อ.จุฬาฯ ชำแหละเนื้อหาฎีกาคนเสื้อแดง ต้องการให้คนไทยแตกแยก ซัดบ้านเมืองจะสงบหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับการอภัยโทษให้ “นช.ทักษิณ” ย้ำคนผิดต้องติดคุกเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์เสนอหน้าร้องขอความเห็นใจ แฉละเอียดยิบ “ฎีกาแดงทรพี” ไม่ชอบมาพากล ส่อปั้นน้ำเป็นตัว ยกหาง “พ่อแม้ว” เป็นเทพเจ้าเพียงคนเดียวที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนในข่าว”
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น.วันที่ 5 สิงหาคม 2552 ดำเนินรายการโดย นางสาวรัตน์ติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมพูดคุยถึงความไม่ชอบมาพากลของฎีกาเสื้อแดง
ดร.อนันต์ กล่าวว่า ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการประชุมอาจารย์จากคณะต่างๆ เพื่อระดมความคิดถึงการล่ารายชื่อถวายฎีกาของกลุ่มเสื้อแดง โดยหวังให้เป็นที่พึ่งทางวิชาการในการเสนอแนะชี้แนวทางให้สังคมเข้าใจว่าเป็นอย่างไร ซึ่งในแง่ของตัวบทกฎหมาย ได้มีการประชุมถึงกฎระเบียบและธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า ฎีกานี้ไม่น่าที่จะทำได้
ดร.อนันต์ กล่าวถึงเนื้อหาในฎีกาของคนเสื้อแดง ว่า มีปัญหาความไม่ชอบมาพากลในตรรกะและการเชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผล ตั้งแต่ข้อความแรก “ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีนามและที่อยู่ข้างท้ายนี้ ขอทูลเกล้าฯ...” ตรงนี้ส่อเจตนา คือ ต้องการให้มีผู้ร่วมลงนามจำนวนมาก เพื่อหวังทำให้เรื่องนี้เป็นข่าว ทั้งที่จริงแค่คนเดียวก็สามารถยื่นถวายฎีกาได้ ข้อความต่อมา “ข้าพระพุทธเจ้ามีความทุกข์แสนสาหัสจากปัญหาเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการยึดอำนาจ...ต้องเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า...” ข้อความนี้ผิดข้อเท็จจริงจำนวนมาก (1) การยึดอำนาจรัฐประหาร ไม่เคยมีนักวิชาการ หรือนักธุรกิจออกมาฟันธงได้ว่า เป็นเหตุให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวส่งผลมาจากพิษเศรษฐกิจโลก (2) รัฐบาลได้มาไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งที่จริงรัฐบาลปัจจุบันก็มีที่มาถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งคนเสื้อแดงให้การสนับสนุน และ (3) รัฐบาลไม่สามารถเดินทางไปได้ทุกหย่อมหญ้า ตรงนี้ต้องไปดูข้อเท็จจริงว่า ที่เดินทางไปไม่ได้นั้น เพราะประชาชนไม่ต้อนรับ หรือเพราะคนแค่กลุ่มเดียวไปปลุกระดมคนมาคัดค้าน ดังนี้จะเห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงไม่สามารถยอมรับได้ และไร้เหตุผล ฉะนั้น การที่ประชาชนเดือดร้อน เพราะปัญหาเศรษฐกิจ ก็ต้องไปแก้ทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ
ดร.อนันต์ กล่าวต่อว่า ความผิดสังเกตของฎีกาเสื้อแดงข้อ 4 ที่บอกว่า “ทั้งหมดนี้ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูล... เวลานี้เหลือที่พึ่งสุดท้ายหนึ่งเดียว...คือ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท...ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม...คงจะไม่ปล่อยปละละเลยพสกนิกรให้จมอยู่กับความระทมทุกข์เป็นเวลายาวนานเกินไป” ข้อความตอนท้ายที่บอกว่า คงไม่ปล่อยปละละเลยพสกนิกร... ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องใส่เข้าไปในฎีกาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพระองค์ท่านไม่เคยทรงวางเฉยในทุกข์ใดๆ ที่พสกนิกรได้รับ
ส่วนข้อความที่ว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ธรรมตรงนี้หมายถึงกฎหมาย พระราชาผู้ทรงรักษากฎหมาย ดังนี้ หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดง ก็เท่ากับทรงไม่ตั้งมั่นอยู่ในธรรม ตามกระบวนการยุติธรรมที่ศาลได้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว ซึ่งการวินิจฉัยนั้นก็ได้กระทำไปภายใต้พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ดี หากการถวายฎีกาครั้งนี้ได้รับการอภัยโทษจริง จะทำให้เป็นบรรทัดฐานในการกดดันทางอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมอีกต่อๆ ไป ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า คนที่ริเริ่มเขียนฎีกานี้ รู้อยู่แก่ใจว่าไม่สามารถทำได้ แต่ยังฝืนทำไป เพื่อต้องการให้ประชาชนที่ร่วมลงชื่อปะทะกดดันกับอะไรบางอย่าง หวังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่มากกว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
“คนร่างฎีกามีเจตนาให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ดูได้จากตรงท้ายฎีกาข้อ 3 เขียนไว้ ว่า ...แต่รัฐบาลกลับยัดเยียดความอยุติธรรม และความไม่เสมอภาคมากยิ่งขึ้น จนใกล้ถึงขีดสุดแห่งความอดทนที่มนุษย์จะพึงมี” ดร.อนันต์ กล่าว
ดร.อนันต์ กล่าวว่า ช่วงท้ายของฎีกาตอกย้ำได้ถึงความบิดเบี้ยวในตรรกะของคนที่เขียน “ข้าพระพุทธเจ้ามุ่งหวังให้เกิดความสามัคคี เป็นการสมานฉันท์คนในชาติให้กลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดังเดิม...นำความสุขความร่มเย็นมาสู่พสกนิกรเสริมพระบารมีใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทให้สูงส่งไพศาล” ตรงนี้มีเจตนาต้องการให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานอภัยโทษ ไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องโทษจำคุกสองปี ประหนึ่งว่า หากพระราชทานอภัยโทษแล้วจะไม่เกิดความแตกแยก สังคมจะสมานฉันท์ ซึ่งตรรกะนี้ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง ตนยังเชื่อว่า ความขัดแย้งนี้ยังคงดำรงอยู่ เพราะการพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้นำไปสู่การสมานฉันท์
“อย่าฝากความหวังไว้กับคนๆ เดียว เพราะในทุกๆ ประเทศ เขาจะไม่ฝากประเทศไว้ที่บุคคลคนเดียว และตอนนี้เสื้อแดงทำเสมือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่เหนือเทพเจ้าทั้งปวง วิเศษสุดจะหาใครมาเปรียบเทียบไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ ในแผนดินยังมีคนดี มีความรู้ความสามารถอีกมากมาย ที่จะบริหารประเทศได้ ที่สำคัญมีสิ่งที่เขามีแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มี คือ จริยธรรม” ดร.อนันต์ กล่าว
ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับตามองการล่ารายชื่อถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นผิดด้วยความเป็นห่วง หากทำอะไรไม่เหมาะสมก็จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นหน้าที่หนึ่งของจุฬาฯ ที่จะต้องออกมาชี้แจง เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่เข้าลักษณะการขออภัยโทษหรือร้องทุกข์ แต่เป็นฎีกาการเมือง ทั้งนี้หากผู้ที่มีความเดือดร้อนประสงค์จะขอพระราชทาน ไม่ว่าเรื่องใดหากเป็นเรื่องที่เหมาะสม แม้จะยื่นฎีกาเพียงรายชื่อเดียว พระองค์ท่านก็ทรงพิจารณาให้
“การถวายฎีกาเป็นเครื่องสานสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ กับ พสกนิกร ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ไม่มีการยกเลิกไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการพัฒนาปรับปรุง มีข้อจำกัดคือ ห้ามถวายฎีกาที่ไม่เหมาะสม เป็นเท็จ หรือล้มล้างคำพิพากษา” ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าว
ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวถึงคำกล่าวในฎีกาของกลุ่มเสื้อแดงที่ว่า “ข้าพุทธเจ้าเดือดร้อนแสนสาหัสในปัญหาเศรษฐกิจ” ถ้าจะกล่าวถึงท่อนนี้ ตนเห็นประชาชนสามารถร้องทุกข์ถวายฎีกาได้ แต่ข้อความตอนหลังที่อ้างว่าอันเนื่องมาจากการปฏิวัติ แล้วขมวดตอนท้ายขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นการล้มคำพิพากษา อย่างนี้เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่เคยมีปฏิวัติรัฐประหารมานานแล้ว แต่เศรษฐกิจเขาก็ตกต่ำได้ ดังนั้น การที่เสื้ออ้างว่าเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะการปฏิวัติเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐาน
ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวว่า สถาบันจุฬาลงกรณ์ไม่ไดมีบทบาทจะไปคัดค้านการกระทำของกลุ่มเสื้อแดง แต่บุคลากรของจุฬาฯ ทุกคนดำเนินการในฐานะที่เป็นพสกนิกรที่จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่อยากให้กระทำการใดๆ ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เพราะหากวิเคราะห์จากพฤติการณ์ทั่วไปจะเห็นได้ว่า เจตนาไม่ต้องการที่จะขอพระราชทานอภัยโทษหรือร้องทุกข์ แต่ต้องการให้เกิดการปะทะกัน ดังนี้ เมื่อคุณประสงค์จะใส่ไฟร้าย เราก็มีหน้าที่ ที่จะดับไฟร้ายเหล่านั้น
“อยากบอกถึงทุกท่านที่มีความประสงค์จะร่วมลงนามคัดค้านการถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดง สามารถส่งรายชื่อมาได้ที่ เบอร์แฟกซ์ 02-2153585 หรือที่อีเมล stopdeeka@hotmail.com ไม่ต้องมีแบบฟอร์ม หากจะบอกที่อยู่หรือเลขประจำตัวประชาชนมาด้วยก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าว
ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวว่า หลักประชาธิปไตยต้องสามารถรับฟังความเห็นที่แตกต่างได้อย่างสมเหตุสมผล อย่างไรก็ดีตนยอมรับถึงสิทธิในการยื่นถวายฎีกาของกลุ่มเสื้อแดง แต่ต้องดูว่าฎีกานั้นถูกต้องตามกฎระเบียบหรือไม่ ซึ่งในหลายหน่วยงานก็ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงฎีกาดังกล่าวแล้วว่ามันไม่ถูกต้อง