อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
สัปดาห์หน้า วันที่ 16-17 ก.ย.ก็จะมีการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่ออภิปรายเรื่องแก้ รธน.แล้ว หลัง 150 ส.ส.-ส.ว.เดินเกมเข้าชื่อยื่นญัตติขอแก้ไข รธน.7 ประเด็น ซึ่งทุกประเด็นล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ต่อ ส.ส.-ส.ว.ที่เป็นผู้เสนอแก้ทั้งสิ้น ไม่เท่านั้น บางประเด็นยังส่อว่าต้องการแก้เพื่อช่วยพรรคพวกที่ทำผิดให้พ้นผิดอีกด้วย เช่น มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค เป็นต้น เมื่อ ส.ส.-ส.ว.เหล่านี้กล้าทำในสิ่งที่ขัดต่อตำแหน่งหน้าที่และมีผลประโยชน์ทับซ้อน ประชาชนก็ไม่ต้องการให้ “ผู้แทน” ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป จึงเดินหน้ายื่นถอดถอน ขณะที่ ส.ว.บางคนไหวตัวทัน ชิงถอนชื่อก่อน ส่วนที่เหลือ เห็นทีจะรอดยาก เพราะหลายเสียงเห็นตรงกันว่า พฤติกรรมของ ส.ส.-ส.ว.ดังกล่าว เข้าข่ายขัด รธน.แน่นอน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ได้มี ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง นำโดยนายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี นำรายชื่อ ส.ส.และ ส.ว.ที่รวบรวมได้ประมาณ 150 คน ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ใน 7 ประเด็นต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา โดยอ้างว่าใช้สิทธิตาม รธน.มาตรา 291 ที่บัญญัติให้ ส.ส.-ส.ว.จำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด สามารถเสนอแก้ไข รธน.ได้
ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่า ส.ส.-ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อเพื่อขอแก้ไข รธน. แบ่งเป็น ส.ส.88 คน และ ส.ว.64 คน โดย เป็น ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย 80 คน, พรรคประชาราช 3 คน, พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน, พรรคภูมิใจไทย 1 คน และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 1 คน ส่วน ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อส่วนใหญ่เป็น ส.ว.จากการเลือกตั้ง
สำหรับประเด็น ที่ ส.ส.-ส.ว.กลุ่มนี้ต้องการแก้ไข รธน.7 ประเด็นนั้น มี 6 ประเด็นที่นำมาจากข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.จะแก้ไขที่มาของ ส.ส.โดยเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ส.จากเขตใหญ่เรียงเบอร์ เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน 2.แก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มีแต่ ส.ว.จากการเลือกตั้งเท่านั้น 200 คน แต่มีบทเฉพาะกาลว่า ให้ ส.ว.สรรหาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ 6 ปี พูดง่ายๆ ก็คือ จะยืดอายุของ ส.ว.สรรหาจากเดิม 3 ปี เป็น 6 ปีนั่นเอง 3.มาตรา 190 จะคงหลักการเดิม แต่ให้ระบุว่าหนังสือสัญญาประเภทใดบ้างที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
4.มาตรา 237 จะแก้ไขโดยยกเลิกโทษยุบพรรคและยกเลิกการตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคกรณีที่สมาชิกหรือกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้ง โดยให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดเฉพาะบุคคล 5.มาตรา 265 จะแก้ไขโดยเปิดให้ ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือเลขานุการรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีได้ โดยอ้างว่า เพื่อให้ ส.ส.มีโอกาสเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์การทำงานด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อเตรียมพร้อมทำงานในตำแหน่งสำคัญ(ซึ่งหมายถึงตำแหน่งรัฐมนตรีนั่นเอง)ต่อไป 6.มาตรา 266 จะแก้ไขให้ ส.ส.และ ส.ว.สามารถแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และราชการส่วนท้องถิ่นได้ โดยอ้างว่า เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านส่วนราชการต่างๆ ได้ ส่วนประเด็นที่ 7 ที่ ส.ส.-ส.ว.กลุ่มนี้เสนอจะแก้ รธน.เพิ่มขึ้นมา คือ การให้ใบเหลืองใบแดงระหว่าง กกต.กับศาล ซึ่งปัจจุบัน กกต.มีอำนาจให้ใบเหลืองใบแดงจนกว่าจะประกาศรับรองผลเลือกตั้ง หลังจากนั้นเป็นอำนาจของศาล แต่จะเปลี่ยนโดยลดอำนาจของ กกต.ให้สามารถให้ใบเหลืองใบแดงจนถึงวันประกาศผลเลือกตั้งเท่านั้น หลังจากนั้น ต้องเป็นอำนาจของศาล
การเสนอแก้ไข รธน.7 ประเด็นดังกล่าวของ ส.ส.และ ส.ว.แม้จะอ้างว่าข้อเสนอส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอเดียวกับที่คณะกรรมการสมานฉันท์ ได้ทำการศึกษาและเสนอรัฐบาลไว้ แต่ก็ถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า หลายประเด็นที่เสนอแก้ รธน.นั้น ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ให้แก่ ส.ส.-ส.ว.ที่เป็นผู้เสนอแก้ หาใช่แก้เพื่อประโยชน์ของประชาชนไม่ นี่จึงไม่ต่างอะไรกับการ “ชงเอง-กินเอง” โดยไม่สนว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไร และจะว่าไป การอ้างว่าเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ อยู่แล้ว ก็ใช่ว่าจะสร้างความชอบธรรมให้กับการเสนอแก้ รธน.ของ ส.ส.-ส.ว.กลุ่มนี้ไม่ ในเมื่อกรรมการส่วนใหญ่ที่นั่งอยู่ในกรรมการและอนุกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็คือ ส.ส.และ ส.ว.นั่นเอง!
เมื่อ ส.ส.-ส.ว.กลุ่มนี้กำลังจะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทำในสิ่งที่ตัวเองมีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.ที่ลงชื่อเสนอแก้ไข รธน.ครั้งนี้แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อ รธน.มาตรา 122 รวมทั้งเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 157
ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงานสมัชชาประชาชนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอรวบรวมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นชื่อในการถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.ที่ลงชื่อเสนอแก้ไข รธน.7 ประเด็นดังกล่าว เผยกับวิทยุ ASTVผู้จัดการ ว่า จริงๆ แล้ว ส.ส.และ ส.ว.ก็สามารถเสนอแก้ รธน.ได้ แต่ที่ตนคัดค้านและยื่นเรื่องถอดถอน เนื่องจาก ส.ส.-ส.ว.เหล่านี้จะแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แถมยังจะแก้เพื่อให้คนผิดพ้นผิดอีกด้วย ทั้งเรื่องยุบพรรคและเรื่องเขาพระวิหาร
“ต้องบอกว่า รธน.นี่แก้ไขได้นะ มี 3 ช่องทางก็คือ ส.ส.อย่างเดียว ,ส.ส.+ส.ว. และประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ เพราะฉะนั้นแก้ได้ แต่ต้องดูว่าคนที่ยื่นเนี่ยทำหน้าที่ถูกต้องหรือเปล่า ผมจะไล่ทีละประเด็น ทั้งหมด จริงๆ คณะกรรมการสมานฉันท์เสนอมา 6 ประเด็น ที่ ส.ว.เขาเพิ่มมา ผมว่าแก้เกี้ยวน่ะ เอามาบังๆ ก็คือ เรื่องศาลในการออกใบเหลืองใบแดง จะได้คานอำนาจ กกต.หรือช่วย กกต. ประเด็นหลังสุดนี่ผมไม่ได้ว่าอะไร ....(มาตรา) 190 นี่ผมได้ยินมาว่า เขาจะแก้โดยเพิ่มรายละเอียดว่า หนังสือชนิดใดที่ถือว่าเป็นสนธิสัญญาที่จะต้องผ่านสภา เพราะฉะนั้นผมทราบมาว่า เอ็มโอยูกับ Joint Communique เขาจะยกเว้น ถ้า Joint Communique ยกเว้น คดีที่ ป.ป.ช.เรื่องเขาพระวิหาร Joint Communique เขาพระวิหารของนพดล ปัทมะ สมัยรัฐบาลสมัคร ก็จะพ้นผิดทันที เพราะฉะนั้นการแก้ รธน.ที่ให้คนที่กระทำผิดพ้นผิด ถือว่าผิดหลักนิติธรรม นี่ข้อที่ 1”
“ข้อที่ 2 ก็ (มาตรา) 237 ชัดเจน ทั้งแก้ให้คนพ้นผิด คือถ้าเกิดแก้เสร็จปั๊บ บอกว่ากรรมการบริหารพรรคไม่ต้องถูกยุติหรือพรรคไม่ต้องถูกยุบพรรคเนี่ย ก็ทำให้บ้านเลขที่ 111 กับ109 ก็นั่นทันที เพราะฉะนั้นคนอย่างเนวิน คนอย่างบรรหาร ซึ่งอยู่ในบ้านเลขที่ 111 ,109 พวกนี้ก็ต้องออกมาสั่งลูกน้อง รวมทั้งญาติๆ เขาด้วย (นามสกุล) “โพธสุธน” ส.ว.ญาติๆ เขาเนี่ยก็ออกมาลงนามเพื่อจะให้แก้ 237 เพื่อพรรคพวกพวกพ้องจะได้กลับมาดำเนินการทางการเมืองอย่างเต็มตัวได้อีกทีหนึ่ง อันนี้ทั้งแก้ช่วยคนผิดและขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทำเพื่อพวกพ้อง ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน เพราะฉะนั้นการแก้ 237 ก็ผิด ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่อง ส.ส.จะแก้ ผมจำมาตราไม่ได้ เช่น ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งเลขานุการ รมต.ได้ อันนี้ก็คือคุณไม่อยากทำหน้าที่ ส.ส.ใช่มั้ย และทำให้คุณได้ประโยชน์ใช่มั้ย คุณอยากดำรงตำแหน่งมากใช่มั้ย เพราะฉะนั้นก็ผิดอีกน่ะ”
“ต่อไปก็เป็นเรื่องของ ส.ว.ที่จะสามารถยืดอายุ ส.ว.สรรหา 6 ปี อันนี้มันชวนให้มาร่วมลงคะแนนด้วยชัดๆ จะเอา ส.ว.สรรหาบางท่านมาร่วมลงคะแนนด้วย ยิ่งถ้าเกิดมาตราที่บอกว่าให้ ส.ว.สามารถเป็น ส.ส.ได้เลยเนี่ยในสมัยถัดไป นี่ยิ่งไปกันใหญ่ รวมแล้วทั้ง 6 มาตราเนี่ย ถามว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชนตรงไหน 6 มาตรานี้ทำให้เกิดความแตกแยกตรงไหน (ถึงจะต้องแก้ รธน.) และแก้แล้วบ้านเมืองจะหายแตกแยกตรงไหน ผมว่ามีแต่จะทำให้เสียหลักนิติรัฐมากขึ้น นิติธรรมมากขึ้น คนเคยทำผิดพ้นโทษหมดเลย เพราะเราไปแก้ กม.ให้เป็นคุณ เพราะฉะนั้น ส.ส.-ส.ว.ที่ยื่นเสนอเนี่ย ก็เป็นการขัดกัน ทำหน้าที่โดยขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยแท้ อันนี้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”
ผศ.นพ.ตุลย์ ยังชี้ด้วยว่า ไม่เพียง ส.ส.-ส.ว.ที่เข้าชื่อแก้ รธน.เท่านั้นที่กำลังปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทำในสิ่งที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ แม้แต่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็ทำหน้าที่โดยมิชอบเช่นกัน เพราะการเสนอให้แก้ รธน.6 ประเด็นนั้น ถามว่าใช้อะไรคิด เพราะล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ของนักการเมืองทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับประชาชนตรงไหนเลย
“กรรมการชุดนี้ถือว่าทำหน้าที่โดยมิชอบด้วย (เพราะ) คุณต้องการให้แก้ความสมานฉันท์ใช่มั้ย แล้วไปตั้งกรรมการแก้กฎหมาย กฎหมายข้อเหล่านี้มันทำให้เกิดความแตกแยกตรงไหนมิทราบ มีแต่นักการเมืองเท่านั้น มาตราที่พูดมามีแต่นักการเมืองกับรัฐบาลทั้งนั้นเลย ไม่เกี่ยวกับประชาชนตรงไหนเลย ส.ส.แบ่งระบบเลือกตั้งแบ่งเขตอะไรน่ะ ไม่เกี่ยวกับประชาชนเลย เขาก็ยังจะทำ เพราะฉะนั้นกรรมการชุดนี้ โดยเฉพาะอนุที่แก้กฎหมายเนี่ย ผมถือว่าทำหน้าที่มิชอบ คือทำหน้าที่เหมือนกับประชาชนกินหญ้ากินแกลบ เราเห็นคุณทำหน้าที่อย่างนี้ เราบอกเลยขายหน้าตัวพวกคุณต่างหาก คุณเอาตรงไหนคิดเนี่ยที่บอกว่า กฎหมายเหล่านี้ทำให้บ้านเมืองแตกแยก ไม่เกี่ยวเลย มีแต่ว่ากฎหมายเหล่านี้ มาตรา 190 เนี่ยพยายามป้องกันการขายชาติขายแผ่นดิน ยังป้องกันไม่สำเร็จ ถึงต้องไปเสียตรงปราสาทพระวิหาร ที่ว่าเราจะคงสิทธิ เราสงวนสิทธิ์เอาไว้ ก็เอา Joint Communique ไปขึ้นเป็น World Heritage(มรดกโลก) โดยที่ไม่ผ่านรัฐสภา นี่ไงที่ยังผิดอยู่เลย ขนาดเราเขียนไว้ขนาดนี้นะ”
“หรือ มาตรา 237 เนี่ยเราบอกว่า เลือกตั้งมันต้องยุบพรรคนะ มันก็ยังทำผิดให้ยุบพรรคจนได้ ถ้าจะแก้ ต้องแก้ให้มันหนักขึ้นแรงขึ้น พรรคนั้นไม่ต้องครองอำนาจรัฐไปเลย คือเป็นฝ่ายค้านตลอดกาลไปเลย เพราะพวกนี้ถามว่า เขาซื้อเสียงทำไม เขาซื้อเสียงเพื่อที่จะได้อำนาจรัฐ จริงมั้ย? ซื้อเสียงแล้วได้ ส.ส.เยอะๆ คุณได้เป็นพรรครัฐบาล คุณได้อำนาจรัฐ คุณได้ใช้งบประมาณ แล้วนี่ดูแล้ว กรรมการสมานฉันท์ฯ เอาตรงไหนคิด เอาตรงไหนทำหน้าที่ ล้วนแล้วแต่เป็น ส.ส. ,ส.ว. เป็น พล.อ. แต่ทำหน้าที่ ผมบอกใช้ไม่ได้! ในฐานะประชาชนมองแล้วตรงนี้ใช้ไม่ได้ เงินเดือนพวกคุณ เดือนละแสน ผมอายจริงๆ เลย คือเสียดายเงินน่ะ”
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอถอดถอน ส.ส.-ส.ว.ที่ลงชื่อเสนอแก้ไข รธน.แล้ว ปรากฏว่า มี ส.ว.หลายคนได้ขอถอนตัวจากการร่วมลงชื่อดังกล่าว เช่น รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา, พล.ต.ต.เกริก กัลยาณมิตร ส.ว.สรรหา, นางกีรณา สุมาวงศ์ ส.ว.สรรหา, ศ.สุกัญญา สุดบรรทัด ส.ว.สรรหา,พล.ต.อ.อำนวย เพชรศิริ ส.ว.สรรหา ฯลฯ
ทั้งนี้ รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา ซึ่งเป็น 1 ในกรรมการสมานฉันท์ และประธานอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง เผยกับวิทยุ ASTVผู้จัดการ ถึงสาเหตุที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ รธน.7 ประเด็นกับเพื่อน ส.ส.-ส.ว. แต่ภายหลังกลับตัดสินใจถอนชื่อออกว่า ไม่ได้เป็นเพราะมีผู้ไปยื่นถอดถอน ส.ส.-ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อแต่อย่างใด แต่เนื่องจากได้เห็นรายละเอียดว่ามีการจะแก้ไข รธน.โดยให้ ส.ว.ไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปีหลังดำรงตำแหน่งครบวาระ โดยสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งต่อได้ทันที ซึ่งคิดว่าเป็นการแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ของตัวเอง จึงไม่เห็นด้วยและรับไม่ได้
“ตอนแรกที่ดูกัน ก็คือ ต้องเรียนว่าก็ดูกันอย่างรีบๆ น่ะ ด้วยเหตุว่าเขาก็เซ็นชื่อกัน ผมก็ดูแล้วก็ปรากฏว่า ประเด็นที่เขาเขียนออกมา 7 ประเด็นเนี่ย มันเป็นประเด็นที่กรรมการสมานฉันท์ได้มีมติเห็นชอบแล้ว ทีนี้ผมเนี่ยเป็นกรรมการสมานฉันท์อยู่ เมื่อมันเป็นไปตามมติกรรมการสมานฉันท์ ถึงแม้ว่ามติกรรมการสมานฉันท์บางข้อ ผมอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ยังไงก็ตามเมื่อเป็นกรรมการ และที่จะนำมาแก้นั้นมันก็เป็นไปตามมติของกรรมการสมานฉันท์ฯ ผมก็เซ็นให้ ทีนี้พอปรากฏว่า ตอนหลังเนี่ย ผมไปพบว่าในรายละเอียดของหนังสือที่นำเสนอแก้น่ะ มันได้มีการขอแก้มาตราต่างๆ ที่มันมากกว่าที่กรรมการสมานฉันท์ฯ มีมติไป เช่น มาตรา 116 วรรค 2 ซึ่งมันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการยกเลิกการที่จะต้องหยุดพัก 2 ปี หลังจากที่ดำรงตำแหน่ง ส.ว.ครบวาระ 6 ปีแล้ว อันนั้นก็ไปขอยกเลิก ผมดูแล้ว ม.116 ที่จะให้ยกเลิกเนี่ย มันเท่ากับว่าผมได้ประโยชน์ ซึ่งโดยความรู้สึกสำนึกอย่างหนึ่งก็คือ การดำเนินการใดใดก็ตาม เช่น การแก้ไข รธน. แก้แล้ว ทำให้พวกเราได้ประโยชน์เนี่ย ผู้มีอำนาจในการแก้ได้ประโยชน์ ผมไม่เห็นด้วย ผมก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้น ผมขอไม่นั่นด้วย ผมขอถอนชื่อออก”
“(ถาม-แล้วได้คุยกับเพื่อน ส.ว.คนอื่นมั้ย?) ก็พอเขาได้ข่าวว่าผมถอนเนี่ย ส.ว.คนอื่นหลายคนก็เอะใจ เอ๊ะ! มันเกิดอะไรขึ้น ขนาดผมซึ่งเป็นกรรมการสมานฉันท์อยู่เนี่ย ไปถอนเนี่ย มันต้องมีอะไร ก็โทรเช็คกับผมกันวุ่นเลย ผมบอกเหตุผลของผมก็มีแค่นั้นน่ะ เขาไปเพิ่มในสิ่งที่กรรมการสมานฉันท์ฯ ไม่ได้พูดถึงไว้ และสิ่งที่ไปเพิ่มนั้นมันเป็นประโยชน์กับ ส.ว.โดยเหตุผลส่วนตัวก็คือ ผมรับไม่ได้ ถ้าแก้แล้วผมได้ประโยชน์ ผมไม่เอา ผมเป็นครูบาอาจารย์มา มาทำอะไรที่มันไม่ได้เป็นประโยชน์สาธารณะ แต่มันเป็นส่วนตัวเนี่ย ผมไม่เอา ก็เลยไปถอน หลายคนพอรู้อย่างนั้นก็เลยไปถอนกันตาม และตอนหลังก็มาทราบว่า มีผู้ไปแสดงความจำนงที่จะยื่นถอดถอนผู้ที่ไปลงชื่อด้วย เพราะไปแก้ไขในเรื่องของการยกเลิก 2 ปีตรงนั้น มาตรา 116 และการยกเลิกการที่ ส.ว.สรรหามีวาระ 3 ปี ให้แก้เป็น 6 ปี คือ ส.ว.ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ส.ว.หลายท่านที่เป็น ส.ว.สรรหา ก็เลยบอก ถ้าอย่างนั้นผมขอถอนด้วย”
รศ.ดร.ประเสริฐ ยังยอมรับด้วยว่า การที่ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมลงชื่อเสนอแก้ รธน.7 ประเด็นดังกล่าว มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนตามที่มีผู้ยื่นขอถอดถอนต่อประธานวุฒิสภา
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการลงชื่อเสนอแก้ รธน.7 ประเด็นของเพื่อน ส.ส.-ส.ว.บอกว่า ส่วนตัวคิดว่า การจะแก้ รธน.ควรถามความเห็นประชาชนก่อน เพราะบางประเด็นอาจกระทบต่อสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชน เช่น การเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ส.จากเขตใหญ่เรียงเบอร์ เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว รวมทั้งมาตรา 190 ที่อาจมีการขยายผลโดยยกเว้นความผิดของผู้เกี่ยวข้องกรณีออกแถลงการณ์ร่วมหนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และมาตรา 237 เรื่องยุบพรรค ที่หากจะเลิกยุบพรรคและเลิกตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค แล้วจะมีวิธีป้องกันการทุจริตซื้อเสียงอย่างไร
นายไพบูลย์ ยังเผยด้วยว่า นอกจากความห่วงกังวลในประเด็นที่ ส.ส.-ส.ว.เสนอแก้ รธน.แล้ว สิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยและคัดค้านอย่างมากก็คือ กระบวนการที่จะนำไปสู่การแก้ รธน.ที่เริ่มต้นโดย ส.ส.-ส.ว.และแก้เพื่อ ส.ส.-ส.ว.แถมจะลงมติโดย ส.ส.-ส.ว.อีก หากปล่อยให้ ส.ส.-ส.ว.ใช้อำนาจแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของตัวเองได้ จะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อไปในภายหน้า
“ที่สำคัญ ผมแย้ง ผมคัดค้านอย่างมากก็คือ กระบวนการที่ดำเนินการเพื่อที่จะไปสู่การแก้ รธน. เริ่มตั้งแต่กระบวนการรวบรวมประเด็น ก็ไม่ใช่ว่ารวบรวมประเด็นเฉพาะตัว ส.ส.-ส.ว.โดยใช้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ไม่เห็นด้วย และการยื่นญัตติ ก็เป็นการยื่นโดย ส.ส.-ส.ว.อีก อันนี้ก็ไม่เห็นด้วย แล้วลงมติก็ยังลงมติโดย ส.ส.-ส.ว.ด้วย ก็คือ การทำทั้งหมดก็เพื่อโดย ส.ส.-ส.ว. โดยนักการเมืองทั้งหมด ซึ่งถ้าเกิดปล่อยให้ทำได้อย่างนี้ ก็จะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อไปข้างหน้า เพราะมันไม่เคยทำกันมาในอดีต ครั้งนี้ถ้าทำอย่างนี้ได้ เดี๋ยวก็จะไปแก้กฎหมายอะไรให้ประโยชน์แก่ตัวเองหมด ซึ่งล่าสุด ก็เห็นก็พยายามขึ้นเงินเดือนตัวเองอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ส่งสัญญาณที่เมื่อมีอำนาจในการแก้กฎหมาย ออกกฎหมายแล้ว ก็กลับใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ก็มุ่งไปที่ประโยชน์ส่วนตน อันนี้ไม่ถูก ฉะนั้นหากจะแก้ รธน.ได้ ก็ควรจะต้องไปรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่กระบวนการหาประเด็นที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขมีอะไรบ้าง โดยต้องไปถามประชาชน จากนั้นก็ ก่อนจะทำอะไร ก็ต้องไปลงประชามติซะ อันนี้เป็นความเห็น”
“(ถาม-เมื่อคุณไพบูลย์ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ ส.ส.-ส.ว.ยื่นแก้ รธน.และประเด็นเหล่านั้นส่วนใหญ่นำมาจากข้อเสนอของ คกก.สมานฉันท์ฯ แล้วคิดว่า คกก.สมานฉันท์ฯ ศึกษาการแก้ รธน.ด้วยความเป็นกลางมั้ย?) เขาคงไม่ได้ศึกษาหรอก เขาเป็นคณะกรรมการที่มีที่มาตั้งแต่ต้นก็คือ เป็นคณะกรรมการที่ เริ่มต้นก็คุยกันตอนแรกก็คือตั้งก็เพื่อแก้ รธน. แต่ก็กลัวสังคมจะว่า ก็เลยใส่คำว่า “สมานฉันท์และแก้ รธน.” แต่ก็ถูกท้วงอีกก็เลยกลายเป็น “สมานฉันท์และศึกษาการแก้ รธน.” แต่การแก้ รธน.ทั้งหมดที่เขาทำกัน เขาไม่ได้ศึกษาอะไร อยู่ในใจของเขาอยู่แล้วน่ะ คือเขารู้สึกว่ามันไปขัดผลประโยชน์ของเขา เขาก็อยากจะแก้อยู่แล้ว จริงๆ เขาไม่ต้องตั้งกรรมกงกรรมการอะไรด้วยซ้ำ เขาก็จะแก้ รธน.เลย บางคนคิดขนาดนั้นน่ะ ดังนั้นผมมองว่า เขาไม่ได้ศึกษาอะไรเลย เป็นพิธีกรรมขึ้นมาเฉยๆ ส่วนประเด็นที่สำคัญในคณะนี้ เช่น กรณีเกี่ยวกับปฏิรูปการเมืองอย่างไร การสมานฉันท์อย่างไร กลับไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณากัน นี่ก็แสดงถึงเจตนารมณ์ของคณะกรรมการชุดนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว และมีแต่ ส.ส.-ส.ว.ทั้งนั้นแหละที่เป็นกรรมการ ก็ถือว่ายังไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย ใช้ไม่ได้”
เมื่อถามว่า เชื่อหรือไม่ว่า ส.ส.-ส.ว.ที่ลงชื่อเสนอแก้ รธน.7 ประเด็น ซึ่งหลายประเด็นเอื้อประโยชน์ต่อตัวเองนั้น จะถูกถอดถอนพ้นจากตำแหน่ง นายไพบูลย์ บอกว่า เป็นห่วงเพื่อน ส.ส.-ส.ว.ดังกล่าว เพราะถ้าไปดูตามข้อกฎหมายแล้ว นอกจากจะสุ่มเสี่ยงอย่างมากในการที่จะถูกถอดถอนพ้นตำแหน่งฐานกระทำการขัด รธน.มาตรา 122 แล้ว ยังเสี่ยงต่อการทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว.ตามกฎหมาย รธน.มาตรา 275 ซึ่ง ป.ป.ช.สามารถพิจารณาวินิจฉัยได้!!