“มาร์ค” เปิดห้องประชุม ปชป.ต้อนรับนักศึกษา พตส.รุ่น 1 มีคนแวดวงการเมืองตบเท้าร่วมเป็น นศ.ทั้ง “พล.อ.สนธิ-เด็จพี่พร้อมพงศ์” ตลอดจนบรรดา ส.ส.ไข่แม้ว นายกฯ เผย ไม่ยึดติดอำนาจ พร้อมสละเก้าอี้ หากการเมืองเปลี่ยนขั้ว หนุนแก้ รธน.มาตรา 291 เอื้อประโยชน์พรรคเล็กลืมตาอ้าปาก ไม่เชื่อ กม.ปรองดอง-พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยุติทุกฝ่ายเคลื่อนไหวการเมืองได้ เตือน “แดงถ่อย” นัดชุมนุม 30 ส.ค.นี้ ให้อยู่ขอบเขต อย่าก้าวล้ำจนสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ย้ำ เร็วๆ นี้ ได้ ผบ.ตร.คนใหม่ แจง วันประชุม ก.ต.ช.ครั้งที่ผ่านมา หากร่วมยกมือโหวต ป่านนี้ได้ ผบ.ตร.คนใหม่ไปแล้ว แต่อยากให้เกียรติทุกฝ่าย ยอมถามความเห็นก่อน
วันนี้ (24 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมายังห้องประชุมกรรมการบริหารพรรค ชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อต้อนรับและเปิดโอกาสให้นักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงรุ่นที่ 1 (พตส.1) ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและซักถามประเด็นทางการเมือง ซึ่ง พตส.รุ่นที่ 1 มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นประธานรุ่น และมีบรรดานักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมเป็นนักศึกษา อาทิ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย นายชูชาติ ประธานธัมต์ (กุศล หมีเทศ) หัวหน้าการเมืองสีขาวในนามพญาธรรม
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวระหว่างตอบข้อซักถามตอนหนึ่ง ว่า ขณะนี้ตนไม่กังวลกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะถูกยุบด้วยคดีเงินบริจาค หรือที่มีคนกล่าวว่า เวลาในการบริหารประเทศของตนจะหมดลง โดยในส่วนเรื่องการยุบพรรคนั้น เป็นเรื่องที่ กกต.อัยการศาลรัฐธรรนูญพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์พร้อมต่อสู้คดี ตนจึงไม่รู้สึกกังวลอะไร เมื่อถึงจุดหนึ่ง หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจริงก็คงต้องให้เปลี่ยนไป ตนก็เป็น ส.ส.เป็นผู้นำฝ่ายค้าน หรือหากพรรคอยากจะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคก็ได้ ตนก็ไปเป็น ส.ส.แต่ขอยืนยันว่า จะไม่ไปไหน จะอยู่กับประชาธิปัตย์ต่อไป จนกว่าจะเลิกการเป็นนักการเมืองในสภา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นด้วยกับความต้องการในการปรับปรุง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้พรรคการเมืองขนาดเล็กสามารถดำเนินงานทางการเมืองได้ ซึ่งกระบวนการต่างๆ จะช่วยให้ระบบพรรคการเมืองมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น แต่ที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งด้วย ว่าถ้าหากประชาชนต้องการให้มี 20 พรรค ก็ต้องหาวิธีการทำงานไปตามความต้องการ แต่ถ้าหากอยากให้มี 2 พรรค ก็เป็นระบบ 2 พรรค โดยตนก็เห็นด้วยว่าบทบัญญัติแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มันลึกละเอียดเกินไปและไม่มีความจำเป็นต้องมี แต่ว่าถือเป็นหมวดอุดมการณ์ของชาติ ไม่ว่าใครเป็นพรรคการเมืองแล้วจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องถือตามแนวทางนี้ เนื่องจากเป็นเจตนารมณ์ที่ประกาศในกฎหมายสูงสุด ซึ่งในความจริงแล้ว ไม่ได้เป็นปัญหากับพรรคการเมืองเท่าไหร่ สำหรับกระบวนการสมัชชาให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้น ตนมองว่าขณะนี้การเมืองภาคประชาชนไม่ได้ช้าไปกว่าพรรคการเมือง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่จะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ตนเห็นว่า ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย มีความพยายามรวมให้นักการเมืองรวมกันในพรรคขนาดใหญ่ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเสนอกฎหมายได้ รวมทั้งระบบเลือกตั้งโดยธรรมชาติ ก็ทำให้จำนวนพรรคการเมืองโดนบีบให้เหลือน้อยลง แต่มาตรานี้ยังถือว่าพอไปได้ เพราะต้องอาศัยกระบวนการพัฒนาทางธรรมชาติด้วย ซึ่งจะก่อให้เหตุแรงจูงใจที่จะนำไปใส่ไว้ในกฎหมาย ที่ตนไม่เห็นด้วยมาตลอด อาทิ เมื่อมีกฎหมาย และ กกต.ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน พรรคการเมืองก็จะมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เราพยายามควบคุมนักการเมืองเหมือนคุมระบบราชการ แต่ในการระบบทำงานไม่เหมือนกัน และจะโทษใครไม่ได้ ต้องโทษนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ไม่ดี พยายามมาหากินกับพรรคการเมือง ทำให้ต้องมีกฎหมายควบคุมมากยิ่งขึ้น โดยตนยอมรับว่า ไม่ชอบกฎหมายพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เนื่องจากเห็นว่านักการเมืองเป็นหน่วยงานราชการ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะมีวิธีดำเนินงานเช่นไร อาทิ สมาชิกพรรคมาขอเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนต้องกลายเป็นสมาชิกพรรค 5 พรรค ฉะนั้น ตนคิดว่าอยากให้พรรคเล็กดำเนินการตั้งพรรคให้ได้ ซึ่งการทำให้พรรคการเมืองมีเสถียรภาพนั้น ต้องมาจากความต้องการของประชาชนจริงๆ โดยประชาชนอยากให้เหลือแค่ 2 พรรค หรือเลือก 20 พรรค นักการเมืองก็ต้องยอมรับ
“ใจจริงผมอยากเดินหน้าไปถึงขั้นประชาพิจารณ์หรือทำประชามติว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ถกเถียงกันหรือไม่ ซึ่งหากทำเช่นนั้นได้และทุกฝ่ายยอมรับ ตนคิดว่า ทุกคนจะยินดีร่วมกระบวนการนี้ แต่ถ้าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เสร็จสิ้นแล้ว มีบางฝ่ายออกมาบอกว่าอยากเลือกตั้งใหม่ เพราะเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ ตนก็ไม่ขัดข้อง เนื่องจากไม่ได้ยึดติดขัดอยู่แล้วว่าจะเอาอย่างไร” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ต่อจากนั้น นายอภิสิทธิ์ ตอบคำถามกรณีที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติและร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า ต้องถามว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวช่วยให้มันปรองดองได้จริงหรือไม่ และมีจุดยืนเพื่ออะไร ถ้าผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มายื่นเรื่องให้ตนดำเนินการกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว จะให้ตนดำเนินคดีหรือนิรโทษกรรม คำถามดังกล่าวต้องถามกลับว่าถือเป็นข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ หรือกลุ่มคนเสื้อแดงหรือไม่ ที่บอกว่า หากร่างกฎหมายนี้ผ่านสภาไปแล้ว ทุกอย่างจะเรียบร้อยนั้น หากเป็นเช่นนั้นจริง ตนไม่เชื่อว่ามีคนคัดค้าน แต่ถามจริงๆ ว่าจะมีใครเชื่อว่าจะเป็นแบบนั้นจริงๆ กล้าเอาคอเป็นประกันหรือไม่ ว่าหากร่างกฎหมายสองฉบับนี้ผ่านแล้ว ทุกกลุ่มจะหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง
“ให้ผมฟันธงว่า หากผ่านร่างกฎหมายสองฉบับนี้แล้ว ทั้งสองกลุ่มจะหยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ฟันธงได้เลยว่าไม่มีทาง ดีไม่ดีอาจจะเป็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ด้วยซ้ำ เพราะไม่มีใครรู้ว่า หากออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายแล้วมันจะสร้างบรรทัดฐานให้เกิดการชุมนุมใหม่แล้วขอนิรโทษกรรมได้อีกหรือไม่ และมันจะเป็นกฎหมายที่สร้างวงจรไม่จบไม่สิ้นของคนที่มีความคิดเคลื่อนไหวรุนแรงขึ้นมา แม้กระทั่งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการบังคับใช้แล้วนั้น ถามว่าหากแก้ไขเสร็จแล้วทุกฝ่ายจะหยุดชุมนุมและหยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองจริงหรือไม่ หากหยุดจริง คิดว่าทุกฝ่ายยินดีทำอยู่แล้ว แต่เรารู้อยู่แก่ใจว่าบางกลุ่มไม่หยุด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
สำหรับกรณีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในช่วงวันที่ 30 ส.ค.นี้ ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงจะนัดชุมนุมใหญ่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากประเมินว่าวันที่ 30 ส.ค.จะมีปัญหาก็เป็นความชอบธรรมของรัฐบาลที่จะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และตนอยากถามกลับไปว่า วันนี้ที่เคลื่อนไหวกันอยู่ และมีบางฝ่ายบอกว่าต้องการให้เกิดความวุ่นวายนั้น เพื่ออะไร เพื่อใคร การทำงานในตอนนี้ เราต้องการความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศไทย เวลาที่เกิดเหตุวุ่นวายอาจคิดเพียงว่าเป็นการดิสเครดิตรัฐบาล ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ เนื่องจากมันเป็นการดิสเครดิตประเทศ ไม่ใช่ว่าดิสเครดิตรัฐบาล ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (25 ส.ค.) ตนจะเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องชี้แจงให้เกิดความน่าเชื่อถือแก่ประเทศ ดังนั้น ไม่คนกลุ่มไหนที่ไม่ชอบรัฐบาล จะก่อความวุ่นวายอีก ตนไม่อยากให้ไปสร้างปัญหาให้แก่ประชาชน แต่ถึงอย่างไร ในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและการรักษากฎหมายถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจะให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนกรณีการแต่งตั้ง ผบ.ตร.นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยืนยันว่า ทำตามกฎหมายทุกอย่าง และมีมรรยาท เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการประชุมพิจารณาคัดเลือก ตนก็ตั้งใจที่จะไม่ยกมือลงมติ ปรากฏว่า วันนั้นเสียง 5 ต่อ 4 หากตนยกมือก็ชนะไปแล้ว เพราะเสียงจะกลายเป็น 5 ต่อ 5 แล้วตนมีสิทธิ์ชี้ขาด แต่เรื่องนี้ตนถือว่าให้เกียรติกัน และกระบวนการยังไม่ยุติ ก็ยังไม่อยากให้จบลง ตนก็พร้อมเดินหน้าทำตามกระบวนการกฎหมายต่อไป คิดว่าทุกอย่างคงจะเรียบร้อยในไม่ช้านี้
สำหรับคำถามสุดท้าย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นถามว่า ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลนั้นจะมีจุดเริ่มต้นสร้างความปรองดองและสมานฉันท์อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเป็นคนเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ขึ้นในสภา เพราะผู้ชุมนุมคลางแคลงใจว่ารัฐบาลทำอะไร ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา นั่นถือเป็นก้าวเริ่มต้นในการเปิดทาง แต่มันเป็นเรื่องของสภา หากตนทำเรื่องนี้เอง อีกฝ่ายจะไม่เชื่อ เรื่องนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความขัดแย้งในช่วงที่ตนไม่ได้เป็นรัฐบาล เนื่องจากมีการปะทะกันจนถึงขั้นเสียชีวิต ถามว่า เคยมีการสะสางโดยให้ผู้แทนประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่ ตนย้ำเสมอว่า เดือนเมษายนนั้น ตนรักษากฎหมาย ไม่ได้คิดเรื่องเอาชนะคะคานหรือแบ่งแยกเป็นฝ่ายรัฐกับฝ่ายผู้ชุมนุม
“หากถามว่า จะกลับมารักกันไหม ผมตอบไม่ได้ เพราะไม่สามารถบังคับให้ใครรักกับใครได้ บางคนที่ทำตัวไม่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ก็ไม่ควรไปรักและควรรู้ไว้ว่า น่าจะทำประโยชน์ให้ส่วนรวม มันอาจจะเกิดความสงสารและความเห็นใจขึ้นมาได้ หากบอกว่ารักแล้ว ต้องตามใจนั้นคงไม่ได้ เนื่องจากเรื่องผลประโยชน์ประเทศและประชาชน 2 สิ่งนี้ต้องมาก่อน หากทำตามแนวทางนี้ ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะกลับสู่ภาวะปกติได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว