xs
xsm
sm
md
lg

ดองกับฮุนเซน!?!

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

หลังได้ยินข่าวลือเรื่อง น้องชายของนักโทษหนีคุก เตรียมจะสลัดลูก สลัดเมียที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมหัวจมท้ายกันนานหลายสิบปี เพื่อแต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่ นัยว่าเตรียมตัวจะไปดองออกเรือนกับน้องสาวผู้ยิ่งใหญ่แห่งกัมพูชา ทั้งที่สาวที่หมายปองนางนั้นก็ไม่ได้ตัวเปล่าเล่าเปลือย แต่มีครอบครัวเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว ก็ทำให้ผู้เขียนเห็นคล้อยตามไปกับคำที่ผู้ใหญ่ท่านสั่งท่านสอนไว้ว่า โลภะ หรือความโลภ ถ้าคุมถ้าสะกดมันไม่ดี ให้มันอยู่ใต้มาตรฐานทางจริยธรรมขั้นต่ำในจิตใจเราไม่ได้ ล้วนแต่จะนำไปสู่หนทางแห่งการทำลายทั้งนั้น

หักหลัง ทำลายได้กระทั่งคนที่เคยไว้ใจใกล้ชิด ที่เคยดูแลกันมานาน เพราะเงินตัวเดียวแท้ๆ

แต่จะว่าไป นช.ท่านนั้นก็คงจะหาแหล่งพักพิงใหม่อยู่เสียตั้งนาน ในที่สุดก็พบแล้วว่า ดินแดนในปกครองของคนสปีชีส์เดียวกันน่าจะเหมาะสมที่สุด ที่พูดว่าสปีชีส์เดียวกันนี้ เพราะผู้เขียนกำลังนึกถึงเหตุการณ์ในช่วงปี 2548 - 49 ช่วงที่ภาคประชาชนของไทยกำลังขับเคลื่อนอย่างหนักแน่นในการจะขับไล่ “ระบอบหน้าเหลี่ยม” ไปให้พ้นประเทศ ช่วงนั้นนักคิดนักเขียนสรรหาคำมานิยามความเลวร้ายของระบอบทักษิณกันอย่างคึกครื้น เป็นช่วงที่มีการระดมสมองกันอย่างคึกคักที่สุดเท่าที่เคยได้สัมผัสมา และหนึ่งในคำที่ถูกจัดว่า ใช้อธิบายความเป็นระบอบทักษิณได้ดีที่สุดคือคำว่า “โคตรโกง – โกงทั้งโคตร” นั่นเอง

พูดถึงคำคำนี้ เมื่อเร็วๆ นี้รายการข่าวต่างประเทศ “รอบบ้านเรา” ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์- ศุกร์ เวลา 08.30 – 09.15 น.เพิ่งออกรายงานที่ถอดความมาจากสำนักข่าวบีบีซี ประกอบข้อมูลที่ได้จากรายงานของ ทรานสแพเรนซี่ ออร์แกนไนเซชั่น และโกลบอล วิทเนส เรื่อง “รัฐบาลโจร” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยพูดถึงหลักฐานการบ่งชี้ถึงพฤติกรรมไม่โปร่งใสรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนว่า กำลังส่อไปในทางทุจริตฉ้อฉล ใช้อำนาจรัฐแสวงผลประโยชน์ส่วนตัวและคนใกล้ชิดอย่างแยบยล รายงานของบีบีซีที่เขียนโดย Robert Walker ใช้ประโยคที่ว่า “กัมพูชา ณ เวลานี้ไม่ต่างอะไรกับการเป็น Kleptocratic State หรือหมายถึง ประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา เป็นระบอบที่ผู้ปกครองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มุ่งแสวงหาอำนาจ และเข้าครอบครองกลไกรัฐเพื่อใช้เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ส่วนตัว

โดยมีการยกตัวอย่างกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน ที่เป็นปัญหาในกัมพูชาปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ อันเนื่องจากมีบริษัทธุรกิจเอกชนหลายแห่งกำลังแข่งกันกว้านซื้อที่ดินที่มีค่าในเชิงพาณิชย์กันอย่างขนานใหญ่ทั่วประเทศ

บีบีซีให้ความสนใจกับบริษัทที่ชื่อ เพียพีเม็กซ์ (Pheapimex) ที่ปัจจุบันถูกจัดอันดับเป็นเอกชนที่ถือครองที่ดินถึง 7 เปอร์เซ็นต์ของประเทศกัมพูชาทั้งประเทศ นั่นทำให้พื้นที่การเกษตรซึ่งเคยเป็นที่ทำกินของประชาชนผู้ยากจน ต้องเปลี่ยนมือไปเป็นของบริษัทเอกชน ไม่เว้นแม้กระทั่งหาดทรายชายทะเลอันสวยงามหลายแห่ง ที่ก็ไม่พ้นถูกจับจองเป็นของบริษัทเอกชนไปจนแทบไม่เหลือหาดทรายสาธารณะอีกต่อไป โดยบริษัทดังกล่าวอาศัยช่องว่างทางกฎหมายสวมรอยเข้าไปจดทะเบียนยึดที่ดินทั่วประเทศเป็นของตัวเอง

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นมาจากปัญหาการยกเลิกกรรมสิทธิ์ที่ดินในสมัยการปกครองของเขมรแดงช่วงทศวรรษหลังปีคริสต์ศักราช 1970 คำสั่งดังกล่าว ทำให้ที่ดินทุกตารางนิ้วทั่วประเทศตกเป็นของรัฐ จนกระทั่งเมื่อกัมพูชามีรัฐบาลที่มาจากพรรคประชาชนกัมพูชา CPP จึงได้มีดำริที่จะแก้ไขกฎหมาย เพื่ออนุญาตให้เอกชนถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้เมื่อปี 2544 แต่รัฐมิได้บอกกล่าวประชาชนให้ล่วงรู้ว่า การครอบครองกรรมสิทธิ์จะสมบูรณ์ได้ ต้องดำเนินการแจ้งการถือครองที่ดินกับหน่วยงานของรัฐเสียก่อน กว่าชาวบ้านจะมารู้ตัวอีกที ผลก็มาปรากฏว่า บริษัทชื่อดังที่มีสายสัมพันธ์กับคนโตในรัฐบาลอย่าง เพียพีเม็กซ์ ก็ได้เข้าไปจดทะเบียนสวมทับสิทธิ์นั้นไปเสียแล้ว

บริษัทชื่อเดียวกันนี้ ยังมีบทบาทเข้าไปหารส่วนแบ่งทรัพยากรธรรมชาติในประเทศอีกหลายประการ อาทิ เข้าร่วมลงทุนกับจีน เข้าทำสัมปทานเหมืองแร่เหล็ก ใน อ.โรเวียง จ.พระวิหาร ทางภาคเหนือของกัมพูชา (ผู้จัดการออนไลน์, 23 มี.ค. 2548) เข้าไปรับสัมปทานป่าไม้ในเขตมณฑลคีรีแบบลับๆ เป็นพื้นที่ถึง 200,000 เฮกตาร์ ซึ่งเป็น 20 เท่าตัวของที่กฎหมายอนุญาต (ผู้จัดการออนไลน์, 15 มิ.ย. 2551) ซึ่งรายงานฉบับเดียวกันยังระบุด้วยว่า สัมปทานที่กัมพูชาประเคนให้กับกลุ่มธุรกิจกลุ่มใหญ่อย่าง เพียพีเม็กซ์ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเครือข่ายธุรกิจที่ว่านี้ แม้จะจดทะเบียนในกัมพูชา แต่เป็นของคนเชื้อสายจีน ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซนนั่นเอง

ทรัพยากรน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ คือ แหล่งทำเงินอีกประการที่โกลบอล วิทเนส นำไปกรณีศึกษา เพื่อชำแหละกระบวนการโกงทั้งโคตรของรัฐบาลกัมพูชาโดยองค์กรเคลื่อนไหวดังกล่าวเคยทำจดหมายส่งถึงรัฐบาลกัมพูชามาแล้วเมื่อ ค.ศ. 1991 ถึงเหตุผลที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญโดยโอนอำนาจการตัดสินใจให้สัมปทานน้ำมัน และก๊าซให้ไปอยู่ในมือ หน่วยงานใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลทรัพยากรก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียมที่มีชื่อว่า การปิโตรเลียมแห่งชาติ หรือ ซีเอ็นพีเอ (CNPA) โดยให้หน่วยงานนี้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เตโช ฮุนเซน แต่เพียงผู้เดียว แทนที่จะเป็นอำนาจของกระทรวงอุตสาหกรรม สินแร่ และพลังงาน (MIME) อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งจะเปิดให้มีหลายภาคส่วนเข้าไปร่วมในการตัดสินใจ

โกลบอล วิทเนสมองว่า การแก้รัฐธรรมนูญในยุคฮุนเซน ต่อกรณีการจัดตั้ง CNPA เพื่อพิจารณาให้สัมปทานก๊าซน้ำมัน เท่ากับเป็นการรวบอำนาจการให้สัมปทานขุดหาก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียมในดินแดนของกัมพูชาทุกตารางนิ้ว ให้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียวเท่านั้น ไม่แม้แต่จะต้องทำรายงานเสนอต่อรัฐสภา หรือผู้ใดด้วยซ้ำ พร้อมทั้งยังอธิบายว่า กรณีคอร์รัปชันในอุตสาหกรรมพลังงาน และน้ำมัน แม้จะไม่เป็นการโกงกินตรงๆ แบบส่งบริษัทวงศ์วานว่านเครือใกล้ชิด ไปฮุบอุตสาหกรรมป่าไม้ และเหมืองแร่ แต่มันก็จัดเป็นการโกงกินชาติ ที่ให้ผลเลวร้ายไม่ต่างกัน

หมายเหตุ :
ตามอ่านรายงานของ Global witness ได้ที่http://www.globalwitness.org/media_library_detail.php/713/en/country_for_sale รายงานของ BBC หัวข้อ A land up for sale? โดย Robert Walker
กำลังโหลดความคิดเห็น