xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นยุบ-ไม่ยุบปชป.เดือนนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าของการพิจารณาสำนวนเงินบริจาค 258 ล้านบาท และการใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ ของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ขณะนี้พยานในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้มาให้ปากคำแล้ว และทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ได้ประสานงานจนสามารถพาตัว นายประจวบ สังข์ขาว กรรมการบริษัทแมซไซอะ จำกัด มาให้ถ้อยคำแล้ว จึงน่าจะสามารถสรุปสำนวน เสนอให้ประธาน กกต.ได้ภายในวันที่ 18 ส.ค.นี้ และถ้าไม่มีข้อขัดข้องอะไร สำนวนมีความชัดเจน ก็คาดว่า กกต.จะพิจารณาลงมติได้ภายในเดือนนี้
ทั้งนี้ สำนวนที่คณะกรรมการไต่สวนฯ ส่งมาให้ กกต.พิจารณานั้น นอกจากจะมีการรายงานข้อเท็จจริงแล้ว ก็จะมีการเสนอความเห็นว่า กรณีดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่ โดย กกต.ก็จะพิจารณาว่า กรณีของเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง มีการนำเงินไปใช้ผิดประเภท เข้าข่ายฉ้อฉลเงินกองทุนตามข้อกล่าวหาของ ดีเอสไอ หรือไม่
ส่วนกรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาท ก็ต้องพิจารณาว่า มีการปกปิดไม่แจ้งให้ กกต.ทราบหรือไม่ และทั้งหมดเข้าข่ายเป็นความผิดตาม มาตรา 93 และ 94 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่กำหนดเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคหรือไม่ หากกกต.มีมติว่ามีการกระทำซึ่งมีผลต่อพรรค กรรมการบริหารพรรค ส่วนตัวคิดว่าคงไม่จำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นอีก 1 ชุด เพื่อดำเนินการเรื่องของการยุบพรรค แต่สามารถใช้ผลสอบของคณะกรรมการไต่สวนฯ ชุดที่กำลังสรุปอยู่นี้ดำเนินการเรื่องของการเสนอยุบพรรคไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้เลย
ส่วนที่มีข่าวว่า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุในการเข้าให้ปากคำต่อ กกต.ว่า ระหว่างดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ไม่เคยได้รับเงินบริจาค 258 ล้านบาท จากบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) นางสดศรี กล่าวว่า เท่าที่ กกต.ตรวจสอบปี 47 และปี 48 ก็ไม่พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเงินบริจาคจำนวนดังกล่าว
เมื่อถามต่อว่า หากบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ให้เงินดังกล่าวกับแกนนำพรรค และมีการนำไปใช้ในการทำให้พรรคเป็นที่นิยม จะถือว่าเข้าข่ายเป็นเงินบริจาคหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า คำว่า เงินบริจาคตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองทั้งฉบับปี 40 และปี 50 มีความหมายแทบจะเหมือนกัน คือเงินบริจาคไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือให้เป็นสิทธิประโยชน์อื่น เช่น หุ้น หรือการจัดโต๊ะจีนระดมทุน ก็เข้าข่ายเป็นเงินบริจาคทั้งหมด และกฎหมายก็กำหนดว่าเมื่อมีเงินไหลเข้าพรรคมาไม่ว่าจะทางใด ก็ต้องแจ้งต่อ กกต.ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลรายรับรายจ่ายของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
"ไม่ว่าจะเป็นเงินนอกระบบ หรือเงินใต้โต๊ะ เมื่อพรรคได้รับมาเราก็ต้องตรวจสอบให้ได้ กรณีดังกล่าวถ้าเป็นเรื่องจริง ก็ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มีการปกปิดกันไว้ว่า มีการใช้เงินผิดประเภท กกต. ก็ต้องตรวจสอบตามหน้าที่ว่า มีการใช้เงินดังกล่าวโดยชอบหรือไม่" นางสดศรีกล่าว
แหล่งข่าวจาก กกต.แจ้งว่า ในเรื่องดังกล่าวมี 2 ประเด็น ที่คณะกรรมการไต่สวนต้องพิจารณา และมีความเห็นเสนอกกต. โดยประเด็นของข้อกล่าวหาการใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านผิดวัตถุประสงค์นั้น ทั้งจากคำชี้แจง และหลักฐานที่ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์นำมาแสดงและหลักฐานที่คณะกรรมการไต่สวนมีอยู่ บ่งชี้ว่า การใช้เงินกองทุนฯ ไม่น่าจะมีปัญหา คงเหลือแต่ในส่วนประเด็นเงินบริจาค 258 ล้านของบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ที่แม้ในการเข้าให้ปากคำของนายบัญญัติ หัวหน้าพรรค และนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เหรัญญิกพรรค ขณะนั้น ต่างยืนยันว่า ขณะดำรงตำแหน่งพรรคฯ ไม่มีการรับเงินบริจาคจากบริษัททีพีไอ และในรายงานงบดุลของพรรคปี 47-48 ก็ไม่พบจำนวนเงินดังกล่าว แต่นายประจวบ สังข์ขาว ผู้บริหารบริษัทแมสไซอะฯ ก็ยืนยันว่า เงินที่บริษัทได้รับจาก บริษัททีพีไอฯ ถูกโอนให้กับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ตรงนี้ทางคณะกรรมการไต่สวนต้องกลับไปประมวลข้อเท็จจริงทั้งหมดอีกครั้ง ว่า เงินบริจาค 258 ล้าน ที่มีการอ้างนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และมีการนำไปดำเนินการในเรื่องใดที่เป็นการสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ รวมทั้งจริงหรือไม่ ที่ประชาธิปัตย์ได้รับมาแล้วไม่รายงานต่อ กกต. ก่อนที่จะสรุปว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายพรรคการเมืองที่ กกต. ต้องดำเนินการกับพรรคประชาธิปัตย์ในขั้นตอนต่อไปหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น