พม.สรุปหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ให้ยื่นลงทะเบียนตั้งแต่ 26 ก.พ.-15 มี.ค.โดยต้องมีชื่อตามทะเบียนบ้าน ในพื้นที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัด-สำนักงานเขต พร้อมอนุมัติหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน ทั้งรับด้วยตนเอง และผ่านบัญชี ในกรณีที่รับด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องมีใบมอบอำนาจแนบท้าย คาด 30 เม.ย.นี้ เงินถึงมือทุกคน เป็นเวลา 6 เดือน เดือนละ 500 บาท หลังจากนั้น จะดำเนินการต่อหรือไม่แล้วแต่นโยบายรัฐบาล
วันนี้ (4 ก.พ.) เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น.ที่ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายกิตติ สมานไทย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินงานนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า ก่อนหน้านี้ ได้วางกรอบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ โดยจะเริ่มให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปมาจดทะเบียน เพื่อรับเบี้ยยังชีพคนละ 500 บาท ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ.ทุกจังหวัด หรือสำนักงานเขต ได้ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม จากนั้นระหว่างวันที่ 15-31 มีนาคม คณะอนุกรรมการจะสรุปข้อมูลยอดรวมผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพ และคาดว่า ภายในสิ้นเดือนเมษายนเป็นต้นไป ผู้สูงอายุที่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับเบี้ยยังชีพตามที่กฎหมายกำหนด
นายกิตติ กล่าวอีกว่า ส่วนผลสรุปในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น จะมีการจ่ายเป็นรายเดือนๆ ละ 500 บาท โดยกำหนดการจ่ายเป็น 2 แนวทาง คือ จ่ายเป็นเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิรับเงินสวัสดิการของผู้สูงอายุ และจ่ายเป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการของผู้สูงอายุเป็นลายลักษณ์อักษร
นอกจากนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่จัดทำประกาศ หรือประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุทราบสิทธิของตนเอง และให้ยื่นคำขอตามวันและเวลาที่กำหนด โดยหลักฐานที่ใช้ ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาเลขที่บัญชีธนาคารในกรณีของรับเงินผ่านธนาคาร ทั้งนี้ ผู้สูงอายุต้องยื่นสิทธิในสำนักงานท้องที่ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้นๆ
ในส่วนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ ได้แก่ 1.เป็นบุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 ผู้รับสิทธิต้องเกิดก่อน 1 เมษายน 2492 และมีสัญชาติไทย 2.เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อยู่ในเขตพื้นที่ กทม.เมืองพัทยา เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล 3.ไม่ได้รับเงินสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ 4.ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ข้าราชการการเมืองระดับชาติ ท้องถิ่นทุกรูปแบบ
“สำหรับผู้สูงอายุที่รับสวัสดิการจากทางรัฐอยู่เดิมแล้วนั้นไม่สามารถลงทะเบียนรับเงื่อนไขครั้งนี้ได้ โดยคาดว่า การจ่ายเงินยังชีพผู้สูงอายุตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลจะเริ่มจ่ายถึงมือผู้รับสิทธิได้ในวันที่ 30 เมษายนนี้ โดยผู้สูงอายุสามารถรับเงินได้ด้วยตนเองที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ.ทุกจังหวัด หรือสำนักงานเขต โดยนำบัตรประชาชน หรือบัตรของทางราชการเพื่อใช้ยืนยัน ในส่วนผู้ที่ไม่สามารถไปรับได้ด้วยตนเองก็ต้องมีใบมอบอำนาจมายื่น ส่วนผู้ที่รับผ่านบัญชีเงินฝากก็ถอนได้ตามปกติ โดยจะได้รับเงินเรื่อยไปเป็นระยะเวลา 6 เดือนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งใช้งบทั้งสิ้น 9,000 ล้านบาท คาดว่า จะจ่ายเงินได้ครอบคลุมผู้สูงอายุประมาณ 70% ของจำนวนผู้สูงอายุที่มีสิทธิดังกล่าว และหลังจาก 6 เดือนที่มีการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้วนั้นก็ต้องรอดูต่อไปว่านโยบายของรัฐบาลจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จะมีการจ่ายต่อหรือไม่” นายกิตติ กล่าว
อนึ่งจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศจากข้อมูลสำนักสถิติพบว่าในปี 2552 นี้มีจำนวนทั้งสิ้น 7,440,000 คน แต่จากข้อมูลระบุว่ามีผู้สูงอายุที่ได้รับเงินสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นจากหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว มีจำนวน 2,979,975 คน ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้ 1.ข้าราชการบำนาญจากระบบข้าราชการ จำนวน 359,877 คน 2.ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพอยู่แล้ว แบ่งเป็นส่วนภูมิภาค จำนวน 2,342,375 คน ส่วนของกรุงเทพมหานคร จำนวน 43,726 คน 3.คนพิการที่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว จำนวน 233,207 คน 4.ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่เป็นโรคเอดส์ จำนวน 110 คน 5. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แบ่งเป็น ส.ส. 480 คน และ ส.ว. 200 คน ดังนั้นทำให้ผู้สูงอายุที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ใหม่คาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 4,460,025 คน