xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ค้านแก้รธน.เพื่อตัวเองตอบ3คำถามไม่ได้อย่าไปแตะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่รัฐสภา วานนี้ (10 ก.ย.) มีการประชุมวิป 3 ฝ่ายปทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เพื่อหารือถึงกรอบในการร่วมประชุมรัฐสภาในวันที่ 16-17 ก.ย. เพื่อพิจารณา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาลว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ในการอภิปรายในวันแรกเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 -24.00 น.และในวันที่สอง เวลา 10.00-22.00 น. รวมเป็น 26 ชั่วโมง โดยแบ่งเวลาการอภิปรายให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ นายกฯและครม.4 ชั่วโมง รัฐบาล 8 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง และวุฒิสภา 6 ชั่วโมง สมาชิกอภิปรายเฉลี่ยคนละ 10 นาที หากฝ่ายใดจะอภิปราย มากกว่านี้ก็ขอให้แจ้งต่อประธาน เพื่อให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และให้ถ่ายทอดผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 โดยกรอบการอภิปราย ขอให้ยึดตามรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯในประเด็นการสร้างความสมานฉันท์ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยวิปทั้ง 3ฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่าให้ประธานได้มีการ ควบคุมการอภิปรายและเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้
นอกจากนั้นที่ประชุมยังเห็นว่าการอภิปรายครั้งนี้ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้แสดงความเห็นอย่างกว้าง และให้ครม.รับฟังความคิดเห็นไปประมวล ความคิดเห็นที่จะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือทุกฝ่ายว่า ให้อภิปรายอย่าง สร้างสรรค์ และให้เห็นว่าการเมืองโดยกลไกของระบบรัฐสภาสามารถหาทางออกได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะสร้างความสมานฉันท์และปฎิรูปการเมืองต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการพูดถึงหรือไม่ว่าหาก 2 วันอภิปรายไม่พอจะต้องต่อเวลา ออกไปอีก นายชินวรณ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายยืนยันชัดเจนว่าเมื่อถึงเวลา 22.00 น. ให้เสนอปิดได้ทันที เพราะสมาชิกแต่ละคนก็ติดภารกิจ อภิปรายเพียง 2 วันก็น่าจะครอบคลุมแล้ว

รอฟังอภิปรายฯก่อนกำหนดท่าทีแก้รธน.
ผู้สื่อข่าวถามว่าผลการอภิปรายแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อเพื่อให้เป็นรูปธรรม นายชินวรณ์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของสมาชิก หากมีการเสนอประเด็นที่จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถที่จะดำเนินการได้ ซึ่งการเสนอร่างถ้ามีความเห็นพ้องต้องกัน ก็เสนอร่างขึ้นมาอีกก็ได้ และอาจนำประเด็นที่ส.ว.และส.ส.เสนอมา 6 ประเด็นเข้ามาก็ได้ เมื่อรัฐสภาเห็นว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกันก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งจะต้องทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 คือต้องพิจารณา 3 วาระรวด หรือถ้าเห็นว่า ควรมีการตั้งส.ส.ร. ขึ้นมาก็แก้ไขเฉพาะมาตรา 291
ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่าสมาชิกจะอภิปรายในทิศทางใด ต้องขอฟังสมาชิกก่อน ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ต้องประมวลความเห็นจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาก่อน ว่ามีความเห็นไปในทิศทางใด อย่างไรก็ตามกรณีที่นายสมเกียรติ ศรลัมภ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน แกนนำที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก่อนนั้น เป็นเรื่องที่นายสมเกียรติ ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าไปรับงานใครมาหรือไม่

ตุลย์นัดแสดงตนยื่นถอดถอนส.ส.
นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายกลุ่มปัญญาสยาม ผู้แสดงตนริเริ่มล่ารายชื่อประชาชนจำนวน 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอน ส.ส. ส.ว. ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา กล่าวว่า ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ จะไปแสดงตนเป็นผู้ริเริ่มการล่ารายชื่อประชาชน ต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ที่อาคารรัฐสภา 2 โดยเป็นการ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ม.164 เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา ให้วุฒิสภามีมติตาม รัฐธรรมนูญ ม.274
อย่างไรก็ตามคงต้องดูยอดล่าสุดของจำนวน ส.ส. ,ส.ว. ที่ร่วมลงชื่อเสนอ แก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 ก.ย. ว่าขณะนี้เหลืออยู่กี่คน เพราะขณะนี้ยังมีผู้ทยอย ถอนชื่ออยู่เรื่อยๆ จะได้ยื่นถอดถอนตามบัญชีรายชื่อที่เหลือ
ทั้งนี้ ในวันที่ 11 ก.ย.นี้ จะเริ่มเปิดตู้ ปณ. จุฬาลงกรณ์ฯ เพื่อเปิดให้ประชาชน ส่งเอกสารหลักฐานการเข้าชื่อขอถอดถอน ส.ส. ,ส.ว. เข้ามาอีกช่องทางหนึ่ง โดยคาดว่าจะใช้เวลารวบรวมรายชื่อประชาชนไม่เกิน 2 สัปดาห์

กกต.ค้านนักการเมืองแก้รธน.
นาง สดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง ในฐานะ อดีต ส.ส.ร. แสดงความเห็นถึงการแก้รัฐธรรมนูญตามความเห็นของ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ประเด็นที่นำเสนอมานั้นเห็นว่า เป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเองเท่านั้น เช่น มาตรา 237 ที่ให้ กรรมการบริหารพรรคไม่ต้องรับผิดชอบหากมีการซื้อเสียง ซึ่งจริงๆ แล้วมาตราดังกล่าว เขียนขึ้นเพื่อตั้งใจแก้การซื้อสิทธิขายเสียงและให้ พรรคดูแลกันเอง ดังนั้นหากแก้มาตรานี้พรรคก็ไม่ต้องมีความรับผิดชอบ หรืออย่างการแก้ไขเรื่องเขตเลือกตั้ง ซึ่งตอนที่ยกร่างเราก็ได้ถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียของระบบเขตเดียวเบอร์เดียวและเขตใหญ่เรียงเบอร์ โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและเห็นว่าระบบนี้ดีที่สุดในการ ป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง
นางสดศรีกล่าวว่า อย่างที่ต้องการจะแก้ไขอำนาจการแจกใบเหลืองแดง ให้ไป อยู่กับศาลแทน กกต. นั้น ตนก็มองว่าทุกวันนี้ อำนาจทุกอย่างก็แทบจะไปอยู่ที่ศาล อยู่แล้วเว้นแต่เรื่องก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ที่เหลือเราก็มีหน้าที่ ทำความเห็ ส่งต่อศาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเองจะเข้าชื่อ เพื่อถอดถอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 หรือไม่ นางสดศรีกล่าวว่า เรื่องดังกล่าว คงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนตีความและถอดถอน กกต.จะไม่เกี่ยวข้อง โดยจะมีหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ เท่านั้น
หากแก้แล้วจะทำให้บ้านเมืองสมาฉันท์ก็แก้ แต่แก้แล้วก็มองไม่เห็นว่าจะเกิดการสมานฉันท์อย่างไรเพราะก็ยังคงมีสีเหลือง สีแดง อีกทั้งการสมานฉันท์ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งเท่านั้น ถ้าตราบใดยังจัดการเรื่องความขัดแย้งไม่ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มีประโยชน์นอกจากแก้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง”

พีเน็ตแนะนำรธน.ปี40มาใช้ใหม่
พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยฯ (พีเน็ต) แถลงว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญควรจะเอาไว้ก่อน ตนคิดว่าก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ 6 เดือน ค่อยมาหารือกันเพราะเลือกตั้งตอนนี้ผลออกมาจะมีใครยอมรับหรือไม่ ทั้งนี้อาจจะให้ส.ส.ในสภาโหวตกันว่าจะใช้รัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 ในการเลือกตั้ง ส่วนตัวมองว่าควรนำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 40 กลับมาใช้ใหม่ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาเปิดรัฐสภา ซึ่งองค์กรกลางได้รับพระบรมราชานุญาติให้อัญเชิญมาสร้างเหรียญเพื่อเทิดพระเกียรติ และหวังว่าจะเป็นการยุติการ ฉีกรัฐธรรมนูญ ประชาชนได้มีโอกาสเป็นครั้งแรกที่ได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้ปกครองประชาชนเอง ดังนั้นจึงอยากขอร้องให้หยิบยกรัฐธรรมนูญ 40 มาเป็นหลัก
ผมเห็นว่าควรหยิบรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาใช้ หรือให้ ส.ส.โหวตในสภาเอา รัฐธรรมนูญ 40 ขึ้นมาใช้ จากนั้นยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แล้วให้รัฐบาลใหม่มาแก้รัฐธรรมนูญ และผมเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญโดยสภา แก้ไม่ได้แน่นอนเสียเวลาเปล่า ถ้าจะแก้ ต้องตั้ง 2 องค์กรเอกชนขึ้นมา
พล.อ.สายหยุด กล่าวอีกว่า ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจเรากำลังฟื้นตัว และจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ถ้าการเมืองไม่วุ่นวาย รวมทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ควรยุติการเคลื่อนไหวด้วย เพราะการเคลื่อนไหว ของท่านได้คุ้มเสียหรือไม่

ตั้ง3คำถามตอบไม่ได้ไม่ต้องแก้
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการมูลนิธิฯ กล่าวว่า สำหรับ 6 ประเด็น ที่มีการเสนอให้แก้ไขนั้น ตนมองว่าทั้ง 6 ประเด็นไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไข ประชาชนไม่ได้ประโยชน์แท้จริง และที่บอกว่าจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งนั้นเป็นไปไม่ได้ และตนเชื่อว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง นักเลือกตั้ง เช่น มาตรา 237 ซึ่งเป็นยาแรงในการป้องกันการซื้อเสียง และยิ่งมาตรา 111-121 ได้มีการเสนอให้ส.ว.อยู่ในตำแหน่ง 6 ปี ยิ่งขัดระบอบประชาธิปไตย อย่างเด่นชัด ซึ่งมีประเด็นนี้ขึ้นมาเนื่องจากต้องการ ส.ว.เข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามในมาตรา 190 หากจะมีการแก้ไขจริงต้องอธิบายให้เห็นปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
นายสมชัย กล่าวว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง อยากให้ตอบคำถาม 3 ข้อให้ได้ก่อน คือ 1.การแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ตรงไหน 2.การซื้อเสียงเลือกตั้งจะลดได้จริงหรือไม่ และ 3.เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างไร ถ้าตอบคำถามไม่ได้ก็ให้ยกเลิกการแก้รัฐธรรมนูญ

ติงส.ว.นำประเด็นแก้เพื่อตัวเองมาโจมตี
นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านคาดหวังว่า การประชุมจะทำให้ได้ข้อมูล จากทุกฝ่าย และฝ่ายค้านสนับสนุนเต็มที่ ทั้งนี้ตนได้เตือนบ่อยๆว่า ที่ผ่านมารัฐบาลกำลังซื้อเวลา ซึ่งจะไม่ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย
นอกจากนี้ในการประชุม สิ่งที่ต้องพูดคุยมากกว่านั้นด้วยคือ ผลการศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ 50 จากส่วนต่างๆ อาทิ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 50 ที่สภาผู้แทนราษฎร เคยตั้งไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งอันไหนที่เป็นประโยชน์ก็น่ามาบรรจุเพื่อคุยกันในกรอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ประเด็นที่จะแก้ไม่ควร เกินเลยกว่าข้อเสนอ 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีส.ว.ระบุว่าจะมีการยื่นถอดถอนส.ส.และส.ว.ที่ร่วมลงชื่อ เพราะการแก้บางมาตราทำให้ตนเองได้ประโยชน์อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 นายวิทยา กล่าวว่า ฝ่ายนิติบัญญัติต้องเข้าใจหน้าที่ตนเอง ตนไม่อยากให้นำประเด็นที่รัฐธรรมนูญรองรับในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มาตีความกันเอง อย่างประเด็นที่ กกต.ตัดสินเรื่องหุ้นออกมา ก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังขาว่าเป็นอุปสรรคการทำงาน หรือไม่ ขอถามว่าจะรอให้น้ำท่วมจมูกหายใจไม่ออก แล้วถึงคิดทำ หรือจะรอทหาร ออกมาปฏิวัติแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างนั้นหรือ

ปธ.วิปฝ่ายค้านไม่หนุนทำประชามติ
สำหรับกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีการทำประชามติก่อนนั้น นายวิทยา กล่าวว่า อย่าหลอกตัวเองเลย เพราะการแก้ไขไม่มีอะไรเกินเลย และเป็นการแก้น้อย ที่สุด ตนไม่ได้บอกว่า ประชามติไม่จำเป็น แต่ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอมา ก็เป็นการเสนอแก้ไขน้อยที่สุดและแก้ที่เป็นปัญหาจริงๆ หากไปถามประชาชน อาจจะโดนตอกหน้ากลับมาว่า เลือกผู้แทนฯไปแล้ว ทำไม่ไม่ทำกัน อย่างไรก็ดี ในสภาก็ต้องหารือกับทุกฝ่าย หาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายรับกันได้ และยึดเสียงข้างมากโดยที่ไม่ละเลยเสียงข้างน้อย
ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านหากมีการแก้รัฐธรรมนูญนั้น นายวิทยา กล่าวว่า อยากให้กลุ่มพันธมิตรฯคิดดูว่า ถ้ามาเป็นพวกตน คือเป็นส.ส. จะรู้ว่าปัญหาคืออะไร เกิดอะไรขึ้นกับการทำหน้าที่ได้ ลำบากบ้าง

ปชช.ยังไม่แน่ใจที่จะให้แก้ไขรธน.
ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสายตาประชาชน โดยส่วนใหญ่เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้ การเมืองไทยพัฒนาได้ไม่เต็มที่คือ นักการเมือง ร้อยละ 41.26 รองลงมาคือ เศรษฐกิจ ร้อยละ 17.98 รัฐธรรมนูญ ร้อยละ 16.19 และประชาชน ร้อยละ 15.47
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นพบว่า คนส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 40.38 ไม่แน่ใจ เพราะยังสับสนกับข้อมูลที่ได้รับในปัจจุบัน, มีหลายกระแสที่อยากให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ , ไม่รู้ว่าฉบับไหนดีกว่ากัน และประชาชนหรือนักการเมืองที่ได้ประโยชน์ รองลงมาเห็นว่าควรแก้ไข ร้อยละ 39.91 เพราะมีหลายมาตราที่เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาและข้อถกเถียงกันอย่างมากในปัจจุบัน, รัฐธรรมนูญปี 50 ยังมีช่องโหว่อยู่ และทำให้ประชาชนมีสิทธิมากขึ้น ส่วนที่เห็นว่า ไม่ควรแก้ไข มีร้อยละ 19.71 ให้เหตุผลว่า เพราะฉบับเดิมดีอยู่แล้ว, เป็นการแก้ไข เพื่อเอื้อประโยชน์คนบางกลุ่ม, อาจเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก

ไม่เชื่อแก้ไขแล้วสถานการณ์จะดีขึ้น
สำหรับประเด็นที่ประชาชนอยากให้แก้มากที่สุด คือ อันดับ 1 ได้แก่ มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและกรรมการบริหารพรรค ร้อยละ 21.17 อันดับสอง มาตรา 93-98 เรื่องที่มา ส.ส.ให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ร้อยละ 17.91 อันดับสาม มาตรา 266 เรื่องข้อห้ามไม่ให้ ส.ส.-ส.ว.เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ ร้อยละ 16.51 อันดับสี่ มาตรา 190 เรื่องการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา ร้อยละ 16.18 อันดับห้า มาตรา 112-121 เรื่องที่มาของ ส.ว.ให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ร้อยละ 14.98 และอันดับหก มาตรา 266 เรื่องขอห้ามการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส. ร้อยละ 13.25
ผลสำรวจยังพบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว สถานการณ์ต่างๆ ในประเทศจะเหมือนเดิม ร้อยละ 69.63 เพราะหากนักการเมืองยังคงปฏิบัติตัวในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เห็นแก่พรรคอยู่ การเมืองไทยก็ไม่พัฒนา รองลงมาเห็นว่าดีขึ้น ร้อยละ 24.77 เพราะเป็นการแก้ไขที่ถูกจุด ส่งผลดีต่อประเทศชาติ การประท้วง การชุมนุมทางการเมืองอาจลดลงได้ ส่วนที่เห็นว่าแย่ลง มีร้อยละ 5.60 เพราะเห็นว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอาจต่อต้านหรือสร้างความวุ่นวายให้บ้านเมืองอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น