“สุเมธ” เปิดใจก่อนพ้นเก้าอี้ เผย อยากได้ตัวแทนที่มาจากสายรัฐศาสตร์ ยังห่วงการสรรหา กกต.ใหม่ ศาล รธน.วินิจฉัย วอนตุลาการภิวัฒน์ กลับเข้ากรมกองหากบ้านเมืองเรียบร้อย หวั่นออกเผชิญสังคมภายนอกนาน อาจมัวเมาอำนาจ
วันนี้ (2 มี.ค.) สำนักงาน กกต.ได้มีการจัดงาน “กกต.พบสื่อมวลชน 899 วัน บนเส้นทางการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อชาติ” เพื่อเป็นการอำลา นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม ก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากอายุ 70 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 8 มี.ค.นี้
โดย นายสุเมธ กล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตนจะไม่ร่วมเข้าประชุม กกต.เนื่องจากจะได้ไม่ต้องเซ็นคำวินิจฉัยหลังจากสัปดาห์นี้ ส่วนคำวินิจฉัยเดิมที่ค้างอยู่ก็จะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์เดียวกัน ทั้งนี้ ตนยังเป็นห่วงเรื่องคำวินิจฉัยที่คั่งค้าง เพราะทุกวันนี้มีการพิจารณาสำนวนร้องคัดค้านสัปดาห์ละประมาณ 70 เรื่อง แต่คนที่ทำงานเขียนคำวินิจฉัยมีเพียง 21 คน ดังนั้น จึงคิดว่า มีความจำเป็นต้องเพิ่มคน รวมถึงปรับระบบ เช่น ให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนเขียนคำวินิจฉัยมรกรณีที่ยกคำร้อง ขณะที่ฝ่ายวินิจฉัยและคดีจะเขียนคำร้องในกรณีที่จะเขียนเรื่องส่งให้ศาลเท่านั้น นอกจากนี้ การรับคนมาทำงานควรรับบุคคลที่จบเนติบัณฑิต เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการเขียนคำวินิจฉัย รวมทั้งต้องเพิ่มค่าตอบแทน เพราะคิดว่าหากต้องการของดีก็ต้องจ่ายแพง
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่า งานของ กกต.อีกส่วน คือ การให้ความรู้กับประชาชน เท่าที่ผ่านมาก็พอใจในระดับหนึ่ง แต่เราก็ให้ได้เฉพาะนักเรียนและชาวบ้านบางกลุ่ม แต่ท้องถิ่นและชาวรากหญ้าจริงๆ เรายังเข้าไม่ถึง จึงคิดว่า กกต.มีความจำเป็นให้ความรู้มากๆ ซึ่งขณะนี้เรายังก้าวหน้าไม่ได้มากที่ควร นักการเมืองแทนที่จะหาเสียงด้วยคุณภาพของตนเอง แต่ภาพของผู้อื่นมาติดเพื่อหาเสียง
ส่วนการบริหารองค์กร เห็นว่า ควรมีการเปลี่ยนระบบ จากเดิม กกต.แต่ละคนดูแลงานเฉพาะด้านของตน เป็น กกต.นั่งอยู่ในระบบคณะกรรมการ ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปช่วยดูช่วยคิดในงานแต่ละด้าน ทุกคนต้องช่วยกันได้ เพราะบางครั้งคนที่ดูแลอยู่ก็ตันเหมือนกัน
เมื่อถามว่า อยากเห็นคนแบบไหนเข้ามาเป็น กกต.ใหม่ นายสุเมธ กล่าวว่า อยากให้คนที่จะมาดำรงตำแหน่งมาจากสายรัฐศาสตร์ เพราะจะได้มาช่วยกันพัฒนาละจัดรูปแบบองค์กร เนื่องจากตอนนี้ที่มีอยู่เป็นนักกฎหมายผู้พิพากษา อัยการ กันทั้งนั้น ซึ่งไม่ถนัดงานบริหารงาน ทำให้การจัดงานฝ่ายบุคคลล่าช้า จึงคิดว่า อยากได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านรัฐศาสตร์เข้ามาช่วยบริหารงานด้วย
นายสุเมธ ยังมองว่า การเมืองหลังจากนี้น่าจะดีขึ้น ดวงเมืองน่าจะดีขึ้น วิกฤตต่างๆ น่าจะหายไป ทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ไม่ว่าจะรักสีอะไรก็อยากให้บ้านเมืองสงบกันทั้งนั้น ทุกคนก็ไม่อยากให้ลูกหลานลำบาก หากยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไปอนาคตจะเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตุลาการภิวัตน์มองว่าอนาคตของตุลาการภิวัฒน์จะเป็นอย่างไร นายสุเมธ กล่าวว่า เรื่องนี้พูดยาก ยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร แต่หากบ้านเมืองเรียบร้อยอยากเห็นตุลาการกลับเข้ากรมกอง ชีวิตการเป็นศาลกับการอยู่ข้างนอกไม่เหมือนกัน หากออกมามากๆ กลัวจะเหลิง เพราะการเมืองต้องเจอหลายประเภท และการที่ศาลจะกลับได้ต้องอยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการจะแก้ได้ก็ต้องให้บ้านเมืองสงบ โดยรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็จะเหมาะกับสถานการณ์ในขณะนั้น รัฐธรรมนูญปี 50 ก็เหมาะกับการแก้ปัญหาช่วงนั้น หรือ มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค เมื่อมาถึงตอนนี้ก็ต้องดูว่า สมควรหรือไม่ เช่นผู้จัดการทำผิดจำเป็นต้องยุบบริษัทเลยหรือ การให้ยาแรงอาจจำเป็นในเวลานั้น แต่ตอนนี้ที่ไข้ยังไม่มากให้ยาแรงมากไปเดี่ยวจะตายกันหมด
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังอาจมีปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อตนพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่สรรหาแทน เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 231 ระบุถึงกรสรรหา กกต.ว่า มี 2 ส่วน คือ มาจากส่วนของคณะกรรมการสรรหาจำนวน 3 คน และ ส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 คน และจึงเสนอให้วุฒิสภารับรอง อย่างไรก็ตาม ตอนที่มีการแต่งตั้งตนมาเป็น กกต.นั้น เป็นการแต่งตั้งมาจาก คมช.ในช่วงปี 2549 จึงไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากสายใด และใครจะเป็นผู้คัดเลือกหากตนพ้นจากตำแหน่งไป หรือแม้จะไปใช้ตามมาตรา 7 ที่ระบุว่า หากไม่มีบทบัญญัติใดให้ดำเนินการตามประเพณี ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่เคยมีประเพณีมาก่อน เพราะเรามี กกต.ตามรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 จะมองเป็นประเพณีได้หรือไม่ แต่เราก็ไม่เคยมีการบัญญัติแยกที่มาอย่างนี้เหมือนกัน ทั้งนี้ ตนมองว่า เรื่องนี้ถึงที่สุดแล้วอาจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความ
“ผมยอมรับว่า กกต.ชุดนี้เป็นของปลอม เพราะถูกตั้งโดย คมช.ไม่ได้ถูกตั้งมาตามรัฐธรรมนูญหรือได้รับการโปรดเกล้าฯ เรื่องนี้ไม่ขอโต้เถียงใครที่กล่าวหา แต่ผมเห็นว่าแม้ไม่ได้มาตามรัฐธรรมนูญแต่กฎหมายก็เปิดโอกาสให้ทำได้”