xs
xsm
sm
md
lg

“มติชน” เจ็บแทนฆาตกร! โอด “ชายกระโปรง-ตร.ชั่ว” ไม่ได้รับความเป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทวิเคราะห์หน้า 3 นสพ.มติชนรายวัน วันนี้ (9 ก.ย.)
นสพ.มติชน แก้ต่างแทน “ฆาตกร” อ้างมติ ป.ป.ช.ชี้ผิด “สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ” คดี 7 ตุลาฯ มีข้อน่าสงสัยเป็นใบสั่งทางการเมือง และผลออกมาเป็นไปตามความคาดหมาย ยกคำแก้ตัวของ “น้องเขยแม้ว”-ส.ส.คลิปปลอม มาอ้างอย่างข้างๆ คูๆ เหน็บแนม เป็นคำวินิจฉัย 2 มาตรฐาน “วิหคเหินฟ้า” อ้างตำรวจไม่เจตนา และไม่รู้ว่า “แก๊สน้ำตา” สังหารและทำคนพิการได้ ไม่น่าจะมีความผิดร้ายแรง พาลถ้าตำรวจโดนคดี 7 ตุลาฯ เช่นนี้ ทหารก็ต้องโดนคดีสลายเสื้อแดงช่วงสงกรานต์เหมือนกัน

หน้า 3 ของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ของคอลัมน์ “วิพากษ์ แห่งวิพากย์” ที่รับใช้ “ระบอบทักษิณ” อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูมาโดยตลอด เนื่องจากผู้เขียนคอลัมน์นี้คือ นายเสถียร จันทิมาธร มีความใกล้ชิดกับทีมที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จำเลยคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงมูลค่าหลายแสนล้านที่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ปัจจุบันแม้ว่านายเสถียรถูกสั่งให้เลิกเขียนคอลัมน์ดังกล่าวไปแล้ว แต่หน้า 3 มติชน ก็ยังคงทำหน้าที่รับใช้ระบอบทักษิณอย่างไม่หยุดหย่อน

ล่าสุด กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ 4 คน ในคดีสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ถูกชี้มูลความผิดทางวินัยและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงด้วยนั้น

หน้า 3 มติชนฯ ฉบับวันที่ 9 กันยายน 2552 ได้แสดงทัศนะต่อกรณีดังกล่าว โดยตั้งหัวข้อว่า ผลแห่งคดี 7 ตุลาฯ “มาตรฐาน ป.ป.ช.เป็นไปตามคาด” ซึ่งมีเนื้อหาในลักษณะการตั้งสมมุติฐานว่า มติของ ป.ป.ช.ที่ออกมาดังกล่าวเป็นการ “รับใบสั่งทางการเมือง” และเป็นไปตามความคาดหมายของใครหลายๆ คน โดยได้นำเอาข้อสังเกตของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้ถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ และ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่เคยมีข่าวเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค มาสนับสนุนสมมุติฐานดังกล่าว

โดยนายสมชายอ้างว่า ป.ป.ช.เร่งรีบลงมติชี้มูล โดยไม่ได้เรียกให้ตนไปให้การใดๆ ซึ่งตนได้ไปร้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร เพื่อขอดูเอกสารการกล่าวหา และคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารได้นัดให้ประธาน ป.ป.ช.ไปให้ข้อมูลเรื่องนี้ในวันที่ 8 กันยายน แต่ ป.ป.ช.กลับนัดลงมติในวันที่ 7 กันยายน และตนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอตรวจสอบเอกสารหลักฐานตามที่ ป.ป.ช.กล่าวหา และศาลปกครองกำลังวินิจฉัยเรื่องนี้อยู่ แต่ ป.ป.ช.กลับมีมติออกมาก่อน

ส่วน พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ที่เพิ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้เผยแพร่คลิปเสียงตัดต่อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั้น อ้างว่าการที่ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดครั้งนี้มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า เพื่อทำให้ พล.ต.อ.พัชรวาท หมดโอกาสเข้าร่วมประชุม ก.ต.ช.เพื่อเลือก ผบ.ตร. หลังจากก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์เคยแพ้โหวตในการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่มาแล้ว จึงมีการชะลอการประชุม ก.ต.ช.ออกไปเพื่อรอให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคมก่อน

ข้ออ้างของนายสมชาย และ พ.ต.ท.สมชาย ตามที่ “หน้า 3 มติชนฯ” นำมาสนับสนุนสมมุติฐานดังกล่าว ไม่ต่างอะไรจากคำแก้ตัวของผู้ที่เสียประโยชน์จากการลงมติของ ป.ป.ช.ครั้งนี้ และเป็นข้ออ้างที่เต็มไปด้วยพิรุธ

ที่นายสมชายอ้างว่า ป.ป.ช.ไม่ได้เรียกตนไปชี้แจงใดๆ นั้น ในข้อเท็จจริงนายสมชายได้ทำหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษรต่อ ป.ป.ช.แล้ว นอกจากนี้ยังเคยส่งพยานของตนเองไปให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเมื่อวันที่ 9 ก.ค.แล้วด้วย แต่นายสมชายกลับพยายามยื้อเวลาด้วยการร้องต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารเพื่อขอดูเอกสารหลักฐานการกล่าวหาของ ป.ป.ช.ทั้งที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.แล้ว และก่อนหน้านั้นก็มีผลสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกมาตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.2551 ซึ่งเป็นผลสอบสวนที่ ป.ป.ช.ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้

ส่วนข้ออ้างของ พ.ต.ท.สมชายที่ว่า มติของ ป.ป.ช.เป็นการตั้งธงทางการเมืองเพื่อเอาผิด พล.ต.อ.พัชรวาทนั้น ถือเป็นการใส่ร้ายองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง สะท้อนให้เห็นว่า พ.ต.ท.สมชายไม่เชื่อมั่นในองค์กรอิสระแห่งนี้ แต่ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยกลับใช้วิธีการยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.เมื่อต้องการจะเอาผิดฝ่ายตรงข้าม เช่น กรณีที่นายอภิสิทธิ์ส่งเอสเอ็มเอสถึงประชาชนหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, กรณีที่นายอภิสิทธิ์รับงาช้างจากนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม, กรณี พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วย ผบ.ตร.ประกาศว่าพันธมิตรฯ เป็นผู้ก่อการดี หรือกรณีที่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รมว.มหาดไทยสั่งให้มีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านการถวายฎีกาของคนเสื้อแดง ฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็ออกมาขู่ว่าจะยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช.ทั้งสิ้น ดังนั้นการแสดงความเห็นของคนในพรรคเพื่อไทยต่อการทำงาน ป.ป.ช.จึงดูจะปราศจากบรรทัดฐานที่สามารถนำมาอ้างอิงได้

อย่างไรก็ตาม “หน้า 3 มติชนฯ” ยังอ้างอีกว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.

และแม้ นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.จะออกมาปฏิเสธทั้งในเรื่อง “ใบสั่งทางการเมือง” และ “การตั้งธง” แต่ “หน้า 3 มติชนฯ” ก็ยังดั้นเมฆตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมมติของ ป.ป.ช.ในครั้งนี้จึงทำให้ใครหลายๆ คนไม่รู้สึก “เซอร์ไพรส์” หรือประหลาดใจ แต่กลายเป็นความรู้สึกที่เกิดพร้อมกับเสียงถอนหายใจว่า “มันเป็นไปตามคาด”

“หน้า 3 มติชนฯ” อ้างว่า ความรู้สึกดังกล่าวเป็นความรู้สึกที่สะท้อนถึงมุมมองที่ห่วงใยต่อมติที่ออกมา แม้จะได้เสียงชื่นชมโห่ร้องสรรเสริญจากคนกลุ่มหนึ่งหรือสีๆ หนึ่ง แต่ภาวะที่สังคมที่ต้องการความสมานฉันท์ ความร่วมมือร่วมไม้ของคนทุกกลุ่ม คนทุกสี ต้องการคำวินิจฉัยที่มีมาตรฐาน และสามารถยึดโยงถึงอนาคตต่อการทำหน้าที่ฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการผู้ปฏิบัติ และฝ่ายผู้ชุมนุม ที่แต่ละฝ่ายต้องรู้หน้าที่และขอบเขตของตนเอง ไม่ใช่คำวินิจฉัยที่สร้าง “มาตรฐาน” และ “มาตรฐาน” ตามที่คนเขากล่าวหากัน

สรุปแล้ว “หน้า 3 มติชนฯ” จะลงให้ได้ว่า มติ ป.ป.ช.ครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเร่งรีบ ตามการตั้งธงของคนบางกลุ่ม ไม่เอื้อต่อการสมานฉันท์ สร้างปัญหาต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมชุมนุม และเป็นคำวินิจฉัยที่ “2 มาตรฐาน” โดยอ้างอิงจากคำแก้ตัวของฝ่ายที่ถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้แค่ 2 คน

แต่ “หน้า 3 มติชนฯ” ไม่ได้ดูข้อเท็จจริงที่ว่า เหตุการณ์ปราบปรามประชาชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาฯ 51 นั้น ล่วงเลยเนิ่นนานมาจนจะครบ 1 ปีแล้ว และเป็นเหตุการณ์ที่มีพยานหลักฐานชัดเจน ทั้งพยานบุคคล วัตถุ ภาพถ่ายเหตุการณ์จากการทำข่าวของโทรทัศน์ โดยเฉพาะเอเอสทีวีที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ไว้ตลอด จึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ หากผลการลงมติชี้มูลออกมาแล้วไม่ได้สร้างความประหลาดใจ

และการที่ผลการลงมติจะ “สร้างความประหลาดใจ” หรือ “ไม่สร้างความประหลาดใจ” ก็ไม่น่าจะใช่ประเด็น เพราะกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องลมติเพื่อให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ ไม่ใช่ลงมติเพื่อสร้าง “ความประหลาดใจ” หรือ “ไม่ประหลาดใจ” ให้กับใคร

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ปราบปรามประชาชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาฯ 51 เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วประเทศ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ และบาดเจ็บทั่วไปอีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ป.ป.ช.จะต้องเร่งออกคำวินิจฉัยเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนผู้ถูกกระทำโดยเร็วที่สุด

ส่วนที่ “หน้า 3 มติชนฯ” อ้างว่ามติ ป.ป.ช.ครั้งนี้ ทำให้เป็นห่วงเรื่อง “ความสมานฉันท์”และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในอนาคตจะมีปัญหานั้น หาก “หน้า 3 มติชนฯ” จะลองออกกำลังสมองคิดต่อไปสักหน่อย ก็จะรู้ว่า ความสมานฉันท์ที่แท้จริง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความยุติธรรมเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่การให้ทุกฝ่ายเลิกแล้วต่อกัน แล้วปล่อยให้คนผิดยังลอยนวล และการไม่ยอมชี้ถูกชี้ผิดต่างหาก ที่จะทำให้การควบคุมการชุมนุมในอนาคตมีปัญหา

ในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน หน้าที่ 4 ในคอลัมน์ เรียงคนมาเป็นข่าว ซึ่งเขียนโดยผู้ที่ใช้นามปากกว่า “วิหคเหินฟ้า” ได้ กล่าวตำหนิ มติ ป.ป.ช. ในวันที่ 7 ก.ย. โดยพยายามปกป้อง พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ว่า ในวันที่ 7 ต.ค. เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่นายตำรวจระดับสูงทั้งสองคนจะทราบว่า “แก๊สน้ำตา” ที่ผลิตจากประเทศจีนนั้นทำให้คนได้รับบาดเจ็บ เพราะทุกฝ่ายยังเข้าใจว่า พันธมิตรฯ ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจาก “ระเบิดปิงปอง” ที่พันธมิตรฯ พกมา

“ …คำถามก็คือ ในสถานการณ์ที่สับสนเช่นนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ-พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ที่รับคำสั่งจากรัฐบาลจะรู้ไหมว่า ‘แก๊สน้ำตา’ ทำให้คนบาดเจ็บเพราะตอนนั้นบางฝ่ายยังเชื่อว่าเป็นผลจาก ‘ระเบิดปิงปอง’ ที่ ‘ม็อบ’ พกมา

“... แม้แต่ ‘นักข่าว’ หลายคนที่เขียนใน ‘บันทึกคนข่าวฯ’ ก็ไม่คิดว่า ‘แก๊สน้ำตา’ ทำให้คน ‘แขนขาด-ขาขาด’ ได้ แต่ ป.ป.ช. กลับสรุปว่าตำรวจ ‘รู้’ ว่ามีคนบาดเจ็บอยู่แล้วแต่ทำไมยังทำซ้ำ การกระทำโดย ‘เจตนา’ กับ ‘ไม่เจตนา’ ระดับความผิดต้องแตกต่างกัน

“… มี ‘คนบาดเจ็บ’ จากการสลายม็อบตั้งแต่เช้า ทำไมยังทำซ้ำในช่วงบ่าย ถ้าใช้ ‘หลักการ’ นี้เป็น ‘เหตุผล’ ลงโทษ ‘ตำรวจ’ ปฏิบัติการสลายม็อบของ ‘ทหาร’ ในวันสงกรานต์ที่มีคนบาดเจ็บตั้งแต่เช้า แต่ตอนบ่ายก็ยังทำซ้ำแบบเดิมก็คงเข้าหลักการเดียวกัน” วิหคเหินฟ้ากล่าว พร้อมนำเหตุการณ์ 7 ต.ค. 51 ไปเปรียบเทียบกับ เหตุการณ์สงกรานต์เลือกที่กลุ่มคนเสื้อแดงดำเนินการล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา และเผาเมืองในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ทีมข่าวการเมือง “ASTV-ผู้จัดการออนไลน์” - รายงาน
คอลัมน์เรียงคนมาเป็นข่าว โดย วิหคเหินฟ้า หน้า 4 มติชนรายวัน วันนี้ (9 ก.ย.)
ภาพการยิงระเบิดแก๊สน้ำตาในระดับเอวโดยเล็งเข้าใส่ประชาชนผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 1 ในหลักฐานจำนวนมากที่ ป.ป.ช.ใช้ชี้มูลความผิดนักการเมืองและข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้อง
ธัญญา กุลแก้ว หรือ ‘เจ๊ก ชุมพร’ พันธมิตรฯ ผู้สูญเสียอวัยวะเป็นคนแรกตั้งแต่การสลายการชุมนุมของตำรวจตั้งแต่เช้าตรู่
‘ตี๋’ ชิงชัย เจริญอุดมกิจ ศิลปินผู้สูญเสียมือข้างถนัด ที่ใช้วาดรูปเลี้ยงครอบครัว
ช่วงค่ำวันที่ 7 ต.ค. 51 เมื่อ ฆาตกรผู้ออกคำสั่งไม่ใส่ใจกับภาพประชาชนที่บาดเจ็บและสูญเสียอวัยวะ จึงเกิดการสูญเสียชีวิตของ “น้องโบว์” อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ (ซ้าย) และการสูญเสียของพันธมิตรคนอื่นๆ ตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น