“อิสสระ” เผยลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุวันแรกยังไม่พบปัญหา กทม.มีผู้สูงอายุมาลงทะเบียนกันอย่างคึกคักตั้งแต่เช้า บางเขตมารอตั้งแต่ยังไม่เปิดรับลงทะเบียน ด้านผอ.สท.ลงพื้นที่ จ.ตรัง ตรวจเยี่ยมลงทะเบียนแจ้งสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุวันแรก พบประชาชนตื่นตัว มารอแต่เช้าอย่างคึกคัก พบปัญหาเล็กน้อย บางรายเขียนหนังสือไม่ได้ – หลักฐานไม่ครบ ระบุบางพื้นที่ที่รับลงทะเบียนล่วงหน้าพบแบบฟอร์มไม่แจ้งช่องทางรับเงิน ให้ไปแจ้งเพิ่มเติมได้ ยันเสร็จทันกำหนด 15 มี.ค.นี้แน่นอน
วันนี้ (26 ก.พ.) นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงการเปิดให้ลงทะเบียนผู้สูงอายุเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพว่า วันนี้เป็นวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิเบี้ยผู้สูงอายุ ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ที่ยื่นจดทะเบียน คือ
1.เป็นบุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 ผู้รับสิทธิต้องเกิดก่อน 1 เมษายน 2492 และมีสัญชาติไทย 2.เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในเขตพื้นที่ กทม. เมืองพัทยา เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล 3.ไม่ได้รับเงินสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ
4.ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ข้าราชการการเมืองระดับชาติ ท้องถิ่นทุกรูปแบบ ซึ่งผู้ที่ตรงตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวสามารถขอจดทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบต.และอบจ.ทุกจังหวัด จนถึงวันที่ 15 มีนาคมนี้ หลังจากนั้นคณะกรรมการจะสรุปยอดรวมผู้ลงทะเบียน และจะสามารถจ่ายเบี้ยได้ภายในเดือนเมษายนนี้แน่นอน
สำหรับวันนี้ยังไม่ได้รับรายงานถึงปัญหาแต่อย่างใด แต่ละท้องที่ยังเปิดให้ลงทะเบียนผู้สูงอายุเพื่อรับสิทธิ์อย่างปกติ แต่ก็มีผู้พิการโทร.มาร้องเรียนที่กระทรวงฯ โดยตรงบ้างถึงความไม่ได้รับสิทธิ์โดยเฉพาะคนพิการ แต่ถึงอย่างไรหากคนพิการที่มีอายุครบ 60 ปีก็ยังถือว่าอยู่ตามเกณฑ์ที่กำหนดให้ได้รับสิทธิเช่นกัน ส่วนผู้พิการที่ไม่ถึงเกณฑ์รายอื่นๆ ก็ยังมีเงินช่วยเหลือคนพิการรองรับอยู่” รมว.พม.กล่าว
ด้านนางเพียงใจ วิศรุตรัตน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในการเปิดลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 500 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้สูงอายุได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง ซึ่งวันนี้เป็นวันแรก ปรากฏว่าบรรยากาศในแต่ละเขตเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนให้ความสนใจมาลงทะเบียนจำนวนมาก โดยในช่วงเช้าตนได้เดินทางไปตรวจความเรียบร้อยที่เขตพระโขนง พบว่ามีประชาชนมารอเข้าคิวตั้งแต่ยังไม่เปิดลงทะเบียน จนเจ้าหน้าที่จากฝ่ายพัฒนาชุมชนไม่สามารถรับลงทะเบียนได้ทัน
นางเพียงใจ กล่าวว่า ดังนั้นเขตจึงแก้ปัญหาด้วยการนำเจ้าหน้าที่จากฝ่ายอื่นมาร่วมปฏิบัติหน้าที่ จนเกิดปัญหาไม่สามารถให้รายละเอียดกับผู้มาลงทะเบียนได้อย่างชัดเจน เพราะไม่ได้รับการซักซ้อมทำความเข้าใจก่อนเหมือนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชน เช่น ผู้ลงทะเบียนสามารถรับเงินสดด้วยตัวเองที่เขต และสามารถรับโอนเงินเข้าบัญชีได้ในทุกธนาคาร นอกจากนี้ยังพบว่ามีประชาชนจากต่างจังหวัดที่ทำงานอยู่ใน กทม. ต่างมาสอบถามที่ กทม.จำนวนมาก
ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงไปว่าหลักเกณฑ์การขอรับเงินเหมือนกัน แต่จะต้องไปขอลงทะเบียนตามที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน รวมทั้งมีพระภิกษุสงฆ์และแม่ชี มาสอบถามว่าสามารถขอรับเบี้ยยังชีพได้หรือไม่ ซึ่งตนอยากชี้แจงว่าจริงแล้วไม่มีข้อจำกัด หากไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ ก็สามารถลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพได้
ผอ.สำนักพัฒนาสังคม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้หลังจากที่พบที่พบปัญหาต่างๆ แล้ว ตนได้มีหนังสือไปถึงผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต เพื่อทำความเข้าใจเจ้าหน้าที่ และขอให้รายงานปัญหาและจำนวนยอดผู้มาลงทะเบียนในแต่ละวัน หลังจากปิดรับลงทะเบียนในเวลา 16.00 น.
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติ สมานไทย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์สิทธิเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ (สท.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ จ. ตรัง เพื่อตรวจเยี่ยมสังเกตการณ์การการเปิดลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ อบต.นาโยง และ เทศบาลนครตรัง ว่า
สำหรับวันนี้มีประชาชนเดินทางมาลงทะเบียนอย่างคึกคัก และเท่าที่สังเกตจากการลงพื้นที่การลงทะเบียนในวันแรกนั้นเป็นไปด้วยความราบรื่น ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ การปฏิบัติ ส่วนหนึ่งมาจากการประชาสัมพันธ์ที่ดี และชัดเจนของเจ้าหน้าที่ แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้นอยู่บ้างเล็กน้อยสำหรับผู้สูงอายุบางคนที่เขียนหนังสือไม่ได้ ทำให้การกรอกเอกสารมีความล่าช้า ซึ่งก็ได้แก้ไขโดยการได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ และบางส่วนก็มีปัญหาในเรื่องของเอกสาร หลักฐานที่นำมาไม่ครบ
“วันนี้กับการเปิดลงทะเบียนผู้สูงอายุวันแรกเห็นได้ชัดว่าชาวบ้านที่นี่มีความตื่นตัวอย่างมาก เพราะมีผู้สูงอายุ พร้อมลูกหลานมารอเพื่อลงทะเบียนตั้งแต่ 07.00 น. ซึ่งทางราชการก็ได้เปิดให้ลงได้ในเวลาประมาณ 08.00 น. และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่รับลงทะเบียนก็เป็นไปอย่างเรียบร้อย รวดเร็วเพราะก่อนหน้าที่จะเปิดรับลงทะเบียนนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยก็ได้มีหนังสือแจ้งถึงรายละเอียด ข้อกำหนด ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน ทำให้การทำงานไม่พบปัญหาในส่วนของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด” ผอ.สท.กล่าว
นายกิตติกล่าวต่อว่า ในส่วนของปัญหาก่อนหน้านี้ที่มีหลายพื้นที่เปิดให้มีการลงทะเบียนล่วงหน้า ทำให้แบบฟอร์มการลงทะเบียนมีความแตกต่างกัน เนื่องจากในแบบฟอร์มเก่าจะไม่ได้ระบุถึงช่องทางในการรับเงิน แต่ชุดใหม่จะให้ผู้ลงทะเบียนสามารถระบุได้ว่าจะรับเงินผ่านช่องทางไหน ซึ่งสำหรับผู้ที่ใช้แบบฟอร์มเก่าก็ให้มาแจ้งกับเจ้าหน้าที่รับลงทะเบียนเพิ่มเติมถึงช่องทางที่จะรับเงิน และสำหรับพื้นที่ที่ยังใช้แบบฟอร์มเก่าอยู่ก็ให้อยู่ในดุลยพินิจของ อปท.ว่าจะปรับเปลี่ยนแบบฟอร์มหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็ยืนยันว่าการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนี้จะเสร็จทันในช่วงเวลาที่กำหนดไว้คือตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 15 มีนาคมนี้แน่นอน ซึ่งบางพื้นที่อาจเสร็จภายใน 2-3 วันก็เป็นได้
เมื่อถามว่าจะมีการใช้ชื่อคนที่เสียชีวิตไปแล้วมาแอบอ้างรับสิทธิ์หรือไม่นั้น นายกิตติกล่าวว่า ในส่วนการแอบอ้างไม่น่าจะมีเพราะเมื่อพิจารณาดูแลจะพบว่าการเปิดให้ลงทะเบียนผู้สูงอายุครั้งนี้ดำเนินการในส่วนเล็ก โดย อปท. ของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดเป็นผู้รวบรวม ทำให้ข้อมูลสามารถตรวจสอบได้ง่าย และมีความชัดเจน ถึงแม้จะนำชื่อคนที่เสียชีวิตแล้วมาแอบอ้างก็สามารถตรวจสอบได้