xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ค้าน กม.นิรโทษกรรม หวังปลดแอก “เนวิน-ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - แกนนำพันธมิตรฯ ย้ำจุดยืนค้านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับภูมิใจไทย เชื่อหวังช่วยเหลือพวกพ้องพ้นผิดเหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด ชี้หวังผลระยะยาวถึงกฎหมายปลดแอด “เนวิน-ทักษิณ” จี้ “มาร์ค” ชัดเจนในตัวเอง “ปานเทพ” จวก “รัฐบาลมาร์ค” ปล่อยปละละเลยทำถูกรุกล้ำดินแดนสมบูรณ์บริเวณวัดแก้ว ถามหาจุดยืนที่ชัดเจน อย่าปกปิดประชาชน

วันนี้ (26 ส.ค.) ที่บ้านพระอาทิตย์ สำนักงานเอเอสทีวีผู้จัดการ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประชุมประเมินสถานการณ์การเมือง โดยภายหลังการประชุม นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย นายปานเทพ พงศ์พัวพันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการหารือของแกนนำ

นายสุริยะใสกล่าวว่า แกนนำพันธมิตรได้ประชุมประเมินสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ซึ่งมีประเด็นอยู่ 2-3 เรื่องสำคัญ โดยเรื่องแรกคือกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคภูมิใจไทย และสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเดือนสิงหาคมที่เกรงกันว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เราเรียกร้องมานานคือกรณีปราสาทพระวิหาร

ชี้ กม.แฝงวาระซ่อนเร้น

ในเรื่องของการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทยนั้น แกนนำพันธมิตรประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่าเรามีจุดยืนที่จะคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเห็นว่า 1.กฎหมายฉบับดังกล่าวมีวาระซ่อนเร้นในการที่จะช่วยเหลือผู้มีอำนาจบางคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 7 ตุลา และเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทย คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 7 ตุลา ดังนั้นเราจะมีคำตอบไปถึงญาติของพี่น้องที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร

ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้อาจเป็นเครื่องมือที่ไต่ไปสู่การนิโทษกรรมให้กับสมาชิกบ้าน 111 ของพรรคไทยรักไทย ซึ่งรวมถึงนายเนวิน ชิดชอบ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาจใช้เป็นฐานในการออกร่างกฎหมายปรองดองออกมา ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็เคยพูดเรื่องนี้แต่ถูกคัดค้าน ภายหลังจึงแปรรูปเป็นกฎหมายปรองดอง

2.เราเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถจะเป็นเครื่องมือของความสมานฉันท์ได้ จุดยืนพันธมิตรฯ ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสมานฉันท์ เราเห็นความจำเป็นในการสร้างสมานฉันท์ แต่หลักคือ คนผิดต้องถูกลงโทษ ซึ่งเราห่วงว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำลายความเชื่อถือของกฎหมายของประเทศ และเป็นบรรทัดฐานไม่ดีให้พวกป่วนเมือง มุ่งหมายทำไม่ดีแล้วจะออกกฎหมายทำยกโทษความผิดให้ตัวเอง นอกจากไม่สมานฉันท์แล้วยังจะทำให้เรื่องราวยืดเยื้อ

ส่งสัญญาณพร้อมปลุกมวลชนต้าน

3.เรียกร้องไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ อย่าแสดงความเห็นในฐานะส่วนตัว โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ แต่กลับแสดงความเห็นหรือพูดไปในทางส่วนตัว แต่อยากให้มีความเห็นหรือมีมติในฐานะพรรคหรือวิปรัฐบาลที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่เพื่อออกมาเพื่อต่อรองทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น 4.พันธมิตรฯ จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่ากฎหมายจะเข้าสู่วาระที่สองหรือสาม หรือที่ประชุมวุฒิสภา และอยากให้พี่น้องทั่วประเทศจับตาร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิด หากจำเป็นจะต้องเคลื่อนไหวจะแจ้งและสื่อสารต่อพี่น้องอีกครั้ง

ปล่อยกฎหมายลงโทษตามความผิด

พล.ต.จำลอง กล่าวว่า เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมพันธมิตรอยากให้เป็นไปตามกฎหมาย เรื่องนี้แปลกมีการไต่สวนกฎหมายอาญา รู้ตัวคนทำ แต่จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา ซึ่งที่ผ่านมาพันธมิตรฯ ถูกใส่ร้ายป้ายสีในหลายข้อหา แต่เราไม่เคยโวยวาย ผิดก็ว่าไปตามผิด ดังนั้น ต่อไปกฎหมายเมืองไทยจะใช้ไม่ได้ ใครจำอะไรก็ได้ แล้วใช้เงินซื้อเสียงกันจนไปยกมือในสภา แล้วมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมกันแบบนี้ไม่ได้

นอกจากนี้เรื่องประสาทพระวิหาร เป็นเรื่องใหญ่ ตนได้คุยกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ที่ระบุว่าไม่มียุคไหนสมัยไหนที่ทหารอ่อนแอแบบนี้ เราไม่ได้ไปรบราฆ่าฟันกับใคร แต่เรามีทหารเอาไว้ทำไม เรามีไว้เพื่อป้องกันอธิปไตย ทำไมต้องมานั่งรอรัฐบาลว่าจะให้ทำอย่างไร รัฐบาลไม่รู้ดีไปกว่าทหาร ทหารต้องทำหน้าที่ของตัวเองแต่ก็ไม่ทำ ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เพราะทหารอ่อนแอ

หวั่นเวียนเทียนออก กม.นิรโทษกรรม

ขณะที่ นายพิภพ กล่าวว่า เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พันธมิตรฯ ยืนยันว่าไม่ได้ทำให้เกิดความสมานฉันท์ ซึ่งการสมานฉันท์คือการทำให้ความจริงปรากฏ โดยเข้าสู่กระบวนการทางยุติธรรมเพื่อให้ความจริงปรากฏ ซึ่งถูกสอบมาจากคณะกรรมการหลายคณะ ทั้งนี้เมื่อความจริงปรากฏ คนทำผิดต้องรับผิดอย่างจริงใจ เมื่อรับโทษแล้วกระบวนการสมานฉันท์จะเกิด ดังนั้น ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้กระทำผิดทำร้ายประชาชนจะต้องถูกดำเนินการอย่างแท้จริง

“การออกกฎหมายครั้งนี้ คงไม่มุ่งเฉพาะช่วยเหลือกับผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 7 ตุลาเท่านั้น แต่รวมถึงผู้มีอำนาจที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาจะทำให้การเข่นฆ่าประชาชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่มีความหมาย คนที่ทำร้ายประชาชาชนจะไม่ถูกลงโทษ นักการเมืองจะได้ใจ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาอีก”

เปิดประชุมใหญ่ “ก.ม.ม.” 20 ก.ย.

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนพรรคการเมืองใหม่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. ซึ่งกฏหมายกำหนดให้ภายใน 60 วัน ต้องกำหนดให้มีสมาชิกพรรคและสาขาพรรค ซึ่งขณะนี้ เรามีสมาชิก 5,700 คน ซึ่งในวันที่ 20 ก.ย. จะมีการประชุมใหญ่คณะกรรมการบริหาร โดยจะขอสถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อจัดประชุมใหญ่ เพื่อปรับปรุงนโยบายและเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการคัดสรรส.ส. คณะกรรมการนโยบายของพรรค

นายสุริยะใสกล่าวว่า ความแตกต่างของพรรคการเมืองใหม่กับพรรคอื่นๆ นั้นเราเป็นพรรคของมวลชน องค์ประชุมของพรรคการเมืองใหญ่อื่นจะใช้คนประมาณ 200 คน แต่เราเห็นว่าเราเป็นพรรคของมวลชน ดังนั้นเราจะเชิญสมาชิกพรรคทั้งหมดทั่วประเทศ ร่วมประชุม ซึ่งสมาชิกพรรคจะมีสิทธิ์ที่จะรวมโหวตว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งในวันนั้นจะทราบว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเราได้เชิญผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่นับถือมาเข้าร่วมกับเรา

“ปานเทพ” ระบุเสียพื้นที่พระวิหารชัด

นายปานเทพกล่าวถึงกรณีปราสาทพระวิหารว่า ทราบมาว่าในวันศุกร์ที่ 28 ส.ค.นี้ จะมีการข้อประชุมเรื่องกรอบการเจรจาของไทย-กัมพูชาเข้าหารือสภา ซึ่งมีเถียงกันสองฝ่ายระหว่างกระทรวงการต่างประเทศอ้างว่าต้องการแก้ไขข้อพิพาทในบริเวณชายแดนด้วยเจดีซี หรือคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา และอีกคณะคือภาคีเครือข่ายผู้ติดตามประสาทพระวิหาร ที่นำโดย ม.ล.วรรณิภา จรุงโรจน์ เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวมีข้อสงสัย และเป็นเวลาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งพันธมิตรเคยระบุว่ามีการรุกล้ำอธิปไตยของชาติที่เป็นดินแดนของไทยบริเวณวัดแก้วสิกขคีรีสวน ซึ่งเป็นการสร้างวัดโดยฝ่ายกัมพูชา มีการตั้งชุมชน ค่ายทหาร และชนประชาชนกัมพูชาเข้าไป ซึ่งทางการไทยเคยประท้วงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ขณะนี้ก็มีความพยายามขยายพื้นที่ที่เป็นชุมชนเพิ่มเติมมากขึ้น ทั้งมีสิ่งปลูกสร้าง และสร้างถนนจนแล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้ ชี้ชัดว่าไทยได้สูญเสียอธิปไตยอย่างชัดเจน

กรมศิลป์จับตามติรัฐสภา

นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการและกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ออกมาคัดค้านการนำวาระร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เข้าสู่การพิจารณาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190(2) ในวันศุกร์ที่ 28 ส.ค.ซึ่งหากร่างดังกล่าวผ่านการพิจารณาอาจจะส่งผลต่อกรณีพิพาทดินแดน 4.6 ตารางระหว่างไทยและกัมพูชา ว่า หากเป็นเรื่องพิจารณากรอบความร่วมมือทั่วไปคงไม่ต้องส่งให้ที่ประชุมรัฐสภา แต่ครั้งนี้เป็นมติบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบันทึกดังกล่าวมีความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดินแดน เงิน งบประมาณที่ต้องให้สองสภาผ่านความเห็นชอบ
 
กำลังโหลดความคิดเห็น