xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเอื้ออาทรนักการเมืองชั่ว

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องความสมานฉันท์ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้ใหญ่ 2 ท่านของพรรคประชาธิปัตย์แสดงความคิดเห็นเอาไว้น่าสนใจมาก

นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค ปัจจุบันเป็นประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวเป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ผู้แก้ไข แต่ขอเอาไว้ให้ถึงเวลาก่อน ตอนนี้ขอให้เป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะพิจารณา เมื่อพรรคมีการประชุมเพื่อขอความเห็น ก็จะให้ความเห็นในที่ประชุมพรรค

“อย่าไปเข้าใจผิดว่าวิกฤตตอนนี้ที่มีปัญหาความขัดแย้ง แตกความสามัคคีนั้นมาจากรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคนละเรื่อง ไม่เกี่ยวข้องกัน”

นายชวน กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งขณะนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตราใดมาตราหนึ่งของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ ถ้าเห็นว่าเป็นการแก้ไขให้ดีขึ้น

ครั้นนักข่าวถามว่าเป็นห่วงเรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่ นายชวนกล่าวว่ายังไม่ได้มีการพูดถึง

อีกท่านหนึ่งคือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค ปัจจุบันเป็นกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค กล่าวว่าที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด เมื่อมาเป็นรัฐบาลกลับเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะอธิบายสังคมอย่างไร

นายบัญญัติกล่าวตรงไปตรงมาว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่วิป 3 ฝ่ายได้หารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา

นายบัญญัติกล่าวว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การนิรโทษกรรมนักการเมือง สุดท้ายจะเป็นการเปิดช่องให้บุคคลที่เป็นเครือข่ายระบอบทักษิณกลับมา และสุดท้ายคนเหล่านี้ก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และจะเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยปริยาย

ความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เกิดขึ้นตั้งแต่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังร่างอยู่ด้วยซ้ำ เพราะคณะผู้ร่าง ร่างขึ้นจากการได้เห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเอื้อต่อการที่ให้นักการเมืองชั่วและเลวอย่างทักษิณก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ และครอบครองอำนาจได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังตัดหนทางอุบาทว์ของนักการเมืองที่จะเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีสกปรก คือ การซื้อเสียง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าเป็นพฤติกรรมที่เลวร้าย และทำให้การเมืองของเราไม่พัฒนาตลอดมาใน 2-3 ทศวรรษหลังนี้ ทำให้นักการเมืองชั่วก้าวขึ้นสู่อำนาจเป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ช่วยว่าการฯ และเป็นนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วก็แสวงหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน สร้างอิทธิพลเหนือข้าราชการประจำ

และในที่สุดก็เอาประเทศไทย เอาคนไทย อยู่ภายใต้อิทธิพลของพวกเขา

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีบทลงโทษพรรคการเมือง นักการเมืองที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยการให้ยุบพรรคการเมือง และลงโทษกรรมการบริหารพรรคที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ให้มีสิทธิในการเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

บทลงโทษดังกล่าวนี้ไม่กระทบกระเทือนต่อพรรคการเมืองใดเลย หากพรรคการเมืองนั้นเล่นการเมืองด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ซื้อสิทธิ ซื้อเสียง ไม่แจกเงินแจกข้าวของเพื่อเป็นสินจ้าง เป็นน้ำใจให้ประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไปลงคะแนนให้

หากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเล่นการเมืองโดยมีสมาชิกพรรคมุ่งมั่นที่จะเอาชนะการเลือกตั้ง ด้วยนโยบายที่เสนอต่อประชาชน ให้ประชาชนเห็นว่าเป็นนโยบายที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความวัฒนาสถาพร

พรรคการเมืองจะไม่เดือดร้อนกับบทบัญญัติดังกล่าวนี้เลย

แต่ที่มีพรรคการเมืองเดือดร้อน บางคนบอกว่าไม่กล้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค ต้องหาตัวแทนมาเป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะเกรงว่าพรรคจะถูกยุบ ตัวจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองโดยที่ตัวไม่ได้ทำผิด หากแต่กรรมการบริหารพรรคคนอื่นทำผิด รวมทั้งสมาชิกพรรคที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่กับการทำผิดก็ต้องมารับโทษด้วย (โดยพรรคถูกยุบ) นี่ก็แสดงว่า เล่นการเมืองแบบคิดชั่วๆ อยู่คือ ถ้าหากซื้อเสียงได้ก็จะซื้อ ทำให้ประชาชนมาลงคะแนนให้ได้โดยการทำนั้นผิดกฎหมายก็จะทำ หรือไม่ก็ให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นทำ โดยที่ตัวพลอยได้ประโยชน์ด้วย เช่น ถ้าหากซื้อเสียงมาได้โดยที่กรรมการเลือกตั้งจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน พรรคของตัวก็จะได้เสียงมาก ได้โควตารัฐมนตรีมาก และตัวก็จะได้ด้วย

นี่คือแนวคิดของนักการเมืองชั่วหลายๆ คน หลายๆ กลุ่มที่แสดงออกให้เห็นในขณะนี้ในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 237

ดังได้กล่าวแล้วว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่กระทบกระเทือนต่อพรรคการเมือง นักการเมืองใดเลย ถ้าหากเล่นการเมืองด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่คิดที่จะซื้อสิทธิ ซื้อเสียง จะกระทบก็แต่นักการเมืองชั่ว พรรคการเมืองเลวเท่านั้น

รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับนั้นผู้ร่าง ร่างขึ้นมาตามความจำเป็น และสภาของบ้านเมืองที่เป็นอยู่ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มีการเลือกตั้งวุฒิสภาครึ่งหนึ่งให้ใช้ระบบสรรหาอีกครึ่งหนึ่ง

ผู้ร่างเองก็รู้ว่า การสรรหาครึ่งหนึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ก็เพราะการเลือกตั้งวุฒิสภาที่ผ่านมา สังคมก็เห็นกันแล้วว่า เป็นสภาผัว สภาเมีย ผัวอยู่สภาล่าง เมียอยู่สภาบน เมียอยู่สภาล่าง ผัวอยู่สภาบน หรือไม่ก็เป็นวงศาคณาญาติของนักการเมือง ซึ่งเป็นนักเลือกตั้ง มีความสามารถในการจัดตั้งหัวคะแนน มีเงินในการซื้อเสียง มีอิทธิพลที่ทำให้กรรมการเลือกตั้งจับผิดได้ยากหรือจับไม่ได้เลย ปล่อยไว้ก็จะเกิดความเสียหาย จึงให้เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง สรรหาครึ่งหนึ่ง ต่อเมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนไป ประชาชนมีความเข้มแข็งทางการเมือง มีแนวคิดในทางการเมืองที่เงินซื้อไม่ได้ ก็สามารถที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่สมบูรณ์พร้อม ข้อบกพร่องในสายตาและแนวคิดของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ปัญหาก็คือ เราจะถือผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองหรือไม่

ใครเดือดร้อนจากรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่?

คนที่เดือดร้อนก็คือ นักการเมืองชั่ว นักการเมืองเลวที่ทำร้ายประเทศไทยมาตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษนี้มิใช่หรือ เราสามารถกันพวกเขาออกไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง คือ 5 ปีตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปแล้ว จะไปเอื้ออาทรต่อนักการเมืองชั่ว นักการเมืองเลวเหล่านั้นให้มาทำร้ายประเทศชาติ และประชาชนอีกทำไม

พรรคประชาธิปัตย์ต้องฟังเสียงผู้อาวุโสในพรรคไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น