นายกฯ ปัดร่วมเจรจา “แม้ว” ชี้ยังมีคดีอาญาติดตัว แต่พร้อมรับข้อเสนอผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เชื่อเวที 2 สภาจะไม่เพิ่มความขัดแย้ง
วันนี้ (20 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีภาคอุตสาหกรรมเสนอให้เจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในบ้านเมืองว่า ขณะนี้กำลังคลี่คลายเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยลำดับ และข้อเสนอที่เดินหน้าในเรื่องการสร้างความปรองดองจะมีการดำเนินการต่อไปบนความถูกต้อง ฉะนั้นตนไม่ทราบสิ่งที่เสนอให้เจรจาว่าเป็นอย่างไร แต่หลักการที่ตนพูดไปชัดแล้วคือในแง่การลดล้างคดีนั้น ไม่สามารถทำได้และไม่ควรทำ
เมื่อถามว่า หมายถึงการที่จะให้นิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในแผนความปรองดองหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในแง่ความผิดทางการเมืองเป็นเรื่องที่อยู่ในกรอบสามารถเสนอมาได้ เพื่อที่จะมาดูความเหมาะสมรูปแบบวิธีการ เหตุและผล แต่ในเรื่องคดีอาญาคงไม่ได้
เมื่อถามว่า ตอนนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ว่า หากใครทำผิดแล้วออกมาสร้างความปั่นป่วนอเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ายังไม่ได้ข้อสรุป แต่เราต้องฟังเสียงของผู้ที่มีความไม่พอใจ ฉะนั้นอะไรที่พอมีเหตุผลก็นำมาพูดคุยกันแต่เรื่องคดีอาญาคงทำไม่ได้ ส่วนความผิดทางการเมืองคงต้องมานั่งดูกันอีกทีว่ามีอะไรบ้าง และรูปแบบที่จะทำนั้นทำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีการตกผลึก เพียงแต่เมื่อตนเริ่มต้นกระบวนการนี้ก็ต้องเปิดกว้างพอสมควร หากไปขีดเส้นไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย ตนคิดว่าพูดกันยาก ดังนั้นต้องนำมาดูว่าความเป็นธรรมอยู่ตรงไหนอย่างไร
เมื่อถามว่า แสดงว่ายอมรับที่จะเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไม่ใช่ และยังไม่ทราบว่าจะไปเจรจาเรื่องอะไร เพราะรู้สึกว่าในส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณมีปัญหาเป็นเรื่องของคดีอาญาทั้งนั้น
ต่อข้อถามที่ว่า เป็นไปไม่ได้ใช่หรือไม่ที่จะมีการตั้งโต๊ะเจรจา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนยังนึกไม่ออกว่ากรอบการเจรจาคืออะไร เพราะตนยืนยันว่าจะคุยกับคนที่ต้องการเรียกร้องอยู่ในกรอบ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง ทั้งนี้พรรคร่วมไม่ได้เสนอให้มีการเจรจา และตนมีอะไรที่ปรึกษาหารือกับทุกพรรค ซึ่งแต่ละพรรคต้องเสนอจุดยืนมา อาจจะตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง เป็นเรื่องปกติ และต้องมาหาทางออกร่วมกัน
สำหรับเป้าหมายที่จะให้รัฐสภาคุยกันคืออะไร เพราะดูแล้วจะทะเลาะกัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการประชุมพรรคในวันนี้ ตนจะขอส.ส.พรรคว่าให้หลีกเลี่ยงที่จะให้เวทีนี้เป็นเวทีที่จะเกิดความขัดแย้งมากขึ้น แต่ความตั้งใจของตนคือความคลางแคลงใจต่อเหตุการณ์ หรือการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งสมาชิกสามารถที่จะนำเสนอเพื่อการตรวจสอบ ซึ่งรัฐบาลจะได้ชี้แจงได้ ขณะเดียวกันจะเดินไปข้างหน้าเพื่อให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันเพื่อหาทางออก เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ส่วนลึกลงไปจะเป็นการเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการบังคับใช้กฎหมาย ถือเป็นสิทธิของสมาชิก อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามาประชุมในกรอบเพื่อหาทางออกมากกว่าที่จะมาทะเลาะกัน
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยไปไกลถึงขนาดว่าหากจะนิรโทรกรรมขอให้คืนพรรคไทยรักไทยกลับมาด้วยนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าตนเรียนแล้วว่าขณะนี้ใครจะเสนออะไรก็เสนอมา เราจะได้ทราบความต้องการจริง ๆของแต่ละฝ่ายคืออะไร ทั้งนี้ในส่วนของพรรคร่วมได้ขอให้ทุกพรรคไปบอกลูกพรรคว่า ทำอย่างไรให้เวทีนี้ไม่เติมความขัดแย้ง แต่เป็นการลดความขัดแย้ง
เมื่อถามว่า ขอทราบความหมายของคำว่านิรโทษกรรม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม เรากำลังพูดถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปทางการเมือง หากตรงนี้มีใครติดใจเกี่ยวกับเรื่องความผิดทางการเมืองที่ผ่านมาก็สามารถที่จะเสนอมาได้ แต่ตนขีดเส้นเอาไว้ว่า ความผิดทางอาญาไม่สามารถมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ส่วนที่ว่า ความผิดทางการเมืองจะมีประเด็นอะไรบ้างใครคิดอย่างไร เสนอมา จะมาพิจารณากัน ส่วนข้อยุติจะเป็นอย่างไร มาทำความเข้าใจกันในเรื่องเหตุผล หลักการ ข้อกฎหมาย ตรงนั้นค่อยว่ากันอีกที
“กรอบต้องเอาตัวระบบเป็นหลักก่อน ถ้ามาแก้ไขเพียงเพื่อที่จะแก้ปัญหาให้กับกลุ่มบุคคล แต่ไม่ได้ทำให้ระบบดีขึ้น คงไม่ทำหรอกครับ ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่าระบบมันดีขึ้นอย่างไร” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ในขณะที่นายกฯต้องการสร้างความสมานฉันท์ แตโฆษกพรรคและโฆษกส่วนตัว ออกมาพูดอีกลักษณะหนึ่ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้จะพูดคุยกันเพิ่งจะวางหูโทรศัพท์ไป ได้บอกให้ระมัดระวังในการให้สัมภาษณ์ เมื่อถามว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ระบบต้องดีขึ้น ทุกข้อเสนอตัวระบบต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่า ดีขึ้นอย่างไร
เมื่อถามว่า ท้ายที่สุดแล้วต้องกลับไปถามประชาชนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะมีการพูดกันว่า ในประเด็นซึ่งเห็นว่าอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันสูง ก็มีความเป็นไปได้ ว่าอาจจะใช้กระบวนการสอบถามประชาชน เมื่อถามว่า จะเป็นลักษณะประชาพิจารณ์หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด ตอนนี้ต้องเปิดกว้างก่อน เอาข้อเสนอทุกข้อเสนอมาวางบนโต๊ะก่อน สิ่งที่เราต้องการขณะนี้คือ ข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับระบบ การปฏิรูปทางการเมือง สามารถเสนอมาได้เพื่อมาพิจารณากันบนโต๊ะ ไม่ไปพูดกันในลักษณะคนละที แล้วเก็บไปเป็นเงื่อนไข ใช้ในการสร้างความขัดแย้งในบ้านเมือง
เมื่อถามว่า จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคการเมืองต่างๆ 2 สัปดาห์จะต้องพร้อม เมื่อถามว่า จะเห็นเป็นรูปธรรมได้เมื่อไหร่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าคงต้องดูก่อนว่า หลัง 2 สัปดาห์แล้วประเด็นซับซ้อนมากน้อยแค่ไหน กระบวนการควรจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งเดิม เราก็พยายามให้องค์กรที่มีความเป็นกลางดำเนินการ แต่ปรากฎว่า ยังไม่ได้รับการยอมรับ เดิมตั้งใจว่า สัปดาห์นี้ ประชุมอาเซียนเสร็จ ผ่านสงกรานต์เรียบร้อยมานั่งพูดคุยกัน แต่บังเอิญเหตุการณ์ก็ไปทางอื่นก่อน อย่างไรก็ตามในส่วนของสถาบันพระปกเกล้ายังไม่ตัดทิ้ง ซึ่งเมื่อเช้าที่ผ่านมาได้คุยกับเลขาฯ สถาบันพระปกเกล้า ตรงนี้ยังไม่ได้ตัดทิ้ง เพียงแต่ตอนนี้เร่งให้ทุกพรรคการเมืองชัดเจนมากขึ้นว่าจะเอาอย่างไร
เมื่อถามว่า นายกฯพูดบ่อยครั้งว่า จำเป็นต้องประคับประคองไม่ให้เข้าสู่ความเสี่ยงของระบอบประชาธิปไตย ความเห็นแก่ตัวของนักการเมืองเป็นปัจจัยความเสี่ยงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราไม่ยึดประโยชน์ของกลุ่มคน จะยึดประโยชน์ของส่วนรวม และทุกอย่างที่จะทำต้องมีเหตุผล ตอบคำถามได้ ถ้าตอบไม่ได้ก็ไม่ควรทำ
เมื่อถามว่า เมื่อดำเนินการต่างๆแล้วเสร็จจะยุบสภาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อันนั้นไปอีกขั้นหนึ่ง ตอนนี้ต้องดูกระบวนการกันก่อนว่าจะแก้ไขอย่างไร ตอบล่วงหน้าไม่ได้หรอก เพราะเป้าหมายคือ การมาแก้ไขตัวระบบ ฉะนั้นเอาตรงนี้เป็นหลักก่อน หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถามว่า พีระพันธ์ พาลุสุข ระบุให้ยกเลิกทั้งหมด เพราะหลังรัฐประหารเป็นกระบวนการทางการเมืองทั้งสิ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่ใช่จะสรุปอย่างนั้นไม่ได้
เมื่อถามว่า ได้คุยกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวะศุ รองนายกฯ ถึงการทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ถึงปัญหาต่างๆ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้คุยแล้ว เป็นธรรมดา นายกอร์ปศักดิ์ กำกับดูแลและมีความกังวล และเป็นความห่วงใยว่า อยากจะดูให้เกิดความมั่นใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย บางครั้งอาจทำให้เห็นอะไรไม่ตรงกันกับคนที่ปฏิบัติระดับกระทรวง ก็ต้องหาข้อยุติให้ได้ แต่ตอนนี้ตนยังไม่มีความคิดเรื่องการเปลี่ยนตัวอะไร เพียงแต่คงต้องพูดคุยกันว่าที่ติดขัดอยู่มันตรงไหน อย่างไร
เมื่อถามว่า ในส่วนของนายกฯหลังผ่านเหตุการณ์มาทั้งหมด ตอนนี้จำเป็นต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ในส่วนของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เรายังอยู่ในช่วงที่บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉะนั้นตอนนี้ยังเดินหน้าคลี่คลายตรงนี้ให้เรียบร้อยก่อน เมื่อเสร็จเรียบร้อยจะมาทบทวนกันทั้งหมดอีกทีหนึ่ง
เมื่อถามว่า จำเป็นหรือไม่ต้องปรับครม.โดยเฉพาะในส่วนของความมั่นคง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่สรุปอย่างนั้นขอให้บริหารตรงนี้ให้เรียบร้อยแล้วมาทบทวนด้วยกันว่า ที่ผ่านมามีข้อบกพร่องจุดอ่อน ตรงไหนอย่างไร รอให้ยกเลิกสถานการณ์ตรงนี้ให้ได้ก่อน แล้วค่อยมานั่งคุยกัน ตนให้เกียรติคนทำงานทุกคน และทุกคนสามารถมาบอกได้ว่า ปัญหาอุปสรรคต่างๆคืออะไร อย่างไร
เมื่อถามว่า ระยะเวลาในการยกเลิกจะเป็นเมื่อไหร่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังเหลือเรื่องการคลี่คลายคดีความบางอย่าง รวมทั้งการใช้กลไกบางส่วนไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ลงไประดับล่าง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ซึ่งคนทำงานด้านนี้ขอเวลาคิดว่าคงใช้เวลา อีกไม่กี่วัน สำหรับการดำเนินคดีกับแกนนำที่เคลื่อนไหวนั้น คิดว่าในที่สุดคดีเหล่านี้คงไม่สามารถจบลงในช่วงนี้อยู่แล้ว คดีก็เดินของมันไป
เมื่อถามว่า กังวลกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นให้ดีเอสไอ ตรวจสอบการเข้าควบคุมสถานการณ์ของรัฐบาลที่เอาทหารมาดูแล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่กังวล การตรวจสอบต้องทำได้ แต่ไม่แน่ใจว่า เป็นอำนาจของดีเอสไอหรือไม่ เมื่อถามว่า ห่วงกรณีที่อดีตนายกฯไปขยายความยังต่างประเทศว่าทหารยิงประชาชนในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เคยเห็นเอารูปไป ซึ่งเราก็ชี้แจงไปหมดแล้ว คิดว่าขณะนี้ต่างประเทศมีความเข้าใจดีระดับหนึ่ง และเราจะชี้แจงอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่มองว่า ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพและปริมณฑลแต่กลับมีการไล่จับผู้ชุมนุมในต่างจังหวัดนั้น ตรงนี้ไม่ได้อาศัยอำนาจพ.ร.ก. ฉุกเฉิน
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตุว่า รัฐบาลจงใจจะเอาฝ่ายค้านเข้าคุก นายอภิสิทธิ์ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ ขอย้ำว่าไม่มีเรื่องการไปไล่ล่า ไล่รุกกันทางการเมือง เพียงแต่ใครก็ตามที่มีส่วนในการก่อความไม่สงบขึ้นก็มีความผิดทางอาญา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศพ.ร.ก. ยิ่งชัดเจน ต้องเป็นความผิดทางอาญาเท่านั้น ถึงจะไปดำเนินการได้ ตนต้องการให้เห็นชัดว่า การทำความผิดทางอาญา กับการทำความผิดทางการเมือง มันไม่เหมือนกันแน่นอน ซึ่งตนให้นโยบายไปชัดเจนว่า ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง แม้แต่การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง ต้องทำได้ แต่เรื่องความผิดอาญา ก็คือความผิดทางอาญา ไม่มีใครสามารถอ้างเหตุผลทางการเมือง ไปทำความผิดทางอาญา เช่น ไปยุยงให้เกิดความรุนแรง อันนี้ไม่ได้ ไม่งั้นบ้านเมืองไม่มีทางสงบ
เมื่อถามว่า ในที่ประชุมฝ่ายความมั่นคงจับตาการเคลื่อนไหวออกนอกประเทศของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมนปช. หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องนี้ อยู่แล้วโดยเฉพาะคนที่มีหมายจับก็ต้องติดตามอยู่แล้ว