แกนนำพันธมิตรฯ หารือถกสถานการณ์การเมือง ย้ำจุดยืนค้านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับภูมิใจไทย เชื่อหวังช่วยเหลือพวกพ้องพ้นผิดเหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด ชี้หวังผลระยะยาวถึงกฎหมายปลดแอด “เนวิน-ทักษิณ” จี้ “มาร์ค” ชัดเจนในตัวเอง คัดค้านก็ควรพูดให้ชัด วอนพี่น้องพันธมิตรฯ จับตาอย่างใกล้ชิด หากเคลื่อนพร้อมส่งสัญญาณ ขณะที่ “จำลอง” ซัดทหารอ่อนแอที่สุดแห่งยุค ไม่จริงจังปกป้องอธิปไตย ด้าน "ปานเทพ" จวก "รัฐบาลมาร์ค" ปล่อยปละละเลยทำถูกรุกล้ำดินแดนสมบูรณ์บริเวณวัดแก้ว ถามหาจุดยืนที่ชัดเจน อย่าปกปิดประชาชน
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงข่าว
วันนี้ (26 ส.ค.) ที่บ้านพระอาทิตย์ สำนักงานเอเอสทีวีผู้จัดการ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประชุมประเมินสถานการณ์การเมือง โดยภายหลังการประชุม นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย นายปานเทพ พงศ์พัวพันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการหารือของแกนนำ
นายสุริยะใสกล่าวว่า แกนนำพันธมิตรได้ประชุมประเมินสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ซึ่งมีประเด็นอยู่ 2-3 เรื่องสำคัญ โดยเรื่องแรกคือกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคภูมิใจไทย และสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเดือนสิงหาคมที่เกรงกันว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เราเรียกร้องมานานคือกรณีปราสาทพระวิหาร ในเรื่องของการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทยนั้น แกนนำพันธมิตรประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่าเรามีจุดยืนที่จะคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเห็นว่า 1.กฎหมายฉบับดังกล่าวมีวาระซ่อนเร้นในการที่จะช่วยเหลือผู้มีอำนาจบางคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 7 ตุลา และเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทย คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 7 ตุลา ดังนั้นเราจะมีคำตอบไปถึงญาติของพี่น้องที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้อาจเป็นเครื่องมือที่ไต่ไปสู่การนิโทษกรรมให้กับสมาชิกบ้าน 111 ของพรรคไทยรักไทย ซึ่งรวมถึงนายเนวิน ชิดชอบ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาจใช้เป็นฐานในการออกร่างกฎหมายปรองดองออกมา ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็เคยพูดเรื่องนี้แต่ถูกคัดค้าน ภายหลังจึงแปรรูปเป็นกฎหมายปรองดอง
2.เราเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถจะเป็นเครื่องมือของงความสมานฉันท์ได้ จุดยืนพันธมิตรฯ ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสมานฉันท์ เราเห็นความจำเป็นในการสร้างสมานฉันท์ แต่หลักคือ คนผิดต้องถูกลงโทษ ซึ่งเราห่วงว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำลายความเชื่อถือของกฎหมายของประเทศ และเป็นบรรทัดฐานไม่ดีให้พวกป่วนเมือง มุ่งหมายทำไม่ดีแล้วจะออกกฎหมายทำยกโทษความผิดให้ตัวเอง นอกจากไม่สมานฉันท์แล้วยังจะทำให้เรื่องราวยืดเยื้อ 3.เรียกร้องไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ อย่าแสดงความเห็นในฐานะส่วนตัว โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ แต่กลับแสดงความเห็นหรือพูดไปในทางส่วนตัว แต่อยากให้มีความเห็นหรือมีมติในฐานะพรรคหรือวิปรัฐบาลที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่เพื่อออกมาเพื่อต่อรองทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น 4.พันธมิตรฯ จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่ากฎหมายจะเข้าสู่วาระที่สองหรือสาม หรือที่ประชุมวุฒิสภา และอยากให้พี่น้องทั่วประเทศจับตาร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิด หากจำเป็นจะต้องเคลื่อนไหวจะแจ้งและสื่อสารต่อพี่น้องอีกครั้ง
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมพันธมิตรอยากให้เป็นไปตามกฎหมาย เรื่องนี้แปลกมีการไต่สวนกฎหมายอาญา รู้ตัวคนทำ แต่จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา ซึ่งที่ผ่านมาพันธมิตรฯ ถูกใส่ร้ายป้ายสีในหลายข้อหา แต่เราไม่เคยโวยวาย ผิดก็ว่าไปตามผิด ดังนั้น ต่อไปกฎหมายเมืองไทยจะใช้ไม่ได้ ใครจำอะไรก็ได้ แล้วใช้เงินซื้อเสียงกันจนไปยกมือในสภา แล้วมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมกันแบบนี้ไม่ได้ นอกจากนี้เรื่องประสาทพระวิหาร เป็นเรื่องใหญ่ ตนได้คุยกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ที่ระบุว่าไม่มียุคไหนสมัยไหนที่ทหารอ่อนแอแบบนี้ เราไม่ได้ไปรบราฆ่าฟันกับใคร แต่เรามีทหารเอาไว้ทำไม เรามีไว้เพื่อป้องกันอธิปไตย ทำไมต้องมานั่งรอรัฐบาลว่าจะให้ทำอย่างไร รัฐบาลไม่รู้ดีไปกว่าทหาร ทหารต้องทำหน้าที่ของตัวเองแต่ก็ไม่ทำ ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เพราะทหารอ่อนแอ
ขณะที่นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า เรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พันธมิตรยืนยันว่าไม่ได้ทำให้เกิดความสมานฉันท์ ซึ่งการสมานฉันท์คือการทำให้ความจริงปรากฏ โดยเข้าสู่กระบวนการทางยุติธรรมเพื่อให้ความจริงปรากฏ ซึ่งถูกสอบมาจากคณะกรรมการหลายคณะ ทั้งนี้เมื่อความจริงปรากฏ คนทำผิดต้องรับผิดอย่างจริงใจ เมื่อรับโทษแล้วกระบวนการสมานฉันท์จะเกิด ดังนั้นครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้กระทำผิดทำร้ายประชาชนจะต้องถูกดำเนินการอย่างแท้จริง เรื่องนี้เป็นปัญหาของประเทศตลอด การออกกฎหมายครั้งนี้คงไม่มุ่งเฉพาะช่วยเหลือกับผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 7 ตุลาเท่านั้นแต่รวมถึงผู้มีอำนาจที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาจะทำให้การเข่นฆ่าประชาชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่มีความหมาย คนที่ทำร้ายประชาชาชนจะไม่ถูกลงโทษ นักการเมืองจะได้ใจ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาอีก
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข กล่าวว่า เรื่องนิรโทษกรรมจะรุนแรงกว่าสมัยปี 35 เพราะประชาชนจะออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกไปจะทำให้หลักนิติรัฐเสียหายทันที เพราะไม่ต่างอะไรกับการออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของรสช. จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมานิรโทษกรรม เพราะประชาชนพร้อมจะรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น เราอยากให้ทุกอย่างเดินไปตามกระบวนการนั้น
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนพรรคการเมืองใหม่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. ซึ่งกฏหมายกำหนดให้ภายใน 60 วัน ต้องกำหนดให้มีสมาชิกพรรคและสาขาพรรค ซึ่งขณะนี้ เรามีสมาชิก 5,700 คน ซึ่งในวันที่ 20 ก.ย. จะมีการประชุมใหญ่คณะกรรมการบริหาร โดยจะขอสถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อจัดประชุมใหญ่ เพื่อปรับปรุงนโยบายและเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการคัดสรรส.ส. คณะกรรมการนโยบายของพรรค
นายสุริยะใส กล่าวว่า ความแตกต่างของพรรคการเมืองใหม่กับพรรคอื่นๆ นั้นเราเป็นพรรคของมวลชน องค์ประชุมของพรรคการเมืองใหญ่อื่นจะใช้คนประมาณ 200 คน แต่เราเห็นว่าเราเป็นพรรคของมวลชน ดังนั้นเราจะเชิญสมาชิกพรรคทั้งหมดทั่วประเทศ รวมประชุม ซึ่งสมาชิกพรรคจะมีสิทธิ์ที่จะรวมโหวตว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งในวันนั้นจะทราบว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเราได้เชิญผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่นับถือมาเข้าร่วมกับเรา
นายปานเทพ กล่าวถึงกรณีปราสาทพระวิหาร ว่า ทราบมาว่าในวันศุกร์ที่ 28 ส.ค.นี้ จะมีการข้อประชุมเรื่องกรอบการเจรจาของไทย-กัมพูชาเข้าหารือสภา ซึ่งมีเถียงกันสองฝ่ายระหว่างกระทรวงการต่างประเทศอ้างว่าต้องการแก้ไขข้อพิพาทในบริเวณชายแดนด้วยเจดีซี หรือคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา และอีกคณะคือภาคีเครือข่ายผู้ติดตามประสาทพระวิหาร ที่นำโดย มล.วรรณิภา จรุงโรจน์ เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวมีข้อสงสัย และเป็นเวลาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งพันธมิตรเคยระบุว่ามีการรุกล้ำอธิปไตยของชาติที่เป็นดินแดนของไทยบริเวณวัดแก้วสิกขคีรีสวน ซึ่งเป็กนารสร้างวัดโดยฝ่ายกัมพูชา มีการตั้งชุมชน ค่ายทหาร และชนประชาชนกัมพูชาเข้าไป ซึ่งทางการไทยเคยประท้วงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ขณะนี้ก็มีความพยายามขยายพื้นที่ที่เป็นชุมชนเพิ่มเติมมากขึ้น ทั้งมีสิ่งปลูกสร้าง และสร้างถนนจนแล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้ ชี้ชัดว่าไทยได้สูญเสียอธิปไตยอย่างชัดเจน
นายปานเทพ กล่าวว่า รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ได้เคยตอบกระทู้ในสภาถึงการเสียพื้นที่ที่เป็นของประเทศไทยโดยระบุว่าหากจะเสียดินแดนก็เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชุดก่อน แต่มันไม่แค่นั้น หากเห็นว่าชุดก่อนไม่ถูกก็ควรหยุดยั้ง ไม่ควรสวมสิทธิ์แล้วกระทำตามรัฐบาลชุดที่แล้วได้กระทำ ปล่อยให้มีการสร้างถนนเชื่อมต่อจากประสาทพระวิหารจนถึงวัดแก้วจนแล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้ แม้ว่ากระทรวงต่างประเทศจะได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการประท้วงไปแล้วไปแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ก็ไม่พอ ดังนั้นการหารือกับสภาในวันศุกร์นี้ เพื่อปักปันเขตแดน ประเทศไทยก็ยังเหมือนไม่รู้ว่าเราได้เสียดินแดนไปแล้ว ดังนั้นน่าสงสัยว่าคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อหาข้อยุติหรือผลักดันคนที่รุกล้ำออกไปแต่เป็นการทำงานเพื่อถ่วงเวลาออกไปให้นานที่สุด ดังนั้นพันธมิตรจึงไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขโดยเจรจา ทั้งๆ ที่มีการรุกล้ำพื้นที่นั้นๆ แต่ควรผลักดันคนในพื้นที่นั่นออกไปจากดินแดนไทยเสียก่อน แล้วค่อยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจาข้อพิพาทนั้น ไม่ใช่ให้ทหารถอยทั้งที่มีประชาชนกัมพูชาอยู่ในพื้นที่นั่น
“ปัญหาที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ รัฐบาลไทยได้พยายามบอกว่าประเทศไทยไม่ได้รุกล้ำดินแดน ประเทศไทยไม่ได้เสียอธิปไตย ดังนั้นหากเราไม่ได้ถูกรุกล้ำอธิปไตย คณะของนายวีระ สมความคิด จึงจะนำประกาศของรัฐบาลไทยลงไปในพื้นที่โดยรอบประสาทพระวิหาร ในวันศุกร์นี้ เวลา 10.00 น. เพื่อยืนยันข้อพิสูจน์ที่บอกว่าเราไม่ได้เสียอธิปไตย ซึ่งพันธมิตรห่วงว่าความไม่ชัดเจนและปกปิดประชน จะนำไปสู่ความเสี่ยงหรือไม่ รัฐบาลควรจะแถลงให้ประชาชนทราบจะได้ไม่ลงไปในพื้นที่ดังกล่าว และควรชี้แจงถึงสถานการณ์ล่าสุดพร้อมข้อเท็จจริง หากเราถูกรุกล้ำจริงก็ควรชี้แจงถึงมาตรการในการทวงคืนพื้นที่และผลักดันคนที่รุกล้ำออกไป อยากให้รัฐบาลอภิสิทธิ์แสดงจุดยืนที่ชัดเจน จะได้เหมือนสมัยเป็นฝ่ายค้านที่พยายามโจมตีติติงรัฐบาลสมชาย หรือรัฐบาลนายสมัคร ว่าเป็นรัฐบาลขายชาติ และพยายามจะทวงคืน แต่หากไม่ได้ทำการแก้ไข ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนที่สวมสิทธิ์ทำให้ประเทศเสียหาย” โฆษกพันธมิตร ระบุ
อ่านรายละเอียดคำต่อคำ
สุริยะใส - วันนี้มีการประชุม 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมี 2-3 เรื่องสำคัญที่มีการหารือกัน ซึ่งเดี๋ยวแกนนำจะได้แสดงความเห็นเป็นเรื่องๆ ไป เรื่องแรกก็คือเรื่อง กรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้ยื่นเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของสถานการณ์การเมืองในภาพรวม โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม ซึ่งจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง และความไม่นิ่งทางการเมืองในหลายๆ ส่วน ที่อาจจะเกิดความพลิกผันทางการเมือง ซึ่งวันนี้แกนนำก็อยากสื่อสารกับสังคมและพี่น้องพันธมิตรฯ ทั่วประเทศ ว่าเราควรจะมีจุดยืนและท่าทีอย่างไร
เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องที่เราติดตามมาอย่างใกล้ชิด และเป็นจุดยืนที่พันธมิตรฯ เคลื่อนไหวมาตลอดตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องของการสูญเสียอธิปไตยกรณีปราสาทพระวิหาร
ผมจะพูดประเด็นแรกก่อน จุดยืนในภาพรวมของพันธมิตรฯ ต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ประชุมเห็นพ้องกันที่จะคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยเหตุผล 3-4 ข้อดังต่อไปนี้
1. ที่ประชุมเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีวาระซ่อนเร้น เพราะกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือในการนิรโทษกรรมให้กับเครือข่ายของนักการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มพรรคภูมิใจไทย กรณี 7 ตุลาฯ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผลของกฎหมายนี้จะทำให้นายตำรวจที่ใกล้ชิดกับพรรคภูมิใจไทย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พ้นความผิดไปทันที ซึ่งตรงนี้ไม่สามารถอธิบายกับญาติและผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ และกรณีอื่นได้ และที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้อาจจะเป็นเครื่องมือที่จะไต่ระดับไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับบรรดานักการเมือง โดยเฉพาะบ้านเลขที่ 11 หรือนายเนวิน ชิดชอบ หรือแม้กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยซ้ำไป อาจจะใช้เป็นฐานในการที่จะออกกฎหมายปรองดองแห่งชาติอีกฉบับหนึ่งตามมา ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเคยพูดเรื่องการจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ แต่ถูกคัดค้าน ในระยะหลังก็เลยแปรรูปเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมแทน
2. เราเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่สามารถเป็นเครื่องมือของความสมานฉันท์ได้ จุดยืนพันธมิตรฯ ไม่ได้คัดค้านความสมานฉันท์ เราเห็นความจำเป็นในการสร้างความสมานฉันท์ แต่หลักของการสมานฉันท์จะต้องเป็นหลักที่คนผิดจะต้องถูกลงโทษ และต้องไม่กระทบกับกระบวนการยุติธรรม ที่เราเป็นห่วงก็คือ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรมของประเทศ และจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้กับพวกป่วนเมือง มุ่งหมายทำความผิดและมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองในภายหลัง นี่เป็นแบบอย่างที่ นอกจากไม่สมานฉันท์แล้วยิ่งจะทำให้ความวุ่นวายเกิดขึ้นยืดเยื้อ เรื้อรัง
3. เราอยากเรียกร้องไปยังพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล จะต้องไม่แสดงท่าทีในนามส่วนตัว หรือเป็นเพียงความเห็นลอยๆ โดยเฉพาะท่านนายกฯ ซึ่งดูเหมือนว่าท่านคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่พูดไปในทำนองว่าเป็นความรู้สึกหรือความเห็นส่วนตัว เราอยากให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมฯ แสดงจุดยืนที่ชัดเจน ในนามพรรค หรือมติวิปรัฐบาลว่าคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะว่าหากคลุมเครือแบบนี้ก็เท่ากับร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเพียงเงื่อนไขการต่อรองผลประโยชน์ของขั้วอำนาจต่างๆ และรัฐบาลเท่านั้นเอง ไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดความสมานฉันท์อย่างแท้จริง
4. จุดยืนพันธมิตรฯ ต่อเรื่องนี้เราจะติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเข้าสู่วาระที่ 2 ที่ 3 หรือวุฒิสภาก็ตาม และอยากเรียนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศว่า จะต้องจับตาสถานการณ์การเมืองและร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิด และถ้ามีความจำเป็นต้องเคลื่อนไหวก็จะสื่อสารกันอีกทีหนึ่ง แต่ขณะนี้เราจะจับตาร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิด ต่อไป เชิญ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ให้ความเห็นในประเด็นนี้ เชิญครับ
พล.ต.จำลอง - พันธมิตรฯ ต้องการที่จะให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องแปลก มีความผิดทางอาญา มีการไต่สวนกันโดยคณะกรรมการหลายคณะ รู้ตัวคนกระทำความผิดแล้วด้วย แล้วอยู่ดีๆ จะมาออกกฎหมายนิรโทษกรรม รวมไปถึงกลุ่มคนพวกนั้นด้วย ซึ่งผมหมายถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง หลายท่านคงเห็นว่าพันธมิตรฯ ถูกกล่าวร้ายป้ายสีในหลายคดี แต่เราก็ไม่เคยโวยวายออกมาเลยว่าเราแย่แล้วๆ ขอให้มาช่วยเราหน่อย เพราะฉะนั้นเราไม่พอใจอย่างยิ่งต่อการที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ผิดก็ว่ากันไปตามผิด เราไม่เคยโวยวายในเรื่องนี้ มิฉะนั้นแล้วต่อไปกฎหมายเมืองไทยนี่จะใช้ไม่ได้ ใครสามารถทำผิดอะไรก็ได้ แล้วก็เอาเงินไปซื้อเสียงให้ได้เข้ามาในสภาฯ กันเยอะๆ แล้วก็มายกมือกันนิรโทษฯ บ้านเมืองก็ป่นปี้หมดสิ นี่เป็นเรื่องใหญ่นะครับไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องอธิปไตยของไทยบริเวณปราสาทพระวิหาร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็กอีกเช่นกัน ผมได้คุยกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เป็นนายทหารผ่านศึก ท่านก็ยืนยันว่าไม่มียุคใดสมัยไหนที่ทหารไทยอ่อนแอเท่ายุคนี้สมัยนี้ เป็นหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว เราไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจะไปรบราฆ่าฟันกับประเทศใด แต่เรามีทหารไว้ทำไม มีทหารไว้เพื่อป้องกันอธิปไตย ทำไมจะต้องมานั่งรอรัฐบาลว่ารัฐบาลจะสั่งให้ทำอย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่ทหารจะมารู้ดีกว่าทหาร เพราะฉะนั้นทหารจะต้องทำตามหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ทำ และท่านยังยืนยันอีกว่า บ้านเมืองที่เสียหายอยู่ในขณะนี้ รากฐานมาจากการที่ทหารอ่อนแอ
สุริยะใส - เชิญคุณพิภพ ธงไชย ให้ความเห็นเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพิ่มเติม ประเด็นเขาพระวิหารเดี๋ยวตอนท้ายจะให้ อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แจกแจงรายละเอียด ซึ่งเป็นจุดยืนที่ 5 แกนนำเห็นต่างกับแนวปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศอย่างสิ้นเชิง และมีนัยสำคัญด้วย
พิภพ - เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เป็นที่ชัดเจนว่าพันธมิตรฯ ยืนยันว่าการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นไม่ก่อให้เกิดความสมานฉันท์ เพราะการสมานฉันท์ที่แท้จริงจะต้องทำความจริงให้ปรากฏ การทำความจริงให้ปรากฏตอนนี้ก็อยู่ในกระบวนการยุติธรรม การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้นความจริงจะปรากฏ และความจริงนี้ก็ได้ถูกตรวจสอบมาจากคณะกรรมการหลายคณะแล้ว นี่เป็นประเด็นที่ 1
2. เมื่อทำความจริงให้ปรากฏแล้ว ผู้ที่ทำความผิดจะต้องรับผิดอย่างจริงใจ หลังจากนั้นเมื่อมีการรับโทษแล้ว กระบวนการสมานฉันท์จึงจะเกิดขึ้น อันนี้เรายืนยันมาตลอด ก็อยากจะเรียนให้ทราบ
ที่สำคัญมากที่สุดก็คือ การเข่นฆ่าประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยสงบและสันติ มีการกระทำมาตลอดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ และเหตุการณ์พฤษภาฯ และไม่สามารถเอาคนที่ (โดยเฉพาะข้าราชการ ทั้งทหารและตำรวจ) ที่กระทำความผิดก่ออาชญากรรมการบ้านการเมืองมาลงโทษได้สักครั้งเดียว ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้กระทำผิดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และก่อให้เกิดอาชญากรรม เกิดความรุนแรงเกินกว่าเหตุ จะต้องถูกสอบสวนและไต่สวน และเอาความผิดมาลงโทษให้ได้ นี่เป็นประเด็นหนึ่ง
สอง กฎหมายนิรโทษกรรมจะตีความไปถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศชาติมาตลอด ฉะนั้นครั้งนี้ที่จะพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ไม่มุ่งแต่เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาฯ เท่านั้น ยังมุ่งไปสู่นักการเมืองที่เป็นที่รู้กันว่าทุจริตคอร์รัปชั่น และกำลังอยู่ในกระบวนการไต่สวนสอบสวนของศาล และจะมีการพิจารณาลงโทษ เพราะฉะนั้นถ้าเราออกกฎหมายนิรโทษกรรมมา ไม่แต่การเข่นฆ่าประชาชนจะทำได้ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจรัฐ การทุจริตคอร์รัปชั่นก็จะดำเนินต่อไป จะแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายนิรโทษกรรมมี 2 เรื่อง คือ เรื่องการเข่นฆ่าประชาชน พี่น้องประชาชนที่ชุมนุมหน้ารัฐสภาอย่างสงบและสันติวันที่ 7 ตุลาฯ สอง เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง
ถ้ากฎหมายฉบับนี้ การเข่นฆ่าของประชาชนก็จะหมดความหมาย และการทุจริตคอร์รัปชั่นนักการเมืองก็จะได้ใจที่จะกระทำต่อไป และออกนิรโทษกรรมในภายหลัง เราจึงยืนยันว่าไม่เห็นด้วยครับ
สุริยะใส - เชิญคุณสมศักดิ์ โกศัยสุข ซึ่งจะถือโอกาสรายงานเรื่องความพร้อมในการเตรียมประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งได้วัน ได้เวลา และได้รูปแบบค่อนข้างชัดเจนแล้ว และความพร้อมของพรรค ถ้าเกิดความพลิกผันของสถานการณ์การเมือง
สมศักดิ์ - เพิ่มเติมนิดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะว่าครั้งนี้จะรุนแรงกว่าปี 35 เพราะประชาชนออกไปใช้ ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 70 มาตรา 71 แล้วฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทในการสั่งให้ตำรวจปราบปรามประชาชนผู้เสียชีวิตนั้น เป็นที่ชัดเจนตามคำพิพากษาของศาล มาโดยไม่ชอบโดยรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองก็ถูกยุบ ฉะนั้นหลักนิติรัฐจะเสียทันทีถ้าออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือเพื่อช่วยตัวเอง คนที่ฆ่าประชาชนให้พ้นผิด ไม่ได้ต่างกับการจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือทักษิณ ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นนักโทษชาย ตามคำพิพากษา ดังนั้นหลักนิติรัฐตรงนี้จะเสียหายไปทันที ไม่ต่างอะไรกับการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์เดือนพฤษภา ที่ออกนิรโทษกรรมเพื่อป้องกันตนเองที่ฆ่าประชาชนให้พ้นผิดของ รสช. ดังนั้นจุดยืนของพันธมิตรฯ ซึ่งเรามั่นใจว่า สิ่งที่ประชาชนออกมาต่อสู้ เขาทำหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คือแปลตัวหนังสือมาเป็นปฏิบัติการ ซึ่งเป็นพลเมืองดี ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องมานิรโทษกรรม ถ้ามีความผิดจริง ประชาชนพร้อมจะรับโทษ เพราะเราเชื่อ และวันนี้เราก็รู้ว่า ประเทศไทย สถาบันนิติบัญญัติก็มีปัญหา สถาบันบริหารรัฐบาลก็มีปัญหา คงเหลือแต่สถาบันตุลาการ ที่เป็นที่ดำรงความยุติธรรมอยู่ได้มากที่สุด เราอยากให้ทุกอย่างเดินไปตามกระบวนการนั้น จึงต่อต้านและไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน
ส่วนพรรคการเมืองใหม่ที่ได้จัดตั้งขึ้น เปิดรับสมาชิกมาตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม ตามที่เคยเรียนพี่น้องสื่อมวลชนให้ทราบว่า ภายใน 60 วันต้องให้มีสมาชิกครบตามที่กฎหมายกำหนด คือไม่น้อยกว่า 5,000 คน และจัดตั้งสาขาพรรคได้ 4 สาขา บัดนี้เรามีสมาชิก 5,700 กว่าคนแล้ว กว่าจะถึงวันที่ 20 ที่จะกำหนดให้มีการประชุมใหญ่ครั้งแรก ซึ่งกำลังประสานงานใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หอประชุมใหญ่ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 20 กันยายนนี้ ซึ่งเราเห็นว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยอนุมัติให้กับพรรคการเมืองหลายพรรคจัดประชุมใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคไทยรักไทยในอดีต เพราะว่าอันนี้เป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างขอใช้สถานที่ ซึ่งคิดว่าจะมีการประชุมใหญ่ได้อย่างแน่นอน และการประชุมนี้จะมีการปรับปรุงนโยบาย แล้วเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร ต่อไป และคัดสรรผู้ลงสมัคร ส.ส. คณะกรรมการนโยบายพรรค คณะกรรมการเกี่ยวกับสร้างประชาธิปไตยในพรรค แจ้งให้พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนได้ทราบว่านี่คือความคืบหน้าของพรรคการเมืองใหม่
สุริยะใส - เพิ่มเติมเรื่องประชุมใหญ่พรรค ลักษณะพิเศษของพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งอาจจะต่างกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในฐานะที่เรามีความตั้งใจจะให้เป็นพรรคของมวลชน หรือแมสปาร์ตี้ องค์ประชุมของพรรคการเมือง โดยเฉพาะที่ประชุมใหญ่ พรรคอื่นๆ จะใช้ประมาณ 200 กว่าคน คือกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดว่าต้องไม่ต่ำกว่า 200 คน แต่พรรคการเมืองใหม่เห็นว่า เนื่องจากเราเป็นพรรคมวลชน เลยจะเชิญสมาชิกพรรคทั้งหมดทั่วประเทศร่วมประชุมใหญ่ นั่นหมายความว่า สมาชิกของพรรคการเมืองใหม่ มีสิทธิ์โหวตลงมติได้ทุกคนว่าใครควรเป็นหัวหน้าพรรค ใครควรเป็นเลขาธิการพรรค หรือตำแหน่งอื่นๆ ของพรรค รวมทั้งร่วมกำหนดนโยบายของพรรค ที่สำคัญในวันนั้นเราจะเปิดตัวบุคลากรของพรรค ซึ่งระหว่างนี้มีการเชื้อเชิญ ทาบทามพูดคุยหลายฝ่ายที่เห็นแก่บ้านเมืองมาช่วยกันสร้างสรรค์การเมืองใหม่ รวมทั้งแถลงนโยบายของพรรคอย่างเป็นทางการ ในตอนเช้าและตอนบ่าย จะมีการประชุมเพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารทั้งหมด และนโยบายพรรคและแก้ไขข้อบังคับ ในตอนเย็น รูปแบบจะเป็นลักษณะของการเปิดวิสัยทัศน์ของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ในรูปของการปราศรัยใหญ่ ในตอนเย็น ถือเป็นการนับ 1 เพื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง
ประเด็นสุดท้ายเชิญ อ.ปานเทพ ในประเด็นเรื่องเขาพระวิหาร ซึ่งนับวันมีความสลับซับซ้อนขึ้น อ.ปานเทพ ได้รับมอบหมายจาก 5 แกนนำ ให้ตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
อ.ปานเทพ - สวัสดีครับพี่น้องสื่อมวลชน ท่านผู้ชมที่รับชมการถ่ายทอดสดผ่าน ASTV ก่อนที่จะพูดเรื่องปราสาทพระวิหาร และอธิปไตยของชาติ ขออนุญาตเสริมเล็กน้อย เพื่อเป็นการยืนยันว่า จุดยืนของพันธมิตรฯ ในการไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ไม่ใช่เพิ่งมีวันนี้ แต่มีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ฟอกความผิดของนักการเมืองด้วยกันเอง ตลอดจนแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ เคยตอกย้ำหลายครั้ง แถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ฉบับที่ 23/ 2551 วันที่ 8 ตุลาคม 2551 พันธมิตรฯ ยืนยันจะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยแถลงว่าเราจะดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และจะต่อสู้เพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ของผู้เสียชีวิตของวีรชนคนกล้า อย่างแน่วแน่จนถึงที่สุด รวมไปถึงแถลงการณ์ ฉบับที่ 25 เราจะไม่ยอมให้การสูญเสียของพี่น้องประชาชน ทั้งชีวิตและอวัยวะ ตลอดจนได้รับบาดเจ็บในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาสูญเปล่าอย่างแน่นอน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2551 แถลงการณ์อีกครั้ง วันที่ 28 ในการขอบคุณสดุดีประชาชน เราก็ย้ำว่า เราจะต่อสู้ต่อไปไม่ให้การสูญเสียชีวิต อวัยวะ และการบาดเจ็บของวีรชน ต้องสูญเปล่า รวมจนถึงครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552 โดยมีแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2552 ฉบับแรกของปีนี้ เราย้ำอีกนะครับว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีความสงสัยในกระบวนการยุติธรรมก่อนถึงศาล แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีความเชื่อมั่น และเคารพต่อศาลไทย ซึ่งกระทำในพระปรมาภิไธย จึงพร้อมพิสูจน์ตนเอง และน้อมรับคำตัดสินโดยไม่หลบหนี และไม่เรียกร้องการนิรโทษกรรมใดๆ
ดังนั้นนักโทษชายทักษิณ และพวกจึงต้องยอมรับโทษตามคำพิพากษา และพิสูจน์ตนเองในคดีทุจริตคอร์รัปชั่นทุกคดี โดยไม่ต้องเรียกร้องการนิรโทษกรรมใดๆ นะครับ เป็นจุดยืนที่ชัดเจนนะครับว่า ไม่ได้มีตามที่มีบุคคลพยายามกล่าวหา แต่ว่าเป็นจุดยืนที่มีมาอย่างยาวนาน และต่อเนื่องแล้ว
ประการถัดมาเรื่อง ปราสาทพระวิหารนะครับ วันศุกร์นี้เข้าใจว่า จะมีการนำข้อประชุมเรื่อง กรอบการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา เข้าสู่การประชุมของสภานะครับ ซึ่งมีการถกเถียงกัน 2 ฝ่าย ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศอ้างว่า ต้องการแก้ไขข้อพิพาทในบริเวณชายแดนด้วยเจบีซี หรือคณะกรรมการร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา แต่อีกคณะหนึ่งนะครับ คือ ฝ่ายภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร ซึ่งนำโดย มล.วนิภา จรุงโรจน์(***)เพราะเห็นว่า ขบวนการดังกล่าวนั้นมีข้อสงสัย และดูเหมือนจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมนะครับ สาเหตุนั้นเพราะว่า ทางพันธมิตรฯ เอง ได้เคยแถลงข่าวมา 1 ครั้งแล้วว่า มีขบวนการรุกล้ำอธิปไตยของชาติ มีการรุกล้ำดินแดนของไทยเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดแก้วสิกขาคีรีนะครับ ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีการสร้างวัดโดยฝ่ายกัมพูชา มีการตั้งชุมชน มีการตั้งค่ายทหาร และมีการขนประชาชนชาวกัมพูชาไปอยู่เต็มพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลไทยอันหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำการประท้วงหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาในช่วงเป็นฝ่ายค้านก็คัดค้านการกระทำการแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งในที่สุดเราพบว่า ในสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีลักษณะความเหิมเกริมในการรุกล้ำอธิปไตยในบริเวณดังกล่าวเพิ่มเติม อันได้แก่ 1.การขยายชุมชนเพิ่มเติม 2.มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม 3.มีการสร้างถนนจนแล้วเสร็จในสมัยรัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้ง 3 ประการนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังถูกรุกล้ำอธิปไตยอย่างชัดเจน ในบริเวณดังกล่าว รัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาครั้งหนึ่งนะครับว่า รัฐบาลถ้ามีการสูญเสียอธิปไตย หรือดินแดนจริง หมายถึงว่าต้องเกิดขึ้นสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว การตอบเพียงแค่นั้นไม่เพียงพอ ถ้ารัฐบาลชุดนี้มองว่า รัฐบาลชุดที่แล้วทำไม่ถูกต้องมีหน้าที่ในการหยุดยั้ง และไม่ควรสวมสิทธิ์ในการละเมิดอธิปไตยเหล่านั้น ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างถนนเชื่อมต่อจากปราสาทพระวิหาร ถึงวัดแก้วดังกล่าวนะครับ แล้วเสร็จในสมัยรัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เราทราบว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ทำหน้าที่ของตนเองระดับหนึ่ง ด้วยการประท้วงไปแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ถึงขั้นนั้นไม่เพียงพอนะครับ วันศุกร์นี้ที่จะเข้าขออนุมัติต่อสภา เพื่อเข้ากรอบการเจรจาระหว่างไทย -กัมพูชา เพื่อปักปันเขตแดน เสมือนกับว่า ประเทศไทยยังไม่รู้ว่า ดินแดนของประเทศไทยอยู่ที่ไหน ซึ่งจะขัดกับหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ หรือรัฐบาลในชุดปัจจุบัน ซึ่งเคยเป็นฝ่ายค้านบอกว่า เรายึดหลักสันปันน้ำเมื่อเรายึดหลักสันปันน้ำแล้ว จึงจะต้องไม่มีข้อที่จะต้องมาสงสัยอีกว่า ทำไมต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อหาว่า เขตแดนไทยอยู่ที่ไหน เพราะมีข้อสงสัยนะครับว่า ขบวนการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เจตนาที่แท้จริง จะไม่ใช่เจตนาเพื่อหาข้อยุติ หรือการผลักดันคนที่รุกล้ำอธิปไตยของไทย แต่เป็นเจตนาต้องการถ่วงเวลาให้นานที่สุด และไม่มีใครดำเนินการใดๆ กับการที่ถูกรุกล้ำอธิปไตยบริเวณนั้น
เพราะฉะนั้นแล้ว พันธมิตรฯ จึงไม่เห็นด้วยนะครับ กับการเพียงแค่แก้ไขโดยการเจรจาทั้งๆ ที่มีการรุกล้ำอธิปไตยอยู่ในบริเวณนั้น สิ่งที่พันธมิตรฯ เห็นด้วยในเวลาตอนนี้คือ ต้องผลักดันให้การรุกล้ำอธิปไตยของไทยออกไปจากดินแดนของประเทศไทยเสียก่อน แล้วจึงค่อยตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อเจรจาในข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ทหารถอยออกไปโดยที่มีชุมชน และประชาชนชาวกัมพูชาอยู่เต็มบริเวณพื้นที่ เรายังได้รับข้อมูลว่า มีทหารจำนวนหนึ่งของฝ่ายกัมพูชา แปลงสภาพเป็นประชาชน และแปลงสภาพเป็นพระภิกษุในบริเวณดังกล่าว ซึ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งยากในการแก้ไขปัญหามากขึ้นหากปล่อยไว้เรื่อยๆในลักษณะแบบนี้ และไม่หาแนวทางในการผลักดันออกไป
สถานการณ์ล่าสุด ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือรัฐบาลไทยไม่แสดงความชัดเจน และพยายามบอกประชาชนชาวไทยว่า ประเทศไทยไม่ถูกรุกล้ำดินแดน ประเทศไทยไม่ถูกรุกล้ำอธิปไตย นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงได้มีประชาชนคณะหนึ่ง ซึ่งนำโดย คุณวีระ สมความคิด ได้ยึดถือความประกาศของรัฐบาลดังกล่าว ตัดสินใจที่จะเดินทางไปยังบริเวณพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารวันศุกร์นี้ ตั้งแต่ 10.00 น. เพราะยึดหลักคำประกาศของประเทศไทยว่า ไม่มีการรุกล้ำอธิปไตย ซึ่งประชาชนคณะดังกล่าวต้องการพิสูจน์ และเดินทางไปที่นั่น ซึ่งทางพันธมิตรฯ แสดงความเป็นห่วงว่า ความไม่ชัดเจน และการปกปิดข้อมูลต่อประชาชนจนทำให้ประชาชนต้องการพิสูจน์ในเรื่องอธิปไตยของไทยในเวลาตอนนี้ จะนำไปสู่ความเสี่ยงหรือไม่ ถ้ารัฐบาลตระหนักในเรื่องนี้ ก็ควรจะต้องแถลงต่อประชาชนให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยถูกรุกล้ำจริงหรือไม่ เพื่อยับยั้งไม่ให้คณะบุคคลใดเดินทางไปพื้นที่ดังกล่าว และควรจะต้องแถลงต่อประชาชน ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พร้อมทั้งหลักฐานเพื่อให้ประชาชนตระหนักว่าสถานการณ์ดังกล่าวนั้น เราถูกรุกล้ำอธิปไตยจริงหรือไม่ และถ้าประเทศไทย หมายถึงรัฐบาลไทย ยอมรับว่ามีการรุกล้ำอธิปไตย ต้องมีการแสดงจุดยืนในการหาวิธีการทวงอธิปไตยกลับคืนมา
มี 2 ทางเลือกเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วก็เท่ากับว่าประเทศไทยไม่มีการรุกล้ำอธิปไตย และถ้าไม่มีการรุกล้ำอธิปไตยจริง คนไทยก็ย่อมมีสิทธิ์เดินทางไปได้ และถ้าไม่มีการรุกล้ำอธิปไตยจริง การเดินทางของคนไทยโดยทั่วไปก็ต้องไม่มีทหาร ไม่มีประชาชนชาวกัมพูชา แต่ถ้ายอมรับว่าเป็นพื้นที่พิพาท ต้องไม่มีพื้นที่ประชาชนคนกัมพูชาอยู่ในพื้นที่นั้น
เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องแสดงจุดยืนชัดเจน และต้องตระหนักถึงการทวงอธิปไตย หรือดินแดนที่ถูกรุกล้ำอยู่ในขณะนี้ กลับคืนมา ให้สมกับตอนที่เป็นฝ่ายค้าน ได้คัดค้านรัฐบาลชุดรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช หรือรัฐบาลคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่เช่นนั้น เกรงว่า ข้อกล่าวหาในอดีตถึงรัฐบาลชุดก่อน หรือในอดีตที่ว่า มีรัฐบาลขายชาติ ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่ดำเนินการแก้ไขและปล่อยให้มีการเสียดินแดน ก็เกรงว่า รัฐบาลชุดนี้เท่ากับเสมือนเป็นการสวมสิทธิ์การขายชาติหรือไม่ นี่เป็นข้อห่วงใยจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยครับ
พล.ต.จำลอง - ตามที่อาจารย์ปานเทพ บอกว่า มีบุคคลคณะหนึ่ง ต้องการพิสูจน์ว่า ที่กระทรวงการต่างประเทศพูดจริงหรือเปล่า ว่า เรามีอธิปไตยจริงหรือเปล่า และกำหนดจะเดินทางไป ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวว่า มีการปลุกระดมคนไทยด้วยกัน ให้ตีคนไทยกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดการตีเกิดขึ้น มีการสูญเสียขึ้น เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลนะ ทำไมไม่ตัดไฟแต่ต้นลม โดยการชี้แจงให้เข้าใจว่า เป็นยังไง ยังมีอธิปไตยอยู่หรือเปล่า พร้อมหลักฐานที่ว่า เพื่อจะได้ไม่ต้องพิสูจน์กัน จะเสียเปล่าๆ คนไทยตีคนไทย เพราะฉะนั้น ผมถือว่า เป็นความผิดของรัฐบาล ถ้าไม่จัดการเรื่องนี้
สมศักดิ์ - ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 บัญญัติชัดเจนว่า รัฐ คือคนที่ใช้อำนาจรัฐขณะนี้ คือรัฐบาล มีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การปกครองระบอบประชาธิปไตย และพึงมีกำลังทหารไว้ เพื่อป้องกันประเทศ บูรณภาพแห่งอาณาเขต
คำว่า บูรณภาพแห่งอาณาเขต มันแปลว่า รักษาผืนแผ่นดินให้ครบถ้วน ดังนั้น กรณีเช่นนี้ 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็เห็นชัดเจนว่า ถูกกัมพูชารุกรานเข้ามา ซึ่งรัฐบาลต้องทำหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะเวลารัฐบาลเข้าบริหารประเทศ จะต้องให้สัตย์ปฏิญาณตนว่า จะพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ทุกประการ
อันนี้ ถือว่า ถ้าไม่เข้าไปจัดการแก้ไขตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่า รัฐบาลล้มเหลวในการทำหน้าที่ดูแลอำนาจอธิปไตยของประเทศ
พล.ต.จำลอง - ยิ่งแล้วใหญ่ คือ ทหาร ร่ำเรียนมา ฝึกมา เรื่องเดียวครับ คือการปกป้องอธิปไตยของชาติ กินเงินเดือนเพื่อหน้าที่นี้ แล้วไม่ทำหน้าที่
อ.ปานเทพ - ขออนุญาตอีกสักเล็กน้อยนะครับ เนื่องจากมีการอ้างอิงเอกสารชิ้นหนึ่ง โดยบอกว่า รัฐบาลไทย โดยรัฐมนตรีเตช บุนนาค ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกัมพูชาว่า แถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชานั้น สิ้นผลไปแล้ว และอ้างว่า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโมฆะ ผมไปตรวจสอบแล้วพบว่า แท้ที่จริงแล้วเอกสารชิ้นนั้นไม่มีการอ้างถึงคำตัดสินของศาลไทย และคำว่า สิ้นผลนั้น เป็นการพูดสิ้นผลในฝ่ายไทย แต่มีข้อน่าสังเกตว่า เอกสารครั้งล่าสุดที่ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ได้นำแสดงนั้น เป็นเอกสารของฝ่ายกัมพูชา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ชื่อ นายฮอร์ นัม ฮง ซึ่งส่งหนังสือมายังประเทศไทย ในวันที่ 1 กันยายน 2551 ความว่า "เอกสารชิ้นนี้เป็นสนธิสัญญาหรือไม่ ทางฮอร์ นัม ฮง บอกว่า ในกรณีนี้ผมต้องการรำลึกถึงช่วงเวลาที่เราทำงานในช่วงมื้อเที่ยงที่เสียมเรียบ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ที่พูดกันเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมนั้น ผมได้พูดว่า มันไม่ใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศ" มีคำต่อท้ายซึ่งสำคัญมาก " ดังนั้นมูลค่าของมันก็เป็นคุณค่าอย่างที่มันเป็น" คำพูดนี้ทำให้เราตีความไม่ได้ว่า กระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลกัมพูชา ยอมรับว่าแถลงการณ์ร่วมนั้นสิ้นผลจริงๆ และคำพูดดังกล่าวนั้น ทำให้ตอบไม่ได้ว่า ทางกัมพูชาไม่ถือว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาจริงๆ เพราะฉะนั้นแล้วคำแถลงที่กระทรวงการต่างประเทศยึดถือว่าสิ้นผลนั้น มันจึงแตกต่างกับแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ว่าต้องการให้ยกเลิกอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการตัดพันธผูกพันระหว่างประเทศให้มีความชัดเจนมิใช่ให้เกิดความคลุมเครือ หรือต้องพิพาทกันต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ที่ต้องหยิบเอกสารชิ้นหนึ่งว่ามีการยกเลิกกันแล้วจริงหรือไม่
ผู้สื่อข่าว - ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ผลักดันเข้าสู่สภา ที่ว่าจะเคลื่อนไหวจับตามองเป็นพิเศษหมายถึงว่า ชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านหรือไม่
สุริยะใส - ยังไม่คิดไปไกลถึงขนาดนั้น ผมคิดว่าขั้นตอนทางรัฐสภาก็ แม้บรรจุเรื่องในวาระการประชุมก็ตาม แต่ทราบมาว่า วันนี้มติวิปรัฐบาลจะมีการหารือกันเพื่อแสดงท่าทีที่เป็นทางการ ส่วนการชุมนุมเคลื่อนไหวยังไม่ได้คิด แต่เราจะติดตามและรายงานกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าว - พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องความสามัคคี พันธมิตรฯ มีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
พล.ต.จำลอง - เรื่องความสามัคคีนั้น เราเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มานานแล้ว แม้ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านจะไม่ออกมาตรัสก็ตาม เพราะมันเป็นความจำเป็นของบ้านเมืองเรา แต่ความสามัคคีในตอนหลังๆ นี้เขามาทำให้มันเพี้ยนไป ก็คือว่า ใครทำผิดก็อย่าไปโต้ไปแย้งเขานะเดี๋ยวจะเกิดความขัดแย้งกัน จะไม่เกิดความสามัคคี ถ้าอย่างนี้บ้านเมืองมันเสียหาย
ผู้สื่อข่าว - เรื่องที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงว่าเป็นการป้องกันการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง มองอย่างไรคะ
พล.ต.จำลอง - เรื่องนี้พันธมิตรฯ ไม่ได้มีการประชุมกันนะครับ เพราะว่าไม่ได้เป็นประเด็นที่น่าสนใจนัก สำหรับส่วนตัวแล้วไม่จำเป็นจะต้องมีพระราชบัญญัติความมั่นคงออกมาก็ได้ กฎหมายเก่าก็มีอยู่แล้ว ขอให้ใช้ความกล้าหาญทางการเมืองนิดๆก็ใช้ได้แล้ว ตั้งแต่เหตุการณ์เดือนเมษายนมาแล้ว
สุริยะใส - ผมมีความเห็นส่วนตัวนิดหนึ่งนะครับ มันอาจจะเป็นดาบสองคมครับ จริงๆ อย่าง พล.ต.จำลอง ว่า ลำพังถ้ากลไกตำรวจทำงานอย่างตรงไปตรงมา มันไม่ต้องใช้กฎหมายลักษณะพิเศษอย่างนี้ เพราะบางทีมันอธิบายกับนานาชาติลำบาก อย่างที่ผ่านมาเหตุก็เพราะว่าตำรวจไม่ถูกปฏิรูป และเป็นรัฐตำรวจของอำนาจเก่าอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ระมัดระวัง และเปิดทางให้ทหารเข้ามาคุมสถานการณ์ อาจจะไปเข้าทางฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งถนัดที่จะยั่วยุ และเล่นเกมกับทหาร
ลักษณะการคุมฝูงชน ตำรวจกับทหารถูกฝึกมาคนละแบบ เรื่องจิตวิทยามวลชน เพราะฉะนั้นอาจจะไปเข้าทางเสื้อแดง ซึ่งพยายามสร้างสถานการณ์ให้มีการปะทะ และผมคิดว่าการประกาศเฉพาะจุดเขตดุสิต มันก็ถามต่อว่า ถ้าม็อบเคลื่อนไปที่อื่นละ ต้องไปตามประกาศหรือเปล่า อันนี้มันก็มีนัยที่สังคมต้องจับตา เพราะผมเชื่อว่ารัฐบาลอาจจะมีการการข่าวที่มั่นใจได้ว่าจะมีการปฏิบัติการในลักษณะที่ดูแลในเขตดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม พันธมิตรฯ จะอยู่ในที่ตั้ง และให้พี่น้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สมศักดิ์ - เรื่องนี้ก็น่าเป็นห่วง เพราะมีรายงานจากพี่น้องที่ภาคอีสาน ว่ามีคนไปเอาเงินไปแจกและให้มาที่วัดแห่งหนึ่ง และเพื่อจะมาบอกว่ามาทำบุญ ลักษณะแบบนี้ในช่วงที่มีการชุมนุม ฉะนั้นในการที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแสดง มันก็ชัดเจนว่ารัฐบาลใช้ตำรวจไม่ได้ ถึงใช้ทหาร มันก็เป็นปัญหาอ่อนแอของรัฐบาลที่ไม่ได้จัดการแก้ไขปัญหาตำรวจมาตั้งแต่ต้น จนคาราคาซังอยู่
ฉะนั้นเมื่อประกาศอย่างนี้อาจจะเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายที่ชุมนุมก็รู้อยู่แล้วว่าเป้าหมายวัตถุประสงค์เพื่อจะทำอะไร ใครๆก็รู้กันหมดทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว และเจตนารมณ์มันไม่ใช่เจตนารมณ์เดือดร้อน เรียกร้องอะไรที่ชัดเจน ก็เป็นปัญหาที่จะช่วยนักโทษให้พ้นผิด และนิรโทษกรรมบางส่วน ดังนั้นการใช้กฎหมายแบบนี้ บางทีจะถูกโฆษณาได้ว่า รัฐบาลนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่ได้เป็นผลดีอะไร
ความจริงตำรวจกฎหมายกฎหมายมีอย่างเรียบร้อยอยู่แล้ว เป็นการชุมนุมตามปกติ เงื่อนไข สถานที่ เราจะเห็นว่า เช่น วันนี้พยายามจะเเต่งชุดดำไป ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน จะไปชุมนุมหน้าบ้านท่านประธานองคมนตรี ซึ่งมันไม่ใช่เป็นเสรีภาพ ไปละเมิดเสรีภาพด้วยซ้ำไป แต่รัฐบาลก็เห็นว่าไม่รู้จะทำอะไร ยังมึนๆอยู่ ซึ่งคิดว่าเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นความอ่อนแอของรัฐบาลนี้ อยากให้พี่น้องประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ กลัวว่าจะเกิดสถานการณ์ต่างๆแล้ว และตกเป็นเหยื่อโดยที่ ที่ออกมาก็อยากจะแจ้งช่วยบอกกันให้ทราบโดยทั่วกันว่า ขอให้ระมัดระวังครับ
ผู้สื่อข่าวถาม - เรื่อง พล.ต.อ.พัชรวาท ที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ทำไมย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พล.ต.จำลอง - อย่างที่สื่อมวลชนถาม ย้ายไปได้ตั้งนานแล้ว โดยถูกต้องชอบธรรมด้วย เมื่อมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเรื่องแรก เขามีมาตั้งนานแล้ว ประเภทแบบนี้ พอเป็นแบบนี้ก็ย้ายได้ทันที ไม่มีปัญหาหรอกครับ ถ้ามีความกล้าหาญทางการเมือง ซึ่งนิดเดียวเท่านั้น
สุริยะใส -> มันก็ตั้งข้อสังเกตนะ ตั้งกรรมการสอบ มันก็ยื้อกันไปอีก ไม่รู้กี่เดือนกี่ปี อยู่จนครบเกษียณอายุราชการ
ปานเทพ - ทำให้หลายคนสงสัยว่ามีข้อตกลงกันหรือเปล่า ระหว่างรัฐบาลกับ พล.ต.อ.พัชรวาท ว่า การมีรัฐบาลชุดนี้ หมายถึงต้องมีคนชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็น ผบ.ตร.จนเกษียณอายุ เป็นอย่างนั้นใช่หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นเท่ากับว่าไม่ได้ยึดหลักอื่นๆเลย วันนี้ต้องตั้งคำถามว่า คุณพัชรวาทเหมาะสมเป็น ผบ.ตร.หรือไม่ ตั้งแต่การโยกไปกรณี 18 ล้าน ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกระเบียบ แล้วถูกโยกไปในสมัยรัฐบาลก่อนหน้าชุดนี้ วันดีคืนดีก็เอากลับมา รัฐบาลไม่ใช้เหตุผลนี้ หนึ่งแล้วนะครับ 2.ก็คือ เหตุการณ์เมษายน พิสูจน์แล้วว่า ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง การประชุมอาเซียนซัมมิท 3. ยังมีกรณีว่า เกิดอุปสรรคขัดข้องอย่างไรจนกระทั่งทำให้คดีลอบสังหารคุณสนธิมีความไม่คืบหน้า ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และสุดท้ายเลย เมื่อเครื่องมือเหล่านี้ รัฐบาลไม่ใช้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งมีเครื่องมือล่าสุด ที่มีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า กระบวนการของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่พยายามจะยื้อคดีให้ยาวออกไป มันเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน รัฐบาลควรต้องย้อนกลับไปที่เดิมตั้งแต่วันแรกที่ย้ายคุณพัชรวาทไป แต่รัฐบาลไม่ทำอย่างนั้น ตั้งกรรมการสอบอยู่ ทั้งๆ ที่ยังคงตำแหน่ง ผบ.ตร. ต่อไป ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ทำให้เรามีข้อสงสัยได้ว่า มีข้อตกลงกันใช่หรือไม่ว่าต้องการให้คุณพัชรวาทอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ ไม่ว่าจะมีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ
พล.ต.จำลอง - เดี๋ยวจะหาว่าเอาแต่วิจารณ์เขา ขอยกตัวอย่าง ไม่ใช่อวดตัวอวดตนนะครับ สมัยผมเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ย้ายทันทีครับเพื่อสะดวกกับการสอบสวน จะได้ไม่มาใช้อำนาจของตัวเองที่มีอยู่มาปกป้องการกระทำความผิดของตน ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร
สุริยะใส - แค่นี้ก่อนแล้วกันนะครับ ขอบคุณสื่อมวลชนมากนะครับ ขอบคุณมากครับ