณาจึงให้กกต.ใหม่มาจากการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหา แทนที่จะเป็นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
**สุดท้ายก็บีบให้ประธานวุฒิสภาต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
**ดังนั้นที่คาดหมายว่าจะได้กกต.คนใหม่ภายใน 1-2 เดือนนับจากนี้ น่าเป็นไปได้ยาก
และความล่าช้า ความไม่แน่นอนดังกล่าว ไม่เพียงทำให้กกต.ที่เหลือ ตกที่นั่งลำบาก เพราะนอกจากจะสร้างปัญหา และอุปสรรคในการทำงานแล้ว ยังเป็นช่วง “อันตราย” กับกกต. พอสมควร
จริงอยู่ที่ในสถานการณ์ขณะนี้ไม่มีศึกเลือกตั้งระดับชาติ ให้ทุกฝ่ายต้องหวั่นเกรงว่า ถ้าขาดกกต.ไปสัก 1 เสียง แล้วจะทำให้กระทบต่อการแจกใบเหลือง – ใบแดง ทำให้การควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรมเกิดปัญหา
แต่ก็ต้องบอกว่า การเหลือ กกต.อยู่เพียง 4 คน ถึงจะทำงานได้ แต่ “ไม่ง่าย”อย่างที่คิด เพราะขนาดมีกันครบ 5 คน ก็ยังมีเล่นแง่กันจนเป็นปัญหา

ตัวอย่างที่พูดกันให้สนั่นสำนักงานฯ ก็หลายกรณี ทั้งประเภทที่ลาป่วยไข้ ติดภารกิจข้างนอก “โดดประชุม” ตั้งแต่เห็นระเบียบวาระก่อนวันประชุมก็มี หรือ ประเภทนั่งประชุมได้ครึ่งทาง พอถึงวาระเรื่องที่ศึกษามาก่อนแล้ว และไม่เห็นด้วย ปวดท้องเดินเข้าห้องน้ำ ก่อนจะ “ ชะแว่บ” หายออกจากสำนักงานไปซะงั้นก็มี

ที่สำคัญหากประธานกกต.ติดภารกิจนอกสำนักงานหรือต่างจังหวัด กรรมการคนหนึ่งต้องทำหน้าที่ประธานในการประชุมแทน หากผลการลงมติเสียงเท่ากัน สุดท้ายคนทำหน้าที่ประธานต้องออกเสียงชี้ขาด ซึ่งก็ทำให้มีผู้ถูกร้องบางคนต้องเผชิญชะตากรรมอย่างไม่น่าเชื่อ

อย่างที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็ในการวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งวุฒิสภา ของส.ว.จอมตรวจสอบ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย รับเวรทำหน้าที่ประธานการประชุมแทนประธานกกต.ที่ไม่เข้าร่วม เพราะเป็นกรรมการสรรหาส.ว. โดยนายสมชัยใช้สิทธิออกเสียงชี้ขาดเมื่อผลการลงมติเท่ากัน ส่งผลให้มีการเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาเพิกถอนการเป็นส.ว.ของนายเรืองไกร เนื่องจากนิติบุคคลอาคารชุดเซ็นจูรี่ ปาร์ค ที่เสนอชื่อนายเรืองไกร เป็นองค์กรที่ไม่มีสิทธิเสนอชื่อตามกฎหมายในเวลาต่อมา

ยิ่งขณะนี้เหลืออยู่เพียง 4 คน ถึงพ.ร.บ.กกต. มาตรา 8 จะกำหนดให้มีกกต. 3 คนเป็นองค์ประชุม และการลงมติให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก เว้นแต่การลงมติวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้งที่ให้ใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของจำนวนกรรมการที่มาประชุมก็ตาม

แต่ถามว่า หากองค์ประชุมเหลือแค่ 3 คน นั่งพิจารณาคำร้องต่างๆ โดยมติเสียงข้างมากที่ออกมาเป็น 2 ต่อ 1 นั้น จะมีความเหมาะสม ชอบธรรม สังคมรับกันได้หรือเปล่า?

จึงกล่าวได้ว่า สภาวะที่กกต.เผชิญอยู่นี้ค่อนข้างตึงตัว ใครจะขยับรับงานนอกสำนักงานฯก็ลำบาก เพราะถ้าจะให้งานเดินหน้าได้ดี กกต.ทั้งหมดก็ต้องท่องคาถา ห้ามป่วย ห้ามลา ห้ามตาย เป็นที่ตั้ง

อีกทั้งที่น่าสนใจและจะต้องจับตามองเป็นพิเศษก็คือ 1 เสียงของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต.ที่อาจ “งานเข้า” จำเป็นต้องออกเสียงชี้ขาดในกรณีที่กกต.ทั้งหมดเข้าประชุม และผลการลงมติมีคะแนนเท่ากัน ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าประธานกกต.น่าจะได้ใช้สิทธินั้นอยู่บ่อยครั้งทีเดียว

เพราะเมื่อพิจารณาคำร้องที่เวลานี้อยู่ในการขั้นตอนการพิจารณาของอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องร้อน ๆ ที่กกต.วินิจฉัยเมื่อใดก็มีผลสั่นสะเทือนต่อการเมืองไม่มากก็น้อย



ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย รวมทั้งนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้กกต.ตรวจสอบกรณีนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มท. แจกเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้กับชาวบ้านรายละ 500 บาท พร้อมแนบนามบัตรของตัวเอง

กรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.พรรคเพื่อไทย รวมทั้งนายเรืองไกร ขอให้กกต.ตรวจสอบกรณีมีการฮั้วเลือกตั้งของพรรคร่วมรัฐบาลในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่าง ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา

กรณีนายสุรพงษ์ ขอให้กกต.วินิจฉัยการแต่งตั้งนายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ อดีตรมว.ท่องเที่ยว ของพรรคชาติไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องมาจากการยุบพรรคชาติไทย ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดททท. ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งคำวินิจฉัยกกต.ในกรณีนี้อาจมีผลให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองทั้ง 111 คน และ109 คน ใช้ช่องโหว่กฎหมายหลบเลี่ยงเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบอร์ดต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย

กรณีนายเรืองไกร ขอให้กกต.วินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็นส.ส.ของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ เนื่องจากถือครองหุ้นที่เป็นคู่สัญญาสัปทานกับรัฐ

หรือกรณีเดียวกัน แต่เป็นคำร้องที่ค้างการพิจารณามาตั้งแต่ปีก่อน โดยนายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกพรรคพลังประชาชนในขณะนั้น รวมทั้งนายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ขอให้กกต.ตรวจสอบการขาดสมาชิกสภาพการเป็นส.ส.และส.ว.เนื่องจากถือครองหุ้นที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ ของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และส.ว.จำนวนมาก

ล่าสุดกรณีนายพิชา วิจิตรศิลป ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์และเครือข่าย ยื่นขอให้พิจารณาเสนอยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากดึงผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมาสนับสนุนจัดตั้งรัฐบาล ถือว่าเป็นกระทำเข้าข่ายใช้อำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญกำหนด

คำร้องเหล่านี้ท้าทาย 4 กกต.เป็นอย่างมาก เพราะถ้าจำกันได้ขนาดอยู่กับครบ 5 คน ถึงกกต.เสียงข้างมาก ข้างน้อยจะมีคำอธิบายถึงมติที่ออกมาในเชิงข้อกฎหมายอย่างไร ก็ยังต้องเผชิญกับ ข้อกล่าวหา เอียงข้าง 2 มาตรฐาน อยู่เนือง ๆ หากคำวินิจฉัยที่ออกมาขัดต่อความรู้สึกของประชาชน สะท้อนว่าความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อกกต.ขณะนี้ ลดทอนต่ำลงเมื่อเทียบกับเมื่อครั้งเข้าปฏิบัติหน้าที่

และจะด้วยผลกรรมจากการกระทำ หรือ การตกเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งของการเปิดเกมช่วงชิงอำนาจกลับคืนมาก็ตามแต่ ณ วันนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่าขบวนการ “ล้มกกต.”เริ่มขับเคลื่อน

จะเห็นได้จากการยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีกกต.ไม่รับพิจารณาคำร้องที่กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมกับอดีตนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองอย่างนายเนวิน ชิดชอบจัดตั้งรัฐบาล เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

หรือการเตรียมยื่นญัตติเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้มีการศึกษาความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหายของการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ชุดนี้ ที่คมช.แต่งตั้ง และไม่ได้มีการโปรดเกล้าฯ หลังนายสุเมธ อุปนิสากร อดีตกกต. ออกปากยอมรับก่อนพ้นเก้าอี้ว่า กกต.ชุดนี้เป็นของปลอม

รวมทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทำนอง 1 กกต.ใหม่ที่กำลังสรรหาตามรัฐธรรมนูญจะต้องเข้ามาทำหน้าที่ร่วมกับ 4 กกต.เก่าที่แต่งตั้งโดยประธานคมช. เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้องนัก

ซึ่งเชื่อขนมกินได้ว่า สุ่มเสียงเอ่ยอ้างถึงกกต.ในลักษณะนี้จะทวีความรุนแรง หนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆยิ่งในยามนี้ที่ 4 กกต. ต้องพิจารณาวินิจฉัยคดีร้อน หากยังยึดหลักตัวใครตัวมัน ไม่ผนึกกันให้มั่น ตั้งหลักกันให้ดี มีสิทธิตกอยู่ในอาการขั้นตรีฑูต ได้ไม่ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น