xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯรับข้อเสนอชาวบ้าน “มาบตาพุด” ไม่ค้านตั้งเขตปกครองพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นายกฯอภิสิทธิ์ เผย หลังให้แกนนำชาวบ้านนิคมมาบตาพุดเข้าพบ ระบุ พร้อมรับข้อเสนอ หนุนทำงานร่วมกับชาวบ้าน เผย กำลังดูรูปแบบ “เขตพิเศษ” เพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงาน ยันโครงการไหนขัด ม.67 ทำไม่ได้



วันนี้ (18 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่แกนนำประชาชนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เข้าพบในช่วงเช้าวันนี้ ว่า เรื่องที่หารือมี 3 ประเด็น คือ 1.หากมีกรณีการบังคับใช้กฎหมายที่ใด ที่เห็นว่า ย่อหย่อน ประชาชนอยากมีกลไกที่ติดตามได้ง่ายขึ้น เช่น เมื่อมีกลิ่นหรือสารพิษ ที่บางครั้งมีความย่อหย่อนตรงนี้จริงๆ 2.หลังจากที่มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษและต้องมีการทำแผน ประชาชนมีความรู้สึกว่ายังมีหลายเรื่องที่ต้องทำให้ชัดเจน เช่น การทำเขตกันชน การศึกษาระดับกิจกรรมของอุตสาหกรรม ที่คิดว่า ชุมชนจะรับได้โดยตนเห็นด้วยว่าเวลาติดตามเรื่องแบบนี้จะติดตามเป็นโครงการ ทั้งที่จริงในภาพรวมนั้นมันสะสมที่นั่น ต้องเห็นใจชุมชนด้วย โดยตรงนี้ตนจะติดตามให้ หากติดขัดกลไกใดที่ไม่ทำงานและไม่รับฟังเสียง ขาดงบประมาณ ตนยินดีสนับสนุน 3.ประเด็นมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญนั้น ก็ทำความเข้าใจให้ตรงกันมากขึ้นว่าตีความอย่างไร และมันติดอยู่ที่ 55 โครงการ และในที่ประชุมวันนี้ก็ไม่ทราบรายละเอียดด้วยกัน แต่บางโครงการไปได้ และไม่น่าจะมีผลกระทบและบางโครงการเมื่อทำไปแล้วมันก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดมลพิษ ตนจึงขอไว้อย่าใช้จุดยืนที่ว่าห้ามขยายหรือให้ขยายหมด ก็ขอให้ไปคุยในรายละเอียดแต่ละโครงการไป

ส่วนที่สมควรจะตั้งกรรมการมาศึกษา 55 โครงการในพื้นที่หรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะบางโครงการไม่สลับซับซ้อนแต่มันต้องทำให้โปร่งใส ทั้งนี้ทุกโครงการผ่านการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้ว เมื่อถามว่ายืนยันว่าจะไม่ยกเลิกโครงการทั้งหมดในข้างต้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่จะทำนั้นหากโครงการใดที่มีความห่วงใยเป็นพิเศษหรือมีเงื่อนไขเพิ่มเติมก็มาคุยกันได้ และในส่วนความเข้าใจของแกนนำนั้น ตนคิดว่าแกนนำมีความหลากหลาย แต่เมื่อฟังความเห็นแล้วพบว่าเหมือนเข้าสใจในความตั้งใจ แม้จะมีความแตกต่างในมุมมองบางเรื่อง แต่ตนเชื่อว่า 55 โครงการนั้น ทุกโครงการจะเป็นปัญหา และตนบอกแกนนำไปว่าเมื่อมีการเคลื่อนไหวใดๆ มันไม่ได้ช่วยอะไรมากขึ้น สู้มากระทำกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลดีกว่าการไปชุมนุมแล้วบอกว่าไม่เอา และไม่ได้มีโอกาสตรวจดูรายละเอียด มันก็ไม่แตกต่างกันและไม่มีอะไรคืบหน้า เมื่อถามว่า ตัวแทนประชาชนต้องการตรวจสอบโครงการทั้งหมด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ดูไปไม่เป็นไร เพราะมีรายงาน EIA ครบทุกโครงการอยู่แล้ว ส่วนที่มองกันว่ามันอาจทำให้การตรวจสอบช้าลงนั้น ความจริงมันช้ามามากแล้วแต่ก็อยากให้มันออกไปในรูปแบบยอมรับกันได้ และตนเข้าใจว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติไปบ้างแล้ว และตนเพิ่งพบ นายสาวิตต์ โพธิวิหค ที่ปรึกษานายกฯ เมื่อเร็วๆ นี้ และนายสาวิตต์ บอกว่า ไม่มีอะไร เพราะทางนั้นจะเป็นฝ่ายเสนอรูปแบบว่าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างไร

เมื่อถามว่า ตัวแทนประชาชนเสนอว่า มาบตาพุดนั้นควรเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นส่วนพิเศษ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนดูอยู่แล้วและการประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นนั้น ตนและ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกฯก็กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ ฉะนั้นเรื่องนี้ตรงกันอยู่แล้วไม่มีอะไรขัดแย้ง แต่ทั้งนี้ต้องดูก่อนและยังไม่สรุปว่าจะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นส่วนพิเศษหรือไม่ แต่อาจมีองค์กรที่มีอำนาจบางตัว หากดึงมาบริหารจัดการได้มันอาจดีขี้น และเรื่ององค์กรนี้นั้นตนมีแนวทางอยู่แล้ว เพราะบางอย่างมันเป็นรูปแบบการบริหารจัดการพิเศษและกรณีนี้นั้นเป็นหนึ่งในประเภทพื้นที่ที่ต้องทดลองดู แต่ควรคำนึงว่าตอนนี้ท้องถิ่นไปร่วมในด้านการบริหารเขตควบคุมมลพิษอยู่

เมื่อถามว่า หากเป็นเขตปกครองพิเศษนั้นมีข้อดีเช่นใด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความตั้งใจคือให้มีความเป็นเอกภาพ รวดเร็ว และไม่มีปัญหาว่าหลายหน่วยงานจะทำให้เกิดปัญหาในการประสานงาน และตนคิดว่ามันจะทำให้ประชาชนเข้าถึงในการประสานงานได้เร็วขึ้น และมันเป็นปัญหาส่วนหนึ่งในช่วงนี้ด้วยที่ต้องยอมรับว่า ประชาชนสับสนข้อมูล อย่างไรก็ตามการจัดทำเขตปกครองพิเศษนั้นต้องออกเป็นกฎหมาย เมื่อถามว่ากรณีนี้อาจเป็นการเอื้อให้นักลงทุนมากกว่าประชาชนในพื้นที่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่ามันน่าจะตอบโจทย์ให้ประชาชนมากกว่าเพราะนักลงทุนมีกระบวนการตามปกติอยู่แล้วที่มีการขออนุญาตก่อน และมันเป็นกลไกในการช่วยติดตามการจัดการและสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่เรื่องนี้ก็เร่งผลักดัน และนายอภิรักษ์ รับไปดำเนินการแล้ว

เมื่อถามว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและถ่านหินอาจไม่ยอม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนบอกแล้วว่า พวกเขาไม่ใจว่า รัฐบาลมองว่าไม่มีกฎหมายตามมาตรา67แห่งรัฐธรรมนูญ เลยไม่ปฏิบัติตาม ตนอธิบายไปว่าไม่ใช่อย่างนั้น รัฐบาลยืนยันว่า จะมีกฎหมายหริอไม่ ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 และมาตรานี้ระบุถึงโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงกับชุมุชนคำถาม คือ ใครเป็นคนตัดสินว่าเป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงกับชุมชน และในทัศนะของรัฐบาลนั้นตอบไม่ได้เพราะมันอยู่ที่ข้อเท็จจริงของแต่ละโครงการ ฉะนั้น ตัวชี้วัดดีที่สุดคือการทำรายงาน EIA หากผู้จัดทำรายงานระบุว่าโครงการนี้มีผลกระทบรุนแรง ก็ต้องบอกว่ามันเข้าข่ายมาตรา 67














กำลังโหลดความคิดเห็น