xs
xsm
sm
md
lg

อำมาตยาธิปไตยมีหรือ?

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ในนิตยสารรายปักษ์ “Vote” ฉบับปักษ์แรกกันยายน 2552 ในคอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษชื่อบทความ “ธงของเรา คือ ล้มอำมาตยาธิปไตย ไม่ใช่ล้มสถาบัน”

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ปัจจุบันเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี สังกัดพรรคเพื่อไทย โดยเริ่มมีชีวิตการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี 2539 สังกัดพรรคความหวังใหม่ สมัยที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์แพ้อย่างเฉียวเฉียด และในครั้งนั้นมีผู้สันทัดกรณีได้เปรียบเทียบไว้ว่า พรรคความหวังใหม่ใช้ม่านสีม่วงปิดกั้นไว้ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนนทบุรี หรือมีความหมายว่า จะเอาชนะพรรคความหวังใหม่ในจังหวัดนนทบุรี ต้องแหวกม่านสีม่วงอันเป็นสีของธนบัตรใบละ 500 บาทนั่นเอง

พ.อ.อภิวันท์ เคยเป็นคนสนิทของนายเสนาะ เทียนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย และหลังจากนั้นนายเสนาะ ถูกหักหลังและถูกบีบด้วยการถูกลดอำนาจลงในพรรคไทยรักไทย พร้อมๆ กับ ร.ต.อ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ก็ถูกหักหลังและถูกขจัดออกจากศูนย์อำนาจของพรรค แม้กระทั่งเมื่อถูกปรับตำแหน่งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ยังไม่สามารถนั่งทำงานในตึกไทยคู่ฟ้าได้ ต้องมาทำงานในตึกบัญชาการ 3 ในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นตึกเก่ามากเป็นที่ทำงานของข้าราชการระดับผู้อำนวยการ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่ไม่มีเงินเดือน แต่พ.อ.อภิวันท์ มิได้ติดตามนายเสนาะ กลับเข้าสวามิภักดิ์กับกลุ่มคนสนิทของทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

แต่ไม่ทราบว่าอดีตของ พ.อ.อภิวันท์ กับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นอย่างไร มีความบาดหมางมาอย่างไร หรือพ.อ.อภิวันท์ถูกขัดใจอะไรจึงจงเกลียดจงชัง พล.อ.เปรม ถึงขนาดเข้าร่วมเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ และเป็น 1 ใน 9 คนที่ถูกจับกุมจากการไปชุมนุมและปราศรัยกล่าวร้ายที่หน้าบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 และยังเป็นคนที่เรียกบ้านสี่เสาเทเวศร์ว่า “วิมานสีม่วง” ทั้งต่อมาเคยประณาม พล.อ.เปรม ว่าเป็นตุ๊ดที่จังหวัดนนทบุรี

และหากวิเคราะห์ในเชิงพฤติกรรมมนุษย์โดยทั่วไปแล้ว อาจจะต้องตั้งคำถามว่า “พล.อ.เปรม ไปขัดใจอะไรให้ พ.อ.อภิวันท์ หรือไปขัดขวางผลประโยชน์อะไรของ พ.อ.อภิวันท์ จึงมีความเคียดแค้นเป็นส่วนตัว” เพราะการว่ากล่าวนินทาเรื่องส่วนตัว มักจะเป็นความขัดแย้งส่วนตัว มีความลำเอียงเป็นส่วนตัว หรือมีความเกลียดชังเป็นส่วนตัว เพราะพฤติกรรมอะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ทั้งพฤติกรรมและนิติกรรมนั้น สาธารณชนปัญญาชนย่อมไม่รับฟัง หาก พ.อ.อภิวันท์ มีข้อมูลจริงตามที่กล่าวร้ายท่านก็ต้องสามารถชี้แจงให้สาธารณชนได้รับรู้ เพราะพล.อ.เปรม ก็เป็นบุคคลสาธารณชนด้วยเช่นกันกับพ.อ.อภิวันท์

เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วในหลายวงการการเมืองในต่างประเทศ เช่น อดีตหัวหน้าพรรคเสรีนิยมในอังกฤษถูกกล่าวหาว่าเป็นรักร่วมเพศ เมื่อพิสูจน์ได้ก็ยอมลาออก หรือความขัดแย้งของนายกรัฐมนตรีกับรองนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่มีการใช้หลักศาสนาและกฎหมายจนนำสู่ขบวนการฟ้องร้องในศาลแบบจบยาก

แต่ประเด็นสำคัญจริงๆ ของคำให้สัมภาษณ์ พ.อ.อภิวันท์ นั้นคือ การล้มอำมาตยาธิปไตย จึงเกิดคำถามว่า บ้านเมืองเรามีหรือระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีอำนาจบริหารปกครองประเทศในขณะนี้หรือ หากเป็นยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจอมพลถนอม กิตติขจร แล้วจะไม่ขอพูดเลย แต่ปัจจุบันการปกครองประเทศเกิดจากระบอบประชาธิปไตย ที่มาจากการเลือกตั้งหรือสรรหาจากบรรทัดฐานประชาธิปไตยแต่มีข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำเป็นเพียงกลไกของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายพระราชบัญญัติต่างๆ พระราชกฤษฎีกาต่างๆ หรือกฎกระทรวงต่างๆ รวมทั้งอยู่ในกรอบนโยบายของรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือทางอ้อมโดยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

อำมาตยาธิปไตยตามนัยของ เฟรด ดับเบิลยู ริกส์ (Fred W. Riggs) ที่ได้เขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับการเมืองไทยเรื่อง The Modernization of a Bureaucratic Policy ใน ค.ศ. 1966 หรือ พ.ศ. 2509 อันเป็นยุคเผด็จการทหารโดยตรงที่ข้าราชการเป็นใหญ่และบริหารประเทศอย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องที่คนอเมริกันเขียนวิเคราะห์การเมืองไทย แต่หากจะเปรียบเทียบอำมาตยาธิปไตยให้ตรงกับความหมายในการปกครองแบบไทย น่าจะมีลักษณะการปกครองแบบเจ้าขุนมูลนาย

เจ้าขุนมูลนายอันหมายถึง เจ้านายคือ เชื้อพระวงศ์กับข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ ซึ่งก่อนปี 2475 นั้น การปกครองของไทยมีลักษณะเป็นเจ้าขุนมูลนายที่ปกครองประเทศจริงเพราะยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเกิดเป็นระบบอุปถัมภ์ในระบบสังคมศักดินา หรือระบบกษัตริย์ผนวกกับเจ้าขุนมูลนาย คือ สามัญชน ทาส มักมีสังกัด

ปัจจุบันนี้ระบบนี้ไม่มีในสังคมไทยแล้ว เพราะคนทั่วไปไม่มีสังกัดในกลุ่มเจ้านายหรือกลุ่มขุนนางเช่นในอดีต แต่ที่แน่ชัดคือ สังกัดนักการเมืองว่าอยู่ในมุ้งใครต่างหาก

ลักษณะของพระราชวงศ์ก็จำกัดอยู่ในเพียงกลุ่มข้าราชการส่วนพระองค์ที่รับใช้สนองพระเดชพระคุณเป็นส่วนร่วมเท่านั้น อาจจะแยกว่าเป็นวังใครก็ได้เพราะเป็นเรื่องส่วนพระองค์อันเกิดจากความสนิทชิดเชื้อของแต่ละพระองค์และมิได้มีลักษณะอุปถัมภ์เช่นในอดีต แต่เป็นลักษณะสังคมมนุษย์ที่มีความผูกพันกันเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหมือนสังคมทั่วไป

แต่พ.อ.อภิวันท์มุ่งเน้นที่ พล.อ.เปรม ว่า เป็นเจ้าของระบบอำมาตยาธิปไตย ทั้งๆ ที่พล.อ.เปรม ไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรในระบบราชการไทยเลยแม้แต่น้อย และคำพูดของ พ.อ.อภิวันท์ที่ว่า “ผมพูดกับน้องๆ ทหารว่า อย่าให้ความกลัวในตัวขันทีมาบดบังความจงรักภักดี การที่เราจะรักษาสถาบันไว้ได้ ประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้าตราบใดอำมาตย์ยังชี้นำทางการเมืองรับรองบ้านเมืองไปไม่รอด”

จึงเกิดคำถามว่า มีอำมาตย์คนไหนชี้นำการเมือง ชี้อย่างไร ชี้เมื่อไร และชี้อย่างไร แต่คำถามสำคัญว่า พล.อ.เปรม เป็นข้าราชการหรือไม่ ก็ไม่ใช่เพราะท่านเป็นประธานองคมนตรี ถวายงานด้วยเป็นที่ปรึกษาข้อราชการถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขแห่งชาติ

มีข้อน่าสังเกตว่า พ.อ.อภิวันท์ เปรียบเทียบยุคสมัยฮ่องเต้จีน เช่น ในสมัยพระเจ้าฮั่นโกโจฮ่องเต้ เชื่อฟังขันทีที่กดขี่ประชาชนจึงล่มสลาย ทั้งๆ ที่ต้นรัชกาลประชาชนรักพระองค์มาก แต่พอปลายรัชกาลไปเชื่อฟังขันที ประชาชนเลยล้มฮั่นโกโจฮ่องเต้ และในยุคพระเจ้าเฮี้ยนเต้ โจโฉเป็นขุนนางแต่ทำตนเสมอเจ้า ตั้งขุนนางมากมายแทนพระเจ้าเฮี้ยนเต้ ไม่เกรงพระทัยพระเจ้าเฮี้ยนเต้ จึงเกิดเป็นเรื่องสามก๊ก

เรื่องทั้งสองจึงเป็นเรื่องของพระเจ้าแผ่นดินจีนกับขันที ซึ่งไม่มีในระบอบราชวงศ์ของไทยเลยแม้แต่ในประวัติศาสตร์ไทย จึงเป็นเรื่องไร้สาระที่จะเปรียบเทียบให้สาธารณชนมองเห็นว่าเป็นประวัติศาสตร์เดียวกัน

ข้าราชการไทยในปัจจุบันก็เกิดจากข้าราชการการเมือง เพราะข้าราชการได้รับการคัดเลือก และแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรียกเว้นข้าราชการทหารซึ่งมีระเบียบประเพณีที่แตกต่างออกไป และเกิดจากความสามารถของทหารเอง เพราะผู้นำทหารต้องได้รับการยอมรับตั้งแต่เป็นผู้บังคับหมวดมาแล้ว หากมีประวัติว่าด้อยความสามารถมาตั้งแต่ครั้งเป็นผู้บังคับหมวด ผู้บังคับกองร้อยแล้วยากที่จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการกองพลหรือระดับแม่ทัพ ยกเว้นการเมืองเข้าแทรก และพระมหากษัตริย์ยังทรงพระราชอำนาจแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพและนายทหาร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระราชโองการ

ดังนั้นการเสนอชื่อนายทหารเข้ารับตำแหน่งสำคัญในกองทัพนั้น ถูกกลั่นกรองโดยธรรมชาติของ “ภาวะผู้นำ” ลักษณะทหารอยู่แล้วเพราะทหารย่อมรู้ว่า ใครดี ใครไม่ดีอย่างไรมาตั้งแต่ต้น จะมาย้อมแมวให้เป็นราชสีห์คงจะยากมาก และไม่มีใครที่จะย้อมแมวให้เป็นราชสีห์ได้ นอกจากทหารในกองทัพเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น