xs
xsm
sm
md
lg

มท.1รับแก้รธน.ขัดแย้งครั้งใหญ่-ปชปโล๊ะม.237ไม่ยุบพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังถูกกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มแสดงความคิดเห็น บางคนเสนอให้ทำประชาพิจารณ์ ทำประชามติ ซึ่งเป็นวิธีที่ปฏิบัติกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคประชาธิปัติย์อยู่ตรงกลางระหว่างข้อเรียกร้องที่สุดขั้วทั้งเรื่องยุบพรรคและนิรโทษกรรม นายสุเทพ กล่าวย้ำว่าเราต้องฟังทุกฝ่าย เราฟังและมาดูมาตัดสินใจ เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของกระบวนการรัฐสภา
ส่วนที่มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่อ้างว่าเป็นกลุ่มนายสุเทพ ระบุว่าพรรคร่วมรัฐบาลกดดันอย่างนี้ยุบสภาดีกว่า นายสุเทพ กล่าวว่า ใช่อาจมีบางคนคิดเช่นนั้น แต่ไม่มีกลุ่มของตนในพรรค ตนเป็นเลขาธิการพรรค กลุ่มของตนก็คือพรรคอยู่แล้ว คนที่คิดแบบนั้นคงไม่ใช่ อย่าไปคิดว่าเป็นการกดดันของพรรคร่วมเลย คิดว่าเขาก็แสดงความคิดแสดงจุดยืน เขาต้องมีเสรีในการที่จะคิดได้ อย่าไปปิดกั้นใคร
นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่เห็นจะมีความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล เป็นแต่เพียงความคิดเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้น ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จะเอาความเห็นที่แตกต่างมาเปรียบเทียบชั่งน้ำหนักกันดู
ผู้สื่อข่าวถามว่าระหว่างผลประโยขชน์ส่วนร่วมกับผลประโยชน์นักการเมืองจะพิจารณาน้ำหนักอันไหนมากกว่ากัน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าต้องยึดประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
นาย เทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปฏิเสธว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อึดอัดกับท่าทีของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ในต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรค และการนิรโทษกรรม เพราะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เคยเห็นท่าทีของนายบรรหาร จึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะมีใครอึดอัดตามที่เป็นข่าว หากจะมีก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะวันนี้พรรคประชาธิปัตย์มีส.ส.172 คน อาจมีใครคนใดที่บ่นขึ้นมาก็เป็นได้ แต่โดยภาพรวมยังไม่มีและไม่เคยมีการนำเรื่องนี้มาพูดคุยในพรรคแต่ประการใด
นายเทพไทกล่าวว่า ในพรรคยังไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ รวมถึงมาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรคก็ไม่ได้มีการพูดคุยกัน มีเพียงพูดคุยกันในบางส่วนว่า หากจะแก้ มาตรา 237 ก็ต้องหากฎหมายมาควบคุมการซื้อเสียงและการทุจริตเลือกตั้ง เพราะมาตรา 237 อาจมีบทลงโทษที่หนักเกินไป แต่เมื่อพรรคทำผิด ในฐานะที่เป็นสถาบันการเมืองและเป็นสมบัติของสมาชิก การยุบพรรคอาจกระทบสมาชิกเป็นอย่างมาก แต่คนที่หนีความผิดไม่พ้นก็คือหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ที่จะต้องรับผิดชอบ และการกระทำผิดของคณะกรรมการบริหารพรรค น่าจะมีบทลงโทษหนักกว่าสมาชิกพรรคธรร มดา
ดังนั้นถ้ามีกรรมการบริหารพรรคคนใดทำผิดก็น่าที่จะให้กรรมการบริหาร พรรครับผิดชอบทั้งชุด ไม่จำเป็นต้องยุบพรรค อย่างไรก็ตามทุกคนเห็นว่าแม้จะแก้มาตรา 237 จะต้องมีมาตรอื่นขึ้นมาเพื่อควบคุมการทุจริตการเลือกตั้งและการซื้อเสียง ไม่เช่นนั้นจะหนีวัฎจักรการซื้อเสียงและทุจริตการเลือกตั้งจนเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์ไม่พ้น
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กล่าวว่า การคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ถือเป็นเสียงที่ดังเสียงหนึ่งที่ต้องรับฟัง เช่นเดียวกับเสียงอื่นที่เรียกร้องดังนั้นกรรมการที่ตั้งขึ้นมาต้องเอาเสียงมารวมกัน และเอาเหตุผลมาคุยกัน ดีกว่าต่างคนต่างพูดแล้วไม่ฟังใคร
ผู้สื่อข่าวถามว่าเสียงค้านส่วนใหญ่เป็นประเด็น มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค และการนิรโทษกรรม นายสาทิตย์กล่าวว่า ก็รับฟังเหตุผลและคุยกันได้ ฝ่ายหนึ่งอาจไม่ได้ทั้งหมด และอาจจะไม่เสียทั้งหมด
นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กล่าวว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อคัดค้านรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ดี จะได้รับฟังความเห็นของ กลุ่มพันธมิตรฯว่าไม่เห็นด้วยในประเด็นใดบ้าง ถือเป็นการแสดงออกของภาคประชาชน เพราะกลุ่มพันธมิตรฯก็มีสมาชิกจำนวนมากกลุ่มหนึ่ง
ส่วนที่หลายพรรคเห็นตรงกันว่าควรแก้ไข มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคนั้น นายถาวร กล่าวว่า มาตรา 237 เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงส่วนตัวคิดว่าถึงจุดหนึ่งอาจต้องทำประชามติเพื่อรับฟังคนทั้งประเทศ 
นายถาวร เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลคงไม่นำประเด็นนี้มากดดันรัฐบาล เพราะแม้จะแก้ในมาตรา 237 ก็จะไม่มีผลย้อนหลังต่อคำพิพากษาของศาล เนื่องจากยังมีกฎหมายลูกที่เกี่ยวโยงถึงฐานความผิดเดิมซึ่งยังมีผลบังคับอยู่   
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกระแสข่าวนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย กดดันนายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการนิรโทษกรรม ว่า เป็นวิถีทาง ทางการเมือง แม้ขณะนี้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเรื่องการนิรโทรษกรรม ที่มีบางพรรคไม่เห็นด้วย คงต้องหารือกันต่อไป
ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชวรัตน์ กล่าวว่า ต้องดูว่าจะแก้ไขมาตราใดบ้าง การที่ถูกมองว่า เป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง เป็นเรื่องแล้วแต่มุมมอง พูดยาก เพราะส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองทั้งนั้นที่เข้ามาแก้ปัญหา และเชื่อว่า ไม่ทำให้เกิดรอยร้าว ในพรรคร่วมรัฐบาล
เหมือนเราเอาสารส้มไปแกว่งในน้ำเป็นเรื่องปกติที่ตอนแรกน้ำต้องขุ่น แต่พอ แกว่งไป เดี๋ยวมันก็ใส ดังนั้นควรจะมองในแง่ดี สุดท้ายเมื่อคุยกันก็คงมีทางออก
ส่วนที่เป็นห่วงกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นระเบิดเวลาทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่นั้น นายชวรัตน์ ยอมรับว่า ก็เป็นห่วงเช่นกัน แต่อยากให้มองโลกในแง่ดี เพราะขณะนี้เศรษฐกิจที่ประสบภาวะวิกฤติก็เกิดจากปัญหาทางการเมือง  
นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รมช.คมนาคม กล่าวว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่เคยกดดันพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เพราะพรรคต้องการฟังประชามติจากประชาชนก่อน แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงแต่หากเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติก็สมควรกระทำ
การนิรโทษกรรมนั้นเป็นการแก้ปัญหาให้คนหนึ่งคนใดหากแก้แล้วเกิดประโยชน์ก็ควรแก้ แต่ต้องดูว่าจะเกิดประโยชน์หรือไม่ ซึ่งขณะนี้เสียงของประชาชนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯออกมาขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญนั้น นายประจักษ์ กล่าวว่า การคัดค้านสามารถกระทำได้ แต่อยากให้ดูบทสรุปเรื่องการประชามติก่อน และการทำประชามติจะเป็นการลดการต่อต้านผู้ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะหากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ เห็นสมควรให้ แก้รัฐธรรมนูญ กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ควรจะรับฟังจุดนี้
นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย ในฐานะคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ซึ่งหากที่ประชุมเห็นด้วย และได้มีการทำประชามติเกิดขึ้นหากคนส่วนใหญ่ เห็นด้วย กลุ่มพันธมิตรฯก็ควรจะฟังเสียงข้างมากด้วย เพราะมิเช่นนั้นจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ส่วนการนิรโทษกรรม พรรคยืนยันว่าจะดำเนินการอะไร ต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคมใช้ประโยชน์ส่วนบุคคล แต่เชื่อว่าการออกกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่สมควร
กำลังโหลดความคิดเห็น