xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิสัยทัศน์ "มนรัฐ ผดุงสิทธิ์" กับภาระกิจสร้างชื่อ "บลจ.วรรณ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อกล่าวถึงตลาดทุน หลายๆคนคงนึกถึง กระดานอิเล็คทรอนิคส์ ที่แสดงตัวเลขมากมาย รวมไปถึงการลงทุน เงิน กำไร ขาดทุน หรือคิดถึงภาพรวมเศรษฐกิจว่ากำลังดีขึ้น หรือแย่ลง และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ ผู้บุกเบิกตลาดทุนของไทย หรืออดีตกรรมการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ใครจะรู้บ้างว่า ทุกวันนี้ นอกจาก ดร.มารวย แล้วนั้น ยังมีลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ที่เข้ามาอยู่ในแวดวงการลงทุนอีกหนึ่งท่าน นั้นคือ มนรัฐ ผดุงสิทธิ์ ที่เพิ่งก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.).วรรณ จำกัด

หลังจากที่ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ของ บลจ.วรรณ มนรัฐ ผดุงสิทธิ์ ลูกไม้ใต้ต้นคนนี้ มีมุมมองการบริหารหรือมีนโยบายอย่างไรบ้าง ในการนำพา บลจ.แห่งนี้ ก้าวต่อไป

"มนรัฐ" เล่าให้ฟังว่า ต่ำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ ที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทหลักทรัพย์(บลจ.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI ผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น ตนจะพยายามทำให้งานให้ดีที่สุด ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจที่ได้รับจากผู้ใหญ่ โดยการบริหารงานนั้นจะพยายามทำให้ชื่อของบลจ.วรรณ เป็นที่รู้จักกันในกลุ่มนักลงทุนหรืออุตสาหกรรมกองทุนรวมให้มากขึ้น และจะทำให้ชื่อเสียงของบริษัทเป็นที่น่าเชื่อถือสำหรับนักลงทุนด้วย

โดยจะเน้นความเป็น "บูทีค อินเวสเมนท์" รวมไปถึงต้องเป็นไดนามิค คือ ออกได้รวดเร็ว ผลการดำเนินงานต้องดี รวมไปถึงในการให้บริการลูกค้าต้องดี มีตลาด และข้อมูลที่เพียงพอในการลงทุน

ทั้งนี้ ในช่วงแรก เราจะต้องทำคุณภาพของบริษัทให้ดีขึ้น และรักษาให้คงที่ไม่ให้คุณภาพของบริษัทลดลงไป โดยที่เราจะเน้นในเรื่องของการเข้าถึงลูกค้าหรือการที่ลูกค้าเข้าถึงเราได้ง่าย โดยเฉพาะเรื่องของโปรดักส์

และเมื่อเราสามารถรักษาคุณภาพของบริษัทให้คงดีหรือดีกว่าเดิมแล้ว เราก็จะต้องมองในระยะยาวว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อให้รักษาส่วนแบ่งตลาดให้คงที่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของฐานลูกค้า หรือเม็ดเงินไม่ให้ลดน้อยไปจากที่เรามีอยู่ เพราะหลังจากนี้ จะมีกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการครบกำหนดอายุโครงการ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังจะครบกำหนดในเร็วๆนี้ ซึ่งจากจุดนี้ อาจจะทำให้ระดับสินทรัพย์รวมภายใต้การบริหารงาน (เอยูเอ็ม) หรือฐานลูกค้าของบริษัทลดลงไปบ้าง

"เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจำเป็นที่จะต้องหาวิธีในการรักษาส่วนแบ่งตลาด รักษาเอยูเอ็ม รักษาสถานภาพ รวมไปถึงรักษาฐานลูกค้าที่เรามีอยู่ให้อยู่ในระดับที่คงที่ไม่ให้ลดน้อยลงไปจากที่มีอยู่" มนรัฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่เราไม่ได้เป็นสาขาของแบงก์ ไม่มีธนาคารคอยช่วยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ฐานลูกค้า และขายกองทุนให้ ทำให้เราต้องอาศัยตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ( Selling Agent) ในการขายโปรดักส์ต่างที่เรามีอยู่ให้เรา จากจุดนี้ทำให้กองทุนของเราสามารถเข้าถึงและเป็นที่รู้จักของกลุ่มนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ที่แล้วมาในการซื้อขายกองทุนเราก็อาศัยโบรกเกอร์ในการขายสินค้าให้กับเรา

ในส่วนของแผนการดำเนินงานของเราในปีนี้ไปจนถึงปีถัดไปนั้น เขาบอกว่า เราจะมีการทดลองทำโปรดักส์ใหม่ๆออกมา โดยเราจะอาศัย KGI ซึ่งมีความถนัดในด้านการซื้อขายล่วงหน้า (ดิลิเวอร์ทีฟ) เข้ามาร่วมงานด้วย ซึ่งโปรดักส์ที่จะออกมานั้น จะต้องตรงกับความต้องการ รวมไปถึงความพอใจของลูกค้าเป็นหลัก และในตัวของโปรดักส์นั้น เราจะพยายามไม่ให้ตรงกับแบงก์

มนรัฐ ยังบอกอีกว่า สำหรับเป้าหมายในการบริหาร เราไม่มองเอยูเอ็มของบริษัท ว่าปีนี้จะต้องโตเท่านั้น เท่านี้ แต่เราจะมองถึงผลกำไรที่ดี ผลตอบแทนของพนักงาน ผลตอบแทนของผู้ถือหน่วยลงทุน และผลตอบแทนของบริษัท

โดยจุดนี้ เราจะเน้นที่ผู้ถือหน่วยให้ได้รับบริการในรูปแบบที่ตรงกับความต้องการและพอใจกับโปรดักส์ที่เรานำเสนอ ขณะที่บริษัทและพนักงานจะได้รับในรูปแบบของกำไรและโบนัสที่ได้รับ ซึ่งถือเป็นควรมพอใจของเรามากกว่าการที่จะต้องทำให้เอยูเอ็มของบริษัทโตให้ได้ตามเป้าที่วางไว้มากกว่า

ขณะเดียวกัน ในส่วนของบุคลากร หรือผู้จัดการกองทุนนั้น เราจะดูการทำงานของผู้จัดการกองทุนแต่ละท่านว่า มีความสามารถในเรื่องใด มีความถนัดในด้านใหนบ้าง โดยเราอาจจะให้มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายเพิ่มงานให้ หรือการจัดสรรปันส่วนให้มีผู้จัดการกองทุนทุกท่าน ดูแลและทำงานได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเราจะจัดให้ผู้จัดการกองทุนออกไปพบปะพูดคุยให้คำแนะนำกับนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นด้วย

เช่น ผู้จัดการกองทุนที่ดูหุ้นโดยเฉพาะ อาจจะต้องมีความรู้ในเรื่องตราสารหนี้ด้วย เพื่อจะได้แนะนำการลงทุนให้แก่นักลงทุนได้ถูกต้อง นอกจากนี้ เราจะเน้นการแนะนำนักลงทุนในการสับเปลี่ยนการลงทุนตามจังหวะ หรือช่วงเวลาในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีด้วย

นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงาน การรักษาคุณภาพรวมไปถึงฐานลูกค้าให้คงที่ และดีกว่าเดิมนั้น เราก็จะไม่ลืมที่จะทำการสานต่อโปรดักส์หรือกองทุนต่างๆที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิม ในด้านของผลการดำเนินงาน ความพึงพอใจของนักลงทุน และเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุน ซึ่งเมื่อนักลงทุนมีความพึงพอใจในการบริหารจัดการของเราจะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะกองทุนรวมอีทีเอฟ ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ที่มีด้วยกัน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด TDEX และกองทุนเปิด TFTSE ซึ่งถือเป็นกองทุนที่ดีมาก เนื่องจากทั้งสองจะมีความคล้ายคลึงกันมาก อีกทั้งเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุนด้วย ทั้งนี้ หากเราซื้อ TDEX หรือTFTSE จะเหมือนกับเราได้ตะกร้าหุ้นมากกว่าได้หุ้นเป็นตัวๆ ซึ่งการซื้อหุ้นเป็นตัวๆกับการซื้อทั้งตะกร้านั้น ข้อดีคือหากเราเลือกถูกเราก็จะได้กำไร แต่หากเราเลือกผิดจะทำให้เราพลาดโอกาสในการทำกำไรได้

"มนรัฐ" ยังเล่าให้ฟังเกี่ยวกับความเป้าหมายของชีวิตว่า โดยส่วนตัวนั้น มีความใฝ่ฝันเอาไว้ว่า อยากที่จะเข้าไปทำงานและบริหารในภาครัฐ เช่นภาครัฐวิสาหกิจ ถึงแม้เงินเดือนหรือผลตอบแทนที่ได้รับจะน้อยกว่าการทำงานกับภาคเอกชนก็ตาม แต่การนำความรู้และความสามารถของตนเองไปพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป และที่สำคัญเพื่อเป็นการตอบแทนประเทศชาติ ซึ่งการเข้าไปบริหารรัฐวิสาหกิจ นั้นจะทำให้เราได้ร่วมงานกับทั้ง รัฐบาล ข้าราชการการเมือง และประชาชน นับว่าเป็นการท้าทายความสามารถของเราเอง ขณะที่การทำงานกับภาคเอกชนจะทำให้เราได้แค่ภาคประชาชนเพียงอย่างเดียว

แต่สำหรับเป้าหมายความสำเร็จในการบริหาร บลจ.วรรณ นั้น เขาย้ำว่า "การรักษาฐานลูกค้าให้คงที่หรือให้เพิ่มขึ้น รวมไปถึง การสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น พนักงานได้รับโบนัส และนักลงทุนพึงพอใจในโปรดักส์ต่างๆที่เรานำเสนอ ถือเป็นความสำเร็จในมุมมองของเรามากกว่าการเพิ่มเอยูเอ็มให้มากขึ้น"
มนรัฐ ผดุงสิทธิ์


กำลังโหลดความคิดเห็น