xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : จับตา “บุญจง (เพื่อนเนวิน)” จะ “ตายน้ำตื้น” หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ยืนยัน ปชช.ทราบดีว่าเงินที่แจกคือเงินหลวง ไม่ใช่เงินตน ส่วนที่แจกนามบัตร เพื่อให้ ปชช.ติดต่อตนได้เวลามีเรื่องเดือดร้อน
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

ใกล้ถึงนาทีชี้ชะตา “บุญจง วงศ์ไตรรัตน์” ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน พรรคภูมิใจไทย และ รมช.มหาดไทย กรณีแจกเงินสงเคราะห์และนามบัตรแก่ชาวบ้านแล้ว เพราะสัปดาห์ก่อน ประธาน กกต. “อภิชาต สุขัคคานนท์” ได้ส่งความเห็นของอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ กกต.ทั้ง 4 คนนำไปศึกษาแล้ว และจะประชุมลงมติชี้ขาดในวันที่ 7 หรือไม่ก็ 8 พ.ค.นี้ น่าจับตาว่า อนาคตทางการเมืองของนายบุญจงจะจบลงแบบใด แบบรุ่งโรจน์สดใสต่อไป หรือจะเหมือนปลาตายน้ำตื้น ขึ้นอยู่กับการตีความ รธน.มาตรา 266 และ 268 ของ กกต.เป็นสำคัญ

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี วันที่ 24 ม.ค. นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย กลุ่มเพื่อนเนวิน ได้แจกเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้แก่ผู้ขอรับการสงเคราะห์ใน ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จำนวน 200 คน คนละ 500 บาท รวม 1 แสนบาท โดยการแจกเงินดังกล่าวมีขึ้นที่บ้านพักนายบุญจง ส่วนเงินที่แจกเป็นเงินจากงบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ หลังจากแจกเงินดังกล่าว นายบุญจงและนางกาญจนา ภรรยา ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) นครราชสีมา ได้แจกนามบัตรนายบุญจงให้ชาวบ้านเหล่านั้นด้วย

แม้ขณะแจกเงินแก่ผู้ยากไร้ดังกล่าวจะมีข้าราชประจำร่วมแจกผ้าห่มด้วย ไม่ว่าจะเป็นนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง และนายอำเภอโชคชัย แต่การกระทำของนายบุญจงก็ได้ถูก ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายบุญจงนำเงินหลวงมาแจกให้ชาวบ้านที่บ้านของตนเอง รวมทั้งให้นามบัตรแก่ชาวบ้านด้วยนั้น ถือเป็นการกระทำต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 266 หรือไม่ จากนั้น ทั้งนายเรืองไกร และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจึงได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัย ซึ่งหาก กกต.วินิจฉัยว่า การกระทำของนายบุญจงเข้าข่ายขัด รธน.มาตราดังกล่าว จะส่งผลให้เจ้าตัวต้องสิ้นสภาพการเป็น ส.ส.ทันทีตาม รธน.มาตรา 106 (6)

ทั้งนี้ มาตรา 266 ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายเรืองไกร ชี้ว่า พฤติกรรมของนายบุญจงเข้าข่ายมาตรา 266 (1) ซึ่งระบุห้าม ส.ส. และ ส.ว.แทรกแซงหรือก้าวก่ายการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

นอกจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะมองว่า การกระทำของนายบุญจงเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 (1) แล้ว ยังเห็นว่า น่าจะเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย จึงได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนด้วยเช่นกัน (27 ม.ค.) โดยชี้ว่า เจตนาของนายบุญจงที่ให้นามบัตรแก่ชาวบ้านหลังแจกเงินสงเคราะห์นั้น ชัดเจนว่าเป็นการหาเสียง แม้จะเป็นช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการเอื้อประโยชน์หากินกับคนจน ถือเป็นการกระทำที่มิชอบ

ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย กลุ่มเพื่อนเนวิน ยืนยันว่า ในวันที่มอบเงินให้ชาวบ้าน มีข้าราชการผู้ใหญ่เต็มไปหมด และประชาชนก็ทราบดีว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของรัฐบาล ส่วนการแจกนามบัตรนั้น นายบุญจง ย้ำว่า ตนไม่ได้เย็บนามบัตรติดกับเงินตามที่สื่อบางฉบับบิดเบือนแต่อย่างใด และว่า การแจกนามบัตรให้ชาวบ้าน ตนทำโดยบริสุทธิ์ใจ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ได้รับเลือกตั้ง ก็ได้ลงพื้นที่แจกนามบัตรมาตลอด เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อตนได้โดยตรงยามที่เดือดร้อนหรือมีปัญหา แต่เมื่อมีการฟ้องร้อง ตนก็มีสิทธิต่อสู้ตามกฎหมาย โดยมีหน้าที่ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช. นายบุญจ โอดครวญด้วยว่า “เรื่องราวที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้ถือโทษโกรธใคร เพียงแต่น้อยใจตัวเองว่า หวังดีต่อคนอื่น แต่กลับได้รับผลร้ายตอบแทน”

นายบุญจง ยังยืนยัน (28 ม.ค.) ด้วยว่า ทั้งหมดที่ทำไป ทำตามอำนาจหน้าที่ในการเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชน และว่า กฎหมาย รธน.(มาตรา 268) เขียนชัดเจนว่า ตนมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้แถลงไว้ชัดเจนหน้า 15 ที่จะต้องดูแลพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้ คนจน คนพิการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นตนได้ทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อดำเนินตามนโยบายรัฐบาล

สำหรับท่าทีของ กกต.ต่อกรณีนายบุญจงนั้น แม้ในช่วงแรก กกต.บางคนจะพยายามสงวนท่าที ไม่แสดงความเห็น แต่ กกต.บางคนก็เหมือนส่งสัญญาณว่า หากกรณีนายบุญจงผิด อาจจะลามเลยไปถึงพฤติกรรมของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กำลังจะแจกเงิน 2,000 บาทให้ประชาชนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทด้วยว่า ต้องมีความผิดด้วยหรือไม่?

โดยนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง บอกว่า การพิจารณาต้องพิจารณาว่า การนำงบประมาณแผ่นดินไปให้ประชาชน เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและเป็นไปตามมติ ครม.หรือไม่ เหมือนกับกรณีของนายกรัฐมนตรีที่แจกเงิน 2 พันบาทให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยหรือให้ประชาชนได้ใช้น้ำใช้ไฟฟรี ซึ่งการให้ประชาชนใช้น้ำไฟฟรี เป็นหน้าที่ของการประปาและการไฟฟ้า การที่นายกฯ ทำแบบนี้ถือเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายองค์กรอื่นหรือไม่ รวมทั้งนโยบายที่รัฐบาลจัดให้ประชาชนนั้น เป็นไปตามมติ ครม.หรือไม่ หรือเป็นนักการเมืองที่ก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงกรณีที่นายบุญจงถูกพรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบว่า ทุกคนต้องยอมรับการตรวจสอบและเข้าสู่กระบวนการ แต่ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ก่อนที่ กกต.จะชี้ขาดพฤติกรรมของนายบุญจงว่าเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 หรือไม่ในวันที่ 7-8 พ.ค.นี้ ลองมาฟังความเห็นของนักวิชาการและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 กันดูว่า มองพฤติกรรมของนายบุญจงอย่างไร?

นายเดโช สวนานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มองว่า กรณีนายบุญจงแจกเงินสงเคราะห์และนามบัตรแก่ชาวบ้าน น่าจะเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 เพราะเจตนารมณ์ของการร่างมาตรานี้ขึ้นมา เพราะไม่ต้องการให้นักการเมืองหรือข้าราชการการเมืองเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ ดังนั้น รธน.2550 จึงเพิ่มความเข้มงวดของมาตรานี้มากกว่า รธน.2540

“เจตนารมณ์จริงๆ เขาต้องการไม่ให้นักการเมืองเข้าไปแทรกแซงงานของข้าราชการประจำ อันนี้เป็นความคิดของ รธน.2550 ที่เพิ่มเติมขึ้นมา ขยายความจากปี 2540 รธน.ปี 2540 ยังไม่รุนแรงถึงขนาดนี้ แต่ รธน.2550 เราคิดว่าเราไม่ต้องการให้ข้าราชการการเมืองเข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ เลยวางมาตรการข้อนี้ออกมาให้ชัดเจนขึ้น (ถาม-แล้วเราจะแยกยังไง เพราะมันมีมาตรา 268 ที่บอกว่า “เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่”?) ตามอำนาจหน้าที่ก็หมายความว่า ถ้าเขาเป็นข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย เขากำกับดูแลกรมที่ดิน เขาแจกเอกสารสิทธิของกรมที่ดิน นี่ทำตามหน้าที่ ทำได้ แต่รัฐมนตรีบุญจงอยู่กระทรวงมหาดไทย แต่ไปทำหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ไม่ได้ ข้ามกระทรวง ...ผมเห็นใจคุณบุญจง บอกเคยทำ(แจกนามบัตร)มา 7-8 ปีแล้ว ผมเป็น ส.ส.ผมก็ทำ ผมรับสารภาพว่าผมเคยทำ แต่ตอนนั้นมันไม่ผิด”

นายเดโชยังชี้ด้วยว่า ถ้าเผอิญนายบุญจงใช้เงินตัวเองแจกชาวบ้านไม่ได้ใช้เงินหลวงหรือเงินแผ่นดินแจก ก็จะไม่เข้าข่ายมาตรา 266 และไม่ถือว่าผิดในแง่หาเสียง เพราะช่วงที่แจกไม่ได้ใกล้เลือกตั้ง หรือถ้านายบุญจงแจกสิ่งของของหน่วยงานที่อยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ข้ามกระทรวง ก็ถือว่าไม่ผิดและไม่เข้าข่ายมาตรา 266 เช่นกัน แต่ต้องแจกที่หน่วยงานราชการ ไม่ใช่แจกที่บ้านตนเอง

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เช่นกัน พูดถึงกรณีที่นายบุญจงแจกเงินสงเคราะห์และนามบัตรแก่ชาวบ้านว่า การจะพิจารณาว่าเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 หรือไม่ ต้องดูข้อเท็จจริงว่า แจกนามบัตรเพื่ออะไร เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์หรือไม่ ถ้าแจกเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ให้เงินนั้น ก็ถือว่าผิด แต่ถ้าแจกนามบัตรเพื่อให้ชาวบ้านรู้จัก ไม่ได้เกี่ยวกับเงินที่แจก ก็ถือว่าไม่ผิด

“เข้า(ม.266) หรือไม่เข้า คงต้องดูข้อเท็จจริงให้ยุติว่า รัฐมนตรีบุญจงเนี่ย เขาได้ไปแจกเงินของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ โดยเอานามบัตรของตัวเองติดไปหรือไม่ เพราะใน รธน.มาตรา 266 ก็ได้บัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้รัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนอื่นซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจความรับผิดชอบของตัวเอง ถ้าหากว่าเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง หรือหาประโยชน์ให้กับตัวเอง อันนี้ก็จะเป็นความผิด (ถาม-คุณบุญจงบอกว่า ที่ทำไปไม่ได้เจตนาไม่ดี แต่ทำเพื่อประโยชน์ประชาชน และนามบัตรก็ให้เพราะประชาชนขอ ไม่ได้เย็บติดกับเงินด้วย?) อันนี้เป็นข้อเท็จจริง ถ้าเป็นข้อเท็จจริง เป็นการแจกนามบัตรโดยทั่วๆ ไป ก็ไม่มีความผิด ตอนนี้ต้องฟังให้ชัดเจนว่า การแจกนามบัตรดังกล่าวนั้นเป็นการแจกไปพร้อมกับเงินมั้ย หรือเอาเงินไปผูกติดกับนามบัตรหรือเปล่า เพราะถ้าเอาเงินไปผูกติดกับนามบัตรเนี่ย ชาวบ้านที่ได้รับก็จะมีความรู้สึกหรือเข้าใจไปได้ว่า เงินดังกล่าวนี้เป็นเงินของรัฐมนตรีบุญจง หากชาวบ้านรับเงินแล้วเข้าใจว่าเป็นเงินของรัฐมนตรีบุญจง ก็คือประโยชน์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ของรัฐมนตรีบุญจง อย่างนี้ก็เข้าข่ายที่จะเป็นความผิด แต่ถ้าหากว่าแจกไปตามปกติ ตามหน้าที่การงานในความรับผิดชอบ แต่นามบัตรแจกทีหลังเพื่อให้ชาวบ้านรู้จัก โดยไม่เกี่ยวกับเงิน อย่างนี้ก็ไม่ผิด”

ขณะที่ ดร.เจษฏ์ โทณวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม มองการแจกเงินสงเคราะห์และนามบัตรของนายบุญจงว่า ส่วนตัวแล้วคิดว่า ข้อมูลที่ได้จากสื่อมวลชนไม่เพียงพอที่จะทำให้ทราบข้อเท็จจริงของเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนั้น การจะชี้ว่าการกระทำของนายบุญจงเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 หรือไม่ จึงเป็นเรื่องยาก ซึ่งเบื้องต้นมองว่า สามารถตีความกรณีของนายบุญจงให้เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย ม.266 ก็ได้

“อาจจะขัดหรือไม่ขัดก็ได้ มันต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าทำอะไร ยังไง ที่ผมเห็นในสื่อ ผมคิดว่ามันยังไม่พอ มันยังฟันธงไม่ได้ คือมันต่างกับสมัยยี้ห้อยร้อยยี่สิบ ที่คุณเนวินแกเย็บรูปหลวงพ่อคูณหรือรูปอะไรสักอย่างติดแบงก์ยี่สิบ ติดในช่วง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง อันนั้นมันชัดเจนอยู่แล้วว่ามันเอื้อประโยชน์ แต่อันนี้(กรณีนายบุญจง) มันก็พูดยาก (ถาม-ในแง่เจตนา สมมติว่าไม่เจตนาให้นามบัตรหลังแจกเงิน จะช่วยได้แค่ไหน?) จริงๆ ม.266 มันไม่พูดถึงเจตนานะ คือถ้ากระทำผิดก็ถือว่าผิดน่ะ แต่ที่พูดถึงเจตนา ก็เพราะเราไม่รู้ว่าว่าคุณบุญจงแกหวังดีหรือหวังร้ายยังไง แต่ถ้ามันจะช่วยได้ ก็ช่วยได้ตรงเกณฑ์การพิจารณาว่า เออ! ทำแบบนี้เนี่ย จริงๆ แล้วเขาตั้งใจจะเอาเงินหลวงไปแจกเท่านั้นเอง ไม่ได้ตั้งใจจะไปสร้างผลประโยชน์อะไรให้กับพรรคให้กับตัวเอง ก็มองได้แค่นั้น”

นอกจากมองว่า การแจกเงินสงเคราะห์และนามบัตรของนายบุญจงยังเป็นเรื่องก้ำกึ่งว่าจะเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 หรือไม่แล้ว ดร.เจษฎ์ ยังชี้ด้วยว่า การกระทำของนายบุญจงไม่น่าจะเข้าข่ายทุจริตประพฤติมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพราะการนำเงินหลวงไปแจก ถือว่าชาวบ้านได้ประโยชน์ ไม่ใช่ได้รับความเสียหาย ยกเว้นว่านายบุญจงนำเงินนั้นเข้ากระเป๋าตนเอง จึงจะเข้าข่ายทุจริต

ต้องจับตาว่า การประชุมวันที่ 7-8 พ.ค.นี้ กกต.จะชี้ขาดว่าการแจกเงินและนามบัตรแก่ชาวบ้านของนายบุญจง จะเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 หรือไม่ หากงานนี้ นายบุญจงรอดได้ ไม่ต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส. ไม่ต้องตายน้ำตื้นเพียงเพราะเรื่องที่คาดไม่ถึง ก็ยังมีเรื่องอื่นที่รอให้ลุ้นต่อ เพราะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่จ้องเล่นงานนายบุญจง (ฐานนำทีมกลุ่มเพื่อนเนวินแปรพักตร์ช่วยพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล) ได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบนายบุญจงฐานซุกหุ้นอีกกระทงหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ...คราวนี้ พรรคเพื่อไทยเล่นแรง เพราะถ้านายบุญจงซุกหุ้นจริง ไม่เพียงจะต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีและ ส.ส. แต่ยังต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีอีกด้วย!!
พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นำทีมยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.สอบกรณีนายบุญจงแจกเงินและนามบัตรแก่ชาวบ้าน(27 ม.ค.)
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบกรณีนายบุญจงแจกเงินและนามบัตรเช่นกัน
ถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ยืนยัน นายบุญจงมีเจตนาดีในการแจกนามบัตรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
สดศรี สัตยธรรม กกต. สงสัย หากกรณีนายบุญจงแจกเงินและนามบัตรถือว่าผิด แล้วกรณีนายกฯ แจกเงิน 2 พันแก่ ปชช.ที่รายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท จะผิดด้วยหรือไม่
รายงานพิเศษ : “บุญจง”...หนูทดลองยา “มาตรา 266”!?!
รายงานพิเศษ : “บุญจง”...หนูทดลองยา “มาตรา 266”!?!
กรณี รมต.กลุ่มเพื่อนเนวิน “บุญจง วงศ์ไตรรัตน์”แจกเงินและนามบัตรแก่ชาวบ้านเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังเป็นประเด็นร้อนจนถึงนาทีนี้ ที่ต้องลุ้นว่า จะเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 จนทำให้เจ้าตัวต้องมีอันพ้นจากเก้าอี้ รมต.และ ส.ส.ในอนาคตอันใกล้หรือไม่ หลังถูกฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยยื่นให้ กกต.ตรวจสอบ แถมจ่อยื่นให้ศาล รธน.วินิจฉัยในเร็ววันนี้ ไม่เท่านั้น ยังงัดมาตรา 157 มาเล่นงานนายบุญจงด้วยการร้องต่อ ป.ป.ช.อีก ...แม้ “บุญจง”จะไม่ใช่ รมต.คนเดียวที่ทำให้รัฐบาลกระอักกระอ่วนใจอยู่ในขณะนี้ เพราะยังมีกรณี “วิฑูรย์ นามบุตร”เจ้ากระทรวงพัฒนาสังคมฯ กับปลากระป๋องเน่า ที่ยังไม่เคลียร์อีกคน แต่ดูเหมือน “บุญจง”จะถูกเล่นงานมากกว่า และล่อแหลมมากกว่าว่าจะเข้าข่าย ม.266 หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น