xs
xsm
sm
md
lg

ต่อต้าน “ประชาธิปไตยส่วนตัว” กับบทบาทของ “พลเมืองเข้มแข็ง”( บทความวิพากษ์การแสวงหาประชาธิปไตยที่เห็นแก่ตัว )

เผยแพร่:   โดย: รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง,รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย

ผู้เขียนเห็นว่านายกฯ อภิสิทธิ์ของเรากำลังเดินไปในทางที่ผิดแล้วในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เพราะสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้อาจกล่าวได้ว่ามาจากการแสวงหาประชาธิปไตยที่เห็นแก่ตัวของหลายๆฝ่ายที่อ้างว่า ประเทศไทยในปัจจุบันไม่มีประชาธิปไตย

ข้อเรียกร้องประการหนึ่งก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เนื่องจากมีการอ้างอยู่เสมอๆ ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

หากจะเปรียบเทียบกับเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงหลายๆ คน เช่น นักการเมือง หรือนักวิชาการ จะรู้จักประชาธิปไตยดีกว่าผู้คนเมื่อกว่า 70 ปีก่อนหรือไม่ ประชาชนในฐานะพลเมืองเช่นพวกเราที่เคยรู้จัก “รัฐธรรมนูญ” ว่าเป็นลูกของพระยาพหลฯ นั้น ได้รู้จักประชาธิปไตยได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนหรือไม่ และรู้ดีกว่านักการเมืองที่เกี่ยวข้องโดยตรงในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด

นายกฯ อภิสิทธิ์ได้กล่าวในช่วงสุดท้ายของการอภิปรายของ 2 สภาร่วมตามมาตรา 179 เพื่อแก้วิกฤตการเมืองเมื่อ 22-23 เม.ย. 52 ที่ผ่านมาว่า พร้อมที่จะรับฟังทุกข้อเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ หรือเรื่องนิรโทษกรรม แต่ก็มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่รวมเอาเรื่องที่เป็นคดีอาญาและคดีคอร์รัปชันเข้ามาพิจารณา นายกฯ อภิสิทธิ์ยังได้ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ต้องยึดในหลักการไม่ยึดตัวบุคคล ไม่ควรตั้งเป้าว่าคนพวกใดจะได้คืนสิทธิหรือควรจะดองเอาไว้ ดูระบบดูความเป็นธรรมก่อนแล้วบางทีคำตอบอาจจะเป็นอะไรก็ได้

ผลของการชี้โพรงเปิดช่องให้กระรอก พรรคการเมืองเกือบทุกพรรคที่มี ส.ส.ในสภาต่างมีท่าทีเกี่ยวกับ ความผิดทางการเมืองว่าเป็นสิ่งที่ต่อรองได้ ดังจะเห็นได้จากพรรคที่มี ส.ส.ในสภาไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย เพื่อแผ่นดิน ชาติไทยพัฒนา ประชาราช หรือ รวมใจไทยชาติพัฒนา ต่างก็มีท่าไปในทิศทางเดียวกันว่าหากไม่แก้มาตรา 237 ก็ต้องมีการนิรโทษกรรมให้บรรดานักการเมืองที่ติดอยู่ที่บ้านเลขที่ 111 และ 109 ด้วยเหตุผลหลักก็คือไม่เป็นธรรมกับกรรมการบริหารพรรคและพรรคที่อาจไม่รู้เรื่องจึงไม่ควรจะต้องเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบกับการกระทำที่ตนไม่รู้เห็นด้วย

บทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบร่วมกันของกรรมการบริหารพรรคต่อการกระทำของบุคคลภายในพรรคในเรื่อง การซื้อเสียงตามมาตรา 237 เป็นการอาศัยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เป็นปัญหาร้ายแรงต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันเป็นเจตนาอันหนึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ให้ดีกว่าฉบับ พ.ศ. 2540 เพราะบรรดาพรรคการเมืองมักจะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำของบุคคลในพรรคในเรื่องการซื้อเสียงว่าเป็นความผิดส่วนบุคคลไม่เกี่ยวกับพรรค อันเป็นการทำให้การเมืองไทยต้องวนเวียนอยู่กับการทุจริตอย่างไร้ซึ่งหนทางแก้ไข

การอาศัยหลักการของความรับผิดชอบร่วมกันหรือ collective action จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 นำมาใช้และมิใช่เป็นของใหม่หากมีอยู่ในระบบกฎหมายไทยในหลายมาตรา

ตัวอย่างเช่น เจ้าของสุนัขไม่ดูแลปล่อยให้สุนัขของตนไปไล่กัดชาวบ้าน กฎหมายไทยก็มิได้ลงโทษจับสุนัขไปขัง หากแต่ให้เจ้าของสุนัขต้องร่วมรับผิดชอบด้วย มิเช่นนั้นเจ้าของสุนัขก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบอย่างหน้าด้านๆ ว่าให้จับสุนัขไปขังคุกแทนก็แล้วกัน แทนที่จะดูแลไม่ปล่อยปละละเลยสุนัขของตนมิให้ไปไล่กัดคนอื่น

ในทางการเมือง การตัดสินใจจึงอ้างดังเช่นในทางเศรษฐกิจไม่ได้ว่าความรับผิดชอบของตนนั้นมีอย่างมากที่สุดแค่หุ้นที่ตนถืออยู่หรือ money vote หากแต่ต้องรับผิดชอบร่วมกันแม้ว่าคุณจะเป็นเสียงส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ก็ตาม หากรับผิดชอบไม่ได้ก็ออกมาอย่าเป็นกรรมการพรรคการเมืองไปเป็นกรรมการทอดผ้าป่าจะดีเสียกว่า

ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การตัดสิทธิทางการเมืองมิใช่โทษในทางอาญา เพียงแต่ห้ามมิให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิอย่าได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5 ปี เป็นต้น ไม่ได้ห้ามไปตลอดชีวิต เปรียบเสมือนนักฟุตบอลถูกใบแดงไล่ออกจากสนาม ก็มีผลเพียงห้ามเล่นในนัดต่อไปและทีมถูกปรับเงินหรือแต้ม ทำไมจึงคิดว่าสังคมหรือทีมฟุตบอลจะขาดพวกคุณไปไม่ได้ มาตรการตัดสิทธินี้จะช่วยพัฒนามาตรฐานไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือนักฟุตบอลมิให้เล่นนอกกติกาเอาเปรียบผู้อื่นๆ มิใช่หรือ

ประชาชนทั่วไปในฐานะ “พลเมืองเข้มแข็ง” จึงก้าวหน้าไปกว่านักการเมืองที่ชอบอ้างตรรกะเอาแต่ได้ข้างต้นเสียแล้ว เพราะรู้อยู่แล้วว่าสังคมแค่ขาดผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปเพียง 220 คนได้และไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรเลย

การอ้างว่าผู้ที่ถูกตัดสิทธิก็จะส่งตัวแทนเข้ามาเป็น “ร่างทรง” หรือ nominee หากไม่แก้กติกา ตกลงแล้วเป็นความผิดของกฎหรือเป็นความผิดของผู้ที่ไม่เคารพกฎกติกากันแน่

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมิใช่เรื่องแปลก เพราะรัฐธรรมนูญมิใช่บัญญัติ 10 ประการ แต่การแก้ไขที่มีเหตุผลรับฟังได้ต้องกระทำก่อนเกิดการกระทำผิด ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์เช่นกันได้แสดงให้เห็นว่า พรรคการเมืองที่ขอแก้ไขมาตรา 237 หรือขอนิรโทษกรรม ต่างก็ไม่เคยมีความเห็นในเรื่องนี้เลยเมื่อมีการทำประชาพิจารณ์หรือขอความเห็นในมาตรานี้ในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ หากแต่เกิดเพราะกกต.ได้มีมติให้ใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช หนึ่งในกรรมการบริหารพรรคเมื่อ มี.ค. 51 ที่ผ่านมาหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 เมื่อ 24 สิงหาคม 50 ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงของการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพื่อหนีการถูกยุบพรรคพลังประชาชน เพราะรู้แก่ใจดีอยู่แล้วว่ากรรมการบริหารพรรคมิใช่รู้เห็นเป็นใจหากแต่ซื้อเสียงเสียเอง เช่นเดียวกับพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่มีพฤติกรรมในทำนองเดียวกันและถูกยุบพรรคในเวลาต่อมา

ความวุ่นวายทางการเมืองในขณะนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเผยแพร่แนวคิดของการไม่เคารพกฎหมายของทักษิณ ชินวัตร และพวกสมุนในระบอบทักษิณ เพราะเป็นการทำให้สถาบันยุติธรรมที่เป็นเสาหลักของระบบประชาธิปไตยต้องเสียหายไป

การแก้ไขมาตรา 237 หรือนิรโทษกรรมเมื่อมีการกระทำผิดแล้วจึงเป็นการทำลายระบบนิติศาสตร์ของประเทศอย่างเห็นแก่ตัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติไม่เคารพหลักนิติรัฐ มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายสูงสุดของประเทศ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงเป็นการทำลายหลักในเรื่องความถูกผิด หลักการปกครองกฎหมายโดยสิ้นเชิง แล้วจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยเรียกร้องให้ประชาชนเคารพกฎหมายในขณะที่ตนเองละเมิดกฎหมายได้อย่างไร

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เมื่อ 7 เม.ย. 51 ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์มติชนตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า มาตรา 237 นี้มีไว้เพื่อทำลายพรรคการเมืองบางพรรค และทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอ เป็นระบบที่ขัดต่อหลักนิติธรรม นำไปสู่วิกฤตและทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง

เมื่อเปรียบเทียบกับจาตุรนต์ อดีตนักการเมืองผู้แสวงหาประชาธิปไตย ประชาชนในฐานะ “พลเมืองเข้มแข็ง” ก้าวหน้าไปกว่านักการเมืองพวกนี้เสียแล้ว เพราะประชาชนรู้แล้วว่าสิ่งที่จาตุรนต์กล่าวมาเป็น “ประชาธิปไตยส่วนตัว” ของจาตุรนต์และพวกพ้องเท่านั้น

พวก “เสื้อแดง” พวก “เสื้อสูท” ในสภาที่เป็นแนวร่วมเดียวกัน และอาจจะรวมสื่อฯ เช่น มติชนหรือไทยรัฐเข้าไปด้วย ต่างกล่าวอ้างอยู่เสมอๆ ว่านายกฯ อภิสิทธิ์มีที่มาอย่างไม่ชอบธรรมไม่เป็นประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้ผลิตนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3 คน โดย 2 คนแรกเป็นนายกฯ ที่เป็นร่างทรงของทักษิณ ชินวัตร ทำไมด้วยกติกาเดียวกัน สมัครและสมชายจึงเป็นนายกฯ ในระบอบประชาธิปไตยแต่นายกฯ อภิสิทธิ์ไม่ใช่

ประชาธิปไตยต้องมาจากเสียงข้างมาก พรรคเพื่อไทยมีเสียง ส.ส.มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ดังนั้นต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลเพราะถูกอำนาจอำมาตยาธิปไตยเข้าแทรก เป็นวาทกรรมที่ได้ยินอยู่เสมอๆ ดังนั้นจึงต้องเรียกร้องประชาธิปไตยโดยให้นายกฯ อภิสิทธิ์ลาออกหรือยุบสภา

พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็ไม่มี ส.ส.ในสภาแม้แต่คนเดียว หากแต่เมื่อพรรคพลังประชาชนที่ถูกตั้งขึ้นมาเมื่อพรรคไทยรักไทยถูกศาลตัดสินยุบพรรค ก็ถูกศาลตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนเช่นเดียวกับพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา บรรดา ส.ส.จึงย้ายเข้ามาสู่พรรคเพื่อไทย การอ้างว่าพรรคเพื่อไทยมีเสียง ส.ส.มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ถูกต้อง เพราะเดิมไม่เคยมี ส.ส.เลย

หากจะอ้างว่าพรรคเพื่อไทยก็คือ พรรคพลังประชาชนเดิม และก็คือพรรคไทยรักไทยแต่เก่าก่อน ทำไมเวลาเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีให้เลือกในสภาจึงไม่เสนอชื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกพรรคตนเองเข้าแข่งขัน แต่กลับไปเสนอชื่อคนจากพรรคเพื่อแผ่นดินที่มีเสียงน้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์เสียอีก

การจัดตั้งรัฐบาลต้องอาศัยเสียงส่วนใหญ่ ในกรณีไม่ได้เสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวก็ต้องอาศัยเสียงจากพรรคอื่นๆ เป็นรัฐบาลที่ผสมกันหลายพรรค ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทยก็เคยทำเช่นนี้ แต่ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ทำไม่ได้

การเจรจาเพื่อตั้งรัฐบาลผสมของสมัครใช้เวลากว่า 30 วันและสังคมก็ได้ให้โอกาสพวกคุณจัดตั้งรัฐบาลถึง 2 ครั้งแล้ว การบริหารชาติบ้านเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ทำไมสังคมจะต้องให้โอกาสกับความล้มเหลวจากรัฐบาลที่พวกคุณจัดตั้งขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 อีกเล่า?

การจัดตั้งรัฐบาลที่ไหนอาจไม่สำคัญเท่ากับผลงานที่รัฐบาลได้กระทำ เพราะอย่าลืมว่า ส.ส.มีเอกสิทธิ์ในการลงมติในกรณีเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่มติพรรคไม่สามารถบังคับได้ และผู้ลงมติก็เป็น ส.ส.ชุดเดียวกับที่ลงมติให้ทั้งสมัครและสมชายเป็นนายกฯ ทำไมเมื่อลงมติเลือกอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ จึงไม่ชอบธรรมหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ที่สำคัญเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผยที่สภามิใช่ในค่ายทหารหรือที่ฮ่องกงทั้ง 3 ครั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550

ประชาธิปไตยของพวกคุณทั้งที่เป็นของพวก “เสื้อแดง” พวก “เสื้อสูท” ในสภาที่เป็นแนวร่วมเดียวกัน และอาจจะรวมสื่อฯ เช่น มติชนหรือไทยรัฐ จึงพิสูจน์แล้วว่าเป็น “ประชาธิปไตยส่วนตัว” ที่แตกต่างไปจากประชาธิปไตยของประชาชน “พลเมืองเข้มแข็ง” อย่างสิ้นเชิง

บทบาทของพลเมืองเข้มแข็งได้ปรากฏขึ้นมาอย่างไม่ขาดสายและก้าวหน้ามากกว่านักการเมือง หรือสื่อฯ ดังจะเห็นได้จาก

การรวมตัวของประชาชนที่ขัดขวางการปิดถนนที่แยกสาทร-นราธิวาสฯ การปกป้องรักษาชุมชนของประชาชนนางเลิ้ง เพชรบุรีซอย 5 หรือจาก

การใช้มาตรการทางสังคมลงโทษหนังสือพิมพ์บางฉบับที่เผยแพร่ข้อเท็จให้กับสังคม เชียร์ทักษิณอย่างไม่รู้ถูกผิดอยู่เป็นนิตย์ จนต้องมีการเปลี่ยนแปลงบรรณาธิการในกรณีของหนังสือพิมพ์มติชนซึ่งกว่าจะเปลี่ยนได้ก็สายเกินกว่าที่มติชนจะสามารถกู้ชื่อเสียงคืนมาได้แล้ว เพราะคุณเปลี่ยนตัวเมื่อรู้ว่าไปไม่รอดมิใช่เปลี่ยนเพราะรู้สำนึกว่าทำผิด หรือการถูกเรียกร้องว่าลำเอียงเข้าข้างฝ่ายเสื้อแดงอย่างไม่มีเหตุผลในกรณีของคนเขียนการ์ตูนหน้า 3 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่มักใช้หน้า 3 ของทีมข่าวการเมืองแอบเชียร์ฝ่ายเสื้อแดงอย่างออกนอกหน้า หรือจาก

วิดีโอคลิปจากสาวไทยใจเด็ดที่มีคนดูหลายแสนคนที่กล้าเปิดเผยความเลวที่เป็นจริงของทักษิณ ชินวัตรเป็นภาษาอังกฤษกับชาวโลกผ่านเว็บไซต์ Youtube ผู้ที่ไม่ว่าเธอจะเป็นใครแต่หัวใจของเธอใหญ่เกินกว่าหัวใจของชายชื่อจตุพรแน่นอน เพราะเธอไม่ได้เรียกร้อง “เอกสิทธิ์” หรือหาพวกอีก 300,000 คนเพื่อไม่ไปมอบตัวแต่ประการใด แถมยังบอกทักษิณอีกว่าจะมาฆ่าเธอเมื่อไรก็ได้ แต่ไม่พูดถึงความเลวของคุณไม่ได้

จตุพรเอ๋ย จงรู้ไว้ว่าขนาดของ “หัวจิตหัวใจ” นั้น ไม่ได้วัดตามขนาด “หัว” หรือ “ตัว” แต่ประการใด

ปรากฏการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าบทบาทของ “พลเมืองเข้มแข็ง” ได้ก้าวไปไกลเกินกว่านักการเมืองที่สังคมไทยมีอยู่ในปัจจุบันจะปรับตัวตามได้ทัน สื่อโปรโมต เช่น การออกหนังสือของลูกชื่อ 3 พยางค์ทั้ง 3 คนที่เขียนเชียร์พ่อของตนที่ทำผิดคิดร้ายกับบ้านเมือง หรือของหมวดเจี๊ยบจึงหมดมุกและไม่ได้ทำให้สังคมคล้อยตามแต่อย่างใดเพราะสังคมเริ่มรู้เท่าทันว่าเป็นเรื่องของ “ประชาธิปไตยส่วนตัว” ในครอบครัววงศาคณาญาติของคุณเอง

ความรุนแรงของพวก “กบฏเสื้อแดง” เมื่อ 8-13 เม.ย. 52 ที่ผ่านมาก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ “ประชาธิปไตยส่วนตัว” ของทักษิณ ที่ต้องการก่อความรุนแรงเพื่อที่จะมาเป็นเงื่อนไขเพื่อเจรจา หนีคดี หนีคุก หนีการยึดทรัพย์ โดยอาศัยการจับประชาชนและประเทศไทยเป็นตัวประกัน การปิดถนนหลายสายในกรุงเทพฯ ก็ดี การล้มการประชุมนานาชาติที่พัทยาก็ดี หรือการก่อการจลาจลที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แยกดินแดง ก็เพื่อที่จะเรียกร้องให้มีการเจรจา เพราะหากไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นจะมีการเจรจาปรองดองกันได้อย่างไร

ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดจากการบังอาจเรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้ามาแทรกแซงเพื่อระงับเหตุความรุนแรงจากทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆ ที่ความรุนแรงดังกล่าวพวก “กบฏเสื้อแดง” เป็นผู้ก่อขึ้นมาทั้งสิ้น หากพวก “เสื้อสูท” ยังพยายามจะทำขาวให้เป็นดำ ก็ลองตอบคำถามง่ายๆ ดูก็ได้ว่า หากไม่มีคนจ่ายเงินสนับสนุนพวก “กบฏเสื้อแดง” เอาเงินที่ไหนมาเคลื่อนไหว

ประชาธิปไตยที่พวก “กบฏเสื้อแดง” หรือ “พวกเสื้อสูท” เรียกร้องจึงเป็น “ประชาธิปไตยส่วนตัว” เพื่อทักษิณคนเดียว หรือจะบอกว่าทักษิณสู้เพื่อพวกคุณทั้งๆ ที่ลูกเมีย และญาติของเขาได้อพยพเดินทางออกจากประเทศไทยไปก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้น “ประชาธิปไตยส่วนตัว” ที่เขาเรียกร้องจะเกิดโดยมีพวกคุณมีชีวิตอยู่หรือไม่นั้นเขาไม่สนใจแม้แต่น้อย

สำหรับนายกฯ อภิสิทธิ์ การชี้โพรงให้กระรอกโดยเปิดโอกาสให้มีการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการปฏิรูปการเมืองนั้น ผู้เขียนคิดว่านายกฯ อภิสิทธิ์กำลังทำผิดครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะโดยหลักการแล้ว การปฏิรูปการเมืองกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำหรับวิกฤตการณ์การเมืองในครั้งนี้เป็นคนละเรื่องเดียวกัน กล่าวง่ายๆ คือการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่คำตอบ

สาเหตุของวิกฤตการเมืองในปัจจุบันเกิดจากความต้องการของคนเพียงคนเดียวคือทักษิณ ชินวัตรที่ไม่ยอมรับกติกาใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากมันไม่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ ดังนั้นไม่ว่านายกฯ อภิสิทธิ์จะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร แต่หากไม่สามารถทำให้ทักษิณ รอดคุก รอดยึดทรัพย์ รอดคดีที่มีเหลืออยู่ก็ไม่ตรงกับความต้องการของเขา และความวุ่นวายทางการเมืองก็จะต้องเกิดขึ้นร่ำไปเพราะเป็นเครื่องมือของเขาเพื่อบีบให้เกิดการเจรจา

แนวทางที่จะไม่รวมเอาความผิดอาญาและความผิดเกี่ยวกับคอร์รัปชันจึงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยาก

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตรา เช่น มาตรา 237 หรือการนิรโทษกรรมซึ่งเป็นแนวทางที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความไม่ปรองดองหรือไม่เกิดความสมานฉันท์แต่อย่างใด

นายกฯ อภิสิทธิ์อย่าลืมว่าท่านก็เป็นนักการเมืองที่มีส่วนได้เสียโดยตรงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น การริเริ่มแก้ไขกฎจากผู้มีส่วนได้เสียก็เป็นการขัดกันของผลประโยชน์โดยชัดแจ้งและเป็นสิ่งที่ต้องห้ามโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และที่สำคัญก็คือประชาชนได้อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นอกจากนักการเมืองทำผิดแล้วพ้นผิด

วาระประชาชนที่ท่านเคยกล่าวว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” นั้น บัดนี้มันมาก่อนนักการเมืองที่ไม่เคยสร้างประโยชน์ให้ประชาชนที่ตรงไหน ทำไมจึงดูคล้ายกับ นักการเมืองและความอยู่รอดของรัฐบาลต้องมาก่อน

หากจะมีคนอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากเผด็จการรัฐประหารก็ขอให้ตอบเขาไปเถิดว่ามีรัฐธรรมนูญฉบับใดในประเทศไทยบ้างที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากเผด็จการ ในทางตรงกันข้ามผู้ที่เป็นเผด็จการต่างหากที่ไม่ใช้อำนาจดังกล่าวและมอบอำนาจมาให้ประชาชนใช้โดยการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาบังคับใช้แทนอำนาจที่เผด็จการมีอยู่ ตัวหนังสือมันเป็นเผด็จการไม่ได้แต่คนต่างหากที่ทำให้เป็นเผด็จการก็ได้หรือไม่เป็นก็ได้

พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินที่นายกฯ อภิสิทธิ์ใช้ในการสลายการชุมนุมเป็นตัวอย่างที่ดีว่าตัวหนังสือตามกฎหมายนี้มันเป็นเผด็จการ ร่างโดยรัฐบาลสมัยทักษิณ แต่นายกฯ อภิสิทธิ์ก็ใช้แบบไม่เป็นเผด็จการได้มิใช่หรือ

อย่าลืมว่าประชาชนเป็นผู้ออกกฎให้ท่านปฏิบัติตาม มิใช่ท่านเป็นผู้ออกกฎให้ประชาชนปฏิบัติตาม เพราะอำนาจที่ท่านใช้ออกกฎมาจากประชาชนมอบให้ ท่านมีหน้าที่ชัดเจนที่จะต้องรักษากฎของบ้านเมืองเอาไว้อย่างเคร่งครัด

ผู้เขียนขอเตือนนายกฯ อภิสิทธิ์ด้วยความหวังดีว่า จงอย่าฝืนเดินทางนี้อีกต่อไปเลย เพราะมันไม่ใช่ทางออกจากวิกฤตการณ์การเมืองอย่างแน่นอน แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่ท่านเห็นอาจเป็นรถไฟขบวนประชาชนที่กำลังแล่นสวนเข้ามา เพราะประชาชน“พลเมืองเข้มแข็ง” เห็นต่างจากท่าน มิเช่นนั้นท่านก็กำลังสร้าง “ประชาธิปไตยส่วนตัว” ท่ามกลางประชาชนที่เป็น “พลเมืองเข้มแข็ง” ซึ่งจะทำให้ท่านโดดเดี่ยวและล้มเหลวเหมือนเช่นนักการเมืองเลวๆ คนอื่นๆ ก่อนหน้านี้

ทางออกจากวิกฤตการเมืองในปัจจุบันก็คือการเอาชนะทักษิณ ชินวัตร ด้วยการกดดันให้ทักษิณ ชินวัตร ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยให้เท่าเทียมกับประชาชนคนอื่นๆ ให้ได้ต่างหาก

ประชาชนที่เป็น “พลเมืองเข้มแข็ง” จะต้องร่วมกันกดดันให้ปรากฏการณ์นี้เป็นจริงให้จงได้ และจะต้องไม่ยอมให้พวกนักการเมืองเสวยสุขจาก “ประชาธิปไตยส่วนตัว” ของพวกเขาเป็นอันขาด

หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น