xs
xsm
sm
md
lg

การเคหะสนองนโยบายรัฐ โอนภารกิจพัฒนาบ้านส่งต่อองค์กรปกครองท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – การเคหะฯเร่งถ่ายโอนภารกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยต่างจังหวัด ส่งต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สนองนโยบายกระจายอำนาจภาครัฐฯ นำร่องโครงการบ้านเพื่อผู้สูงอายุ 2 ประเดิมเพชรบุรี-สระบุรี พร้อมยกเลิกสัญญาก่อสร้างบ้านเอื้อฯที่การก่อสร้างไม่ถึง 50% เตรียมนำที่ดินพัฒนาโครงการเคหะชุมชนจับกลุ่มตลาดระดับกลาง หลังครม.ปรับลดจำนวนก่อสร้างบ้านเอื้อเหลือ 280,000 หน่วย

นายนิรุจ เจียมจรรยง รองผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่าหลังจากที่ประชุมคระรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับลดจำนวนการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรจากเดิม 600,000 หน่วยเหลือ 320,000 หน่วยในช่วงก่อนหน้านั้น ล่าสุดหลังจากที่ กคช. มีการศึกษาความต้องการซื้อบ้านของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศแล้วพบว่า ปัจจุบันมีความต้องการที่แท้จริงประมาณ 200,000 หน่วยเศษ ซึ่งกคช.ได้นำเสนอข้อมูลต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หลังจากนั้น พม.จะได้นำเสนอต่อ ที่ประชุม ครม.มีมติปรับลดหน่วยก่อสร้างในโครงการบ้านเอื้ออาทรครั้งล่าสุดมาอยู่ที่ 280,000 หน่วยเศษ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นที่ กคช. มีการเปิดรับซื้อโครงการบ้านเอื้อฯในรูปแบบเบ็ดเสร็จ หรือ เทิร์นคีย์ ส่งผลให้ในปัจจุบันการเคหะฯ ยังมีที่ดินที่รับซื้อเข้ามาเหลือสะสมอยู่อยู่ประมาณ 6,600 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านั้น กคช.เองมีแผนจะนำที่ดินทั่วประเทศ ซึ่งเป็นทั้งที่ดินที่เกิดจากการยกเลิกดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร 130 โครงการ 6,600 ไร่ และที่ดินที่การเคหะฯซื้อสะสมไว้รอการพัฒนาอีก ประมาณ 8,000-9,000 ไร่ ทยอยออกขาย ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2552

“หลังจากที่รัฐบาลอนุมัติเงินงบประมาณแก่ กคช.จำนวน 3,000 ล้านบาท ทำให้การเคหะฯยกเลิกแผนการตัดที่ดินขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ไป โดยที่ดินในส่วนดังกล่าวนั้น กคช. มีแผนที่จะนำมาพัฒนาโครงการเคหะชุมชน ซึ่งเป็นการดำเนินการเชิงพาณิชย์ของ กคช. ก่อนหน้าที่จะเข้ามารับผิดชอบโครงการบ้านเอื้ออาทร ” นายนิรุจกล่าว

สำหรับความคืบหน้าการแก้ปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรขณะนี้ กคช. เตรียมยกเลิกสัญญาก่อสร้างสร้างบ้านเอื้ออาทรกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เสนอขายบ้านในโครงการดังกล่าวแต่การก่อสร้างล่าช้าไม่สามารถส่งมอบบ้านได้ทันตามกำหนด โดยกลุ่มแรกที่มีการยกเลิกสัญญาการก่อสร้างแล้วคือกลุ่มโครงการที่มีการก่อสร้างความคืบหน้าเพียง 20-30% ส่วนกลุ่มที่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างมากกว่า 50% แล้วจะยังติดตามเร่งรัดให้ก่อสร้างและส่งมอบให้ได้

อย่างไรก็ตาม กคช.ได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีการก่อสร้างมากกว่า 50 % ที่ขาดสภาพคล่องหรือไม่สามารถก่อสร้างโครงการต่อได้บางกลุ่มว่าจะมีการยกเลิกสัญญาด้วย เนื่องจากหากปล่อยให้ก่อสร้างต่อก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะขาดสภาพคล่องซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบบ้านในโครงการให้แก่ลูกค้าที่ครบกำหนดรับมอบบ้านแล้ว

สำหรับที่ดินที่ กคช.รับซื้อแบบเทิร์นคีย์ไว้ แต่ถูกยกเลิกการก่อสร้างตามมติครม.นั้น กคช.จะนำมาพัฒนาโครงการเคหะชุมชน และโครงการแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและแผนการป้องกัน/แก้ไขปัญหาชุมชนแออัด รวมถึงโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยล่าสุด กคช.ได้จัดทำโครงการนำร่องบ้านเพื่อผู้สูงอายุในจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดสระบุรี

นายนิรุจ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในการถ่ายโอนภารกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยในแต่ละจังหวัดให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการนับตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กระจายอำนาจในปี 2542 โดยขณะนี้การเคหะฯได้จัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและแผนการป้องกัน แก้ปัญหาชุมชนแออัด เพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีแผนงานในการดำเนินงานรวมแล้ว 47 จังหวัด และอยู่ในระหว่างการดำเนินการอีก 12 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม การส่งมอบภารกิจด้านที่อยู่อาศัยให้กับท้องถิ่นยังมีปัญหาอุปสรรคซึ่งทำให้การดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากหลายๆ ท้องถิ่นขาดงบประมาณในการดำเนินงาน และขาดบุคคลกรที่มีความรู้ความชำนาญ ดังนั้นการเคหะฯยังต้องเข้าไปสนับสนุนด้วยการเป็นพี่เลี้ยงให้กับท้องถิ่น รวมทั้งการจัดสร้างโครงการเคหะชุมชนในพื้นที่ที่มีความต้องการ

นอกจากนี้การเคหะฯยังได้มีโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุร่วมกับท้องถิ่น โดยล่าสุดได้ร่วมกับเทศบาลตำบลบางตะปูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อนำวิธีการและหาแนวทางในการจัดทำและการบริหารโครงการที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุต่อไป

ด้านนายชาย พานิชพรพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า การดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและแผนการป้องกัน แก้ไขปัญหาชุมชนแออัด เพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการกระจายอำนาจของรัฐบาลที่ต้องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยและปรับปรุงชุมชนแออัด ซึ่ง กคช.ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว 59 จังหวัด

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งการเคหะฯได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒดำเนินการศึกษาและรวบรวมประสบการณ์จากโครงการที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งดำเนินการโครงการนำร่อง โดยได้คัดเลือกเขตเทศบาลตำบลบางตะบูน จ.เพชรบุรี เพื่อนำแนวทางและวิธีการจัดทำและการบริหารโครงการที่อยู่อาศัยที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ
กำลังโหลดความคิดเห็น