xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อขอแก้รธน. "หมอตุลย์"ล่าชื่อถอดถอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภา วานนี้ (1 ก.ย.) นายประสิทธิ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี ได้เดินขอให้ ส.ว.ร่วมลงชื่อสนับสนุน เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี 6 ประเด็น ตามที่ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอ และเพิ่มอีก 1 ประเด็น เกี่ยวกับการให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบเหลือง ใบแดง หลังจากประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว โดยล่าสุดได้รายชื่อ แล้วกว่า 80 คน โดยเป้าหมายต้องให้ได้ 1 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา หรือ 120 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก่อนจะยื่นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี กล่าวว่า ตนได้ร่วมลงชื่อ เพื่อเสนอให้มีการ แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว โดยประเด็นที่เสนอก็เป็นไปตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯสรุป ซึ่งที่ผ่านมาจำได้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็เห็นด้วยว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ได้พิจารณาศึกษาจนได้ข้อสรุป แล้ว ก็ควรจะดำเนินการต่อไป แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือต่อรองอำนาจแต่อย่างใด

นายยุทธ ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร กล่าวว่า ยอมรับว่าตนเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมลงชื่อ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย เพราะเห็นว่าต้องให้เกียรติกับคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่มีทุกฝ่ายร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอแนวคิด โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาเป็นคนลงนามแต่งตั้ง เมื่อคณะกรรมการฯ มีผลสรุปเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น เพื่อยุติความขัดแย้ง ทั้งนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2550 มีปัญหาในบางมาตราซึ่งก็ควรมีการแก้ไข นอกเหนือจากนี้ยังได้เสนออีก 1 ประเด็นคือ การเพิ่มอำนาจของศาลยุติธรรมในการรับรองผลการเลือกตั้ง

นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ยอมรับว่า มีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ในการประชุมร่วมของรัฐสภา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. โดยเบื้องต้นเป็นการเสนอร่าง เพื่อแก้ไขใน 6 ประเด็น เหมือนกับที่คณะกรรมการสมานฉันท์ เสนอ ส่วนประเด็นที่ 7 เรื่องอำนาจให้ ใบเหลือง ใบแดง ของ กกต. ตนยังไม่ทราบ อย่างไรก็ดี เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. สามารถเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ตามรัฐธรรมนูญ ม.291 ซึ่งเป็นวิถีทางประชาธิปไตย ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ส่วนที่กลุ่ม ส.ส.และส.ว.ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ให้เหตุผลว่ารัฐบาล เพิกเฉยต่อรายงานฉบับ "สมานฉันท์ สร้างสันติสุข" ที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น นั้น นายดิเรก กล่าวว่า ตนถูกถามเรื่องนี้ ตลอดเวลา ว่าทำไม่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการอะไร แต่ในฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้จบแล้ว ได้ทำภารกิจลุล่วงไปแล้ว เพราะได้สรุปแนวทางที่จะแก้วิกฤตความขัดแย้งอย่างรอบด้านที่สุดแล้ว ส่วนการจะนำรายงานฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัตินั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลซึ่งตนก็รอคำตอบจากรัฐบาลอยู่ แต่เมื่อรัฐบาลยังนิ่งเฉย จึงเกิดการทวงถามจากสมาชิกรัฐสภาและสังคม "รัฐบาลสามารถหยิกยกรายงาน ของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ในส่วนของ อนุกรรมการสมานฉันท์ฯ และอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง ดำเนินการไปได้ก่อน ส่วนอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ผมพอเข้าใจได้ว่าต้องรอเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณา แต่รายงานของ อนุกรรมการ 2 ชุดแรก รัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลย เพียงแค่รัฐบาล แสดงเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ว่าต้องการแก้ปัญหาความสมานฉันท์ในบ้านเมือง หรืออธิบายแนวทางต่างๆ ที่จะทำ ผมเชื่อว่าหากทำอย่างนี้ คงไม่เกิดกระแสกดดันรัฐบาล แต่เมื่อรัฐบาลนิ่ง ทำให้ปัญหาอื่นตามมา ผมออกรับ และแก้ต่างแทนมาตลอด ในข้อกล่าวว่ารัฐบาลซื้อเวลา แต่วันนี้ระยะเวลาที่เนิ่นนานไปทำให้รัฐบาลถูกมองว่า ซื้อเวลา แต่ถ้ารัฐบาลเร่งทำหรือแสดงเจตนารมณ์ สร้างกระแสความสมานฉันท์ขึ้น ข้อกล่าวหานี้คงไม่เกิด และจะได้คะแนนด้วยซ้ำ"
นายดิเรก กล่าวว่าวันนี้ประชาชนเบื่อปัญหาความขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง เพราะส่งผลให้ประเทศเสียหาย เศรษฐกิจทรุด อยากให้บ้านเมืองเกิดความสมานฉันท์ ได้แต่เฝ้ารอกัน เพราะการจะรอให้ทุกคนทุกฝ่ายเห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลทำทั้งหมดนั้นคงเกิดขึ้นได้ยาก แต่รัฐบาลต้องพิจารณาว่า เรื่องใดมีความสำคัญ และกล้าตัดสินใจ ทำเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ เอาประเทศเป็นตัวตั้ง ด้วยหลักของความเป็นธรรมและเป็นกลาง

ส่วนการยุบสภาเพื่อแก้วิกฤตการเมืองนั้น นายดิเรก กล่าวว่า หากประเทศยังไม่เกิดความสมานฉันท์แม้ยุบสภาแล้วมีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะเป็นปัญหาไปเรื่อยๆ ทางที่ดีควรร่วมกันพิจารณาแก้ไขอุปสรรคทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งกติกา คือ รัฐธรรมนูญ และความสมานฉันท์ในหมู่ของนักการเมืองด้วยกันเอง แล้วค่อยยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ และเมื่อผลออกมาอย่างไรต้องมีสปิริตยอมรับกัน อย่างนี้ตนว่าบ้านเมืองไปได้ "วันนี้ต้องเลิกเห็นแก่พวกพ้อง หรือการเมืองของพรรคพวกตนเอง เราอย่ารักชาติจนน้ำลายไหล อย่ารักในหลวง เฉพาะที่อยู่ในธนบัตร ขอให้รักด้วยหัวใจจริงๆ หากรักชาติ รักประเทศ ต้องยอมกันบ้าง ถ้าไม่ยอมแสดงว่าไม่รักจริง"

**"อาจารย์จุฬาฯ" ยื่นถอดถอนส.ส.-ส.ว.
วันเดียวกัน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา แจ้งความจำนงในการรวบรวมรายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอน ส.ว.และ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ ม. 164 โดยมี นายวุฒิชัย วัชรีรัตน์ รองเลขาธิการวุฒิสภา เป็นตัวแทนมารับหนังสือ
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ตนและคณะมีความประสงค์ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ม. 164 ในการเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติตาม ม.274 ในการถอดถอน ส.ส.และส.ว. ที่ได้เข้าชื่อเพื่อยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัว ส.ส.และส.ว. ผู้ยื่นญัตติดังกล่าว เป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์
ดังนั้นตนและคณะจึงขอกล่าวหา ส.ส.และ ส.ว.ดังกล่าวดังนี้
1.เป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 122 เพราะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจ หน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และส่อว่ากระทำต่อตำแหน่งหน้าที่ เป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ม. 270 และ 2. เป็นการกระทำผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 157 ซึ่งจะต้องถูกดำเนินการตามมาตรา 275 ด้วย
"ผมและคณะ จึงมีหนังสือแจ้งความจำนงขอแสดงตนเพื่อดำเนินการรวบรวม รายชื่อประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นรายชื่อ นำมายื่นต่อประธานวุฒิสภาต่อไป" นพ.ตุลย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น