xs
xsm
sm
md
lg

“สุจิต” ลั่นกลองการเมืองภาค ปชช.ถอดชนวนวิกฤตการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุจิต บุญบงการ
ปธ.สภาพัฒนาการเมือง ยันการเมืองรูปแบบใหม่ต้องเน้นที่ภาค ปปช. ระบุประเทศ ต้องเป็นระบอบ ปชต.มีกษัตริย์เป็นประมุขเท่านั้น หนุนสมานฉันท์แต่ต้องอยู่บนความถูกต้อง ส่งสัญญาณวิกฤตการเมืองจะยืดเยื้อไปกว่านี้ไม่ได้

วันนี้ (5 เม.ย.) นายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง ปาฐกถาสัญญา ธรรมศักดิ์ ครั้งที่ 5 เรื่อง “ปัญหาและแนวทางของการเมืองไทยภายหลังวิกฤต” ว่า ปัญหาวิกฤตในปัจจุบันจะยุติเมื่อไหร่ตนก็ไม่ทราบ หลายคนตั้งคำถามว่าจะยุติในวันสองวัน หรือจะบานปลาย อย่างไรก็ดี การที่มีวิกฤตแสดงว่าบ้านเมืองมีปัญหาต้องมีการแก้ไข หลายคนบอกต้องปฏิรูป ตนคิดว่าไม่ว่าจะปฏิรูปการเมือง อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่ในกรอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตนคงไม่ต้องอธิบายว่าทำไมระบอบนี้เหมาะกับประเทศไทย แต่อยากให้ลองมองประเทศอื่นที่ปกครองระบอบนี้ก็มีประชาธิปไตยที่มั่นคง ประเทศเจริญก้าวหน้า และประเทศเหล่านี้ก็พยายามรักษาสถาบัน แสดงว่าสถาบันอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้โดยไม่มีความขัดแย้ง อย่างอังกฤษ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน สเปน ญี่ปุ่น ฉะนั้น ต้องหันมามามองว่าประเทศไทยจะปฏิรูปอย่างไร ที่มีปัญหาคาราคาซังตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ซึ่งใหญ่และซับซ้อน ครอบคลุมทั้งประเด็นโครงสร้างได้แก่ สถาบันการเมืองคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ราชการ ระบบการเลือกตั้ง รวมไปถึงค่านิยม วัฒนธรรมทางการเมือง ทัศนคติ จิตสำนึกประชาชน และจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำทางการเมือง นักการเมือง ข้าราชการ และเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลกระทบต่อการเดลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งคงต้องพูดกันเป็นปี

นายสุจิตกล่าวว่า ประเด็นที่ต้องคิดถึงอย่างมากในการพัฒนการเมืองในอนาคต คือ การสร้างความเข้มแข็งและตระหนักในความเป็นพลเมืองให้แก่ประชาชนหรือปัจเจกบุคคลในสังคมไทย การสร้างการเมืองภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการชุมนุมประท้วงกว้างขวางไม่ว่าจะเสื้อสีไหน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังบ่งบอกไม่ได้ว่า คนไทยเข้มแข็งทางการเมือง ทั้งนี้ การสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองของประชาชนมีความสำคัญเนื่องจาก ปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้เรื่องต่างๆ ทะลักเข้ามาอย่างเสรีปราศจากการจำกัด แนวคิดสิทธิเสรีภาพซึ่งมีฐานมาจากความคิดค่านิยมประชาธิปไตยตะวันตกก็เข้ามาด้วย ทั้งนี้ โลกาภิวัตน์ ยังทำให้มีการเคลื่อนย้ายทุนเสรี ระบบเศรษฐกิจเสรีพัฒนาต่อเนื่องอย่างกว้างขวาง มีผลให้เกิดการยอมรับในสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีรากฝังลึกในสังคมเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้

นาสุจิตกล่าวว่า หลายประเทศให้ความสำคัญสิทธิเสรีภาพ แต่ประเด็นที่ให้ความสำคัญต่างกันรวมถึงการตีความว่าอะไรคือสิทธิ อะไรคือเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม ประเทศในตะวันตกส่วนใหญ่ยอมให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวาง ส่วนบางประเทศตีกรอบสิทธิเสรีภาพเคร่งครัด เช่น สิงคโปร์ ต้องขออนุญาตหากจะประท้วงรัฐบาล และล่าสุดมีข้อกำหนดถึงขนาดว่า หากรัฐรู้ว่าใครจะไปชุมนุมประท้วงก็จะไม่ให้ออกจากบ้าน เป็นต้น จึงไม่สามารถบอกได้ว่า ความสมดุลที่ถูกที่ควรอยู่ตรงไหน อย่างไรก็ดี สังคมตะวันตกถือว่า สิทธิเสรีภาพมากับการเป็นมนุษย์ จะจำกัดได้คือภายใต้กฎหมาย แต่รัฐก็ไม่สามารถออกกฎหมายมาจำกัดทั้งหมดได้ ส่วนสังคมไทยมักยอมให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากกว่าตะวันตก แต่ปัจจุบันมีการยอมรับเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ดูจากรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 แต่ก็มีคนกังวลว่าสิทธิเสรีภาพ และความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ตรงไหน

“ในสภาพโลกาภิวัตน์มีการไหลอย่างเสรี รวดเร็ว กว้างขวางของข้อมูลที่หลากหลายมาก ทั้งข้ามพรมแดนหรือหลั่งไหลในประเทศ ข้อมูลนี้มีทั้งข้อเท็จจริง ความเห็น คำวิจารณ์ หรือการบิดเบือนข้อมูลเพื่อประโยชน์ของบางกลุ่มบางพวก ปรากฏในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระบบส่งข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต โฟนอิน วิดีโอลิงก์ ทำให้มีความพยายามของคนบางกลุ่ม ทั้งในและนอกประเทศ ที่จะชักจูงให้คนทั้งหลายคล้อยตามความคิดของตน ด้วยหลายวิธีการ เช่น การตัดต่อเอาส่วนที่ตรงกับความต้องการของตนเองมาออก นอกจากนี้ การเสนอข้อมูลข่าวสาร ยังมีแบบตอกย้ำต่อเนื่อง ใช้ภาษาปลุกระดม พร้อมกับเหตุผลว่าเป็นสิทธิเสรีภาพการแสดงออก การเคลื่อนไหวตามการชี้นำทำได้ ฉะนั้น การสร้างความเข้มแข้งความเป็นพลเมือ งจะทำให้ประชาชนแยกแยะข้อมูล เป็นตัวของตัวเองทางความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตรงนี้จึงต้องเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแก้กฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตร การใช้สื่อ เป็นต้น เพื่อให้เข้าใจถึงความสมดุล ซึ่งอยู่ที่สังคมร่วมกันกำหนด โดยถ้าประชาชนเข้มแข็งก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า ความสมดุลจะอยู่ตรงไหน จึงต้องพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ทั้งในการเมือง หรือในชุมชน ไม่ให้อยู่ภายใต้ผู้นำที่ชักจูงไปทางใดก็ได้ นอกจากนี้ ต้องเปิดให้ประชาชนมีช่องทางเรียกร้อง และเปิดโอกาสให้ตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาระยะยาว สร้างสำนึกคุณค่าพลเมืองที่ตนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การใช้สิทธิเสรีภาพไม่ใช่บนการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของผู้นำ หรือเงินไม่มากาไม่เป็น” นายสุจิต กล่าว

นายสุจิตกล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งในขณะนี้คงปล่อยให้วิกฤตยืดไปมากกว่านี้ไม่ได้ หลายคนมองถึงการสร้างความสมานฉันท์ ตนคิดว่าทำได้แต่ต้องตั้งอยู่บนรากฐานความถูกต้อง ไม่ใช่สร้างความปรองดองบนความไม่ถูกต้อง การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องยากมาก แต่ปฏิวัติง่าย เพราะปฏิรูปการเมืองต้องอาศัยความรอมชอมจากทุกฝ่าย แต่ก็ต้องทำไม่เช่นนั้นจะติดวัฏจักรอันเลวร้ายแบบนี้ และขอให้คนที่รักชาติบ้านเมืองช่วยกันขบคิดหาทางออกให้ประเทศ

จากนั้น นายสุจิตให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่ได้อยู่สถาบันพระปกเกล้า เพียงแต่เป็นมติของสถาบันพระปกเกล้า ให้ตนทำหน้าที่ปฏิรูปการเมือง ตนก็รับปาก เพราะเห็นแก่ชาติบ้านเมือง ส่วนสถาบันจะมีการประชุมเพื่อทบทวนการตัดสินใจเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของสถาบัน ทั้งนี้ตนไม่คิดว่าเปลืองตัวที่เข้ามา เพราะตนเกษียณแล้ว

เมื่อถามว่า รู้สึกถอดใจหรือไม่ เพราะมีหลายฝ่ายต่อต้านและคัดค้าน นายสุจิตกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถาบันพระปกเกล้าว่าจะคิดอย่างไร ถ้าสถาบันยืนยันจะเดินหน้าต่อ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสถาบัน ส่วนที่ว่า คณะกรรมการอิสระปฏิรูปการเมืองจะสามารถเป็นทางออกให้กับบ้านเมืองในขณะนี้ได้หรือไม่นั้น คิดว่าได้ถ้าทุกคนยอมที่จะรับฟังบ้าง เพราะความจริงก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง

เมื่อถามอีกว่า การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะผลักดันให้สังคมเข้าสู่ความรุนแรงหรือไม่ นายสุจิตกล่าวว่า ตนไม่ทราบ ส่วนการชุนุมใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดงวันที่ 8 เมษายน จะมีความรุนแรงหรือไม่นั้น ตนไม่มีความเห็น

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยกับ 6 ตุลา 2519 นายสุจิตกล่าวว่า ไม่น่าจะเกิด ซึ่งตนยังมองอยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ฟังดูก็น่ากลัว แต่ตนเชื่อว่าไม่น่าจะมีความรุนแรงไม่น่าจะเหมือนกัน และบริบทของเหตุการณ์ก็ไม่น่าจะเหมือนกัน เมื่อถามต่อว่า มีการนำคำว่า อำมาตยาธิปไตยมาใช้ มองเรื่องนี้อย่างไร นายสุจิตกล่าวว่า เป็นการใช้ผิดมาตลอด ความจริงแล้ว คำว่า อำมาตยาธิปไตย แปลมาจากภาษาอังกฤษ ที่ว่า bureaucratic polity ที่มีอาจารย์ฝรั่งมาศึกษาการเมืองไทยในช่วงที่ทหารเป็นรัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ว่าเมืองไทยเป็นการปกครองโดยระบอบราชการเป็นใหญ่ จึงใช้คำนี้ แล้วพวกที่เป็นนักวิชาการมาแปล แต่แปลว่าเป็นการเมืองระบบราชการมันก็จืดๆ ก็มีคนเสนอให้ใช้อำมาตยาธิปไตยว่า หวือหวาดี ก็ใช้คำนี้ แต่พวกประท้วงรุ่นหลังก็บอกว่าเป็นการเมืองของคนชั้นสูง การเมืองของขุนนาง มันไม่มีแล้วในสังคมไทย ซึ่งคนที่ใช้อาจมองว่าการเมืองไทยถูกผูกขาดด้วยขุนนางหรือไม่ แต่ยืนยันว่าไม่มีขุนนาง คำว่าอำมาตย์ หมายถึงข้าราชการ

นายสุจิตยังกล่าวถึงรูปธรรมของการปรองดองของคนในสังคมว่า ต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ส่วนที่จะให้นิรโทษกรรมและเอากฎหมายปรองดองแห่งชาติมาใช้นั้น ตนคิดว่าไม่รู้จะนิรโทษกรรมใคร ถ้าถูกลงโทษแล้วยังหลบหนีอยู่ สมควรที่จะให้นิรโทษกรรมหรือไม่ ในความรู้สึกของตน ทำไม่ได้ ส่วนความพยายามจะเสนอกฎหมายเพื่อการนิรโทษกรรม ขอถามว่า กฎหมายจะย้อนหลังได้อย่างไร เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เท่ากับว่ากระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง ทั้งนี้การนิรโทษกรรมมักจะให้กับคนที่ไม่หลบหนี

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการนิรโทษกรรมเป็นการปรองดองบนความไม่ถูกต้อง บ้านเมืองควรจะเดินอย่างไร นายสุจิตกล่าวว่า ต้องไปถามคนที่เคลื่อนไหวว่าทำเพื่ออะไร ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวไม่ได้บอกว่าจะเคลื่อนไหวเพื่อปรองดอง
กำลังโหลดความคิดเห็น