xs
xsm
sm
md
lg

“นพ.ตุลย์” ชี้คนขี้โกง คือรากเหง้าความขัดแย้ง จะขจัดความแตกแยกต้องกำจัดคนโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นพ.ตุลย์” ยันแก้รธน.ยุติความแตกแยกไม่ได้ จะแก้ความขัดแย้ง ต้องกำจัดคนโกง หยันหากโปร่งใสจริงให้ออกกฎหมายลูกแทนแก้ ม.190 ขณะที่“นพ.วรงค์” แก้ต่างระบุแก้ ม. 190 แค่กระชับอำนาจรัฐ ยันรบ.พิจารณาแก้ รธน. ไม่มีใครได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวหรือนิรโทษกรรม ส่วน "นพ.ประสาร" แจงแก้รัฐธรรมนูญ ปชช.ไม่ได้ประโยชน์ พร้อมเผยเหตุจูงใจ ส.ว. ร่วมลงชื่อ



คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนในข่าว”

รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 9 กันยายน 2552 โดยมี รัตติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา พร้อมด้วยนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด จะเกิดอะไรขึ้นหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นต้นเหตุความขัดแย้ง ต้นเหตุที่แท้จริงคือ คนขี้โกงที่ใช้อำนาจรัฐ ผ่านโครงการต่างๆโดยมีผลประโยชน์ก้อนใหญ่แอบแฝง ทำทีเข้าไปช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้คนเหล่านี้ตายใจและให้การสนับสนุนตน แล้วใช้คนเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการป่วนบ้านป่วนเมือง จนเกิดความแตกแยก ระหว่างคนเกลียดคนโกง กับ คนเชียร์คนโกง ดังนั้นหากจะแก้ไขความแตกแยก สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ กำจัดคนโกงเสียก่อน

นพ.ตุลย์ กล่าวต่อว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีการลงประชามติก่อนจะนำมาประกาศใช้มากถึง 14 ล้านเสียง ดังนั้นคนไม่กี่ร้อยคนจะอ้างเป็นตัวแทนได้อย่างไร และเมื่อดูมาตราที่จะแก้ไขทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ประชาชนไม่ได้ประโยชน์เลย แล้วอย่างนี้จะมาอ้างเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์นั้น จึงฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าหากจะแก้ ตนอยากให้แก้ในมาตราเดียว คือ มาตรา 237 คือต้องลงโทษผู้ซื้อเสียงให้หนักขึ้น เพราะเป็นรางเหง้าแห่งความเลวร้าย ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และหากจับได้ ก็น่าจะลงโทษให้พรรคนั้นเป็นฝ่ายค้านไปตลอด

น.พ.ตุลย์ กล่าวถึงจุดอ่อนของประเทศไทย ว่า ยังเข้าใจระบอบประชาธิปไตยผิด ที่มักหาข้อยุติด้วยเสียงข้างมาก ทั้งนี้ระบอบประชาธิปไตยไม่จำต้องเป็นเสียงข้างมากเสมอไป ที่ถูกต้องควรรับฝังเสียงส่วนน้อยด้วย ว่ามีเหตุผลหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่รูปแบบพวกมากลากไปก็ได้ นพ.ประสาร อ้างพระธรรมของ ประยุทธ ปยุตโต พระพรหมคุณากร เสริมว่า “เสียงข้างมากตัดสินความต้องการได้ แต่ตัดสินความถูกต้องไม่ได้”

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่ต้องดูว่าแก้แล้วขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ เมื่อพิจารณาดูแนวทางที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว มันผิดตามกฎหมายมาตรา 122 ที่ระบุให้ ส.ส.และ ส.ว. ต้องทำหน้าที่เพื่อปวงชนชาวไทย ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตัวเองหรือพวกพ้อง ส่วนมาตรา 190 เจตนารมณ์ที่เขียนเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐบาลขายชาติ ดังนั้นที่ยื่นเข้าไป จึงไม่ได้เกี่ยวกับประชาชนเลย

นพ.ตุลย์ กล่าวถึงคนยื่นขอแก้ไขมาตรา 109 โดยอ้างขอแก้แค่รายระเอียด ตรงนี้ถ้าหากมีเจตนาบริสุทธิ์ใจจริง ควรจะร่างเป็นกฎหมายลูกมาใช้บังคับเสียมากกว่า เพราะการแก้มาตรา 190 มีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ ตน ได้ยินมาว่า มีการพยายามผลักดันให้แก้ เพื่อให้การทำนิติกรรมที่มีผลกระทบต่ออธิปไตยหรือดินแดนไม่ต้องผ่านรัฐสภา ซึ่งจะทำให้คดีต่างๆที่ประชาชนฟ้อง ต่อ ป.ป.ช. ไม่ต้องนำขึ้นสู่ศาล ถือเป็นการช่วยรัฐบาลสมัยนายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากความผิด ที่สำคัญมีนักการเมืองหลายคนในรัฐบาลชุดนั้น อยู่ในรัฐบาลชุดนี้ด้วย

นพ.วรงค์ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ ว่า มาตรา 190 เป็นบทบัญญัติครอบจักรวาล คลุมเครือ โดยเจตนารมณ์ของการแก้ตนขอยืนยันว่า ไม่มีการหมกเม็ดเกี่ยวข้องกับเขาวิหาร แค่ต้องการลงรายละเอียดให้เกิดความชัดเจนขึ้น ว่า อะไรบ้างที่ต้องผ่านรัฐสภาฯ ส่วนจะให้ออกเป็นกฎหมายลูกนั้น ไม่มั่นใจว่าจะรัดกุมเท่ากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“มาตรา 266 หาก ส.ว. และส.ส. ทำงานโปร่งใสจริง ก็ไม่จำเป็นต้องมีมาตรานี้ เพราะที่ผ่านมา มีการเข้าแทรกแซงข้าราชการประจำ โดยที่เมื่อมีโครงการต่างๆขึ้นมา ก็มักจะมีการบังคับผูกขาดกับบางบริษัท” นพ.ตุลย์ กล่าว

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่แล้ว ทันทีที่ได้ข่าวว่า ส.ว. จะร่วมลงรายชื่อลงหนังสือพิมพ์ ตนได้ทำหนังสือต่อวุฒิสภา ว่า ขอเป็นผู้ริเริ่มคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้รับการอนุมัติในสัปดาห์หน้า โดยมีกำหนดไปยื่นในวันที่ 7 ส่วนผู้ที่ต้องการร่วมลงชื่อคัดค้าน ตนจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งว่าจะรับแบบฟอร์มได้ที่ไหนบ้าง ตรงนี้ขอย้ำว่า บัตรประชาชนต้องถ่ายสำเนาให้เห็นหน้าอย่างชัดเจน

นายประสาร กล่าวว่า รัฐบาล ต้องการให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง และสร้างความสมานฉันท์ จึงได้แต่งตั้ง ชุดปฏิรูปการเมือง ชุดสมานฉันท์ และชุดแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้รับความสนใจจากประชาชนมากเป็นพิเศษ โดยเรื่องที่จะต้องทำการพิจารณาในวันที่ 16-17 มี คปพร.(หมอเหวง) ที่จะเอารัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้ และกรณีของ152 ส.ว. ส.ส. ที่เพิ่งยื่นขอแก้ไขใน 7 มาตรา รวมถึงกรณีพรรคเพื่อไทย ขอให้ยกเลิกมาตรา 309 ที่จะไปปลดล็อคให้คนผิดลอยนวล

นายประสาร แยกแยะให้เห็นถึงใครบ้างที่จะได้รับผลประโยชน์ หลังจากแก้รัฐธรรมนูญ 1.ตามมาตรา 327 “ให้ยุบพรรคการเมือง แต่คงไว้ซึ่งการเพิกถอนสิทธิผู้ทำผิดกฎหมาย” ตรงนี้ผู้รับประโยชน์คือพรรคการเมือง 2.มาตรา 93-98 “ให้มีส.ส.จากการเลือกตั้งเขตุเดียวเบอร์เดียว 400 คน จากบัญชีรายชื่อ100 คน” ผู้รับประโยชน์คือพรรคการเมืองกับ ส.ส. 3. ที่มาของ ส.ว. ตามมาตรา 111-121 แต่เดิมกำหนดให้มาจากการสรรหา 74 เลือกตั้ง 76 ซึ่งจะแก้ให้มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ตรงนี้ผู้รับประโยชน์คือ ส.ส.และ ส.ว. เพราะเป็นการเพิ่ม ส.ว.เข้ามาอีก 50 คนขณะเดียวกัน ส.ว.กับ ส.ส. จำนวนไม่น้อยที่มาจากฐานเสียงเดียวกัน

4. มาตรา27 เป็นการเปิดทางให้ ส.ว.สรรหา ยืดอายุการทำงานได้อีก 3 ปี ผู้รับประโยชน์คือ ส.ว. ซึ่งตรงนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นมูลเหตุจูงใจ ที่ทำให้ ส.ว. ร่วมลงรายชื่อ 5.มาตรา 190 การทำสัญญากับต่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ แต่กำหนดให้ชัดเจนขึ้นว่าสัญญาแบบไหนที่ต้องให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ซึ่งผู้รับประโยชน์คือรัฐบาล 6.มาตรา265 การดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ ส.ส. เป็นที่ปรึกษาเป็นเลขานุการตัวเองได้ ผู้ได้รับประโยชน์คือ ส.ส.และรัฐบาล 7.มาตรา 266 กำหนดให้ ส.ส.และ ส.ว. สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนโดยผ่านราชการได้ ผู้รับประโยชน์คือ ส.ส. และส.ว. สิ่งที่จะแก้ไขทั้งหมดนี้ เมื่อสังเกตดูจะเห็นได้ ว่าไม่มีข้อไหนเลยที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์

นายประสาร กล่าวว่ามีเพื่อน ส.ว. ได้รับการทาบทามให้ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งเจรจาและข่มขู่ แต่ตอนนี้ ส.ว. สรรหา หลายคนกำลังไขว้เขว ว่าจะถอนการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญดีหรือไม่ เพราะการร่วมลงชื่อเข้าข่ายความผิดในมาตรา 122 ว่าด้วยเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนั้นด้วยความปรารถนาดี ตนขอแนะนำให้รีบถอนการร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญเสียแต่ตอนนี้ ก่อนที่ภัยจะมาถึงตัว อย่างไรก็ตามตอนนี้มี ส.ว.ถอนการร่วมลงชื่อไปแล้วกว่า 10 คน จากที่ร่วมลงชื่อ 20 กว่าคน

นพ.วรงค์ กล่าวเสริมว่า พรรคเพื่อไทย พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นความผิด แต่วันนี้คณะรัฐบาลเห็นพร้องต้องกัน จะไม่แก้ไขสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับคนใดคนหนึ่งในทางไม่ชอบ อย่างไรก็ตามนายกฯ เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า หากแก้ไขจะทำให้เกิดความสมานฉันท์จริง และท่าทีของรัฐบาลเริ่มมีการถอยแล้ว

นพ.วรงค์ เท้าความถึงความแตกแยกทางสังคม หลังจากกลุ่มเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้มีแนวคิดสร้างความสมานฉันท์ จนนำไปสู่การจัดตั้ง คณะกรรมการสมานฉันท์ และคณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ ขึ้นมา และเมื่อคณะกรรมการสมานฉันท์มีความเห็นว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจะยุติความขัดแย้งได้ ทำให้รัฐบาลต้องรับฟัง โดยวันที่ 16-17 จะเปิดประชุม เพื่อให้คณะกรรมการสมานฉันท์ได้รายงานเหตุผล และรับฝังความคิดเห็นของ ส.ส.และส.ว. แต่ละคนว่ามีความคิดเห็นอย่างไร

“ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนเดิม แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาล มีเป้าหมาย ที่จะยุติความขัดแย้งและความแตกแยกของสังคม ซึ่งต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาเอง เมื่อถึงเวลาที่คณะกรรมการสมานฉันท์ต้องชี้แจง รัฐบาลจึงต้องรับฟัง ซึ่งจะปฎิเสธเสียที่เดียวเลยมันไม่ได้” นพ.วรงค์ กล่าว

นพ.วรงค์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะเอามาตราไหนบ้าง แต่โดยหลักการเรามีความเห็นพ้องกันว่า อะไรที่จะนำไปสู่ความสงบสุขของบ้านเมือง ก็ต้องยอมรับ และที่ประชาธิปัตย์จะนำข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เข้าสู่สภาฯ ไม่ใช่การซื้อเวลาเพื่อเป็นรัฐบาล เพราะหากซื้อเวลาจริงต้องถ่วงไปถึงปีหน้า โดยดูได้จากหลังจากมีมติ ครม. เสร็จ ก็นัดประชุมอาทิตย์ถัดมาเลย ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก

นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งจะต้องใช้เสียงถึง 311 เสียง ดังนั้นการที่ส.ส.ยื่นรายชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาร้อยกว่าท่าน หากสมาชิกวุฒิสภาไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถทำได้ ต่อให้รัฐบาลเองที่มีเสียงถึง 270 เสียง ก็ทำไม่ได้ เพราะยังขาดอีก 40 เสียง

“หลายคนพาดพิง ว่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาเขาวิหาร รัฐบาลจึงต้องแก้มาตรา190 เพื่อให้ นายกษิต พ้นผิด ตนขอยืนยันว่า อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐมนตรีหรืออดีตรัฐมนตรี และจะนำไปสู่การ นิรโทษกรรม เรื่องอย่างนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น” นพ.วรงค์ กล่าว

นพ.วรงค์ กล่าวว่า รัฐบาลคือคนกลางต้องดูแลประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาคไหน หรือเสื้อสีใด จึงต้องทำความเห็นพ้อง เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ ไม่อยากให้ใครตราหน้าได้ว่า รัฐธรรมนูญนี้เป็นทาสเดนของ คมช. เพราะอย่างน้อยก็สื่อให้เห็นว่าได้รับการชำระล้างภาพความแตกแยกแล้ว ดังนั้นใครจะเอาเหตุนี้มาอ้างในการชุมนุมครั้งต่อไปไม่ได้
นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์
นายประสาร มฤคพิทักษ์
นายวรงค์ เดชกิจวิกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น