xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “บุญจง”...หนูทดลองยา “มาตรา 266”!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นำทีมยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.สอบกรณีนายบุญจงแจกเงินและนามบัตรแก่ชาวบ้าน(27 ม.ค.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร......รายงาน

กรณี รมต.กลุ่มเพื่อนเนวิน “บุญจง วงศ์ไตรรัตน์” แจกเงินและนามบัตรแก่ชาวบ้าน เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังเป็นประเด็นร้อนจนถึงนาทีนี้ ที่ต้องลุ้นว่า จะเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 จนทำให้เจ้าตัวต้องมีอันพ้นจากเก้าอี้ รมต.และ ส.ส.ในอนาคตอันใกล้หรือไม่ หลังถูกฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบ แถมจ่อยื่นให้ศาล รธน.วินิจฉัยในเร็ววันนี้ ไม่เท่านั้น ยังงัดมาตรา 157 มาเล่นงาน นายบุญจง ด้วยการร้องต่อ ป.ป.ช.อีก ...แม้ “บุญจง” จะไม่ใช่ รมต.คนเดียวที่ทำให้รัฐบาลกระอักกระอ่วนใจอยู่ในขณะนี้ เพราะยังมีกรณี “วิฑูรย์ นามบุตร” เจ้ากระทรวงพัฒนาสังคมฯ กับปลากระป๋องเน่า ที่ยังไม่เคลียร์อีกคน แต่ดูเหมือน “บุญจง” จะถูกเล่นงานมากกว่า และล่อแหลมมากกว่า ว่า จะเข้าข่าย ม.266 หรือไม่

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

กลายเป็นประเด็นให้พรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้านสบช่องหยิบขึ้นมาโจมตี และยื่นตรวจสอบจนได้ เมื่อนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย กลุ่มเพื่อนเนวิน ได้แจกเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้แก่ผู้ขอรับการสงเคราะห์ใน ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จำนวน 200 คน คนละ 500 บาท รวม 1 แสนบาท ที่บ้านพัก นายบุญจง ซึ่งเป็นเงินจากงบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยหลังจากแจกเงินดังกล่าวแล้ว นายบุญจง และ นางกาญจนา ภรรยา ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) นครราชสีมา ได้แจกนามบัตร นายบุญจง ให้ชาวบ้านเหล่านั้นด้วย

แม้ขณะแจกเงินแก่ผู้ยากไร้ดังกล่าว จะมีข้าราชการประจำร่วมแจกผ้าห่มด้วย ไม่ว่าจะเป็นนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง และ นายอำเภอโชคชัย แต่การกระทำของนายบุญจง ก็ได้ถูกพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ นายบุญจง นำเงินหลวงมาแจกให้ชาวบ้านที่บ้านของตนเอง รวมทั้งให้นามบัตรแก่ชาวบ้านด้วย ถือเป็นการกระทำต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 266 หรือไม่

ทั้งนี้ รธน.มาตรา 266 ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง

ซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย มองว่า การกระทำของ นายบุญจง น่าจะเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 (1) และน่าจะเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย จึงได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน เมื่อวันที่ 27 ม.ค.โดยชี้ว่า เจตนาของ นายบุญจง ที่ให้นามบัตรแก่ชาวบ้านหลังแจกเงินสงเคราะห์ ชัดเจนว่าเป็นการหาเสียง แม้วันนี้ยังไม่มีการเลือกตั้ง แต่เป็นการเอื้อประโยชน์หากินกับคนจน ถือเป็นการกระทำที่มิชอบ

ไม่เท่านั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยังได้เตรียมเข้าชื่อ ส.ส.1 ใน 10 ของ ส.ส.ทั้งหมด เพื่อยื่นเรื่องผ่านประธานสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การกระทำของ นายบุญจง เข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 หรือไม่ ในเร็วๆ นี้ รวมทั้งได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)วินิจฉัยกรณีนายบุญจง ด้วย ในวันนี้ (29 ม.ค.) แม้จะมี ส.ว.บางคน (นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา) ยื่นเรื่องให้ กกต.วินิจฉัยกรณีนี้ไปก่อนหน้าแล้วก็ตาม

ด้าน นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย กลุ่มเพื่อนเนวิน ยืนยันว่า ในวันที่มอบเงินให้ชาวบ้าน มีข้าราชการผู้ใหญ่เต็มไปหมด และประชาชนก็ทราบดีว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของรัฐบาล ส่วนการแจกนามบัตรนั้น นายบุญจง ย้ำว่า ตนไม่ได้เย็บนามบัตรติดกับเงินตามที่สื่อบางฉบับบิดเบือนแต่อย่างใด และว่า การแจกนามบัตรให้ชาวบ้าน ตนทำโดยบริสุทธิ์ใจ เพราะที่ผ่านมา ตั้งแต่ได้รับเลือกตั้ง ก็ได้ลงพื้นที่แจกนามบัตรมาตลอด เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อตนได้โดยตรงยามที่เดือดร้อน หรือมีปัญหา แต่เมื่อมีการฟ้องร้อง ตนก็มีสิทธิต่อสู้ตามกฎหมาย โดยมีหน้าที่ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.นายบุญจง โอดครวญด้วยว่า “เรื่องราวที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้ถือโทษโกรธใคร เพียงแต่น้อยใจตัวเองว่า หวังดีต่อคนอื่น แต่กลับได้รับผลร้ายตอบแทน”

นายบุญจง ยังยืนยัน (28 ม.ค.) ด้วยว่า ทั้งหมดที่ทำไป ทำตามอำนาจหน้าที่ในการเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชน และว่า กฎหมาย รธน.(มาตรา 268) เขียนชัดเจนว่า ตนมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้แถลงไว้ชัดเจนหน้า 15 ที่จะต้องดูแลพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้ คนจน คนพิการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น ตนได้ทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อดำเนินตามนโยบายรัฐบาล

สำหรับท่าทีของ กกต.ต่อกรณี นายบุญจง แม้ กกต.บางคนจะพยายามสงวนท่าที ไม่แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ แต่บางคนก็เหมือนส่งสัญญาณว่า หากกรณี นายบุญจง ผิด อาจจะลามเลยไปถึงพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี ที่จะแจกเงิน 2,000 บาท ให้ประชาชนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ที่ต้องมีความผิดด้วยหรือไม่

โดยนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง บอกว่า ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเรื่องการแจกเงินของ นายบุญจง ว่า เป็นเงินจากกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงพัฒนาสังคมฯ หากเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมฯ แล้วได้รับมอบหมายจาก นายวิฑูรย์ นามบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ หรือไม่ ดังนั้น การพิจารณาต้องพิจารณา ว่า การนำงบประมาณแผ่นดินไปให้ประชาชน เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามมติ ครม.หรือไม่ เหมือนกับกรณีของนายกรัฐมนตรีที่แจกเงิน 2 พันบาท ให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือให้ประชาชนได้ใช้น้ำใช้ไฟฟรี ซึ่งการให้ประชาชนใช้น้ำไฟฟรี เป็นหน้าที่ของการประปาฯ และการไฟฟ้าฯ การที่นายกฯ ทำแบบนี้ถือเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายองค์กรอื่นหรือไม่ รวมทั้งนโยบายที่รัฐบาลจัดให้ประชาชนนั้น เป็นไปตามมติ ครม.หรือไม่ หรือเป็นนักการเมืองที่ก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงกรณีที่ นายบุญจง ถูกพรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบ ว่า ทุกคนต้องยอมรับการตรวจสอบและเข้าสู่กระบวนการ แต่ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง และว่า หลังจากตนกลับจากการประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์ในวันที่อาทิตย์นี้ (1 ก.พ.) แล้ว จะดูข้อมูลทั้งหมด ทั้งกรณี นายบุญจง แจกเงินและนามบัตร รวมทั้งกรณี นายวิฑูรย์ นามบุตร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องถุงยังชีพที่แจกชาวบ้านที่ จ.พัทลุง ซึ่งพบปลากระป๋องเน่า จนชาวบ้านส่งคืน) โดยหาก ป.ป.ช.และ กกต.ชี้ว่าผิด ก็จะพิจารณาว่าจะมีการปรับ นายบุญจง และ นายวิฑูรย์ ออกจาก ครม.หรือไม่

ก่อนที่องค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น กกต.-ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ จะชี้ขาดพฤติกรรมของนายบุญจง และ นายวิฑูรย์ ว่า มีการทุจริตหรือเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 จนต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี และ ส.ส.หรือไม่ เราลองมาฟังความเห็นของนักวิชาการและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 กันดู เพราะน่าจะเป็นผู้ที่รู้เจตนารมณ์ของมาตรา 266 ดีที่สุด

นายเดโช สวนานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มองว่า กรณี นายบุญจง แจกเงินสงเคราะห์และนามบัตรแก่ชาวบ้าน น่าจะเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 เพราะเจตนารมณ์ของการร่างมาตรานี้ขึ้นมา เพราะไม่ต้องการให้นักการเมือง หรือข้าราชการการเมืองเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ ดังนั้น รธน.2550 จึงเพิ่มความเข้มงวดของมาตรานี้มากกว่า รธน.2540

“เจตนารมณ์จริงๆ เขาต้องการไม่ให้นักการเมืองเข้าไปแทรกแซงงานของข้าราชการประจำ อันนี้เป็นความคิดของ รธน.2550 ที่เพิ่มเติมขึ้นมา ขยายความจากปี 2540 รธน.ปี 2540 ยังไม่รุนแรงถึงขนาดนี้ แต่ รธน.2550 เราคิดว่าเราไม่ต้องการให้ข้าราชการการเมืองเข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ เลยวางมาตรการข้อนี้ออกมาให้ชัดเจนขึ้น (ถาม-แล้วเราจะแยกยังไง เพราะมันมีมาตรา 268 ที่บอกว่า “เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่”?) ตามอำนาจหน้าที่ก็หมายความว่า ถ้าเขาเป็นข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย เขากำกับดูแลกรมที่ดิน เขาแจกเอกสารสิทธิของกรมที่ดิน นี่ทำตามหน้าที่ ทำได้ แต่รัฐมนตรีบุญจงอยู่กระทรวงมหาดไทย แต่ไปทำหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ไม่ได้ ข้ามกระทรวง”

“ผมเห็นใจ คุณบุญจง บอกเคยทำ (แจกนามบัตร) มา 7-8 ปีแล้ว ผมเป็น ส.ส.ผมก็ทำ ผมรับสารภาพ แต่ตอนนั้นมันไม่ผิด ตอนนั้นเป็นนโยบาย รธน.อนุญาตให้ทำ แถมให้เงินด้วยซ้ำไป ให้เงิน ส.ส.คนละ 3 ล้าน เราเสนอแนะได้เลย คุณต้องจ่ายตามที่ผมเสนอแนะ ผมซื้อเองไม่ได้ แต่ผมบอกว่าคุณต้องซื้ออันนี้ ผมยังซื้อรถให้โรงเรียน....เลย ยังจารึกชื่อผมอยู่เลย (ช่วงก่อนใช้ รธน.2540) พอ รธน. 2540 เริ่มขยับห้าม บอก ไม่งั้นมันหาเสียงกันเหลือเกิน ส.ส.หาเสียงเหลือเกิน ทำศาลาพักร้อนใส่ชื่อ ส.ส.หราเลย เก้าอี้นั่งเขียนชื่อ ส.ส.หมดเลย”


นายเดโช ยังชี้ด้วยว่า ถ้าเผอิญ นายบุญจง ใช้เงินตัวเองแจกชาวบ้านไม่ได้ใช้เงินหลวง หรือเงินแผ่นดินแจก ก็จะไม่เข้าข่ายมาตรา 266 และไม่ถือว่าผิดในแง่หาเสียง เพราะช่วงนี้ไม่ได้ใกล้เลือกตั้ง หรือถ้า นายบุญจง แจกสิ่งของของหน่วยงานที่อยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ข้ามกระทรวง ก็ถือว่าไม่ผิด และไม่เข้าข่ายมาตรา 266 เช่นกัน แต่ต้องแจกที่หน่วยงานราชการ ไม่ใช่ที่บ้านตนเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถาม นายเดโช ว่า ควรแก้ไข รธน.มาตรา 266 ให้คลายความเข้มงวดลงกว่านี้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ ส.ส.จำนวนมากเสนอให้แก้ เนื่องจากส่งผลกระทบทำให้ ส.ส.ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ เกรงจะเข้าข่ายแทรกแซงข้าราชการจนขัดมาตรา 266 นั้น นายเดโช บอกว่า ขึ้นอยู่ว่าคนส่วนใหญ่อยากให้ ส.ส.ทำหน้าที่แค่นิติบัญญัติอย่างเดียว หรือดูแลทุกข์ของประชาชนด้วย

“ต้องดูว่าหน้าที่ของ ส.ส.คืออะไร ถ้าหน้าที่ของ ส.ส.ทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างเดียว ส่วนมากเขาคิดกันอย่างนั้นใช่มั้ย ก็อย่ามายุ่งกับงานดูแลทุกข์สุขประชาชน แต่ผมว่าไม่ใช่ หน้าที่ ส.ส.เนี่ย ดูแลทุกข์สุขประชาชนด้วย ถ้าดูแลทุกข์สุขประชาชน ต้องดูแลเขา ต้องมีงบประมาณส่วนหนึ่งไปดูแล ถ้าไม่มีงบประมาณ จะไปดูแลเขาได้ยังไง เพราะฉะนั้นใจผม ผมรักที่จะให้ ส.ส.ดูแลทุกข์สุขประชาชน เพราะคนที่จะเข้าถึงประชาชนจริงๆ เดินไปหาประชาชน คือ ส.ส.ข้าราชการประจำไม่เดิน ผมเคยเป็นข้าราชการประจำ เคยเป็นอธิบดี ผมรู้ ผมไม่เคยเหยียบในสลัม แต่เมื่อเป็น ส.ส.ผมเหยียบ ผมเดิน ผมย่ำ เข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับเขา เพราะฉะนั้นคนที่เข้าถึงปัญหาจริงๆ เนี่ย คือ ส.ส.เพราะฉะนั้น ส.ส.เมื่อเห็นปัญหาอย่างนี้ ก็ต้องให้เขาทำหน้าที่ของเขา ตรงนี้เป็นปรัชญา ต้องเถียงกันในเชิงหลักการว่า หน้าที่ ส.ส.คืออะไร ถ้าท่านจำกัดหน้าที่ ส.ส.แต่เพียงว่าทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างเดียว อย่างอื่นไม่ต้องยุ่ง หน้าที่ทำบุญกฐิน ทำบุญผ้าป่า อย่าไปยุ่งเลย ไม่ต้องให้ แบบที่ กกต.ออกระเบียบน่ะ ทำบุญไม่ได้ ผมว่ามันจะบ้ากันใหญ่”

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เช่นกัน พูดถึงกรณีที่ นายบุญจง แจกเงินสงเคราะห์และนามบัตรแก่ชาวบ้าน ว่า การจะพิจารณาว่าเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 หรือไม่ ต้องดูข้อเท็จจริงว่า แจกนามบัตรเพื่ออะไร เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์หรือไม่ ถ้าแจกเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ให้เงินนั้น ก็ถือว่าผิด แต่ถ้าแจกนามบัตรเพื่อให้ชาวบ้านรู้จัก ไม่ได้เกี่ยวกับเงินที่แจก ก็ถือว่าไม่ผิด

“เข้า (ม.266) หรือไม่เข้า คงต้องดูข้อเท็จจริงให้ยุติว่า รัฐมนตรีบุญจง เนี่ย เขาได้ไปแจกเงินของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ โดยเอานามบัตรของตัวเองติดไปหรือไม่ เพราะใน รธน.มาตรา 266 ก็ได้บัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้รัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนอื่น ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจความรับผิดชอบของตัวเอง ถ้าหากว่าเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง หรือหาประโยชน์ให้กับตัวเอง อันนี้ก็จะเป็นความผิด (ถาม-การแจกนามบัตร จะถือว่าหาประโยชน์ให้ตัวเอง?) ถ้าแจกธรรมดาปกติ ก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าแจกแล้วเป็นการไปผูกติดกับงบประมาณซึ่งเอาไปแจกราษฎรเนี่ย ก็ถือว่าตัวเองได้ประโยชน์”

“(ถาม-คุณบุญจง บอกว่า ที่ทำไปไม่ได้เจตนาไม่ดี แต่ทำเพื่อประโยชน์ประชาชน และนามบัตรก็ให้เพราะประชาชนขอ ไม่ได้เย็บติดกับเงินด้วย?) อันนี้เป็นข้อเท็จจริง ถ้าเป็นข้อเท็จจริง เป็นการแจกนามบัตรโดยทั่วๆ ไป ก็ไม่มีความผิด ตอนนี้ต้องฟังให้ชัดเจนว่า การแจกนามบัตรดังกล่าวนั้นเป็นการแจกไปพร้อมกับเงินมั้ย หรือเอาเงินไปผูกติดกับนามบัตรหรือเปล่า เพราะถ้าเอาเงินไปผูกติดกับนามบัตรเนี่ย ชาวบ้านที่ได้รับก็จะมีความรู้สึกหรือเข้าใจไปได้ว่า เงินดังกล่าวนี้เป็นเงินของรัฐมนตรีบุญจง หากชาวบ้านรับเงินแล้ว เข้าใจว่า เป็นเงินของรัฐมนตรีบุญจง ก็คือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ของรัฐมนตรีบุญจง อย่างนี้ก็เข้าข่ายที่จะเป็นความผิด แต่ถ้าหากว่าแจกไปตามปกติ ตามหน้าที่การงานในความรับผิดชอบ แต่นามบัตรแจกทีหลังเพื่อให้ชาวบ้านรู้จัก โดยไม่เกี่ยวกับเงิน อย่างนี้ก็ไม่ผิด”


นายเสรี ยังฝากถึงนักการเมืองด้วยว่า ควรทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีธรรมาภิบาล และต้องให้ความสำคัญกับตัวบทกฎหมาย และข้อห้ามต่างๆ ที่ผ่านมา นักการเมืองจำนวนมากไม่ให้ความสนใจ หรือความสำคัญกับตัวบทกฎหมาย เวลาเกิดเรื่องขึ้นมา ก็โทษกฎหมายบ้าง หรือบ่นว่า ทำอะไรก็ผิดไปหมด ทั้งที่ถ้าตนเองให้ความสนใจและปฏิบัติตามกฎหมาย ปัญหาก็จะไม่เกิด

ขณะที่ ดร.เจษฏ์ โทณวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม มองการแจกเงินสงเคราะห์และนามบัตรแก่ชาวบ้านของนายบุญจง ว่า ส่วนตัวแล้วคิดว่า ข้อมูลที่ได้จากสื่อมวลชนยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ทราบข้อเท็จจริงของเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนั้น การจะชี้ว่าการกระทำของ นายบุญจง เข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 หรือไม่ ยังเป็นเรื่องยาก โดยขณะนี้ตนมองว่า สามารถตีความกรณีของนายบุญจงให้เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย ม.266 ก็ได้

“ผมว่า (การแจกนามบัตร) มันก็เป็นการหาเสียงแบบหนึ่ง เท่าที่ผมสังเกตดู มันมีนักการเมืองอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับประเทศ เขาจะแจกต่อเนื่อง พวกนี้ฉลาดแจก ทำให้ค่อยๆ จำ เพราะถ้าไปแจกเฉพาะช่วงเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้วเนี่ย มันมีปัญหาเยอะ แต่แจกด้วยวิธีนี้เนี่ย นานๆ ทีแจก นานๆ ทีแจก แต่มันเป็นเครื่องทำให้ชาวบ้านจดจำ พูดกันง่ายๆ นามบัตรเนี่ย ชาวบ้านไม่ได้นามบัตรจากผู้คนมากมายนักหรอก ผมคิดว่า มันเป็น 1 ในสิ่งที่ทำให้เขาจดจำได้ และพอมีโอกาส ต้องรีบฉวยโอกาส นี่มองในแง่ร้ายนะ ถ้ามองในแง่ดี ก็อาจจะเป็นแค่ว่า เขาอยากให้ชาวบ้านรู้แค่นั้นแหละว่าใครเอามาให้ ก็จบ ก็เหมือนเวลา ส.ส.ทำศาลา ก็ต้องมีชื่อว่า ศาลานี้เป็นงบประมาณ ส.ส.นั้น ส.ส.นี้ก็ว่ากันไป มันก็ทั้งเข้า (ม.266) ได้และเข้าไม่ได้นะ”

“(ถาม-เพราะฉะนั้นอาจจะขัดหรือไม่ขัดก็ได้?) อาจจะขัดหรือไม่ขัดก็ได้ ผมถึงได้ห่วงว่า มันต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าทำอะไร ยังไง ที่ผมเห็นในหนังสือผมคิดว่ามันยังไม่พอ มันยังฟันธงไม่ได้ คือมันต่างกับ จำได้มั้ย สมัยยี้ห้อยร้อยยี่สิบ ที่คุณเนวินแกเย็บรูปหลวงพ่อคูณหรือรูปอะไรสักอย่างติดแบงก์ยี่สิบ ติดในช่วง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง อันนั้นมันชัดเจนอยู่แล้วว่ามันเอื้อประโยชน์ แต่อันนี้ (กรณีนายบุญจง) มันก็พูดยาก (ถาม-ในแง่เจตนา สมมติว่า ไม่เจตนาให้นามบัตรหลังแจกเงิน จะช่วยได้แค่ไหน?) จริงๆ ม.266 มันไม่พูดถึงเจตนานะ คือ ถ้ากระทำผิดก็ถือว่าผิดน่ะ แต่ที่พูดถึงเจตนา ก็เพราะเราไม่รู้ว่าว่าคุณบุญจงแกหวังดีหรือหวังร้ายยังไง แต่ถ้ามันจะช่วยได้ ก็ช่วยได้ตรงเกณฑ์การพิจารณาว่า เออ! ทำแบบนี้เนี่ย จริงๆ แล้วเขาตั้งใจจะเอาเงินหลวงไปแจกเท่านั้นเอง ไม่ได้ตั้งใจจะไปสร้างผลประโยชน์อะไรให้กับพรรคให้กับตัวเอง ก็มองได้แค่นั้น”


ทั้งนี้ นอกจากจะมองว่า การแจกเงินสงเคราะห์และนามบัตรของนายบุญจง ยังเป็นเรื่องก้ำกึ่งว่าจะเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 หรือไม่แล้ว ดร.เจษฎ์ ยังชี้ด้วยว่า การกระทำของนายบุญจง ไม่น่าจะเข้าข่ายทุจริตประพฤติมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพราะการนำเงินหลวงไปแจก ถือว่า ชาวบ้านได้ประโยชน์ ไม่ใช่ได้รับความเสียหาย ยกเว้นว่า นายบุญจง นำเงินนั้นเข้ากระเป๋าตนเอง จึงจะเข้าข่ายทุจริต

ส่วนกรณี นายวิฑูรย์ กับเรื่องปลากระป๋องเน่าจะเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่นั้น ดร.เจษฏ์ มองว่า ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง แต่เบื้องต้นมองว่า ไม่น่าขัดมาตรา 266 แต่จะเข้าข่ายทุจริตตามมาตรา 157 หรือไม่ ก็ต้องดูในแง่การจัดซื้อว่ามีส่วนต่างของราคา หรือมีการนำเงินเข้ากระเป๋าตนเองหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่า นายวิฑูรย์ และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ คงไม่ได้เจตนาซื้อปลากระป๋องเน่าไปแจกชาวบ้าน แต่อาจจะซื้อปลากระป๋องที่ใกล้หมดอายุก็เป็นได้ โดยอาจจะราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดอีกครั้ง!!
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบกรณีนายบุญจงแจกเงินและนามบัตรด้วย
บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ยืนยัน ไม่ได้เย็บนามบัตรเข้ากับเงินที่แจกชาวบ้าน พร้อมย้ำ แจกนามบัตรมาตลอดเพื่อให้ ปชช.ติดต่อตนได้โดยตรง
นามบัตรนายบุญจง
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ชี้ ทุกคนต้องยอมรับการตรวจสอบและเข้าสู่กระบวนการ พร้อมพิจารณาปรับ ครม.หาก ป.ป.ช.ชี้ว่านายบุญจงและนายวิฑูรย์ผิด
ถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ยืนยัน นายบุญจงมีเจตนาดีในการแจกนามบัตรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
สดศรี สัตยธรรม 1 ใน กกต.ส่งสัญญาณว่า หากกรณีนายบุญจงแจกเงินและนามบัตรถือว่าผิด กรณีนายกฯ แจกเงิน 2 พันแก่ ปชช.ที่รายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท ก็อาจผิดด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น