ตาก-นายก ส.ท.ท.ยื่นหนังสือถึง มท.1 คัดค้าน มี กำนัน-ผญบ.ในเทศบาลเมืองและนคร และให้บังคับใช้ พ.ร.บ.เทศบาล มาตรา 4 ระบุ หากมีในเขตเทศบาล คาด รัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายมหาศาล ด้านนายกสมาคมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน แจงไม่ได้ขอเพิ่มเพียงให้คงตำแหน่งนี้ไว้ในท้องถิ่น ทั้งขอความชัดเจนถึงหน้าที่และอำนาจที่จะปฏิบัติได้เท่านั้น
นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) กล่าวว่า ตนเองและคณะกรรมการ ส.ท.ท.ได้ยื่นหนังสือที่ออกโดย ส.ท.ท.ถึง นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้ง นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย เพื่อขอให้ทบทวนนโยบายที่จะเสนอ ครม.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่และกฎหมายว่าด้วยเทศบาล คือ ให้คงกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในทุกตำบล รวมถึงมี กำนัน-ผญบ.ในเขตเทศบาลเมืองและนคร
ทั้งนี้ ให้ยึดตาม พ.ร.บ.เทศบาล มาตรา 4 ว่าเมื่อมีการยกฐานะท้องถิ่นเป็นเทศบาลเมืองและเทศบาลนครแล้วห้ามมิให้ใช้กฎหมายท้องที่ คือ กำนัน-ผญบ.-สารวัตรกำนัน-แพทย์ประจำตำบล ต้องพ้นจากตำแหน่งในเขตท้องถิ่น
นายประภัสร์ กล่าวว่า การคัดค้านไม่ให้มี กำนัน-ผญบ.ในเขตเทศบาล เมืองและนคร เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและ พ.ร.บ.ท้องถิ่น ที่มหาดไทยกำหนดไว้ โดย ส.ท.ท.ยืนยันไม่จำเป็นต้องมี กำนัน-ผญบ.เพราะเป็นพื้นที่ชุมชน-ทำงานทับซ้อนผู้บริหารท้องถิ่น และประธานและคณะกรรมการชุมชน ก่อให้เกิดความแตกแยก
ที่สำคัญ นายกเทศมนตรี มีหน้าที่ดุแลความเป็นอยู่ของประชาชนในการพัฒนาด้านต่างๆ และเทศบาลยังมีหน้าที่พัฒนาครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการชุมชน-ประสานงาน กับหน่วยงานรัฐ-ระบบทะเบียนราษฎร ฯลฯ การไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายให้มี กำนัน-ผญบ.ในเขตเทศบาลเมืองและนคร ไม่ใช่เพราะกลัวถูกแย่งอำนาจหรือเรื่องใดๆ แต่เห็นว่าที่เป็นอยู่ก็ดีอยู่แล้ว และขอให้เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายเดิม
“เทศบาลเมืองและนคร มีกองสวัสดิการ-งานพัฒนาชุมชน-ที่ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพร่วมกับผู้บริหารและคณะกรรมการชุมชน ผมยังมีความเห็นให้มี กำนัน-ผญบ.เฉพาะในเขตเทศบาลตำบลและ อบต.เท่านั้น ตาม พ.ร.บ.เทศบาลมาตรา 4 หากมีการแก้ไข ควรไปสอบถามประชาคม หรือทำประชาพิจารณ์ และที่สำคัญ รัฐบาลมีนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลประชาชนอยู่แล้ว และหากให้มี กำนัน-ผญบ.ก็จะเพิ่มเงินงบประมาณเป็นค่าตอบแทนปีละหลายพันล้านบาท ทั้งๆ ที่ท้องถิ่น เทศบาลสามารถหารายได้เพื่อบริหารจัดการตัวเองได้” นายก ส.ท.ท.กล่าวในที่สุด
นอกจากนี้แล้ว ตามหลักเกณฑ์การตั้งหมู่บ้านทั่วประเทศ ต้องมีประชากรไม่น้อยกว่า 600 คน จำนวนครัวเรือน 120 หลังคา มี ผญบ.8,940 คน คิดเป็นรายจ่ายค่าตอบแทนประมาณ 71,520,000 บาทต่อเดือน (8,000 บาทต่อเดือนต่อคน) และมี กำนัน จำนวน 1,118 คน คิดเป็นเงินจ่ายค่าตอบแทน 11,180,000 บาทต่อเดือน (10,000 บาทต่อเดือนต่อคน) และตำแหน่งอื่นๆ อีก เช่น สารวัตรกำนัน-ผช.และแพทย์ประจำตำบล กว่า 20,000 คน ค่าตอบแทนเดือนละ 5,000 บาท ต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนเดือนละ 100,580,000 บาท รวมทั้งสิ้นที่รัฐต้องจ่ายค่าตอบแทน 183,280,000 บาทต่อเดือน หรือประมาณปีละ 2,199,360,000 บาท (หรือประมาณกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี)
แหล่งข่าวจากประธานคณะกรรมการชุมชน ที่เป็นผู้ประสานงานชุมชนเขตเทศบาลระดับประเทศ กล่าวว่า ประธานและคณะกรรมการชุมชน ได้ทำงานร่วมมือกับผู้บริหารเทศบาลโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือสิทธิใดๆ เท่า กำนัน-ผญบ.ในเขตท้องที่ คณะกรรมการชุมชนส่วนใหญ่คัดค้านการที่จะมี กำนัน-ผญบ.ในเขตเทศบาลเมืองและนคร เพราะงานจะไม่แตกต่างกันและงานจะซ้ำซ้อนสร้างปัญหาในทางปฎิบัติมากกว่าช่วยปฎิบัติ วันนี้ประธานและคณะกรรมการชุมชนอยากจะเรียกร้องขอเงินค่าตอบแทนบ้าง และขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้พิจารณาด้วย
ก่อนหน้านี้ นายถวิล ไพรสณฑ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการปกครองท้องถิ่นสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาเสนอให้ทำประชาพิจารณ์ขอความเห็นจากประชาชนว่าจะให้มีกำนัน-ผญบ.ในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครหรือไม่ และหากมี กำนัน-ผญบ.เพิ่มขึ้น รัฐก็ต้องเพิ่มค่าตอบแทนจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ นายสรศักดิ์ จิระธรรมประดับ นายกสมาคม กำนัน-ผญบ.แห่งประเทศไทย ได้เคยชี้แจงในเรื่องนี้ทางสื่อมวลชนไปแล้วว่า ความจริง ไม่ได้ขอเพิ่มกำนัน-ผญบ.ในเขตเทศบาลเมืองหรือนคร แต่ทางสมาคมให้คงไว้ (สงวนไว้) ซึ่ง กำนัน-ผญบ.ในเขตเทศบาลตำบลที่ได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองเท่านั้น ไม่ได้เรียกร้องเพิ่มจำนวนแต่อย่างใด และขอความชัดเจนในการทำงาน เพราะทุกวันนี้ กำนัน-ผญบ.มีแต่หน้าที่ ไม่มีอำนาจ