xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง‘เขตพิเศษ’มาบตาพุดยอมรื้อ55โครงการใหม่ตีกรอบ8กิจการแจงEIA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวมาบตาพุด ขีดเส้นรัฐบาล 1 เดือน จริงใจแก้ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากเมินเฉยเจอม็อบแรงกว่าเดิม ด้านนายกฯไม่ค้านตั้งมาบตาพุดเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นพิเศษ ยันโครงการไหนขัด มาตรา 67 ทำไม่ได้ พร้อมทบทวน 55 โครงการใหม่ดูเป็นรายโครงการ “ชาญชัย”เซ็นประกาศควบคุม 8 กิจการกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแล้วตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.

วานนี้(18 ก.ย.) นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบและหารือร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ร่วมหารือด้วย ว่า 5 ประเด็นที่ภาคประชาชนเสนอรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับไว้และคาดว่านายกฯจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเร็วๆ นี้ ประกอบด้วย
1) ปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีปัญหา โดยรัฐฯรับที่จะไปดูกลไกกฎหมายให้สามารถใช้ได้เป็นจริง 2) พื้นที่ที่พัฒนาจะต้องมีกลไกรูปแบบพิเศษ เช่น องค์การท้องถิ่นพิเศษ เข้ามามีบทบาทสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน 3) รัฐฯจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่รัฐฯจะต้องเข้ามาดูและดำเนินการในทุกขั้นตอน ทั้งการจัดทำ อีไอเอ, เอชไอเอ และการจัดตั้งองค์กรอิสระว่าด้วยสิ่งแวดล้อม 4) รูปแบบขององค์กรอิสระว่าด้วยสิ่งแวดล้อม จะเสนอรูปแบบเข้ามาอีกครั้ง
และ 5) รัฐฯ รับที่จะไปทบทวนโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทั้ง 55 โครงการที่จะขยายโรงงานใหม่ ในรายละเอียดของโครงการว่า โครงการใดผ่านอีไอเอ และมีผลกระทบหรือมีความรุนแรงมากเพียงใด เนื่องจากภาคประชาชน ไม่มีโอกาสได้เห็นรายละเอียดเลย
"คาดว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อแก้ปัญหาระหว่าง ภาคประชาชน ภาครัฐ และนักวิชาการ เพื่อสรุปรูปแบบของข้อเสนอทั้ง 5 ประเด็น เพื่อเสนอรัฐบาลอีกครั้ง แต่ข้อเสนอเพื่อตั้งคณะกรรมการร่วมนั้นภาคประชาชนจะไม่เจรจากับเอกชนเพราะเห็นว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เราขีดเส้นให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาภายใน 1 เดือนนับจากนี้ หากไม่จริงใจเราจะเคลื่อนไหวชุมชนด้วยมาตรการที่รุนแรงขึ้น” นายสุทธิ กล่าว และเผยว่าจะนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงกรณีที่รัฐออกมาระบุถึงความเสียหายเป็นตัวเงินมากถึง 3 – 4 แสนล้าน ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือข้างต้นว่าเรื่องที่หารือกัน มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.หากมีกรณีการบังคับใช้กฎหมายที่ใดที่เห็นว่าย่อหย่อน ประชาชนอยากมีกลไกที่ติดตามได้ง่ายขึ้น เช่น เมื่อมีกลิ่น หรือสารพิษ ที่บางครั้งมีความย่อหย่อนตรงนี้จริงๆ
2. หลังจากประกาศเขตควบคุมมลพิษและต้องทำแผน ประชาชนมีความรู้สึกว่า ยังมีหลายเรื่องที่ต้องทำให้ชัดเจน เช่น การทำเขตกันชน การศึกษาระดับกิจกรรมของอุตสาหกรรม ที่คิดว่าชุมชนจะรับได้ ตนเห็นด้วยว่าเวลาติดตามเรื่องแบบนี้ จะติดตามเป็นโครงการ ทั้งที่จริงในภาพรวมนั้นมันสะสมที่นั่น ต้องเห็นใจชุมชนด้วย ตรงนี้ตนจะติดตามให้ หากติดขัดและไม่รับฟังเสียง ขาดงบประมาณ ตนยินดีสนับสนุน
3.ประเด็นมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญนั้น ก็ทำความเข้าใจให้ตรงกันมากขึ้นว่าตีความอย่างไร ส่วน 55 โครงการที่ประชุมวันนี้ ก็ไม่ทราบรายละเอียดด้วยกัน แต่บางโครงการไปได้ และไม่น่าจะมีผลกระทบ และบางโครงการเมื่อทำไปแล้วมันก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดมลพิษ ตนจึงขอไว้อย่าใช้จุดยืนที่ว่าห้ามขยาย หรือให้ขยายหมด ก็ขอให้ไปคุยในรายละเอียดแต่ละโครงการไป
ส่วนคำถามที่ว่าสมควรจะตั้งกรรมการมาศึกษา 55 โครงการในพื้นที่หรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะบางโครงการไม่สลับซับซ้อน แต่มันต้องทำให้โปร่งใส ทั้งนี้ทุกโครงการผ่านการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)ไปแล้ว ตนบอกแกนนำว่าการเคลื่อนไหวมันไม่ได้ช่วยอะไรมากขึ้น สู้มาทำกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลดีกว่า แล้วบอกว่าไม่เอา และไม่ได้มีโอกาสตรวจดูรายละเอียด มันก็ไม่แตกต่างกัน และไม่มีอะไรคืบหน้า
สำหรับข้อเสนอให้มาบตาพุดเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นพิเศษนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กำลังพิจารณาอยู่ ต้องดูก่อนและยังไม่สรุป เรื่ององค์กรนี้ตนมีแนวทางอยู่แล้ว กรณีนี้เป็นหนึ่งในประเภทพื้นที่ที่ต้องทดลองดู แต่ควรคำนึงว่าตอนนี้ท้องถิ่นไปร่วมในด้านการบริหารเขตควบคุมมลพิษอยู่ ทั้งนี้ การจัดทำเขตปกครองพิเศษนั้นต้องออกเป็นกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่า จะมีกฎหมายตามมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 ซึ่งระบุถึงโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงกับชุมชน ส่วนใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าโครงการที่เข้าข่ายรัฐบาลตอบไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของแต่ละโครงการ ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดคือ EIA หากผู้จัดทำรายงานระบุว่าโครงการนี้มีผลกระทบรุนแรงก็ต้องบอกว่าเข้าข่ายมาตรา 67
ทางด้านนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรมได้ลงนามร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการพิจารณาอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 52 ซึ่งครอบคลุม 8 กิจการที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)และสุขภาพ(HIA) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา67 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550
“ 8 กิจการที่ประกาศไว้นั้นหากหน่วยงานใดเห็นว่ายังมีกิจการอื่นๆ ที่น่าจะเข้าข่ายเข้ามาควบคุมก็เสนอมาเราพร้อมจะใส่เพิ่มเข้าไป ประกาศนี้เราทำก็เพื่อที่จะมีกรอบให้ชัดสำหรับนักลงทุนว่าอะไรบ้างที่จะต้องลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มและจะเป็นกรอบในการไปโรดโชว์การลงทุนด้วย”นายสรยุทธ กล่าว
สำหรับ 8 กิจการ ประกอบด้วย 1. การทำเหมืองใต้ดินทุกขนาด 2. เหมืองแร่ตะกั่วและสังกะสีทุกขนาด 3. การถลุงแร่ด้วยสารละลายเคมีในชั้นดินทุกขนาด ส่วนเหล็กขั้นต้นกรณีตั้งโรงงานกำลังผลิตตั้งแต่ 2 หมื่นตันต่อวันขึ้นไป และกรณีการขยายโรงงานด้วยการเพิ่มกำลังผลิตตั้งแต่ 35% ของกำลังผลิตเดิม 4. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นหรือขั้นกลางที่ก่อมลพิษทางอากาศกำหนดไว้ 14ชนิดกรณีตั้งโรงงานผลิตตั้งแต่ 1,000 ตันต่อวันขึ้นไป การขยายการผลิตรวมกันเกินกว่า 35%
5. นิคมอุตสาหกรรมที่รองรับอุตสาหกรรมผลิตเหล็กขั้นต้นหรือปิโตรเคมีขั้นต้นหรือขั้นกลางทุกขนาด 6. โรงงานฝังกลบของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมหรือเตาเผาที่จัดสร้างเพื่อกำจัดของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม 7.โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เว้นก๊าซธรรมชาติมีกำลังผลิตตั้งแต่ 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป 8. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กิจการที่กนอ. อนุมัติให้ประกอบกิจการแล้ว 1 กิจการ คือ สยามแผ่นเหล็กวิลาส และอยู่ระหว่างการรอพิจารณาอีก 7 กิจการ เช่น อาทิตยาเบอร์ล่า ไทยอาซาฮี ฯลฯ ซึ่งหลักเกณฑ์พิจารณาจะเพิ่มเรื่องของความปลอดภัยในเครื่องจักรเข้าไปด้วยและกำลังตรวจสอบว่าที่เหลือเข้าข่าย 8 กิจการหรือไม่ ซึ่งเข้าใจว่าไม่น่าจะเข้าข่าย
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวยืนยันว่า มีกิจการที่กรอ.จะต้องอนุญาตประกอบกิจการ 13 ราย ซึ่งได้อนุญาตไปแล้วทั้งหมด 12 ราย มูลค่า 5.9 หมื่นล้านบาท เหลือเพียงรายเดียวเป็นของเครือปตท. ซึ่งเป็นกิจการขยายโรงแยกก๊าซ โดยโครงการที่กรอ.อนุญาตไม่เข้าข่าย 8 กิจการแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น